สตีเวน คอลเบิร์ต (Stephen Colbert) ถามบารัค โอบามา  (Barack Obama) ในรายการ The Late Show ว่าหนังสือของเขาขายดีขนาดนี้ (ประมาณ 887,000 เล่มใน 24 ชั่วโมงแรก) มีโอกาสที่ยอดขายจะแซงหนังสือ Becoming ของ มิเชล โอบามา (Michelle Obama) ภรรยาของเขาไหม?

ตอนนี้ร้านหนังสือขาย A Promised Land แพ็คคู่กับ Becoming หนังสือของเธอก็ยิ่งขายได้เพิ่ม ไม่มีทางเลยโอบาม่ายอมรับ แต่ถึงอย่างนั้น สำนักพิมพ์ Penguin Random House รายงานว่าหนังสือเล่มล่าสุดของโอบาม่าขายไปแล้ว 1.7 ล้านเล่มในสัปดาห์แรกที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

คนที่ติดตามโอบามามานานคงไม่แปลกใจในเรื่องนี้ เพราะอดีตประธานาธิบดีคนนี้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก เป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ ผ่านการเขียนหนังสือและการกล่าวสุนทรพจน์ตามวาระต่างๆ 

…..

A Promised Land คือหนังสือเล่มที่สามของโอบามา และเป็นเล่มแรกที่เขาเขียนถึงการทำงานในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาเล่าเส้นทางอาชีพนักการเมืองตั้งแต่จุดเริ่มต้นในครอบครัว ไต่เต้าลงแข่งขันในสนามการเลือกตั้งขนาดเล็ก ลงเลือกตั้งวุฒิสภา มาจนสู่การลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี และได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาสองสมัยในช่วงปี 2008-2015

การได้ติดตามเส้นทางการเมืองของโอบามาตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่งาน ชีวิต ความสัมพันธ์ และจิตใจ ทั้งยังได้เห็นด้านที่เปราะบางและเป็นมนุษย์ของเขาด้วย

โอบามาเริ่มคิดถึงการทำงานด้านการเมือง จากการเริ่มทำงานที่เรียกว่า Community organizing เป็นงานเพื่อสังคมที่รวบรวมคนในชุมชนเพื่อช่วยแก้ปัญหาในย่านต่างๆ เขาตั้งคำถามตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่างานที่ทำอยู่ช่วยเหลือคนได้มากแค่ไหน เพราะสุดท้ายหน่วยงานก็ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง จากจุดนั้นเราจะได้เห็นว่านั่นเป็นแรงขับของโอบามาที่ทำให้เขาลงสนามการเมือง โดยไม่มีอะไรรับประกันว่าจะประสบความสำเร็จคืออะไร  

ใครที่เคยอ่านหนังสือ Becoming ของ มิเชล โอบามา คงพอจำได้ว่ามิเชลบรรยายถึงการประคับประคองชีวิตแต่งงานโดยที่สามีไม่ค่อยมีเวลาให้เพราะต้องทำงานการเมือง ใน A Promised Land ก็มีประเด็นนี้เช่นกันจากมุมมองของเขา โอบามารู้ตัวว่าการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เป็นเหมือนกิเลสหรือ passion ส่วนตัวที่สร้างความเดือดร้อนให้คนใกล้ตัวไม่น้อย 

ตัวอย่างที่เข้มข้นที่สุดคือ โอบามาเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ลังเลว่าจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดีหรือไม่ เขาตัดสินใจถามความเห็นภรรยา แน่นอนว่ามิเชลไม่เห็นด้วย และถามกลับว่าเมื่อไรเขาถึงจะรู้จักพอเสียที

การเปิดเผยความรู้สึกด้านลึกในใจ คือความพิเศษของ A Promised Land ในความเป็นจริง ด้วยฐานะและบริบท โอบามาสามารถเขียนบันทึกการเป็นประธานาธิบดีโดยคัดเฉพาะเรื่องดีๆ หรือเขียนเข้าข้างตัวเองแค่ไหนก็ได้ แต่การเปิดเผยความรู้สึกเป็นเรื่องยากกว่า ในแง่หนึ่งมันเป็นการเผยด้านที่อ่อนแอของตัวเอง แต่ก็ทำให้คนอ่านเข้าถึงและเข้าใจตัวตนที่แท้ของเขามากขึ้น ซึ่งผิดกับตอนลงสมัครเลือกตั้ง แคมเปญการหาเสียงทำให้โอบามามีสถานะเป็นเหมือนไอดอลแห่งความหวัง ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสาธารณะผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนผิดหวังไม่ได้ 

…..

