ภายหลังที่ศาลอาญา รัชดา ตัดสินเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่ให้นายฮาคีม อาลี โมฮัมเหม็ด อาลี อัล โอไรบี (Hakeem Ali Mohamed Ali Al Oraibi) ประกันตัว และให้เวลาอีก 60 วัน สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อนำมายื่นต่อสู้คดีในชั้นศาลกับข้อกล่าวหาจากทางบาห์เรน
หลังจากคำตัดสินดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ โลกโซเชียลต่างเกิดกระแสตื่นตัววิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทางการไทยอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ในเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศไทย แฮชแท็ก #SaveHakeem ติดอันดับ 1 ตามติดมาด้วย #BoycottThailand ติดอันดับ 2
ด้านสังคมออนไลน์ของแดนจิงโจ้ต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้มากมายเช่นกัน อาทิ เจ้าของแชนแนล TheMasterBucks ออสซี่ยูทูบเบอร์ที่มีคนตามกว่า 500,000 ราย ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เราช่วยปลดปล่อยนักฟุตบอลของคุณจากถ้ำแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่คุณจะปล่อยนักฟุตบอลของเราบ้าง ด้วยความเคารพ” ซึ่งข้อความนี้ได้มีผู้รีทวีตไปแล้วเกือบ 10,000 ครั้ง
อีกรายหนึ่งเป็นนักกฏหมายออสซี่ที่มีชื่อว่า เมเคอร์ มาเยค ได้โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ส่วนตัวเช่นกันว่า “ถ้าหากรัฐบาลไทยส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน ชาวออสเตรเลียทุกคนควรเลิกมาท่องเที่ยวในเมืองไทย และช่วยกันทำทุกวิธีทางที่จะหยุดทุกสายการบินไทยที่จะมาลงจอดในออสเตรเลีย #SaveHakeem” ไม่เพียงเท่านั้น เลขาธิการสหภาพการค้าออสเตรเลีย นางแซลลี่ แมคเมนัส ยังออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า “ถ้าไทยเนรเทศฮาคีม ฉันจะไม่มีวันไปเมืองไทยอีก #SaveHakeep #AmazingThailand #Boycott”
กระแสวิพากษ์เรื่องนี้ปรากฏออกมาหลายแง่มุม มีหลายฝ่ายให้ความเห็นเชิงปกป้องการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทยว่าไม่ได้ทำผิดขั้นตอน เพราะที่จริงแล้วก็มีหมายแดงของอินเตอร์โพลที่ตำรวจออสเตรเลียแจ้งมายังทางการไทย ซึ่งเรื่องนี้ เดอะการ์เดียนรายงานว่า เอกสารดังกล่าว ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ระบุว่า ทางการบาห์เรนต้องการให้ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปรับโทษที่บาห์เรน โดยตำรวจกลางของออสเตรเลีย ซึ่งทำงานเป็นเสมือนหน่วยงานท้องถิ่นของอินเตอร์โพล แจ้งเรื่องหมายแดงของอินเตอร์โพลนี้ให้ทางการไทยรับทราบ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า ขั้นตอนนี้เป็นกลไกอัตโนมัติที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่บุคคลที่ติดหมายแดงเดินทางข้ามประเทศ แต่กลไกอัตโนมัตินี้ ไม่ได้ตัดรายชื่อของบุคคลที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลหนึ่งๆ ออกไป จึงนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของอินเตอร์โพลด้วยว่า การออกหมายจับดังกล่าวขัดต่อกฎระเบียบของตำรวจสากลเอง ที่มีกฎว่าจะไม่ออกหมายจับแก่ผู้ที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความตัวแทนของนายฮาคีม ได้เปิดเผยกับ วอยซ์ออนไลน์ ว่า เมื่อหมายแดงดังกล่าวออกโดยทางการออสเตรเลีย และไทยจับกุมนายฮาคีมแล้วก็ควรที่จะส่งตัวกลับไปยังประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ออกหมาย ไม่ใช่บาร์เรน หรือในอีกกรณีหนึ่ง เมื่อไทยตระหนักว่าบุคคลนี้มีหมายแดง ไทยสามารถปฏิเสธไม่ให้บุคคลนั้นๆ เข้ามาในประเทศได้เลย ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง
ทั้งนี้ ในความวุ่นวายของเรื่องเอกสารที่ผิดพลาดนี้ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยก็ยังตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ว่า อันที่จริง ทางการบาห์เรนตระหนักอยู่แล้วว่า นายฮาคีมอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมานานกว่า 4 ปี และก่อนที่นายฮาคีมจะตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย เขาได้ถามไปยังทางการออสเตรเลียถึงความปลอดภัยของตัวเขา และทางการออสเตรเลียก็ยืนยันในความปลอดภัย
นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย นายสก็อต มอริสัน ให้สัมภาษณ์ทางคลื่นวิทยุ 2GB เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วว่า เมื่อคุณได้รับสถานะการคุ้มครองจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ได้โปรดอย่าเดินทางไปยังประเทศที่จะทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเขายังได้ติดต่อพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวกับฝ่ายไทย และเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
โดยเมื่อเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางการไทยยังไม่ได้ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังบาห์เรน เพราะว่าคดียังอยู่ในชั้นศาล และเสนอทางออกอีกทางหนึ่งคือ ไทยพร้อมจะส่งนายฮาคีมไปยังประเทศที่ 3 และยินดีเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างออสเตรเลีย-บาห์เรน อีกทั้งยังยืนยันว่า ทางการไทยจับนายฮาคีมตามหมายจับของอินเตอร์โพล ซึ่งแจ้งโดยบาห์เรน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีไทย เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมาว่า บาห์เรนถือว่าเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์พิเศษในทุกระดับนับตั้งแต่ระดับราชวงศ์ รัฐบาล รวมไปจนถึงการค้าและการลงทุน ในอ่าวเปอร์เซีย นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียไม่ค่อยราบรื่นนักที่ผ่านมา ดังนั้นบาห์เรนจึงกลายเป็นประตูการค้า การทูตและการลงทุนของไทยในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งไทย-บาห์เรนได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตนับตั้งแต่ปี 2520 และเป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันตลอดมา
The Momentum ได้ติดต่อไปยังคุณสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย เขาได้กล่าวว่า อันที่จริงหมายแดงจากทางอินเตอร์โพลได้ถูกยกเลิกไปไม่นานหลังจากทางการไทยตัดสินใจจับตัวนายฮาคีม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หมายแดงของอินเตอร์โพลไม่ได้มีอำนาจบังคับหรือสั่งการให้ทางการไทยจับตัวนายฮาคีมอยู่ดี เพราะฉะนั้นการกระทำของทางการไทยในขณะนี้สะท้อนถึงความไม่เป็นกลาง ในขณะนี้นายกฯ ของไทยก็ยังมีอำนาจยกเลิกคำฟ้องนี้ ซึ่งไม่ได้ขัดหลักการแทรกแซงอำนาจตุลาการ การตัดสินใจของทางการไทยต่อนายฮาคีมจึงมีความน่าสงสัยถึงที่มาที่ไป และควรเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด เพราะทั้งไทย-ออสเตรเลียต่างก็เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกันมาอย่างยาวนานเช่นกัน
วอยซ์ทีวี ได้รายงานว่า หมายจับของอินเตอร์โพลในระยะหลังขาดความโปร่งใส และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น โดย Foreign Policy ได้เปรียบเทียบสถิติ ในปี 2544 อินเตอร์โพลออกหมายแดงจำนวน 1,418 หมาย เทียบกับปี 2560 ซึ่งออกถึง 13,048 หมาย พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยหลายปัจจัย
วอยซ์ทีวี ยังรายงานอีกว่า ถึงแม้หมายแดงของอินเตอร์โพลจะถูกยกเลิกไปแล้วในตอนนี้ แต่ทางการไทยยังอ้างต่อมาถึง คำร้องขออย่างเป็นทางการของรัฐบาลบาห์เรนเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 เพื่อให้ส่งนายฮาคีมกลับไปบาห์เรนภายใต้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยอันที่จริงไทยกับบาห์เรนไม่มีข้อตกลงทวิภาคีส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เพียงแต่ไทยมี พรบ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ซึ่งระบุว่า “อยู่บนพื้นฐานของหลักปฎิบัติต่างตอบแทนและความร่วมมือซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระหว่างประเทศ” อย่างไรก็ตาม อำนาจในการตัดสินใจต่อชะตากรรมของนายฮาคีมยังอยู่ในมือรัฐบาลไทย และไม่ว่ารัฐบาลไทยจะตัดสินใจไปในทิศทางไหนก็คงหลีกเลี่ยงที่จะกระทบความสัมพันธ์ทางการทูตต่อทั้งประเทศบาห์เรน และนานาประเทศที่เป็นมิตรของออสเตรเลียได้ยาก
อ้างอิง:
https://www.matichon.co.th/politics/news_1349456
https://www.matichon.co.th/politics/news_1349859
https://www.bbc.com/thai/thailand-47113319