วันอาทิตย์, เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน
ผมดูคนไข้ที่ห้องคลอดอยู่ พี่พยาบาลที่อยู่เวรห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินก็ส่งรูปแผลมาให้ผมดูทางไลน์ พอกดเข้าไปดูก็เห็นว่าเป็นแผลติดเชื้อมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ได้เร่งด่วนอะไร จึงจัดการเคสที่ห้องคลอดให้เสร็จก่อนแล้วค่อยลงมาดูคนไข้รายนั้นอีกที
จะว่าไปแล้วคนไข้ที่มีแผลติดเชื้อมาหลายวันแล้ว น่าจะมาโรงพยาบาลตั้งแต่เช้า หรือไม่ก็รอมาตอนเช้าของอีกวันหนึ่งก็ได้ แต่ทำไมคนไข้คนนี้ถึงมาเวลานี้กันแน่?
กว่าผมจะลงมาดูก็ปาไปค่อนเที่ยงคืนครึ่งแล้ว
พยาบาลเพิ่งขัดรอบแผลให้สะอาด เลยเห็นแผลติดเชื้อ ขนาดประมาณ 5 x 10 เซนติเมตรพาดอยู่ตรงน่องขวา ผิวหนังชั้นบนหลุดลอกเห็นเนื้อสีแดงฉ่ำ สลับกับเนื้อตายสีขาวเป็นหย่อมๆ ที่หนักสุดคือเมื่อคลำตรงขอบแผลด้านในแล้วอาจมีโพรงหนองอยู่ข้างใต้ ส่วนบริเวณโดยรอบก็บวมแดงจากการติดเชื้อลุกลามออกมา
คำถามแรกของผมคือ “พี่เป็นมานานเท่าไหร่แล้ว” นอกจากจะเป็นหลักการซักประวัติทางการแพทย์ที่จะต้องประกอบด้วย ‘อาการ’ กับ ‘ระยะเวลาที่มีอาการ’ แล้ว ถ้าเป็นคนอื่นที่เห็นแผลก็คงอดถามไม่ได้
“ประมาณ 2 อาทิตย์” น่าตกใจใช่ไหมครับว่าทำไมคนไข้ถึงไม่มาโรงพยาบาลตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าเป็นหมอด้วยกันก็อาจสงสัยแล้วว่ากลายเป็น NF (necrotizing fasciitis-การติดเชื้อของชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ) แล้วหรือยัง
เพราะถ้าสงสัยว่าเป็นโรคนี้ก็จะต้องรีบส่งต่อไปพบหมอผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัดทันที ถ้าเป็นเยอะก็อาจถึงขั้นถูกตัดขาได้เลย
“ตอนแรกเป็นแผลนิดเดียว” คนไข้อธิบาย “ไม่คิดว่าจะเป็นเยอะขนาดนี้”
“ไปรักษาที่ไหนมาบ้าง” ผมถามคำถามที่สอง เพราะระยะเวลาเกือบครึ่งเดือน คนไข้น่าจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมาแล้วบ้าง
“ก็ซื้อยากินเอง” คนไข้อ้อมๆ แอ้มๆ ผมเลยถามย้ำถึงคำตอบที่ต้องการ “ไม่ได้ไปหาหมอที่ไหนเลยเหรอครับ” แต่คนไข้ก็ยืนยันว่าซื้อยาจากร้านขายยากินเอง ตัวแรกเป็นทีซีมัยซิน (ผมเขียนเคยถึงยาตัวนี้แล้วในบทความ ศึกษาก่อนซื้อ ยาที่เคยใช้ได้ผลสมัยก่อน อาจล้าสมัย (สำหรับเชื้อโรค) ไปแล้ว) กับตัวที่สองเป็นยาแคปซูล จำชื่อยาไม่ได้
