หากเราสังเกตคำในภาษาอังกฤษก็อาจสังเกตว่ามีคำจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่ในประโยคได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น คำว่า email ใช้เป็นนาม หมายถึง อีเมลแต่ละฉบับที่เราส่ง ก็ได้ หรือจะใช้เป็นกริยาที่หมายถึง ส่งอีเมล ก็ได้
นอกจากชื่ออาชีพต่างๆ ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว ยังมีชื่อสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะเช่นนี้ คือจะใช้เป็นนามเรียกชื่อสัตว์ชนิดนั้นๆ ก็ได้ หรือนำมาใช้เป็นกริยาก็ได้
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีสัตว์อะไรบ้างที่เรานำใช้เป็นกริยาได้ และเวลาที่นำมาใช้กริยาแล้วมีความหมายอย่างไร
Dog
เนื่องจากสัตวคู่หูของมนุษย์ชนิดนี้ชอบดมกลิ่นตามรอยสิ่งต่างๆ ไม่ก็เดินติดสอยห้อยตามมนุษย์ไปทุกที่ ดังนั้นเมื่อ dog ถูกนำมาใช้เป็นกริยาแล้ว จึงหมายถึง ตามติด ไล่ตาม เช่น หากเราสงสัยว่าแฟนของเรากำลังคบชู้ ก็อาจให้นักสืบไปตามติดทุกฝีก้าว แบบนี้ก็อาจพูดว่า I have a P.I. dog his every move.
หากไม่ได้ใช้หมายถึงว่ามีใครตามติดจริงๆ ก็อาจใช้ในเชิงเปรียบเปรย คือมีบางอย่างติดตามไปทุกที่เหมือนเป็นเงาตามตัว ปกติมักใช้กับเรื่องไม่ค่อยดี เช่น His political career was dogged by scandals. ก็คือ ตลอดระยะเวลาในอาชีพการเมือง มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ตามไปทุกที่
Cow
สำหรับหลายๆ คนแล้ว คำนี้น่าจะเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษคำแรกๆ ที่ได้เรียน แต่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า แม่วัว ของเรานั้นใช้เป็นกริยาได้ด้วย แปลว่า ข่มขู่ กดขี่ ปกติมักใช้ในรูป passive voice เช่น I refuse to be cowed into silence. ก็คือ เราไม่ยอมให้ใครมาข่มขู่ไม่ให้เราปริปากหรอก
หลายคนอาจสงสัยว่าแม่วัวที่ดูแสนจะอ่อนโยนใจดีกลายมาเป็นกริยาที่แปลว่า ข่มขู่ ได้อย่างไร คำตอบก็คือ cow ที่แปลว่า แม่วัว และ cow ที่เป็นว่า ข่มขู่ ไม่ได้มีที่มาจากคำเดียวกัน คำแรกมาจากรากอินโดยูโรเปียนที่แปลว่า แม่วัว (และเป็นญาติกับคำว่า โค ในภาษาไทยด้วย) ส่วนคำที่สองที่มาไม่แน่ชัด เชื่อว่าอาจจะมาจากคำว่า koga ในภาษานอร์สเก่า ที่หมายถึง กดขี่
Ape
คำนี้ใช้เรียกลิงไม่มีหาง เช่น กอริลลา อุรังอุตัง แม้แต่มนุษย์จริงๆ ก็จัดเป็น ape เช่นเดียวกัน ลิงพวกนี้มีความฉลาดเป็นน้องๆ มนุษย์ในหลายๆ ด้าน บางตัวเรียนภาษามือได้ด้วยซ้ำ (เช่น กอริลลาที่ชื่อโคโค่) อีกทั้งยังมีความสามารถในการเลียนแบบ ดังนั้น คำว่า ape จึงถูกนำมาใช้เป็นกริยา แปลว่า เลียนแบบ เช่น Her little sister wouldn’t stop aping her, so she stormed off. หมายถึง น้องสาวไม่ยอมหยุดเลียนแบบล้อเลียนสักที เธอจึงเดินโมโหตึงตังออกไป
แต่ทั้งนี้ ต่อให้ลิงเลียนแบบมนุษย์อย่างไร ก็คงทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ดีเท่ามนุษย์ ดังนั้น ape จึงใช้เป็นกริยา หมายถึง ลอกเลียนแบบแต่ทำได้ไม่ดีเท่า ได้อีกด้วย เช่น Samsung? They’ve only been aping Apple! ก็จะหมายถึง ซัมซุงน่ะเหรอ ก็แค่พยายามลอกแอปเปิ้ลมาแต่ไหนแต่ไร
