น่าจับตาว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคม สีจิ้นผิงจะไปพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ที่สหรัฐฯ หรือไม่ การทูตในสไตล์จีนนั้น ถ้าผู้นำนัดเจอกัน นั่นแปลว่า พร้อมลงนามข้อตกลง โลกกำลังรอชมว่า ทั้งสองฝ่ายจะรามือจากสงครามการค้าในเร็ววันหรือเปล่า

การเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีขึ้นในกรุงวอชิงตันเมื่อสองสัปดาห์ก่อน นับว่ามีความคืบหน้า เวลานี้ ผู้แทนเจรจาฝ่ายจีนกำลังนำข้อเรียกร้องของรัฐบาลวอชิงตันกลับไปหารือกับรัฐบาลปักกิ่ง ถ้าจีนพร้อมเปิดเจรจาเพิ่มเติม ผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ก็จะเดินทางไปจีน

ถึงแม้ยังมีประเด็นต้องเจรจากันอีก แต่โลกกำลังตั้งตารอดูว่า การเจรจาที่ผ่านมาและการเจรจาเพิ่มเติมจะทำให้เกิด “ข้อตกลงชั่วคราว” ที่ดีพอสำหรับผู้นำของทั้งสองฝ่ายที่จะลงนามกันหรือไม่

ถ้าสีจิ้นผิงกับโดนัลด์ ทรัมป์ พึงพอใจกับข้อตกลงแบบรอมชอม ทั้งสองอาจได้ลงนามกันในราวปลายเดือนมีนาคม ถือเป็นการทุเลาสงครามการค้า แม้ว่าการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าอาจยังไม่ยกเลิกหมดเสียทีเดียว

‘ทรัมป์’ จะยอมถอยหรือไม่

รัฐบาลทรัมป์กล่าวโทษว่า อเมริกาเสียเปรียบดุลการค้าจีนอย่างมหาศาล เพราะปักกิ่งดำเนินนโยบายและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนแก้ไขใน 4 ประเด็น คือ การอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมผ่านรัฐวิสาหกิจ การบังคับเอกชนอเมริกันที่ร่วมทุนกับบริษัทจีนให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี การปิดกั้นการเข้าถึงตลาด และการขโมยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายอเมริกันบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของการค้าต่างประเทศของจีน

วอชิงตันใช้การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเป็นเครื่องมือทางนโยบาย กดดันให้ปักกิ่งเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปฏิบัติในประเด็นทั้งสี่ จีนตอบโต้ด้วยมาตรการแบบเดียวกัน อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจาหาข้อยุติต่อประเด็นพิพาทเหล่านี้

การเจรจามีความคืบหน้าตามลำดับ กระทั่งผู้นำของทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะระงับแผนการขึ้นภาษีตอบโต้กันไว้ก่อน เส้นตาย 1 มีนาคม ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดจะขึ้นอัตราภาษีจาก 10 เปอร์เซ็นต์เป็น 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ จึงผ่านไปท่ามกลางความโล่งอกของตลาดทั่วโลก

นสพ.จีน รายงานการพบกันของทรัมป์และสีจิ้นผิง พาดหัวว่าทั้งสองผู้นำตกลงที่จะระงับกำแพงภาษี เมื่อ 3 ธ.ค. 2018 โดย GREG BAKER/ AFP

จนถึงตอนนี้ ทรัมป์ยังไม่ได้ประกาศว่า เส้นตายดังกล่าวจะยืดไปถึงเมื่อไร สมมติว่าการเจรจาหยุดชะงักเพราะถึงทางตัน สหรัฐฯ จะเดินหน้าทำสงครามการค้าหรือไม่ ท่าทีชะลอคำขู่นี้เองทำให้ทรัมป์ถูกจับตาว่า เขาอาจจะยอมอ่อนข้อให้จีน

สมาชิกสภาคองเกรสและแวดวงธุรกิจอเมริกันหวั่นใจว่า ทรัมป์อาจยอมรับข้อตกลงที่ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะอยากได้ผลงานเอาไว้หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

เมื่อวันศุกร์ (8 มี.ค.) ทรัมป์บอกว่า เขามั่นใจว่า สหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงกับจีน อย่างไรก็ดี เขาเน้นว่า ถ้าเจรจาแล้วไม่ได้ข้อตกลงที่ดี เขาก็จะไม่ทำข้อตกลง ขณะที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลไธเซอร์ บอกกับสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ จะยังคงใช้มาตรการภาษีกดดันจีนต่อไป แค่จีนยอมซื้อสินค้าอเมริกันมากขึ้นนั้นยังไม่พอ

