งานศพผ่านไป ทางการจ่ายเงินเยียวยา ในที่สุด เรื่องราวความตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ก็เงียบลง หลังจากเรียกปฏิกิริยาและความตึงเครียดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คุกกรุ่นอยู่ได้เพียงเดือนกว่าๆ
ปฏิกิริยาที่จับต้องได้มากที่สุด ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้คน ก็คือบรรดาสเตตัสทั้งหลายในโลกโซเชียลมีเดีย และในงานศพของเขา ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายๆ ครั้ง ที่งานศพกลายเป็นวิถีการแสดงออกของคนในพื้นที่นี้
งานศพของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ มีผู้ไปเข้าร่วมพิธีกันคับคั่ง เขาเป็นอีกศพหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ที่เป็นตัวอย่างของความตายอันพิสดารและหาคำตอบไม่ได้ ความตายที่ปฏิเสธยากว่า ได้เพิ่มเติมเชื้อไฟให้กับไฟใต้ เพราะความคลุมเครือของการแสวงหาคำตอบ กับลักษณาการของเส้นทางที่พาเขาไปพบความตาย
21 กรกฎาคม วันแรกที่ถูก ‘เชิญตัว’ คือวันสุดท้ายที่เขารู้สึกตัว
ย้อนกลับไปเมื่อ 21 กรกฎาคม 2562 อับดุลเลาะวัย 34 ถูก ‘เชิญตัว’ ไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุเพราะถูกซัดทอด หลังจากที่แพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธตรวจร่างกายเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. โดยพบว่า ร่างกายแข็งแรงดี ต่อมา ในห้วงเวลากลางดึกคืนเดียวกันนั้น เวลาราว 03.00 น. เขาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการซักถาม ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลค่ายฯ ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อปั๊มหัวใจที่หยุดเต้นไปจนกระทั่งชีพจรกลับมา ก่อนจะนำตัวไปส่งโรงพยาบาลปัตตานีในสภาพโคม่า
เขาไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนองใดๆ ต้องอยู่กับเครื่องช่วยหายใจ และป่วยด้วยอาการสมองบวม อับดุลเลาะถูกส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานคริทร์ หาดใหญ่ ในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ทหารตามไปเฝ้าที่ห้อง เก็บข้อมูลและตรวจบัตรสมาชิกครอบครัวที่เข้าเยี่ยม จนครบเจ็ดวันจึงได้ออกเอกสารปล่อยตัว ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ให้ควบคุมตัวบุคคลได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเป็นเวลา 7 วัน
อับดุลเลาะเสียชีวิตในที่สุดที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่เข้ารับการรักษาตัวคือ 35 วัน
แถลงการณ์ของโรงพยาบาลระบุว่า อับดุลเลาะเสียชีวิตด้วยอาการปอดติดเชื้อ ซึ่งกลายเป็นประเด็นปลุกเร้าความไม่พอใจยิ่งขึ้น เมื่อมีผู้นำแถลงการณ์นี้มาขยายผลว่า ความตายของอับดุลเลาะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยของตนเอง
“หกล้มในห้องน้ำแล้วบอกว่าโดนซ้อม ดูหนังมากไปหรือเปล่า”
ความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของอับดุลเลาะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตึงเครียดขึ้นฉับพลัน ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำเรื่องนี้ไปตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถาม ส.ส. อย่างฉุนเฉียวว่า “หกล้มในห้องน้ำแล้วบอกว่าโดนซ้อม ดูหนังมากไปหรือเปล่า” คำตอบโต้นี้ยิ่งสร้างความไม่พอใจอย่างหนักในบรรดาผู้ติดตามเหตุการณ์ ความตายอย่างพิสดารเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่แทบทุกครั้งไม่เคยมีคำตอบที่เป็นที่กระจ่างต่อสังคม
ปรากฎการณ์ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ จึงเสมือนเป็นการเทน้ำลงในแก้วที่มีน้ำเจียนล้น
พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า หันกลับไปหามาตรการเร่งด่วนที่เคยใช้ลดความตึงเครียดในทำนองนี้ได้ผลมาแล้ว นั่นคือมาตรการที่เชื่อว่าจะช่วยแสวงหาข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การเยียวยาความรู้สึกของคนใกล้ชิดอับดุลเลาะ รวมถึงชุมชนรอบข้าง จึงมีคำสั่งมอบหมายให้ ‘คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ และคณะกรรมการได้เริ่มประชุมโดยทันที กรรมการบางรายเชื่อว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว
ตั้งคณะกรรมการฯ สืบสวนหาข้อสรุป
“เรื่องนี้ไม่ยาก ข้อมูลทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว” กรรมการรายหนึ่งกล่าวโดยไม่เปิดเผยชื่อ หลังจากที่ได้รับมอบหมาย
หลังประชุมหนแรก กรรมการเชื่อว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น หลังเริ่มเก็บข้อมูลและย่อยข้อมูลร่วมกันตั้งแต่ก่อนที่อับดุลเลาะจะเสียชีวิต จนกระทั่งหลังวันที่เขาเสียชีวิตแล้วคือหนึ่งเดือนให้หลัง คณะกรรมการก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และยังคงหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงบัดนี้
มิหนำซ้ำ คำอธิบายกลับให้น้ำหนักเอนเอียงไปกับข้ออ้างว่า ความตายของอับดุลเลาะมาจากสุขภาพตัวเขาเองที่มาปะทุเอาในห้วงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม
คำอธิบายกลับให้น้ำหนักเอนเอียงไปกับข้ออ้างว่า ความตายของอับดุลเลาะมาจากสุขภาพตัวเขาเองที่มาปะทุเอาในห้วงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม
หลังการแถลงสรุปแบบไม่มีข้อสรุปของคณะกรรมการฯ จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องในพื้นที่ ให้คณะกรรมการเปิดรายละเอียดข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ บางเสียงถึงกับเรียกร้องให้กรรมการที่มาจากซีกประชาสังคมลาออก
ภายในคณะกรรมการเองก็มีความคิดที่แตกต่างกันสุดขั้ว และไม่ใช่แค่ระหว่างฝ่ายตัวแทนทหารกับภาคประชาสังคมเท่านั้น ในส่วนของภาคประชาสังคมที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการฯ ก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก กรรมการจำนวนหนึ่งพูดถึงเรื่องการลาออกเป็นกลุ่ม แต่ท้ายที่สุด ระบบของความเกรงใจ และความคิดที่ว่า ต้องการช่วยต่อรองเรื่องเงินเยียวยาให้ครอบครัวอีซอมูซอ ซึ่งมีเค้าว่าจะไม่ได้อะไรเลยไม่ว่าความยุติธรรมหรือเงินเยียวยา ก็ทำให้กรรมการส่วนใหญ่ที่แสดงเจตนาจะลาออกยังคงรีรอ โดยมี อัญชนา หีมมีหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ลาออกแต่เพียงรายเดียว
ส่อเค้าเหลวตั้งแต่แรก
หากจะตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับอับดุลเลาะ ก็จำเป็นต้องหารายละเอียดช่วงเวลาที่เขาเดินเข้าสู่กระบวนการซักถาม ซึ่งข้อมูลส่วนนี้อยู่ในมือเจ้าหน้าที่ทหารเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น ทั้งยังเป็นข้อมูลที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอิสระอื่นใดจะยืนยันความถูกต้องได้ ข้อมูลส่วนที่สองที่พอจะช่วยกรรมการได้ ก็คือข้อมูลที่จะมาจากแพทย์ผู้รักษา
แต่ข้อมูลจากทั้งสองแหล่งบอดใบ้ไปเหมือนกัน
หลังจากที่ส่งกรรมการกลุ่มหนึ่งไปเก็บข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซักถาม คณะกรรมการฯ ระบุในแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการผิดไปจากปกติ
หากจะตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับอับดุลเลาะ ก็จำเป็นต้องหารายละเอียดช่วงเวลาที่เขาเดินเข้าสู่กระบวนการซักถาม ซึ่งข้อมูลส่วนนี้อยู่ในมือเจ้าหน้าที่ทหารเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น