Parrot
หากพูดถึงนกแก้วแล้ว นอกจากสีสันที่สวยงาม สิ่งที่หลายคนจะนึกถึงเป็นลำดับถัดมาก็คือความสามารถในการพูดเลียนเสียงมนุษย์ได้เหมือนเด๊ะ แม้จะไม่เข้าใจสิ่งที่พูดอยู่เลยก็ตาม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คำว่า parrot จะถูกเอามาใช้เป็นกริยา หมายถึง พูดหรือทำตามคนอื่นแบบทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้เข้าใจ เหมือนจำมาพูดอีกที หากพูดแบบไทยๆ ก็คือ ท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง ตัวอย่างเช่น Sadly, education in Thailand is most of the time all about parroting. ก็คือ น่าเศร้าที่การศึกษาในเมืองไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นการท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง
Chicken
แม้ว่าไก่จะไม่ได้ดูเป็นสัตว์ที่ขี้ขลาดตาขาวแต่อย่างใด แต่คำว่า chicken ที่หมายถึง ไก่ นี้ เริ่มถูกเอามาใช้เรียก คนขี้ขลาด ตั้งแต่ยุคกลางแล้ว ในสมัยนั้นยังใช้เป็นคำนามเป็นหลัก แต่ในเวลาต่อมา เริ่มมีคนเอาคำว่า chicken มาใช้เป็นกริยา จนปัจจุบันใช้กันแพร่หลาย แปลว่า ปอดแหก กลัวจนยอมถอนตัวล้มเลิกสิ่งที่ทำอยู่ เช่น หากเราเป็นคนกลัวรถไฟเหาะมาก อุตส่าห์รวบรวมความกล้าไปยืนต่อคิวแล้ว แต่ดันปอดแหกวินาทีสุดท้ายวิ่งหนีออกจากคิวไป แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า I chickened out at the last minute.
ทั้งนี้ คำว่า chicken ที่เป็นคำนามยังใช้เรียกเกมวัดใจด้วย ในการประลองแบบนี้ คนสองคนจะขับรถพุ่งเข้าหากันด้วยความเร็วสูง ใครที่เป็นฝ่ายป๊อดและหักหลบก่อนก็จะเป็นฝ่ายแพ้ไป แม้การดวลแบบนี้จะไม่ค่อยมีให้เห็นในปัจจุบันแล้ว แต่ก็ยังมีเกมวัดใจลักษณะคล้ายๆ กันแต่คิขุกว่าให้เห็นอยู่ หากใครเคยดูรายการเกมโชว์เกาหลี ก็อาจเคยเห็นเกมที่เอาดาราชายมายืนประจันหน้ากันแล้วให้ต่างฝ่ายต่างยื่นหน้าเข้าหากันเหมือนจะจูบอีกฝ่าย ใครที่ทนความหวาบหวามไม่ไหวและผละตัวออกก่อนก็จะเป็นฝ่ายแพ้ ด้วยความที่เกมนี้มีลักษณะคล้ายการดวลซิ่งรถชนกันที่เรียกว่า chicken แต่ผู้แข่งขันสองฝ่ายเป็นผู้ชายทั้งคู่ เกมนี้จึงเรียกว่า gay chicken
Rat
แต่ก่อนเชื่อกันว่า หากเรือจะล่มหรือบ้านจะพัง สัตว์ชนิดแรกที่จะรีบเผ่นก่อนเพื่อน ปล่อยให้คนอื่นฉิบหายวอดวายก็คือ หนู ด้วยเหตุนี้ คำว่า rat จึงเริ่มนำมาใช้เป็นคำนาม หมายถึง คนทรยศ คนที่ทิ้งพรรคพวก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการนำคำว่า rat มาใช้เป็นกริยา จึงหมายถึง ทรยศ หรือ ฟ้อง เช่น I know it was you who ratted me out to the teacher for stealing her bag. ก็จะหมายถึง เรารู้นะว่าแกเป็นคนไปฟ้องครูว่าเราขโมยกระเป๋าครู
Wolf
หากพูดถึงหมาป่า ภาพที่หลายคนนึกออกภาพแรกก็คือหมาป่าเขี้ยวโตจอมตะกละในนิทานตะวันตกต่างๆ เช่น หนูน้อยหมวกแดง หรือ ลูกหมูสามตัว ด้วยความที่หมาป่าถูกโยงกับความตะกละตะกราม ดังนั้น กริยา to wolf หรือ to wolf down จึงหมายถึง สวาปาม ยัดทะนาน เช่น After three days on a strict ketogenic diet, he broke down in tears and wolfed down the chocolate cake in the fridge. ก็จะแปลว่า หลังกินอาหารคีโตอย่างเคร่งครัดมาได้สามวัน เขาก็ร้องไห้ทนไม่ไหว ฟาดเค้กช็อกโกแลตที่อยู่ในตู้เย็นจนเรียบ