A Promised Land ยังทำให้เราได้สำรวจการเมืองสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับประเทศ ได้ทบทวนเหตุการณ์และนโยบายต่างๆ ในยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดีในมุมที่ลึกและต่างออกไป 

ช่วงที่โอบามาขึ้นรับตำแหน่งในปี 2008 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ Subprime ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ระเบิด เขาเล่าถึงเบื้องหลังการออกนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทำให้เราเห็นภาพว่าเศรษฐกิจอเมริกาในเวลานั้นอยู่ใกล้ปากเหวมากแค่ไหน หรือนโยบายการถอนกำลังทหารออกจากอิรักซึ่งเขาเป็นฝ่ายประกาศจุดยืนต่อต้านการทำสงครามมาตลอดตั้งแต่ช่วงหาเสียง แต่เมื่อได้รับตำแหน่งจริงการถอนทหารก็ไม่ได้ง่ายและรวดเร็วขนาดนั้นด้วยปัจจัยหลายด้าน 

อีกส่วนที่น่าสนใจคือการพูดถึงนโยบายดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในบทที่เรียกว่า The World As It Is ช่วงนั้นโอบามามีภารกิจหลายประการเกี่ยวกับอิรัก อัฟกานิสถาน ต้องออกเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาในบ้านตัวเองที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน

โอบามาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ชอบมีเชิงอรรถในหนังสือ เขาจะเล่าบริบทของเหตุการณ์อีกหลายย่อหน้าเพื่อให้เราเข้าใจการตัดสินใจมากขึ้น วิธีนี้ทำให้เนื้อหาในหนังสือยาวมาก (จำนวน 700 กว่าหน้า) แต่ก็เข้ากับวิธีเล่าเรื่องของเขา โอบามาไม่ได้เขียนหนังสือสละสลวย แต่ด้วยเรื่องเล่าที่มีอยู่ท่วมท้น เขาเก่งในการเล่าเรื่องยากๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ตอนต้นของบทที่เกี่ยวกับวิกฤตซับไพรม์ เขาอธิบายตอนที่ต้อง รีไฟแนนซ์บ้านของตัวเองกับโบรเกอร์ เป็นการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์โดยไม่ต้องใช้ศัพท์ซับซ้อนที่ยากเกินเข้าใจ

ในหนังสือเล่มนี้ เขายังสอดแทรกปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความขัดแย้งทางสีผิว การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศ และการต่อสู้เพื่อประชาธิบไตย เขาไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่กำลังคุกรุ่นในหลายประเทศทั่วโลกด้วย

สิ่งที่โอบามาเล่า ทำให้เราเห็นวิธีการมองปัญหาของคนในระดับรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย หลายครั้งเขาพบว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้แก้กันง่ายๆ ต้องผ่านระบบและขั้นตอนมากมาย แม้จะน่าหงุดหงิดใจ แต่ก็ทำให้เราเข้าใจภาพรวมของปัญหาและความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นเช่นกัน

…..

ช่วงนี้เราคงจะเห็นโอบามาให้สัมภาษณ์สื่อเพื่อโปรโมตหนังสืออยู่เป็นระยะ ในคลิปหนึ่งเขาพูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือว่า

ประเด็นที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นทุกที่ ไม่ใช่เกิดแค่กับผู้อ่านที่เป็นชาวอเมริกันเท่านั้น ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่มีเสรีภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับสิทธิมนุษยชน ความเปิดใจกว้างอดทนต่อความเห็นต่าง ความเข้าใจกันและกันกำลังเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม

ผมคิดว่าทุกประเทศกำลังข้ามผ่านในสิ่งที่ประเทศอเมริกากำลังเผชิญอยู่เช่นกัน เหมือนครั้งที่เรื่องโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี การเชื่อมต่อกันที่ดีขึ้น ต้องมาปะทะกับลัทธิชาตินิยม ตัวตนดั้งเดิมของเรา ชนเผ่านิยม อคติทางเชื้อชาติ ความต้องการผู้นำสูงสุดที่จะบอกว่าเราต้องทำอะไร เราทุกคนต่างมีสิทธิมีเสียงและสามารถร่วมมือกันได้ ทุกคนควรมีศักดิ์สรีและได้รับความเคารพ มันเป็นขั้นตอนที่กำลังดำเนินไป ต่างคนต่างมีบทบาทของตัวเองในการยืนยันคุณค่าเหล่านั้น 

หนึ่งในเป้าหมายของผมในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือ การรวบรวมพลังเหล่านี้อย่างมีความหวัง เพื่อที่จะสื่อสารว่าคุณค่าเหล่านี้คุ้มค่าที่พวกเราจะต่อสู้เพื่อมัน

A Promised Land เป็นส่วนผสมระหว่างหนังสือประวัติศาสตร์ และหนังสือบันทึกประสบการณ์ชีวิต ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดและได้ประสบการณ์การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ถ้าคุณอ่านแล้วชอบข่าวดีก็คือโอบามาเตรียมออกหนังสืออีกเล่มที่จะเล่าประสบการณ์ครึ่งหลังของการเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาในสมัยที่สอง เชื่อว่ามีอีกหลายเรื่องที่คนอ่านรอให้เขาเล่าอย่างใจจดใจจ่อ 

ถึงเวลานั้น มั่นใจว่ายอดขายของหนังสือโอบามาทั้งสองเล่มคงจะแซงยอดขายหนังสือของมิเชลภรรยาเขาเป็นแน่แท้

Tags: , , ,