ในขณะที่ข้อมูลจากกล้องวงจรปิดที่คาดว่าจะบันทึกภาพการสอบปากคำหรือกิจกรรมของอับดุลเลาะในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวนั้นก็ไม่มี โดยในชั้นต้นมีข่าวว่ากล้องเสียทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ชี้แจงกับคณะกรรมการในเวลาต่อมาว่า กล้องไม่ได้เสีย แต่ไม่มีภาพ เนื่องจากเพิ่งติดตั้ง ยังไม่ได้รับส่งมอบงาน
คณะกรรมการฯ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนสำคัญเรื่องการสอบปากคำอับดุลเลาะของเจ้าหน้าที่ ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่ากระบวนการซักถามทำกันอย่างไร แม้แต่เวลาในการซักถามเริ่มขึ้นในเวลาเท่าใด จบลงในเวลาเท่าใดแน่ นอกจากข้อมูลคร่าวๆ ว่าอับดุลเลาะห์ถูกนำตัวเข้าสู่การซักถามหลังการตรวจรับร่างกายโดยแพทย์ รพ. ค่ายอิงคยุทธ ซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 16.00 น. โดยประมาณ หลังซักถามไปได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่เห็นอับดุลเลาะเครียดจึงให้ไปพักเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. และไปพบอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ในสภาพไม่สบาย นอนสิ้นสติอยู่ในห้องน้ำ จึงนำตัวไปพบแพทย์ของโรงพยาบาลค่าย โดยละเว้นการกล่าวถึงรายละเอียดสำคัญในช่วงเวลาทั้งหมดนั้นไปสิ้น แต่กลับมีข้อสรุปให้ว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ
ยิ่งกว่านั้น แพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ให้การรักษาอับดุลเลาะด้วยการช่วยปั๊มหัวใจก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างเป็นกิจจะลักษณะกับคณะกรรมการฯ มีเพียงข้อมูลชั้นต้นที่เขารายงานอย่างคร่าวๆ เท่านั้น
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ข้อมูลที่นายแพทย์หนุ่มผู้นี้ชี้แจงกับแม่ทัพภาค 4 ในวันที่ พล.ท. พรศักดิ์เข้าเยี่ยมอับดุลเลาะที่โรงพยาบาลปัตตานีในวันแรก ยังมีรายละเอียดมากยิ่งกว่าที่คณะกรรมการฯ ได้รับในภายหลัง เนื่องจากแพทย์คนดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปทันทีหลังมีคำสั่งให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเข้าสอบข้อเท็จจริง เท่ากับว่าแหล่งข้อมูลที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งจำกัดลงไปอีก โดยเฉพาะแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดกลับไม่ได้อยู่ให้ข้อมูล
ข้อมูลที่นายแพทย์ชี้แจงกับแม่ทัพภาค 4 ในวันที่ พล.ท. พรศักดิ์เข้าเยี่ยมอับดุลเลาะที่โรงพยาบาลปัตตานีในวันแรก ยังมีรายละเอียดมากยิ่งกว่าที่คณะกรรมการฯ ได้รับในภายหลัง เนื่องจากแพทย์คนดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปทันที หลังมีคำสั่งให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเข้าสอบข้อเท็จจริง
การทำงานของคณะกรรมการฯ เป็นไปค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมกระบวนการซักถามได้ หลายฝ่ายฝากความหวังไว้กับข้อค้นพบทางการแพทย์ แต่ข้อมูลทางด้านการแพทย์ยิ่งกลายเป็นตีบตันไม่น้อยไปกว่าข้อมูลของกระบวนการซักถาม
คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิฯ ที่แต่งตั้งโดยทหาร
ตั้งแต่อับดุลเลาะเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลปัตตานี แพทย์ระบุว่าเขามีอาการสมองบวมเพราะเลือดไม่ไปหล่อเลี้ยงสมอง ประเด็นใหญ่ที่ทุกฝ่ายพยายามมองหาคำตอบก็คือ อะไรเป็นสาเหตุให้อับดุลเลาะสมองบวม
ข้อมูลที่ได้รับจากการสื่อสารจากกรรมการฯ คืออาการสมองบวมของอับดุลเลาะเกิดจากการขาดออกซิเจน แพทย์ตัดประเด็นเรื่องการทำร้ายออกไป เพราะผลการตรวจไม่พบร่องรอยของการถูกกระแทกหรือกระทำด้วยความรุนแรง จึงตัดเรื่องของการถูกทุบตีหรือแม้แต่หกล้มออกไป
