แม้จะมีบางส่วนที่คล้ายกันอยู่ แต่โปรดอย่าสับสนระหว่างศิลปะแสดงสด (performance art) กับการแสดง (acting) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ต่อหน้ามาริน่า อบราโมวิช (Marina Abramović) ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าตัวเธอจริงๆ หรือต่อหน้าแนวคิดของเธอก็ตาม
รูปแบบศิลปะทั้งสองสามารถแยกแยะออกจากกันได้โดยการยึดเอาความสัมพันธ์กับความเป็นจริงเป็นหลัก และนั่นก็คือสิ่งที่อบราโมวิชได้เคยอธิบายไว้ เธอกล่าวว่า ‘การแสดง’ คือการเอาชีวิตและประสบการณ์คนอื่นมาเล่นให้เหมือนจริง แต่ ‘ศิลปะแสดงสด’ คือรูปแบบศิลปะที่มีชีวิตจริงเป็นของตัวเอง ทุกกระบวนการและการเคลื่อนไหวของตัวศิลปิน คือความจริงที่กำลังถูกเปิดเผยต่อสายตาผู้ชมในวินาทีนั้นเท่านั้น
มารินา อบราโมวิช คือศิลปินจากเมืองเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (หรือประเทศเซอร์เบียในปัจจุบัน) ผู้ทำงานศิลปะมายาวนานกว่าห้าสิบปี โดยหลักแล้ว ผลงานของเธอเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดสูงสุดของร่างกายและจิตใจมนุษย์ ผ่านการทดลองกับร่างกายของตัวเอง ความมุ่งมั่นในการค้นหาขีดจำกัดสูงสุดของร่างกายทำให้เธอได้รับบาดเจ็บและเป็นลมอยู่หลายครั้ง เช่น ชุดงานที่ชื่อว่า Rhythm หมายเลขต่างๆ ที่ทำขึ้นในช่วงปี 1972-1973 ที่มีทั้งการใช้มีดแทงระหว่างนิ้วตัวเองด้วยความเร็ว ทุกครั้งที่มีดเฉือนนิ้ว เธอจะเปลี่ยนเป็นมีดเล่มใหม่ หรือผลงานอันลือลั่นที่เตรียมสิ่งของ 72 ชิ้น ให้ผู้ชมใช้ทำอะไรก็ได้กับเธอ ตั้งแต่ดอกไม้ จนถึงปืน แน่นอนว่าถึงกับมีคนใช้ปืนจ่อหัวเธอ ฯลฯ ตลอดระยะเวลาหลายที่ผ่านมา อบราโมวิชได้ทำงานที่พาไปสู่การทดลองและการค้นพบศักยภาพต่างๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นศิลปินที่ได้รับความยกย่องนับถืออย่างยิ่งในทุกวันนี้
และในปี 2010 ก็ได้มีการจัดนิทรรศการ Marina Abramovic: The Artist is Present ขึ้นที่ Museum of Modern Art กรุงนิวยอร์ก เป็นนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของอบราโมวิช รวมถึงสารคดีเกี่ยวกับนิทรรศการและชีวิตของอบราโมวิชที่ออกฉายเมื่อปี 2012 งานเหล่านี้เองที่ทำให้อบราโมวิชได้ความคิดที่จะทำสถาบัน Marina Abramović Institute หรือ MAI ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศิลปะการแสดงสดและวิถีการทำงานแบบของเธอไปทั่วโลก และล่าสุดนี้ —ที่ประเทศไทย
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ผู้ชมจะสามารถเข้าชมและมีประสบการณ์กับการแสดงสดแบบต่อเนื่องโดยศิลปินนานาชาติ 8 คนที่เข้าร่วมกับสถาบัน MAI ในงานชุดที่ชื่อว่า A Possible Island? หรือ ‘เกาะแห่งความเป็นไปได้?’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) ซึ่งนอกจากงานแสดงสดนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งห้องที่แยกออกมาเป็นสำหรับกิจกรรมประเภทเปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมกับ The Abramović Method หรือ ‘วิถีมารินา’ ที่เปิดให้ผู้คนมาทดลองการมีปฏิสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานในแบบของอบราโมวิชกันดู
A Possible Island?
