*บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์*
มันคือโลกหลังเอเลี่ยนบุก ทุกอย่างจบสิ้นไปแล้ว เมืองเงียบสงัดและรกร้าง ถ้าจะผู้คนหลงเหลือ วิธีเดียวที่จะมีชีวิตรอดคือต่างคนต่างอยู่ ครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบด้วยพ่อแม่และลูกสามคน ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการทำไร่ เข้าเมืองด้วยการเดินเท้าเปล่าเพื่อไปเอาของที่จำเป็น เอเลี่ยนตาบอดฆ่าทุกสิ่งที่ส่งเสียง พวกมันอยู่ในทุกแห่งที่ไม่มีใครรู้ว่าที่ไหน แค่ส่งเสียงเพียงนิด มันก็จะพุ่งมาฆ่าทิ้ง
ครอบครัวสูญเสียบางอย่างไป อยู่กันอย่างเงียบๆ หลังปีเดือนเคลื่อนไป พูดจากันด้วยภาษามือ ทำทุกอย่างเชื่องช้า ระมัดระวัง เพราะแค่เสียงของแผ่นไม้ลั่น หรือการเหยียบใบไม้แห้งพวกเขาก็อาจจบชีวิตลงไปได้ แม่กำลังท้องลูกอีกคน ลูกสาวคนโตยังรู้สึกผิดบาปกับเรื่องราวในหนหลังเชื่อว่าพ่อโทษเธอ เธอจึงเลิกพยายามจะใช้เครื่องช่วยฟัง มีชีวิตโดดเดี่ยวทุกข์เศร้า ลูกชายคนกลางยังเด็กเกินกว่าที่จะเป็นคนที่ปกป้องตัวเองได้ สิ่งที่พวกเขาต้องรับมือจริงๆ จึงคือจะก้าวพ้นความสูญเสียอย่างไร และจะมีชีวิตในโลกที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมีเสียงได้อย่างไร ในโลกที่แม้แต่การคลอดลูก หรือเลี้ยงทารกยังต้องดำเนินไปในความเงียบ
โดยแน่นอนว่านี่คือหนังสยองขวัญที่เล่นล้ออยู่กับเทคนิคทางภาพยนตร์หลากหลายรูปแบบเพื่อกดดันโน้มน้าว ลากจูงอารมณ์ผู้คนให้ติดอยู่กับสถานการณ์ของความเงียบ หนังทั้งเรื่องแทบไม่มีเสียงอื่นใดนอกจากการกระซิบกระซาบ และดนตรีประกอบที่คอยลดทอนพลังความเงียบของหนัง (แต่ทำหน้าที่ก่ออารมณ์ระทึกขวัญรุนแรงให้แก่ผู้ชม) ซึ่งหนังทำได้อย่างหมดจดงดงาม การแสดง ตำแหน่งกล้อง เสียงประกอบ การให้เห็นและไม่เห็นหรือการเล่นกับการได้ยินและไม่ได้ยินของหนัง ล้วนถูกจัดวางออกแบบมาอย่างเหมาะเจาะ ส่งผลในการรีดเค้นอารมณ์ผู้ชมท่ามกลางพล็อตที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และการแทบไร้สถาณการณ์หักมุม นอกจากการประดังประเดหายนะเข้าใส่ครอบครัวนี้เป็นชุดๆ
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงอาจบอกได้ว่านี่คือหนังที่มีฉากหน้าเป็นหนังสยองขวัญเอเลี่ยนบุกโลก แต่ที่จริงแล้วมันคือหนังที่ใช้อธิบายการพยายามก้าวข้ามความสูญเสียของครอบครัว ในโลกที่เราอาจแทนเอเลี่ยนด้วยอะไรอย่าง การโดนรถชน การโดนกราดยิงในโรงเรียน แกงค์ข้างถนน ยาเสพติด หรือรัฐทหารที่ไม่ได้เรื่องได้ราว หนังคือการคลี่ขยาย ความวิตกกังวลของพ่อแม่อนุรักษ์นิยมที่พยายามปกป้องเด็กๆ ของพวกเขา และการรับมือกับความสูญเสียของครอบครัว เผชิญความรู้สึกของความบกพร่องในการทำหน้าที่ของพ่อแม่