แต่สิ่งที่คณะกรรมการฯ มองหาไม่พบ คือความเป็นไปได้ของการทำร้ายแบบไร้ร่องรอย กรรมการบางคนพยายามหาข้อมูลเรื่องวิธีทำร้ายร่างกายแบบไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแต่มีผลถึงตาย เช่นการกดน้ำหรือราดน้ำลงบนจมูกและปากที่เรียกกันว่า waterboarding หรือการใช้ถุงดำ แต่ข้อเสนอแนะที่ต้องการให้ศึกษาความเป็นไปได้และตรวจสอบเรื่องนี้ในคณะกรรมการ กลับเรียกปฏิกิริยาขบขันจากกรรมการอีกหลายคน การตรวจสอบความเป็นไปได้ของการซ้อมทรมานในคณะกรรมการชุดนี้จึงมีปัญหาว่าเอาจริงเอาจังเพียงใด
สิ่งที่คณะกรรมการฯ มองหาไม่พบ คือความเป็นไปได้ของการทำร้ายแบบไร้ร่องรอย กรรมการบางคนพยายามหาข้อมูลเรื่องวิธีทำร้ายร่างกายแบบไม่ทิ้งร่องรอยบาดแผลแต่มีผลถึงตาย เช่นการกดน้ำหรือราดน้ำลงบนจมูกและปากที่เรียกกันว่า waterboarding หรือการใช้ถุงดำ
คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสามจังหวัดภาคใต้ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนเมษายน เพื่อตรวจสอบกรณีต่างๆ ที่มีเค้าของปัญหาการละเมิดสิทธิ การแต่งตั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของ พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้นำโดยพลตรีธิรา แดหวา และยังมีเลขานุการเป็นนายทหาร
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องราวปัญหาการละเมิดสิทธิมาแล้วอย่างน้อยสองกรณี หนึ่งในนั้นคือกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของประชาชนที่บ้านแหร อ.ธารโต ยะลา ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน เพราะเป็นการเก็บโดยไม่เลือก และในสายตาของชาวบ้านถือว่าไม่มีเหตุอันควร การตรวจสอบกรณีก่อนๆ หน้ายังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในการมอบหมายให้คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเรื่องของอับดุลเลาะนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ยังแต่งตั้งกรรมการเข้าเพิ่มเติมอีกหลายคน นอกจากมีภาคประชาสังคมและนักการเมืองแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารอีกไม่ต่ำกว่าสี่คน รวมไปถึงพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 สน. ทำให้สัดส่วนของกรรมการในส่วนเจ้าหน้าที่และทหารมีมากกว่าฝ่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารถือเป็น ‘คู่กรณี’ ในเรื่องนี้
สัดส่วนของกรรมการที่เป็นเจ้าหน้าที่และทหาร มีมากกว่าฝ่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารถือเป็น ‘คู่กรณี’ ในเรื่องนี้
อันที่จริง ระบบวิธีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมในช่วงเหตุการณ์ที่อ้างว่าเป็นการปะทะ ความตายในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่คณะกรรมการฯ สรุปผลการสอบในเฉพาะบางประเด็นที่ถือว่าสำคัญ เช่นกรณีการวิสามัญนักศึกษาสองคนที่ทุ่งยางแดง ซึ่งในที่สุด แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริง นำโดยนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามปัตตานี ซึ่งมักรับหน้าที่นี้หลายครั้ง คณะกรรมการชุดก่อนหน้ามักทำหน้าที่กรณีใดกรณีเดียว แต่จากคำแนะนำของพลเอกอุดมชัย มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีที่เป็นที่สงสัยกรณีที่เป็นที่แคลงใจของสาธารณะ แรงจูงใจของพลเอกอุดมชัยในเรื่องนี้ คือ ลดเงื่อนไขของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่น เพื่อส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขหรือสันติภาพ
ความเงียบของ กสม.
