องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดเผยรายงานดัชนีคอร์รัปชั่นประจำปี 2018 วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลกออกมาว่า ผลคะแนนแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคอร์รัปชั่นและคุณภาพของประชาธิปไตย คือ ประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชั่นสูง จะมีสถาบันทางประชาธิปไตยและสิทธิทางเมืองอ่อนแอกว่า

ดัชนีนี้จัดลำดับการคอร์รัปชั่นในภาครัฐของ 180 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจ ถ้าได้ 0 คะแนน แปลว่ามีคอร์รัปชั่นมาก ส่วน 100 คะแนนแปลว่าไร้คอร์รัปชั่น ค่าเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่ 43 โดย มีมากกว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศที่ได้ต่ำกว่า 50 คะแนน ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอยู่บ้าง แต่ประเทศส่วนใหญ่กำลังล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ เดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน และนิวซีแลนด์ได้ 87 คะแนน ส่วนประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดคือ อันดับที่ 180 โซมาเลียได้ 10 คะแนน ซีเรียได้ 13 คะแนน และเซาธ์ซูดานได้ 13 คะแนน ส่วนสหรัฐอเมริกาได้ 71 คะแนน ลดลงจากปีที่แล้ว 4 คะแนน และหลุดตำแหน่ง 20 อันดับแรกเป็นครั้งแรก ตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี ส่วนจีนได้ 39 คะแนน อยู่อันดับที่ 87

ค่าเฉลี่ยของประเทศยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรปอยู่ที่ 66 คะแนน ส่วนแอฟริกาอยู่ที่ 32 คะแนน  ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 44 คะแนน เท่ากับปีก่อนหน้านี้ หมายความว่าแทบไม่มีความก้าวหน้าในการต่อต้านคอร์รัปชั่นเลย เหตุผลหนึ่งมาจากความอ่อนแอของสถาบันทางการเมืองและสิทธิทางการเมือง

ส่วนประเทศไทยเราได้ 36 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 99 ตกลงมาสามอันดับจากปีที่แล้วที่ได้อันดับ 96 ซึ่งได้ 37 คะแนน

ที่น่าสังเกตคือ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน และแทบจะไม่มีประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการได้มากกว่า 50 คะแนน ซึ่งความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในรายงานนี้ ดูที่การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม ความเข้มแข็งและเป็นอิสระขององค์กร สิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุม สิทธิพลเมือง เช่น การเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

แพทริเซีย มอไรรา (Patricia Moreira) กรรมการผู้จัดการกล่าวว่า การคอร์รัปชั่นทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง โดยการผลิตวงจรปัญหาที่เลวร้าย นั่นคือ การคอร์รัปชั่นทำให้สถาบันในระบอบประชาธิปไตยต่างๆ อ่อนกำลังลง และสถาบันที่อ่อนแอเหล่านี้ก็จะมีความสามารถควบคุมการคอร์รัปชั่นได้น้อยลงไปด้วย ผลที่ออกมาคือ การคอร์รัปชั่นจึงพบมากในประเทศที่มีพื้นฐานประชาธิปไตยอ่อนแอ

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเห็นว่า สิงคโปร์และฮ่องกงมีการควบคุมการคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย เนื่องจากมีสถาบันที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เข้มแข็ง แต่ไม่แน่ว่าจะยั่งยืนเหมือนกับในหลายประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ นอกจากนี้ ประชาธิปไตยพื้นฐานที่ผุกร่อนยังส่งผลต่อความพยายามต่อต้านคอร์รัปชั่นในภูมิภาคนี้ ดังเช่นกัมพูชาและไทย

ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างได้ผลในระยะยาว เพราะระบอบประชาธิปไตยมีการตรวจสอบและถ่วงดุล มีศาลที่เป็นอิสระ สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญต่อแผนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น

 

 

ที่มา:

Tags: ,