แม้ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะเป็นประเด็นร้อนจนสร้างความตื่นตัวกันอย่างกว้างขวาง แต่ข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ออกมาในปี 2016 สะท้อนว่าปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ตั้งแต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในปี 2016 จนล่าสุดที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยรายงาน Living Planet Index ที่ระบุว่า

‘สัตว์ป่ามากกว่า 2 ใน 3 สายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ไปจากโลกในปี 2020’

ซึ่งจะเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ของโลก หากพื้นที่ป่ายังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองของมนุษย์

Photo: Gil Cohen Magen, Reuters/profile

โลกกำลังเข้าสู่เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6?

รายงาน Living Planet Index ของ WWF เปิดเผยว่า จำนวนของสัตว์จำพวกปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วโลกลดลง 58% ตั้งแต่ปี 1970 รวมถึงช้างที่มีจำนวนลดลงถึง 5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่จำนวนของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ลุ่มน้ำ ทะเลสาบ และแม่น้ำลดลงถึง 81% หรือร้อยละ 4 ต่อปี สะท้อนจากจำนวนปลาฉลามและปลากระเบนที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการทำประมง โดยรายงานชิ้นนี้สำรวจจากประชากรสัตว์ 14,152 ตัว จาก 3,706 สายพันธุ์

ถ้าหากผลการศึกษาของรายงานชิ้นนี้แม่นยำ นั่นหมายความว่าจำนวนของสัตว์ป่าทั่วโลกจะลดลงปีละ 2%

มาร์ติน เทย์เลอร์ (Martin Taylor) นักวิทยาศาสตร์ประจำ WWF นำการสูญพันธุ์ในปี 2020 ไปเทียบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) ในอดีต ที่สัตว์หลากหลายสายพันธุ์สูญพันธุ์ไปจากโลกในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งโลกเจอกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง โดยมีสาเหตุจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้วที่ไดโนเสาร์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์ทั้งหมด

เพียงแต่เหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งนี้ที่ WWF คาดการณ์เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์

Photo: Chor Sokunthea, Reuters/profile

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่และการฆ่าตัวตายของมนุษยชาติ

รายงานชิ้นนี้กล่าวหามนุษย์ว่าเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ครั้งนี้ ทั้งการทำลายป่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ภาวะมลพิษ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยนักวิจัยเรียกยุคนี้ว่า ‘แอนโทรโปรซีน’ (Anthropocene) หรือยุคที่ไม่มีที่ไหนไม่เปื้อนมือมนุษย์ ซึ่งหมายถึงยุคที่มนุษย์ได้สร้างความหายนะไว้ให้กับระบบนิเวศทางธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีก และสิ่งที่มนุษย์ก่อไว้สุดท้ายจะทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

“โลกกำลังจะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ไม่เคยถนอมโลกของเรา พวกเราเอาแต่ทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ ซึ่งหมายความว่าเราก็อาจจะไม่มีที่อยู่ด้วยเช่นกัน” มาร์ตินกล่าว

เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหยุดพฤติกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่หก และย้ำว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทุกคนช่วยกันแก้ได้

“มีหลายสิ่งที่ทุกคนช่วยเหลือกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีฐานะร่ำรวย หรืออยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การใช้พลังงานทางเลือก หรือเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อ้อ… และอีกสิ่งที่พวกคุณอาจทำได้ คือไปคุยกับพวกที่อยู่ในสภาว่าคุณต้องการกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม สจ๊วร์ต ปิมม์ (Stuart Pimm) ผู้อำนวยการศูนย์ระบบนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยดุ๊ก แย้งรายงานฉบับนี้ที่ระบุว่า จำนวนสัตว์ทั่วโลกลดลง 58% นั้นคลาดเคลื่อน เนื่องจากรายงานชิ้นนี้นำข้อมูลของสัตว์บกมาผสมกับสัตว์น้ำ และเก็บข้อมูลของสัตว์ไม่ครอบคลุมทั่วโลก

ดังนั้น การบอกว่าสัตว์ป่า 2 ใน 3 สายพันธุ์จะหายไปจากโลก จึงเป็นสิ่งที่คลุมเครือ

Photo: Ulises Rodrigues, Reuters/profile

ลุ่มแม่น้ำโขง คืออีกหนึ่งพื้นที่เสี่ยง

รายงาน Living Planet Index 2016 ของ WWF ฉบับนี้ที่ระบุว่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ครั้งใหญ่ได้รวมถึงสัตว์ในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เช่น โลมาอิรวดี และเสือโคร่ง โดยพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อ 100 ปีที่แล้ว โลกมีประชากรเสือโคร่งกว่า 100,000 ตัว ซึ่งในปี 2016 โลกเหลือเสือโคร่งเพียงแค่ 3,890 ตัว และปัจจุบันประเทศไทยมีเสือโคร่งจำนวน 189 ตัว

สจ๊วร์ต แชปแมน (Stuart Chapman) ตัวแทนกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (WWF-Greater Mekong) กล่าวว่า

“อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในโลกขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงที่อัตราการสูญพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นรากฐานของป่าไม้ แม่น้ำ และมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้คือ เร่งเดินทางไปสู่จุดจบของระบบนิเวศ”

หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทันเวลา จุดจบของบรรดาสัตว์ป่า ก็อาจจะเป็นจุดจบของมนุษย์เช่นกัน