แต่เมื่อหลุดจากคณะกรรมการชุดนี้ไปแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่าจะมีองค์กรอื่นใดที่ทางการให้การยอมรับในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งออกแถลงการณ์เรื่องอับดุลเลาะหลังจากที่อับดุลเลาะเสียชีวิตแล้วบอกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีการชี้แจงผลของการทำงานในเรื่องนี้ออกมาแต่อย่างใด
กล่าวได้ว่า บทบาทของ กสม. ในเรื่องภาคใต้ค่อยๆ เลือนหายไป ในช่วงที่ อังคณา นีละไพจิตร ลาออกจากการเป็นกรรมการของกสม. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อังคณาให้สัมภาษณ์และโพสต์ความเห็นอธิบายตัวเองไว้ในข่าวของ Patani NOTES เรื่องบทบาทของ กสม. กรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า เธอไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกรณีข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากประธาน กสม. ได้ดึงงานดังกล่าวกลับไปทำเอง
กับปัญหาการซ้อมทรมานในพื้นที่นั้น กสม. เองเป็นผู้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานจำนวนประมาณ 100 เรื่อง และก่อนหน้านี้ครอบครัวอับดุลเลาะก็เคยให้ข้อมูลว่า ส่งเรื่องร้องเรียนไปให้หลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นก็คือ กสม. แต่ไม่เคยได้รับคำตอบว่ามีความคืบหน้าในกรณีนี้แต่อย่างใด
ความเงียบของ กสม. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ครอบครัวไปร้องเรียน ทำให้ญาติของอับดุลเลาะขาดความมั่นใจในกระบวนการทั้งปวง รวมทั้งรู้สึกว่า การต่อสู้เพื่อให้มีผู้ช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงกับความตายของอับดุลเลาะเป็นความพยายามที่สูญเปล่า
เมื่อยังอยู่พิสูจน์ไม่ได้ ตายแล้วแต่ญาติไม่ให้ผ่าสมอง
ในช่วงต้นของการตรวจสอบกรณีอับดุลเลาะ ข้อมูลจากคณะกรรมการฯ เปิดเผยเรื่อยมาว่า อาการสมองบวมของอับดุลเลาะเป็นเรื่องที่ตรวจสอบสาเหตุไม่ได้ เนื่องจากเส้นเลือดไม่ได้หล่อเลี้ยงสมอง การจะฉีดสีหรือตรวจสอบจึงทำไม่ได้ นอกจากการผ่าสมอง
หลังจากที่อับดุลเลาะเสียชีวิต หลายคนคาดหวังว่าจะได้มีการตรวจสอบความจริงให้ประจักษ์ เพราะคาดว่าญาติจะยอมให้แพทย์ผ่าสมองแน่นอน แต่ปรากฎว่าในที่สุด ญาตินำศพกลับไปทำพิธีทางศาสนาและกลบฝังโดยไม่มีการผ่าแต่อย่างใด
โมฮำมัดรอฮมัด มามุ ญาติของครอบครัวอับดุลเลาะ อีซอมูซอ กล่าวว่า ที่ครอบครัวไม่ให้ผ่าเนื่องจากไม่แน่ใจกับผลที่จะได้ มันเป็นความไม่มั่นใจในกระบวนการทั้งหมด
“ก้านสมองไม่ทำงาน เขาว่าต้องผ่า แต่ต้องทำหลังเสียชีวิต ทุกคนว่า ไม่ผ่าคือไม่รู้ ความรู้สึกตอนนั้นคือ ก็อยากจะผ่าเหมือนกัน ให้รู้ๆ กันไปเลยว่าเพราะอะไร แต่พอย้อนมาดู 35 วัน ไม่มีท่าทีว่าคดีนี้จะไปในทางไหน ไม่มีใครคาดเลยสักคน”
ก็อยากจะผ่าเหมือนกัน ให้รู้ๆ กันไปเลยว่าเพราะอะไร แต่พอย้อนมาดู 35 วัน ไม่มีท่าทีว่าคดีนี้จะไปในทางไหน
