“คุณรู้หรือเปล่าว่าทางรถไฟที่อยู่ในไต้หวัน คนไทยเป็นคนสร้าง”

ม่อน-แรงงานชาวไทยในไต้หวัน กล่าวกับ ‘ยิ่งยศ เย็นอาคาร’ และ ‘ธนภณ อินทร์ทอง’ สองศิลปินที่ไปเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก Taichung ASEAN Square Cultural Exchange Project ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ 1905 Culture Studio ที่ประเทศไต้หวันเป็นเวลาสามเดือนเมื่อปี 2559

นอกหน้าต่างพื้นที่แสดงงานของสองศิลปิน คือสถานีรถไฟที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

โครงการศิลปินในพำนัก (Artist in Residence หรือ Artist Residency) คือโครงการให้ทุนแก่ศิลปินเพื่อไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะตามเมืองต่างๆ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์จนถึงนานเป็นปี โครงการศิลปินในพำนักสนับสนุนศิลปินที่ได้รับทุนให้ทำงานศิลปะโดยมีส่วนร่วมกับเมืองหรือชุมชนที่ตนไปอยู่อาศัย ผ่านการสำรวจและสร้างบทสนทนากับคนในพื้นที่ในรูปของกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนา นิทรรศการศิลปะ หรืองานวิจัยเชิงสร้างสรรค์

การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างศิลปินผู้มาเยือนกับคนในชุมชน คือหัวใจสำคัญของโครงการศิลปินในพำนัก

 

ยิ่งยศและธนภณเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนแรงงานไทยในไต้หวันที่เมืองไถจง เมืองเหมี่ยวลี และชุมชนตงไห่ เพื่อทำความรู้จักชีวิตและการทำงานของพวกเขา คนเหล่านี้มาทำงานอะไร ใช้ชีวิตอย่างไร เวลาว่างทำอะไร คิดถึงบ้านบ้างหรือไม่ การปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในต่างแดน เรื่องราวความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก ความกดดันจากการต่อรองกับเอเจนซี่ที่พามาทำงาน และภาระจากทางบ้าน ถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนาในวงเบียร์ลีโอที่หอพักคนงานและร้านอาหารไทยซึ่งทุกคนมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์ วันหยุดเพียงวันเดียวในแต่ละสัปดาห์

แรงงานไทยที่นั่นส่วนใหญ่มาทำงานก่อสร้าง ไม่ก็ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากเรื่องราวการทำงานแล้ว ศิลปินทั้งสองยังตามพวกเขาไปเก็บหน่อไม้ ไปตกปลาที่แม่น้ำเพื่อมาทำปลาตากแห้งอีกด้วย ภาพถ่าย วิดีโอ เสียงบันทึก และข้าวของต่างๆ ของแรงงานชาวไทย กลายเป็นข้อมูลและวัตถุดิบในการทำงานศิลปะ

ยิ่งยศและธนภณเก็บเอาเศษวัสดุจากพื้นที่ก่อสร้างและหอพักคนงานมาเขียนภาพทับลงไป ประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ที่ทำจากวัสดุเก็บตก (found objects) เหล่านี้บอกถึงตัวตนและความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในไต้หวัน

ศิลปินทั้งสองนำผลงานชุดเดียวกันกลับมาจัดแสดงในเมืองไทย ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (โปรเจกต์รูม) ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตั้งชื่อนิทรรศการว่า ‘อยากกลับไป แต่ใจอยากกลับมา’

ห้องแสดงงานที่แกลเลอรี่เว่อร์เป็นพื้นที่ปิดทึบ ต่างจากที่ไต้หวันซึ่งผู้ชมสามารถมองออกนอกหน้าต่างไปเห็นสถานีรถไฟที่แรงงานไทยทำงานอยู่ได้ แต่การตัดขาดจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกศิลปะกับโลกภายนอกที่เป็นต้นตอของนิทรรศการกลับตอบโจทย์อีกข้อหนึ่ง นั่นคือการเป็นตัวแทนการ ‘กลับบ้าน’ ซึ่งเป็นความปรารถนาของเหล่าแรงงานไทยในต่างแดน

ในนิทรรศการนี้ แม้ผู้ชมไม่อาจเห็นโลกภายนอกที่แรงงานเหล่านั้นดำเนินชีวิตอยู่ แต่สามารถรับรู้ถึงโลกภายในของพวกเขาผ่านวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่บรรจุไว้ซึ่งความรู้สึกนึกคิด อันที่จริงแล้ว ที่มาของคำปรารภ “อยากกลับไป แต่ใจอยากกลับมา” คือยายเจ้าของร้านอาหารไทยในไต้หวันที่ทำกิจการร้านอาหารมาเป็นเวลาหลายปีนั่นเอง บางครั้งแกก็นึกอยากกลับมาอยู่เมืองไทย แต่ก็ทิ้งธุรกิจที่เลี้ยงชีพมาไม่ลง เช่นเดียวกับแรงงานไทยในไต้หวันอีกมากที่ต้องสู้ทนทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้าน

