จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มียาที่หยุดยั้งโรคอัลไซเมอร์หรือรักษาได้ แต่มีงานวิจัยใหม่ที่พบว่าการวัดความเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนในเลือดมีประโยชน์ต่อการทดสอบยารักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

งานวิจัยล่าสุดค้นพบว่าการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีน NfL (Neurofilament Light Chain) ในเลือดของผู้ป่วย จะช่วยแสดงให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการล่วงหน้ามากกว่า 10 ปี

ระดับของโปรตีนนี้ในเลือดของผู้ป่วยแต่ละคนแสดงให้เห็นถึงเซลล์สมองที่เสียหาย ซึ่งสามารถบ่งชี้ในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ได้ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อใดที่ผู้ที่มียีนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเริ่มแสดงอาการของโรค

“เรารู้ว่าโรคอัลไซเมอร์เริ่มเกิดขึ้นในสมอง 10 หรือ 20 ปีก่อนที่จะแสดงอาการออกมา และรู้ว่าการรักษาโรคอัลไซเมอร์จะได้ผล หากสามารถรักษาได้ในช่วง 10 ปีหรือก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผลตรวจเลือดจะทำให้นักวิจัยทดสอบได้ว่ายาได้ผลหรือไม่” ศาสตราจารย์แมทธิอัส จัคเคอร์ (Mathias Jucker) หนึ่งในคณะวิจัยประจำศูนย์ศึกษาโรคเสื่อมของระบบประสาท (German Center for Neurodegenerative Diseases) เมืองทูบิงเงน ประเทศเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน

ในการศึกษาวิจัย คณะวิจัยเปรียบเทียบอาสาสมัคร 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ที่มียีนซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ 243 คน และอีก 162 คนที่ไม่มียีนนี้ กลุ่มแรก ระดับของ NfL จะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดกว่า และทำให้คณะวิจัยวัดระดับของ NfL หลายปีก่อนที่อาการจะปรากฏออกมาได้

จากนั้นดูข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลองขนาดเล็กลงเพื่อดูว่าระดับของโปรตีนในเลือดนี้เปลี่ยนแค่ไหนในรอบสามปี ผลปรากฏว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของ NfL ของคนที่มียีนที่มีแนวโน้มจะเป็นอัลไซเมอร์สูงกว่าคนที่ไม่มี และรู้ล่วงหน้าแตกต่างกันมากกว่า 16 ปีก่อนที่อาการจะปรากฏออกมา

การรู้อัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับโปรตีนตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มสำคัญมากต่อการศึกษาทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากพิจารณาเพียงแค่กลุ่มที่มียีนซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีเพียง 1% เท่านั้น

ที่มา:

https://www.theguardian.com/society/2019/jan/21/blood-test-could-detect-alzheimers-over-10-years-earlier-study

https://newatlas.com/alzheimers-blood-test-genetic-protein/58132/

http://fortune.com/2019/01/21/a-new-blood-test-could-detect-alzheimers-10-years-earlier/

Tags: , ,