“อะไรเป็นสิ่งที่ให้เราให้ผ่าหรือไม่ให้ผ่า 30 วันที่อยู่ มอ. หาดใหญ่ ไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่ได้อะไรเลย ตั้งคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีอะไร นั่นคือเหตุผลที่ไม่ได้ผ่า คนเสียชีวิตแล้ว ไปทำกับศพแบบนั้นมันรู้สึกแย่ ถ้าผ่าแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา มันยิ่งซ้ำเติม สังคมมุสลิมที่นี่ การผ่าศพไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แม้จะมีฟัตวาว่าทำได้ 30 วัน ที่เราอยู่โรงพยาบาล ไม่มีใครบอกอะไรเลย ที่เราไปร้องเรียนมันคืบหน้ายังไง ที่เราไปร้องเรียนให้กับนายกฯ คืบหน้ายังไง เงียบ มีแต่คนมาบอกว่าจะเยียวยา จะให้เงิน ไม่มีใครพูดว่าคดีไปถึงไหน หมอทั้ง 3 โรงพยาบาลไม่มีใครกล้าพูด มีแต่ว่าสมองบวม สมองตาย ไม่มีใครหาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร” โมฮำมัดรอฮมัด มามุ กล่าว
ความไม่ไว้วางใจต่อระบบการตรวจสอบเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โมฮำมัดรอฮมัดกล่าวว่า ตั้งแต่เรื่องการนำอับดุลเลาะเข้ารักษาในโรงพยาบาล พวกเขาพบว่า ได้รับคำอธิบายที่ต่างกันไป บอกไม่ได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำแถลงของแพทย์ไม่เหมือนกัน และเมื่อญาติเคยขอผลการตรวจบางอย่างแต่กลับไม่ได้
“ผมก็ไม่เข้าใจ อยู่ปัตตานีเอ็กซเรย์สมองได้ แต่พอไปหาดใหญ่เขาบอกไม่เห็น ฉีดสี เลือดไม่ไหล มองไม่เห็น แต่ตอนอยู่ปัตตานี เอ็กซเรย์บอกสมองบวม มีเลือดคั่งในสมองด้วย ตอนแถลง หมอสามคนก็พูดไม่ตรงกันสักคน ญาติเคยขอผลเลือดจากมอ.หาดใหญ่ แต่ไม่เคยได้ เขาถามว่าจะเอาไปทำอะไร ที่จริงมันเป็นสิทธิของญาติ ผมก็งงเหมือนกัน”
ผมก็ไม่เข้าใจ อยู่ปัตตานีเอ็กซเรย์สมองได้ แต่พอไปหาดใหญ่เขาบอกไม่เห็น ฉีดสี เลือดไม่ไหล มองไม่เห็น แต่ตอนอยู่ปัตตานี เอ็กซเรย์บอกสมองบวม มีเลือดคั่งในสมองด้วย ตอนแถลง หมอสามคนก็พูดไม่ตรงกันสักคน
นอกจากมีปัญหาไม่เข้าใจวิธีการทำงานของแพทย์แล้ว ญาติยังพบว่า พวกเขาเข้าถึงอับดุลเลาะยากทั้งๆ ที่เป็นคนป่วยโคม่านอนรักษาตัวในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังไม่ครบเจ็ดวันของระยะเวลาการถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ช่วงนั้นเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ทหารบอกญาติว่า ไป ‘อำนวยความสะดวก’ “จริงๆ มาทำให้ไม่สะดวกมากกว่า” เขาว่า
“คือวันแรกๆ จะทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ตลอด ญาติมาเยี่ยม เขาไม่ให้เยี่ยม ผมก็เลยถามพยาบาลว่า สิทธิในตัวคนไข้อยู่ที่ใคร พยาบาลบอกอยู่ที่ญาติ ดังนั้นญาติจะเป็นคนตัดสินว่า ใครสามารถไปเยี่ยมได้ เพราะญาติไม่ไว้ใจใครโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ เพราะอับดุลเลาะเป็นแบบนี้ขณะถูกควบคุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ลุกขึ้นว่า ไม่ได้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ อับดุลเลาะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปที่เตียงได้ทุกสองชั่วโมง ตอนนั้นพี่สาวและภรรยาถึงกับร้องไห้ คือเขาเป็นถึงขนาดนี้แล้วจะเอาอะไรอีก หนีก็ไม่ได้”