จริงๆ เราอาจบอกได้กลายๆ ว่าหนังสยองขวัญ (โดยเฉพาะจากฮอลลีวูด)ในสายตระกูล ครอบครัวเผชิญภัย เช่น บ้านผีสิง ซอมบี้บุกโลก โลกแตก โรคจิตไล่ฆ่า หรือผีห่าซาตานมาเอาตัวลูกไป เกือบทั้งหมดเป็นหนังครอบครัวมากกว่าหนังสยองขวัญ ในหนังตระกูลนี้ หน้ที่โดยเนื้อแท้ของมันคือการเชิดชูค่านิยมของเสรีนิยมใหม่ในหน่วยย่อยที่สุดนั่นคือครอบครัว โครงสร้างหลักของหนังจึงเป็นเรื่องของ ภัยคุกคาม(ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ) ที่เข้ามาคุกคามครอบครัว และมีแต่การร่วมมือร่วมใจ การรักสามัคคีกันและกันเท่านั้นที่จะทำให้ผ่านเรื่องร้ายไปได้ แม้แต่หนังในตระกูลที่ตัวเอกจะต้องเสียสละตัวเอง ก็เป็นไปเพื่อการขัดถูอุดมการณ์ ครอบครัวสำคัญที่สุด สำคัญจนเรายอมสละชีวิตตัวเองเพื่อให้ครอบครัวดำรงคงอยูต่อไปได้
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หนังจะเดินไปในทำนองที่ว่า พ่อแม่ย่อมต้องรักและพร้อมปกป้องลูกๆ ของตนเสมอแม้ต้องแลกมาด้วยชีวิต และลูกๆ ต้องร่วมมือร่วมใจเชื่อฟังพ่อแม่ ช่วยพ่อแม่ในการจัดการกับภัยคุกคามนั้น เราจงมารักครอบครัวกันเถอะ
แต่สิ่งที่ทำให้หนังซึ่งถึงที่สุดเป็นหนังครอบครัวของอนุรักษ์นิยมมีความน่าสนใจขึ้นมา คือในขณะที่หนังเชิดชูสถาบันครอบครัว หนังก็ตั้งคำถามท้าทายอยู่พอแรง ไม่ว่าจะเป็นไปโดยตั้งใจหรือถูกพล็อตของเรื่องพาไปก็ตาม ในหนังตระกูลสิ้นโลกเรื่องอื่นครอบครัวจะถูกทดสอบจากการเอาตัวรอดจากครอบครัวอื่นๆ ความเห็นแก่ตัวที่ถูกต้องเพราะต้องเอาตัวเองให้รอดไม่เช่นนั้นก็จะถูกฆ่าทิ้ง ตัวละครมีเหตุอันควรในการที่จะเห็นแก่ตัว แต่ในหนังเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องภายในครอบครัวเดียวเท่านั้น ในหนังเรื่องนี้ ครอบครัวจึงเป็นสภาวะปิดในห้องทดลอง
เริ่มจากการที่หนังว่าด้วยการมีลูกในโลกที่สำหรับผู้ชมแล้ว เป็นโลกที่การมีลูกเป็นเรื่องที่มีเหตุผลน้อยที่สุดที่ควรจะเป็น เมื่อมองในมุมมองของหนังสยองขวัญ มันคือการกระทำไร้เหตุผลโง่เง่าท้าตาย แต่เมื่อมองในฐานะของหนังครอบครัว การสืบสายพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็นไม่ว่าจะอยู่ในโลกแบบใด