คาดสีจิ้นผิงไม่สละ ‘รัฐนำตลาด’

ผู้เชี่ยวชาญในจีนฟันธงว่า จีนอาจลดราวาศอกกับสหรัฐฯ อยู่บ้าง เพื่อถนอมไมตรีระหว่างมหาอำนาจโลกกับยักษ์เศรษฐกิจอันดับสองของโลก ที่ยังต้องอยู่ด้วยกันแบบ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” โดยยอมรับข้อเรียกร้องในส่วนของการปฏิบัติบางเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจะไม่ละวางหัวใจของสังคมนิยมในเร็ววัน นั่นคือ ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง

ตู้ซินกวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่างประเทศ ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า สีคงไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของทรัมป์ในประเด็นบทบาทของรัฐวิสาหกิจ หรือการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี

ประเด็นที่จีนอาจยอมรับได้คงเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาตามหลักการของการค้าระหว่างประเทศ ยอมเปิดตลาดมากขึ้น เช่น ซื้อสินค้าอเมริกันมากขึ้น หรือเปิดภาคบริการบางส่วน รวมถึงอาจยอมรายงานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการอุดหนุนแก่องค์การการค้าโลก

นับแต่เจรจากันมาหลายรอบ ประเด็นหลักข้อหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายยังคุยกันไม่ได้ข้อสรุป คือ กลไกติดตามและบังคับให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง สำหรับฝ่ายอเมริกัน ประเด็นนี้จะเป็นเครื่องประกันว่า ข้อตกลงจะไม่เป็นเพียงคำมั่นทางการเมือง หรือพูดง่ายๆ ว่า จีนจะไม่ทำแค่รับปากเฉยๆ แต่ต้องปฏิบัติตามสัญญาอย่างแท้จริง

‘ข้อตกลง มาราลาโก’

โลกกำลังติดตามชมว่า ประธานาธิบดีสี ซึ่งมีกำหนดไปเยือนอิตาลีในช่วงวันที่ 22-24 มีนาคม จะบินต่อไปยังสหรัฐฯ เพื่อพบกับทรัมป์ที่บ้านพักตากอากาศ Mar-a-Lago ในมลรัฐฟลอริดา หรือไม่ ทีมงานของทรัมป์คาดเดาว่า ผู้นำทั้งสองอาจได้ลงนามข้อตกลง สหรัฐฯ-จีน ที่นั่น

แลร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว บอกว่า ตอนนี้ ผู้แทนเจรจาการค้าของจีนกำลังหอบข้อเสนอของฝ่ายอเมริกันกลับไปรายงานแก่ประธานาธิบดีสีและคณะกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถ้าทางฝ่ายโน้นไม่ขัดข้อง ผู้นำของทั้งสองฝ่ายอาจพบกันในเดือนมีนาคม หรือเมษายน

นักวิเคราะห์บอกว่า ไม่เพียงแต่ทรัมป์ที่ต้องระมัดระวังปฏิกิริยาจากสภาคองเกรสและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ถ้าจะลงนามข้อตกลง ประธานาธิบดีสีก็ต้องตอบคำถามของพรรคและสาธารณชนได้เช่นกัน มิฉะนั้นก็จะเจอคำวิจารณ์ว่า “ยอมหงอฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งจะทำให้เสียรังวัดทางการเมือง

ยิ่งสำหรับผู้นำจีนด้วยแล้ว ความชอบธรรมทางการเมืองมีราคาสูงลิบ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายบอกว่า สีจิ้นผิงอาจเลือกที่จะปล่อยให้ความตึงเครียดด้านการค้าดำเนินต่อไป ดีกว่าที่จะถูกมองว่า อ่อนข้อให้ทรัมป์

ถึงแม้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเล็งผลเลิศว่า ผู้นำทั้งสองอาจได้ลงนามกันในอีกไม่นาน แต่แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่จีนบอกว่า ถ้ายังไม่มั่นใจว่า เมื่อเจอกันแล้วจะได้ลงนามแน่นอน ฝ่ายจีนก็จะยังไม่กำหนดวันนัด

เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของจีนนั้น ซัมมิตต้องปิดฉากด้วยพิธีลงนาม ไม่ใช่คุยกันแล้วแยกย้าย อย่างที่ทรัมป์ทำกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิมจองอึน

นับจากวันนี้ คงต้องรอฟังประกาศวันนัดพบ โดนัลด์ ทรัมป์-สีจิ้นผิง

 

อ้างอิง:

Reuters, 4 March 2019

Reuters, 8 March 2019

Reuters via the Express Tribune, 8 March 2019

ภาพหน้าแรก: GREG BAKER/ POOL/ AFP

Tags: , , , , ,