เมื่อเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปญาติ โมฮำมัดรอฮเล่าว่า เขาก็ถ่ายบ้าง แล้วนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย จนได้รับคำเตือนว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
การมีทหารคอยตรวจสอบและเฝ้าทำให้ญาติเกิดความระแวง เจ้าหน้าที่เปลี่ยนท่าทีก่อนวันสุดท้าย “วันที่หก เจ้าหน้าที่มาคุยแบบคนละคนเลย เขามาบอกขอโทษ เป็นการเข้าใจผิด เราไม่เคยคุยกันดีๆ เขามาอำนวยความสะดวก ยินดีอยู่ต่อหากจะให้อยู่ต่อ เพราะพรุ่งนี้จะครบเจ็ดวัน ผมถามภรรยา เขาส่ายหน้า”
โมฮำมัดรอฮมัดบอกว่า สิ่งที่ครอบครัวอับดุลเลาะต้องการในเวลานี้ คือความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับอับดุลเลาะกันแน่ “ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถามว่าจะหาคนผิดให้ได้ ก็อยากเหมือนกัน แต่ว่ามันยากมาก ความเชื่อมั่นในกระบวนการไม่มีเลย เราขอแค่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น…กี่เคสแล้ว เคยมีใครออกมาขอโทษ เอาเจ้าหน้าที่ไปลงโทษไหม มีแต่ว่าลื่นล้ม ฆ่าตัวตาย มีโรคประจำตัว”
ครอบครัวอับดุลเลาะเป็นครอบครัวเล็ก เขามีแม่ที่เป็นใบ้ ภรรยาที่ต้องดูแลลูกเล็กอีกสองคน อับดุลเลาะเป็นคนที่หาเลี้ยงครอบครัว ในเวลานี้ภรรยาต้องเข้ามารับภาระแทน
โมฮำมัดรอฮมัดเล่าว่า อับดุลเลาะทำงานกรีดยางในช่วงเช้า สายขึ้นมาพวกเขาไปทำงานก่อสร้างด้วยกัน และไม่ใช่คนชอบเที่ยว จะอยู่กับครอบครัวตลอด เพราะครอบครัวไม่มีใครอื่น “พอขาดเขาไป ไม่ใข่แค่ขาดอะไรบางอย่าง มันขาดไปครึ่งหนึ่งเลย”
Fact Box
ที่ผ่านมา เคยมีหลายกรณีก่อนหน้า ที่บุคคลในสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกเรียกตัวเข้าสู่กระบวนการซักถาม แล้วมีอาการป่วยและเสียชีวิตตามมา ซึ่งทุกครั้งก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีการไต่สวนการตายเกิดขึ้น
- กรณีเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นายมะสุกรี สาและ เข้าสู่กระบวนการซักถาม และเกิดป่วยกระทันหัน เจ้าหน้าที่พบตัวในห้องน้ำในห้องควบคุมตัว ต้องรับการรักษาจากแพทย์ แพทย์ระบุว่า เขามีอาการเส้นเลือดในสมองด้านซ้ายตีบเฉียบพลัน ทำให้ร่างกายอ่อนแรงและเสียการทรงตัวจนหกล้มในห้องน้ำ โรคดังกล่าวไม่แสดงตัวล่วงหน้าและสามารถเกิดอาการได้ตลอดเวลาหากช่วยเหลือไม่ทันจะมีอันตรายถึงชีวิต มะสุกรีได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น มีองค์กรสิทธิเผยแพร่ข้อมูลว่า มะสุกรีถูกทำร้ายจนหกล้มในห้องน้ำ ซึ่ง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าออกมาปฏิเสธ หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไป
- อีกกรณีที่โด่งดังมาก คือกรณีของ สุไลมาน แนซา ที่พบเป็นศพในห้องควบคุมตัวในลักษณะของการผูกคอตายเมื่อพฤษภาคม 2553 เป็นความตายซึ่งมุสลิมในพื้นที่ยิ่งสงสัยหนักเพราะสวนทางกับหลักคิดในอิสลามที่ห้ามการฆ่าตัวตาย กรณีของสุไลมาน แนซาก็มีการตั้งกรรมการสอบ แต่ลงเอยด้วยข้อมูลที่ไม่อาจทำให้สาธารณะหลายส่วนคล้อยตามได้