Worm
หนอนหรือพยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตที่โดยปกติแล้วไม่ได้เคลื่อนที่เป็นเส้นตรง แต่มักชอบชอนไช ค่อยๆ กระดึ๊บพาตัวเองแทรกไปยังที่ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อ worm ถูกนำมาใช้เป็นกริยา จึงอาจหมายถึง ค่อยๆ แทรกผ่านสิ่งกีดขวางไปจนถึงจุดหมาย เช่น The spy slowly wormed his way through the crowd. หมายถึง สายลับค่อยๆ แทรกตัวผ่านฝูงคน
คำว่า worm ที่เป็นกริยาอาจใช้ในความหมายเชิงเปรียบเปรยได้ด้วย คือในกรณีที่คนคนหนึ่งพยายามค่อยๆ ชอนไชพาตัวเองเข้าไปในกลุ่มหรือหน่วยงานหนึ่งๆ หรือไม่ก็ทำทุกวิธีทางเพื่อค่อยๆ แทรกตัวเข้าไปในชีวิตคนอื่น เช่น The psychopath managed to worm his way into her life. ก็จะหมายถึง ไอ้คนโรคจิตค่อยๆ หาทางชอนไชจนเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้หญิงคนนี้ได้
คำว่า worm นี้ หากไม่แปลว่าชอนไชเข้าไป ก็ยังอาจจะใช้หมายถึง ชอนไชออกมาก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วใช้ในเชิงเปรียบเปรย คือหาวิธีเอาตัวรอดจนได้ ทำให้ตนเองไม่ต้องทำสิ่งบางสิ่งได้สำเร็จ เช่น I don’t know how, but our boss may have just wormed her way out of that project. ก็จะหมายถึง เจ้านายเราหาวิธีเอาตัวรอดไม่ต้องโปรเจ็กต์นั้นจนได้ ไม่รู้ทำได้ไงแฮะ
นอกจากนั้น ยังใช้หมายถึงล้วงความลับก็ได้ เช่น They tried to worm the truth out of him. ก็จะหมายถึง เขาพยายามล้วงความจริงออกมา
Hawk
คำนี่ปกติใช้เรียกเหยี่ยว ซึ่งเป็นนกนักล่าที่มีสายตาแหลมคม แต่เมื่อนำมาใช้เป็นกริยา จะแปลว่า หาบเร่ เช่น The old man went around hawking souvenirs to tourists. หมายถึง ชายแก่เร่ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว
นอกจากนั้น hawk ยังใช้หมายถึง ไอเสียงดังเพื่อขับเสลด ขากเสมหะ ได้อีกด้วย เช่น He was trying to clear his throat, hawking up phlegm and spitting. คือ เขาขากเสมหะแล้วคายทิ้งให้คอโล่ง
มาถึงหลายคนอาจจะเริ่มเกาหัว เพราะดูยังไงๆ เหยี่ยวก็ไม่น่าไปเกี่ยวกับการหาบเร่หรือขากเสลดได้ นั่นก็เป็นเพราะทั้งสามความหมายที่พูดถึงไป ไม่ได้มาจากคำเดียวกันหมด เพียงแค่บังเอิญสะกดว่า hawk เหมือนกันในปัจจุบัน hawk ที่แปลว่า เหยี่ยว มาจากคำว่า hafoc ในภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกนกชนิดนี้ ส่วน hawk ที่แปลว่า หาบเร่ ย่นย่อมาจากคำว่า hawker ที่แปลว่า คนขายหาบเร่ อีกที ซึ่งมาจากคำในภาษาเยอรมันโบราณ หมายถึง ก้มโค้งหรือหาบเร่ อีกทอด ส่วน hawk ที่หมายถึง ไอขากเสมหะ เชื่อกันว่าเป็นคำเลียนเสียง
Bug
ปกติแล้ว คนเรามักมองแมลงเป็นสัตว์รบกวนเพราะชอบมาคลานยั้วเยี้ยหรือกัดต่อยให้เราเดือดร้อนรำคาญ ดังนั้น จึงมีการนำคำว่า bug มาใช้เป็นคำสแลง หมายถึง ก่อกวน กวนใจ สร้างความรำคาญ เช่น หากเราจะทำงานแต่มีเด็กเล็กๆ มาเกาะแข้งเกาะขาชวนเล่นจนเราไม่เป็นอันทำการทำงาน เราก็อาจจะปัดรำคาญด้วยการบอกว่า Stop bugging me.