ในหนัง โลกที่เป็นไป ไม่ใช่ภาวะชั่วคราวแบบเอเลี่ยนมาแค่สองปีแล้วจะจากไป แต่เป็นโลกที่ไม่มีวันจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว การยอมจำนนของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่คือการยอมรับว่าสู้เอเลี่ยนไม่ได้ เราต้องเอาตัวรอด ปิดปากเงียบ และพยายามจะมีชีวิตสืบไป การมีลูกในโลกเงียบจึงไม่ต่างอะไรกับการมีลูกในระหว่างสงครามที่กินเวลายาวนาน มันคือการประกาศยอมรับต่อสภาวะที่เป็นอยู่ และตะเกียกตะกายจะมีชีวิตต่อให้ได้ต่อไป การมีลูกในหนังจึงเป็นทั้งเงื่อนไขของเรื่องสยองขวัญกระตุ้นผู้ชม และเป็นทั้งแถลงการณ์ทางการเมืองของตัวละคร
หนังมีฉากเล็กๆ ที่น่าสนใจเมื่อมันฉีกตัวละครออกจากกัน ในขณะที่แม่คลอดลูก พ่อและลูกชายออกไปในป่า ลูกสาวหนีออกจากบ้าน และเอเลี่ยนบุกมา พ่อขอให้ลูกชายช่วยเบนความสนใจขณะตัวเองลักลอบเข้าบ้านไปหาภรรยา ในฉากนี้ลูกๆ อยู่นอกบ้าน พ่อและแม่อยู่ในบ้าน พยายามประคับประคองการคลอดใหม่ให้รอดพ้นจากเอเลี่ยน พ่อยืนยันว่าลูกๆ อยู่ข้างนอกคงไม่เป็นไร และลังเลที่จะทิ้งแม่ลูกอ่อนไว้ลำพัง ขณะที่แม่ประกาศถ้อยแถลงหลักของหนังชัดเจน ถึงหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องปกป้องลูกๆ ของตน ดังนั้นเองพ่อจึงยอมตามออกไปตามหาลูกๆ ที่กำลังประสบภัย ในชั่วขณะหนึ่งที่พ่อซึ่งอาจจะรักแม่มากกว่าลูกๆ ลังเลที่จะช่วยลูกก่อนภรรยาเป็นฉากสับสนที่น่าสนใจมากๆ แม้หนังจะลงเอยด้วยการเดินหน้าเชิดชูสถาบันครอบครัวต่อไป
แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือการฉายภาพแบบแลไปข้างหน้าเมื่อแกนความขัดแย้งหลักในหนังไม่ใช่ครอบครัว VS ภัยคุกคาม แต่เป็น คนรุ่นพ่อ VS คนรุ่นลูก หนังประนีประนอมและวิพากษ์ตัวเองพอสมควรในประเด็นเหล่านี้ เมื่อเรามองหนังผ่านความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกสาวหูพิการและลูกชายที่ขลาดกลัว
เงื่อนไขหลักของเด็กสองคนคือความขาดพร่องที่พ่อและแม่มีหน้าที่ปกป้องและเติมเต็ม เด็กสองคนที่เปราะบางเหมือนกับเด็กรุ่นมิลเลเนียมของพ่อแม่รุ่นเจนเอ็กส์ ซึ่งมีมุมมองต่อโลกที่ต่างออกไป และเอาเข้าจริงแล้ว เด็กทั้งคู่มีความ Queer มากกว่าจะเป็นลูกชายลูกสาวแสนดี หรือลูกสาวลูกชายหัวขบถ ทั้งคู่มีนัยยะสลับบทบาทหน้าที่ของเด็กชายเด็กหญิง (ลูกสาวดูมีความแกร่งกล้าขณะที่ลูกชายดูอ่อนไหว) มีความเบนออกจากมาตรฐานสมบูรณ์ (หูพิการ เด็กเกินไป) กล่าวให้ง่ายคือพ่อแม่เป็นภาวะโตเต็มวัยของอนุรักษ์นิยม ขณะลูกๆ ของพวกเขาดูคล้ายคนชายขอบที่พวกเขาจำต้องปกป้อง