- บางกรณีไม่เป็นปริศนามากนัก เพราะเห็นกันอย่างจะแจ้งว่าความตายเกิดขึ้นเนื่องจากอะไร เช่น ความตายของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง กับ อัสฮารี สะมะแอ ทั้งสองกรณีศาลมีคำสั่งว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายจนถึงแก่ความตาย
ตามกฎหมาย เมื่อมีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวหรือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ศาลจะไต่สวนหาสาเหตุการตาย ทั้งนี้เพื่อตัดสินว่า เจ้าหน้าที่กระทำการเกินเหตุหรือไม่ หากพบว่ามีการละเมิดหรือใช้กำลังเกินเหตุอันควรเกินวิสัยการป้องกันตัวเอง คำสั่งศาลในเรื่องนี้จะนำไปสู่การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่
แต่ที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่า ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รายใดอันเนื่องมาจากผลการไต่สวนการตายเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้ว่าจะมีอย่างน้อยสองครั้งที่ผลการไต่สวนการตายพบว่า เจ้าหน้าที่กระทำเกินเหตุ คือกรณีของอิหม่ามยะผา กับกรณีของอัสฮารี ที่ศาลเห็นว่าถูกทำร้ายจนตาย แต่นอกเหนือจากการชดเชยด้วยเงินและเยียวยาด้วยมาตรการช่วยเหลือแล้ว ไม่ปรากฎว่าการดำเนินคดีอาญาในทั้งสองกรณีมีความคืบหน้า
ในกรณีอิหม่ามยะผา แม้ญาติจะนำเรื่องไปฟ้องร้องด้วยตัวเอง แต่ศาลไม่รับฟ้อง ระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินคดีในศาลทหาร ส่วนกรณีอัสฮารี ครอบครัวเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะติดตาม หลังผ่านห้าปีของการทำงานที่ทำให้ได้มาซึ่งคำสั่งไต่สวนการตายดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสอบ นอกจากในหลายกรณีที่การตรวจสอบของคณะกรรมการจะไม่ทะลุเพราะข้อจำกัดสารพัดแล้ว ในกรณีที่ผลการตรวจสอบได้ผลมาอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องดำเนินในชั้นศาลเพื่อไต่สวนการตาย ผลกลับออกมาอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ เช่นกรณีที่ข่าวระบุว่า เป็นการยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มแนวร่วมจนมีการสังหารบุคคลสี่คนที่ทุ่งยางแดง คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแถลงผลสรุปว่า ผู้ตายสองคนไม่มีอาวุธตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง และพวกเขาเพียงชุมนุมกันกินน้ำกระท่อม
จุดที่กลับตาลปัตรมากที่สุดในสายตาครอบครัวผู้ถูกยิง คือผลการไต่สวนการตายที่ออกมาเป็นคำสั่งศาลว่า ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าทำตามหน้าที่ ไม่ถือว่าเกินเหตุ ส่งผลให้ไม่มีการดำเนินคดีอาญา ลักษณะแบบนี้ปรากฎในหลายกรณี และทำให้เกิดภาพว่า ระบบการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาไม่มีผลในทางกฎหมาย ยกเว้นช่วยคลี่คลายความไม่พึงพอใจของสังคมในห้วงเวลานั้นๆ ลง จนกระทั่งเรื่องราวสงบไปเองดังเช่นเรื่องของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