สำหรับ A Possible Island? หรือ เกาะแห่งความเป็นไปได้? การแสดงสดชิ้นแรกที่เราจะเจอเมื่อเดินเข้าห้องแสดงงานคืองานของจีฮุน ยุน (Jihyun Youn) ในชื่อว่า ‘รูปร่างของความโศกเศร้า’ (Geometry of Lamentation) จีฮุน ยุนเป็นศิลปินชาวเกาหลีผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ การแสดงชุดนี้เกี่ยวกับความพยายามในการทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เช่น การวัดความโศกเศร้าให้ออกมาเป็นตัวเลขหรือให้เป็นรูปร่าง เปรียบเสมือนกับดวงวิญญาณที่ติดอยู่ในวงจรที่วนซ้ำไปมา ทำแต่สิ่งเดิมๆ แล้วก็เผชิญกับความผิดหวังเดิมๆ ต่อไป
‘อดีตอันเรืองรอง ปัจจุบันอันเรืองรอง และอนาคตอันเรืองรองของเรา’ (Our Glorious Past Our Glorious Present Our Glorious Future) เป็นผลงานของศิลปินชาวเมียนมาร์ชื่อลิน เท็ต (Lin Htet) ศิลปินกักขังตัวเองไว้ในคุกลวดหนาม และมองออกมาข้างนอกด้วยสายตาที่ปนเปไปด้วยความหวัง ความกลัวและความโศกเศร้า สายตาและร่างกายของลิน เท็ตเป็นภาพตัวแทนของวิกฤติทางด้านมนุษยธรรมของประเทศของเขาเอง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการค้นพบตัวตนที่ไปกระตุ้นการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนการเมืองของการอพยพ
หลังจากผลงานแสดงสดสองชิ้นที่เต็มไปด้วยอารมณ์ตึงเครียดสองงานนี้ ผู้ชมก็จะได้พักจิตใจและความคิดกับศิลปินชาวอินเดียชื่อแวนดาน่า (Vandana) กับผลงาน ‘ฉัน, เปลวไฟ’ (I The Flame) ศิลปินพยายามที่จะยกระดับของสติจากสมาธิให้เป็นการตระหนักรู้ และจากการคิดเป็นการไม่คิด โดยใช้เปลวไฟจากเทียนเป็นจุดเพ่งมองเพื่อที่จะค้นพบตัวเองที่อยู่ภายในอย่างที่สอนไว้ในคัมภีร์ของศาสนาฮินดู ผลงานชิ้นนี้นอกจากปรับอารมณ์ของผู้ชมแล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมที่นำไปสู่ผลงานชิ้นถัดไปของทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปินไทยเพียงคนเดียวในกลุ่ม
ทวีศักดิ์นำเสนองานแสดงสดในชื่อ ‘คนสวน’ (The Gardener) เขาจะเดินจากบ้านพักอาศัยที่อยู่นอกเมืองเข้ามาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่อยู่ตรงใจกลางเมือง นำเอาดินจากบ้านและถือดอกไม้ปลอมมาด้วย การเดินจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง เมื่อมาถึงหอศิลป์ เขาจะปลูกดอกไม้พลาสติกโดยใช้ดินที่นำติดตัวมาในห้องแสดงงาน งานแสดงสดชิ้นนี้เป็นการนำจิตวิญญาณมาคืนให้กับชีวิตสมัยใหม่ที่โดดเดี่ยวและหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็ว ผู้ชมสามารถติดตามดูได้ผ่านทาง Facebook live ของศิลปิน เป็นการเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องสภาวะเสมือนจริงที่จำลองขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ที่ตอนนี้เริ่มมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันอย่างมากอีกด้วย
รีทู สัทธา (Reetu Sattar) เป็นศิลปินจากเมืองธากา ประเทศบังคลาเทศ งานแสดงสดของเธอมีชื่อว่า ‘วงโคจร’ (Orbit) เป็นงานเกี่ยวกับการเมืองและอำนาจครอบงำที่กักกันผู้คนไม่ให้คิดนอกขอบเขต รีทูแสดงสดโดยเดินและวิ่งเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ แต่จะหยุดเป็นช่วงเพื่อถามผู้ชมว่า “สบายดีหรือเปล่า?” บนผนังทั้งสามด้านมีนาฬิกาที่ตั้งเวลาไว้ให้ตรงกับสามประเทศที่มีคดีผู้สูญหายจากการต่อสู้กับรัฐหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ
ศิลปินคนที่ 5 เป็นศิลปินจากประเทศอิหร่านชื่อแพนเทีย (Pantea) ผลงานของเธอที่ชื่อว่า ‘วงกลม’ (Circle) เป็นการสำรวจทั้งความเจ็บปวดภายในจิตใจและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แพนเทียใช้งานแสดงสดของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าความเจ็บปวดนั้นไม่แบ่งแยกเพศหรือเลือกคน ศิลปินแสดงเป็นนักสู้วัวกระทิงและวัวกระทิงอยู่บนเสื่อรูปวงกลมสีดำมาเป็นอุปมาในงานแสดงสดนี้