แต่ทั้งนี้ เวลาที่แมลงไม่ได้สร้างความรำคาญ เราก็มักไม่ค่อยสังเกตเห็นแมลงตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะมีขนาดเล็กและซ่อนตามตัวที่ต่างๆ ได้อย่างแนบเนียน คล้ายๆ กับที่ริต้า สกีตเตอร์ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ แปลงร่างเป็นแมลงเพื่อแฝงตัวไปเก็บข้อมูลตามที่ต่างๆ ได้โดยไม่มีใครจับได้ ดังนั้น bug จึงมีความหมายว่า อุปกรณ์ดักฟัง ได้ด้วย เมื่อนำมาใช้เป็นกริยา จึงหมายถึง ติดอุปกรณ์ดักฟัง เช่น หากมีคนอื่นล่วงรู้ความลับของเราจนชวนให้เราสงสัยว่ามีใครมาติดอุปกรณ์ดักฟังในออฟฟิศเราหรือเปล้า เราก็อาจพูดว่า I think my office might be bugged.
บรรณานุกรม
http://www.etymonline.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Longman Dictionary of Contemporary English
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Fact Box
การที่คำคำหนึ่งสัปดนทำหน้าที่ได้มากกว่าหนึ่งแบบนี้ มีที่มาสองแหล่งหลักๆ แหล่งแรกคือกระบวนการที่เรียกว่าการเปลี่ยนหน้าที่คำ หรือ conversion กระบวนการนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการนำคำที่มีอยู่แล้วมาใช้ในหน้าที่ที่ต่างไปจากเดิม แต่ไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำ เช่น คำว่า influence แต่เดิมอาจใช้เป็นคำนาม หมายถึง อิทธิพล แต่ต่อมาภายหลังเริ่มมีคนนำมาใช้เป็นกริยา หมายถึง ส่งอิทธิพล พอคนใช้เยอะเข้าจนเป็นที่แพร่หลายในคนหมู่มาก คำนี้ก็เลยกลายเป็นคำที่มีหน้าที่ได้มากกว่าหนึ่งแบบ
แหล่งที่สองคือการที่คำสองคำดันบังเอิญพัฒนามาจนตัวสะกดซ้อนทับกัน กรณีแบบนี้มักเกิดจากคำสองคำที่ไม่ได้มีที่มาร่วมกัน อาจมีหน้าที่ทางไวยากรณ์คนละอย่างกันด้วยซ้ำ แต่ดันออกเสียงหรือสะกดคล้ายกันมาก เมื่อเวลาผ่านไปตัวสะกดก็อาจเปลี่ยนแปลงจนเหมือนกัน ทำให้เกิดเป็นคำที่ดูเผินๆ แล้วเป็นคำเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละคำกันที่มีหน้าที่คำต่างกัน ตัวอย่างเช่นคำว่า pan ที่เป็นคำนามแปลว่ากระทะ มาจากคำว่า panne ในภาษาอังกฤษเก่า แต่ to pan ที่เป็นกริยาหมายถึง หันกล้องถ่ายตาม ย่อมาจาก panoramic แต่ทั้งสองคำดันมาสะกดว่า pan เหมือนกันในภายหลัง ก็เลยมีทั้ง pan ที่เป็นนามและ pan ที่เป็นกริยา