ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. ของอินเดียประกาศกำหนดการการเลือกตั้งทั่วไปว่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 เมษายน – 19 พฤษภาคม นายศยาม สรัน เนกี (Shyam Saran Negi) ผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งคนแรกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของอินเดีย ก็ยืนยันในวัย 102 ปี ว่ารู้สึกตื่นเต้นและจะออกไปใช้สิทธิอย่างแน่นอน

ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียแจ้งเกิดช้ากว่าไทย 15 ปี ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกก็อายุน้อยกว่าบ้านเรา 18 ปี โดยมีขึ้นครั้งแรกในปี 1951 แต่ถ้ามองจากแง่มุมของรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยและระบบการเลือกตั้งของอินเดียถือว่าเรียนรู้ถูกผิดและต่อยอดมาค่อนข้างเป็นเส้นตรงกว่าของไทย เพราะจนถึงทุกวันนี้ อินเดียก็ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวกับที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1948 ซึ่งร่างโดย ดร. ภิมราว อัมเบดการ์ (Bhimrao Ambedkar) เนติกรและนักต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวดาลิต (คนนอกวรรณะในอินเดีย เดิมเรียกกันว่าจัณฑาล)

คนอินเดียเรียกสภาผู้แทนราษฎรว่า ‘โลกสภา’ (Lok Sabha) แปลว่าสภาประชาชนหรือสภาราษฎร เรียกวุฒิสภาว่า ‘ราชยสภา’ (Rajya Sabha) การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียมีขึ้นทุก 5 ปี และถือเป็น ‘มหกรรมการเลือกตั้ง’ ของแท้ เพราะต้องเลือก ส.ส. กันถึง 543 คน และในการเลือกตั้งครั้งที่ 17 นี้ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 900 ล้านคน จากจำนวนประชากรราว 1,364 ล้านคน เพิ่มจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนราว 84 ล้านคน โดยมีผู้มีสิทธิอายุ 18-19 ปีหรือผู้ที่มีสิทธิเป็นครั้งแรกกว่า 15 ล้านคน สำหรับการเลือกตั้งนอกประเทศ มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิแล้ว 71,735 คน

การลงคะแนนของอินเดียเป็นระบบ ‘กด’ ไม่ใช่เข้าคูหากากบาท โดยใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machine: EVM) นวัตกรรมที่วิศวกรและนักออกแบบอินเดียระดมมันสมองคิดค้นกันมาตั้งแต่ปี 1980 ใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งซ่อมของรัฐเกรละในปี 1981 และใช้เป็นเครื่องมือเสริมในการลงคะแนนเรื่อยมา จนมาใช้ทุกเขตทุกคูหาในการเลือกตั้งปี 2004 และการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สองที่มีช่อง NOTA (None of the Above) หรือไม่เลือกใครให้กด

ด้วยความกว้างใหญ่ของประเทศและจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมหาศาล การเลือกตั้งของอินเดียไม่สามารถทำได้ในวันเดียวเหมือนบ้านเรา แต่ต้องจัดการเป็นเฟส โดยในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 7 เฟส เฟสแรกเริ่มในวันที่ 11 เมษายน และเฟสสุดท้ายในวันที่ 19 พฤษภาคม สำหรับการนับคะแนนจะมีขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม และน่าจะทราบผลในวันเดียวกัน

ผู้เฒ่าเนกีอาศัยอยู่ในหมู่บ้านกัลปะ เมืองคินเนอร์ รัฐหิมาชัลประเทศ คินเนอร์เป็นหุบเขาที่ตั้งลึกเข้าไปในเทือกเขาหิมาลัย ถนนทางเข้ามักปกคลุมด้วยหิมะตลอดฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ เมื่ออินเดียจัดเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก คินเนอร์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิให้มีการลงคะแนนก่อนเขตอื่น 6 เดือน ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 1951 เนกี-ครูประชาบาลหนุ่มที่ตื่นเต้นกับการที่ชาวบ้านคนเล็กคนน้อยอย่างเขา จะได้มีสิทธิออกเสียงเลือกคนที่จะไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน ได้ตื่นแต่เช้า เดินฝ่าหิมะไปยังคูหาเลือกตั้ง และได้ใช้สิทธิเป็นคนแรก

ในการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 2014 Google India จัดทำวิดีโอคลิปสั้นๆ ชื่อ Pledge to Vote ออกอากาศทาง YouTube โดยเชิญคนดังในแวดวงต่างๆ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ปรากฏว่าคลิปที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Believer in Power of Democracy ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้เฒ่าเนกี แกเล่าถึงความรู้สึกในเช้าวันนั้นเมื่อกว่า 66 ปีก่อนว่า “วันนั้นเป็นวันพิเศษ เป็นโอกาสจะได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สมัยนั้นหิมะตกมาก ทางขาดอยู่บ่อยๆ ก่อนที่คินเนอร์จะถูกตัดขาดจากโลกข้างนอก ทางการจัดให้เราเลือกตั้งก่อนใคร ฉันยังจำความตื่นเต้นยินดี ความภาคภูมิใจที่รู้สึกในวันนั้นได้ ต่อให้ฝนตก หิมะลง ฉันจะไม่พลาดโอกาสนี้เด็ดขาด”

และผู้เฒ่าเนกีก็ไม่เคยพลาดออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลยสักครั้งเดียว แม้ว่าช่วงสองปีหลังนี้ แกจะเจ็บออดๆ แอดๆ เดินเหินไม่ค่อยไหวเหมือนเมื่อก่อน และออกปากว่าไม่รู้ว่าจะตายก่อนการเลือกตั้งหนต่อไปหรือไม่ แต่ทันทีที่ กกต.ประกาศกำหนดการเลือกตั้ง ผู้เฒ่าเนกีก็บอกกับนักข่าวของสำนักข่าว ANI ว่า

“ฉันจะออกไปใช้สิทธิอย่างแน่นอน”

กำหนดการเลือกตั้งสำหรับหมู่บ้านกัลปะของผู้เฒ่าเนกีจะมีขึ้นในช่วงเฟสสุดท้ายคือวันที่ 19 พฤษภาคม และนั่นก็จะเป็นการใช้สิทธิครั้งที่ 17 ของแก

Tags: ,