‘คำสอน’ (Protreptic) โดยศิลปินชาวกรีก เดสปินา ซาคาโรโพลู (Despina Zacharopoulous) คงเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ชมมากที่สุด เพราะว่าศิลปินได้เชิญให้ผู้ชมเข้ามาข้างในพื้นที่เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับเธอในขณะที่กำลังทำงาน ซาคาโรโพลูจะยื่นเงื่อนไขข้อตกลงให้ว่าผู้ชมสามารถทำอะไรกับร่างกายของเธอได้บ้าง โดยปล่อยให้ผู้ชมเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าทำอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับ ผลงานชิ้นนี้เป็นงานเชิงโต้ตอบกับผู้ชมซึ่งก็เป็นการท้าทายอำนาจของการควบคุมตัวเองระหว่างมนุษย์ (คล้ายที่อบราโมวิชเคยลองตั้งคำถามมาแล้วใน Rhythm 0)
ศิลปินคนสุดท้ายเป็นชาวกรีกเช่นกัน ยานนิส พาพัส (Yiannis Pappas) เป็นศิลปินชาวกรีกที่พำนักอยู่ในเบอร์ลิน สร้างผลงานแสดงสดชื่อว่า ‘เทเลฟัส’ (Telephus) โดยนำสำนวนกรีกโบราณที่ว่า “ผู้ที่สร้างรอยแผลเท่านั้น ที่จะรักษาแผลนั้นได้” มาใช้เป็นตัวร่างแนวความคิดงานชิ้นนี้ขึ้น ในงานแสดงสดอันต่อเนื่องยาวนานนี้ ศิลปินใช้ปูนปลาสเตอร์หุ้มส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยสับเปลี่ยนไปทีละจุด เมื่อพร้อมที่จะแกะออก ซากของเฝือกปูนที่วางทิ้งไว้บนพื้นก็กลายเป็นประติมากรรมที่สร้างมาจากความตระหนักรู้ในตนเอง และเป็นบทวิจารณ์สภาวะอึดอัดของความเป็นตัวของตัวเองไปในตัว
เมื่อดูจนจบ นิทรรศการ ‘เกาะแห่งความเป็นไปได้?’ นี้ ให้ความรู้สึกคล้ายการติดเกาะ เช่น การเฝ้าดูตนเองจนสังเกตเห็นความจริงที่หนีไม่พ้นและต้องเริ่มมีสมาธิเพื่อที่จะก้าวเดิน (ดูงาน) ต่อไปได้ ความรู้สึกเช่นนี้จะคงอยู่ต่อไปและยังเข้มข้นมากขึ้นเมื่อเราข้ามไปที่ห้อง ‘วิถีมารินา’ หรือ The Abramović Method
The Abramović Method
‘วิถีมารินา’ ตระเตรียมผู้ชมให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีชีวิตผ่านการบริหารร่างกายและฝึกหายใจดังที่ตัวอบราโมวิชเองได้เคยอธิบายเอาไว้ จากนั้นก็จะใช้หูฟังปิดเสียงให้เงียบกริบจนเหลือเพียงแต่เสียงหัวใจเต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถรวบรวมตัวเองและสมาธิให้อยู่ในวินาทีปัจจุบัน ในห้องฝึกจะมีอาสาสมัครในชุดสีดำมาจูงมือไปที่แต่ละจุดที่ว่างเพื่อเริ่มกิจกรรม
ประสบการณ์ครั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคคลเป็นอย่างมาก ผู้ชมสามารถเข้าหาห้อง ‘วิถีมารินา’ ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เชื่อมั่นในศิลปะ ปล่อยให้เสียงเดียวที่ปรากฏอยู่เป็นเสียงหัวใจของเราเอง ถึงแม้ว่าทุกความรู้สึกสัมผัสจากงานจะเป็นประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวอย่างลึกซึ้ง แต่ความรู้สึกเช่นนั้นเองที่เป็นสภาวะแบบหมู่คณะ เพราะผู้คนรอบข้างเองก็ช่วงเวลาแห่งการตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเองเช่นกัน
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจเป็นวิถีอย่างนี้หรือเปล่า ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น?
Fact Box
A Possible Island? การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์แบบต่อเนื่องจาก 8 ศิลปิน MAI (จีฮุน ยุน, ลิน เท็ต, แวนดาน่า, ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์, รีทู สัทธา, แพนเทีย, เดสปินา ซาคาโรโพลู และยานนิส พาพัส) และ The Abramović Method (วิถีมารินา) เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) จัดแสดงที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม-11 พฤศจิกายน 2561