บนห้องแสดงงานชั้นสองของแกลเลอรี่ ผู้ชมจะพบกับสติกเกอร์ข้อความชิ้นเล็กๆ เช่น ‘ข่อยมาหารักแท้ที่ไต้หวัน’ ‘พักไม่ได้ หัวใจยังเต้นอยู่’ และ ‘สู้เด้อพี่น้อง’ ติดอยู่บนผนัง ถัดไปเป็นโต๊ะยาวมีครอบกระจกใส ภายในบรรจุข้าวของอย่างแผนที่ รูปภาพ กระดาษที่มีข้อความเขียนอยู่ หนังสือพิมพ์ภาษาไทย มาม่ารสต้มยำ และกระป๋องเบียร์ลีโอที่วางทับอยู่บนแผ่นกระเบื้องติดรูปหม้อหุงข้าวเล็กๆ ใต้โต๊ะมีก้อนอิฐแดงที่ศิลปินวาดรูปชายคนหนึ่งเอาไว้พร้อมข้อความกำกับว่า ‘ชื่อบดินทร์ มีลูกมีเมีย’ และ ‘THAI 100%’

บนผนังสุดปลายห้องฝั่งขวา มีฝากระปุกน้ำพริกแม่ประนอมวาดทับเป็นรูปปลาติดอยู่ ฝั่งซ้ายมีโทรทัศน์ตั้งอยู่ที่พื้น ฉายวิดีโอเห็นภาพศิลปินซ้อนมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งเลียบไปตามแม่น้ำและตรอกซอกซอย ผนังยาวอีกด้านมีชั้นไม้แขวนอยู่ บนชั้นไม้มีเศษก้อนอิฐ ท่อนไม้ แผ่นไม้ และกระเบื้อง เขียนภาพชีวิตคนงานชาวไทยในกิจกรรมต่างๆ กัน จัดวางประสมกับภาพถ่ายและงานปะติดจากวัสดุเก็บตกอื่นๆ

ในที่นี้ การไปพำนักของศิลปินทำหน้าที่เป็นตัวกลางสองระดับ คือระหว่างองค์กรที่ให้ทุนทางศิลปะกับคนต่างชาติ (แรงงานไทย) ในพื้นที่ และระหว่างแรงงานไทยในไต้หวันกับผู้ชมนิทรรศการในประเทศไทย ประติมากรรมสื่อผสมเหล่านี้เป็นทั้งของที่ระลึกที่บรรจุช่วงเวลาสามเดือนของศิลปินในไต้หวัน เป็นทั้งร่องรอยของตัวตนและความเป็นอยู่ของแรงงานพลัดถิ่น

‘ตัวอยากไป แต่ใจอยากกลับมา’ อาจไม่ได้ให้ภาพชีวิตรันทดของแรงงานอย่างโจ่งแจ้ง ปราศจากการเรียกร้องและเสียงโอดครวญดังๆ ถึงกระนั้น การที่นิทรรศการประกอบขึ้นจากสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกกระทบใจอย่างประหลาด วัตถุเหล่านี้ชวนให้ผู้ชมในเมืองไทยจินตนาการถึงรายละเอียดในชีวิตของคนไกลบ้านที่ต้องดิ้นรนและปรับตัวเพื่อหาเลี้ยงชีพ ตลอดจนความรู้สึกโหยหาบ้านเกิดเมืองนอน

สติกเกอร์ ‘สู้เด้อพี่น้อง’ บอกใบ้ถึงความอุตสาหะ ศักดิ์ศรี และการไม่ยอมแพ้

เช่นเดียวกับป้ายอักษรวิ่งบนผนังสุดท้ายที่ปรากฏข้อความว่า

“ถึงคุณจะอยู่ที่ไหน คุณก็ยังเป็นคน”

ภาพ: ธนาวิ โชติประดิษฐ

FACT BOX:

  • ประชากรโลก ณ ปี 2015 เป็นผู้อพยพ (migrants) กว่า 240 ล้านคน
  • ในปี 2016 แรงงานไทยในต่างประเทศส่งเงินกลับไทย 112,997 ล้านบาท
  • แรงงานไทยในต่างประเทศที่ทํางานแบบถูกระบบอยู่ในไต้หวันมากที่สุด และส่วนใหญ่ทํางานในระบบโรงงานอุตสาหกรรม
  • ภายใน 5 เดือนแรกของปี 2016 แรงงานไทยในไต้หวันส่งเงินกลับประเทศ 3.6 หมื่นล้านบาท
Tags: , , , , , ,