แต่การปกป้องของคนรุ่นพ่อแม่คือการยอมจำนนต่อโลกที่เป็นอยู่ เราจึงเห็นพ่อพยายามกีดกันลูกสาวจากห้องทำงานใต้ถุนบ้าน ซ่อนความรักไว้ในเครื่องช่วยฟังทำเอง แทนที่จะปรึกษาหารือกับลูกๆ คนรุ่นพ่อแม่หรือผู้ปกครองล้วนเชื่อว่าตนเองทำสิ่งที่ดีที่สุดในการปกป้องผู้อ่อนแอกว่า ในขณะเดียวกันก็กีดกันเสียงของคนรุ่นต่อไป เพราะมองว่าเป็นคนอ่อนแอที่จะถูกฝึกให้เข้มแข็งได้ผ่านวิธีการของตนเท่านั้น
มันจึงนำมาสู่ฉากไคลแมกซ์ของหนังที่เป็นภาพแทนทางการเมืองที่น่าสนใจสุดขีด ถ้าการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อคือความเงียบ การยอมจำนน การปิดปากตัวเอง ในโลกแค่พูดก็ผิด (แลดูคล้ายกับภาพแทนทางการเมืองของผู้คนในประเทศเผด็จการ—เงื่อนไขของหนังจึงจับใจยิ่งเมื่อย้อนมองเข้ามาในประเทศที่เราเองอยู่อาศัย) แต่เด็กๆ กลับพบว่าการต่อสู้ไม่ใช่ความเงียบแต่คือการเปล่งเสียง เสียงความถี่ใหม่ เสียงใหม่ที่พบได้เฉพาะจากคนชายขอบ (คนที่การได้ยินพร่องพิการ) การต่อสู้ของคนรุ่นต่อมาจึงไม่ใช่ความเงียบแต่เป็นการเปล่งเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ในจุดนี้หนังจึงเป็นขบถต่อวิธีคิดของคนรุ่นพ่อแม่อย่างน่าสนใจมาก
แต่นี่ไม่ใช่หนังที่ท้าทายต่ออุดมการณ์ของตัวมันเอง เพราะในการค้นพบเสียงใหม่ มันไม่ได้เกิดจากการต่อต้านสิ่งเก่า หากมันเป็นการทำสิ่งเก่าให้ดียิ่งขึ้น มันเป็นการสืบสานร่องรอยของพ่อ เดินตามรอยเท้าที่พ่อทิ้งไว้ สานต่อสิ่งที่พ่อทำไม่สำเร็จผ่านเครื่องช่วยฟังที่พ่อล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเธอเพียงพบวิธีการใหม่ไม่ใช่สิ่งใหม่
หนังจึงบอกกับคนรุ่นต่อมาว่า ขบถทั้งหลาย ถึงที่สุดสิ่งที่เธอได้รับไม่ได้มาจากการต่อต้านแต่มันมาจากการที่คนที่เธอต่อต้านได้ทิ้งมรดกไว้ให้กับเธอ ค่านิยมอุดมการณ์ครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ในที่สุดหนังยังคงให้คุณค่าสูงสุดและจำเป็นต้องมีต่อไป เพื่อดำรงคงอยู่ในโลกแห่งภัยคุกคามนี้
และด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างบรรทัดของหนังสยองขวัญเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยถ้อยแถลงทางการเมืองที่น่าสนใจและถกเถียงต่อไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
Fact Box
- A Quiet Place กำกับโดยจอห์น คราซินสกี้ (John Krasinski) ที่นำแสดงเองคู่เอมิลี่ บลันท์ (Emily Blunt) ผู้เป็นภรรยาในชีวิตจริงของเขา
- หนังเรื่องนี้กวาดรายได้เปิดตัวในประเทศได้มากที่สุดในบรรดาหนังสยองขวัญที่ใช้บทออริจินัลของตัวเอง และมีรายได้เปิดตัวสูงสุดเป็นอันดับสามในบรรดาหนังสยองขวัญ รองจาก It และ Paranormal Activity 3