“แล้วทำไมถึงตัดสินใจมาโรงพยาบาลตอนนี้” ผมเก็บความสงสัยแรกสุดมาไว้ถามตอนสุดท้าย เป็นการถามเพราะอยากรู้วิธีคิดของคนไข้ ไม่ใช่การบ่นเพราะไม่สบอารมณ์ที่คนไข้มาโรงพยาบาลกลางดึกแต่อย่างใด
“มันปวดเยอะ” ผมพยักหน้ารับรู้ ก่อนจะผละออกมานั่งเขียนเอกสารให้คนไข้รายนี้นอนรักษาที่โรงพยาบาล
ผมสังเกตตัวเองหลายครั้งว่าการตรวจคนไข้ตอนกลางวันในเวลาราชการ กับเวลาอยู่เวรตอนกลางคืนนั้นแตกต่างกัน ถ้าจะเปรียบเหมือนคนสองขั้วก็ไม่ผิดนัก ตอนกลางคืนผมจะกลายเป็นคนพูดห้วนๆ ถามเฉพาะประเด็นที่สำคัญ การให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำที่เคยพูดตอนกลางวันแทบจะตัดทิ้งไปเลย คงเป็นเพราะเริ่มหมดแรง เนื่องจากหมอในโรงพยาบาลชุมชนต้องทำงานตอนกลางวันก่อนจะมาเข้าเวร และคงเป็นเพราะต้องเก็บแรงไว้สำหรับเคสอุบัติเหตุหนักในเวร รวมถึงเพื่อเตรียมทำงานในวันรุ่งขึ้น หากวันถัดไปเป็นวันทำการ รวม 32 ชั่วโมงติดต่อกัน
ยาฆ่าเชื้อ ชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด 2 ชนิด
กับยาแก้ปวดทั้งชนิดกินและชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เป็นการรักษาในคืนนั้น
ความจริงผมจะตัดเล็มเนื้อตายในคืนนั้นเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่อยากทิ้งงานไว้ให้หมอที่ราวนด์ (round-ตรวจคนไข้ที่นอนรักษาตัวในหอผู้ป่วย) ตอนเช้า แต่พยาบาลเวรที่ห้องฉุกเฉินปรามมือผมไว้ ด้วยความระบมของแผลแล้ว ควรจะให้ยาฆ่าเชื้อได้ออกฤทธิ์เสียก่อน
…
วันจันทร์ ความจริงตามตารางงานในครึ่งหลังของเดือนธันวาคม ผมจะต้องเป็นคนที่ราวนด์วอร์ดในเช้าวันนี้ (ข้ามเที่ยงคืนมาแล้ว) แต่เนื่องจากผมยื่นใบลาพักร้อนไว้ล่วงหน้าแล้ว พอถึงเวลา 8 โมงครึ่งผมก็จะได้สิทธิ์นั้นทันที คนที่จะดูแลคนไข้รายนี้ต่อจึงเป็นพี่หมออีกท่านหนึ่ง ส่วนเวลาในเวรที่เหลืออยู่ก็ไม่จำเป็นต้องออมแรงไว้เยอะเช่นทุกครั้ง แต่ถ้าได้พักผ่อนช่วงที่ไม่มีคนไข้บ้างก็เป็นคงไม่ปฏิเสธ
…
วันอังคาร, ผมกลับมาทำงานต่อตามปกติ จำนวนคนไข้เกือบเต็มความจุของโรงพยาบาล 30 เตียง ผมเริ่มราวน์จากหอผู้ป่วยพิเศษ, ห้องคลอด เรื่อยมาจนถึงหอผู้ป่วยสามัญฝั่งหญิงก็ได้เจอกับคนไข้แผลติดเชื้อที่ผมเจอเมื่อวันก่อนอีกครั้ง
“เป็นยังไงบ้างครับ” ผมทักทายและถามไถ่อาการคนไข้ไปพร้อมกัน
“ปวดดีขึ้นเยอะเลย” คนไข้ยิ้ม
พยาบาลที่เดินประกบผมเลิกผ้ากอซขึ้นมาให้ดูแผลข้างใต้ เห็นหย่อมเนื้อตายเหมือนเดิม แต่ที่ดีขึ้นคือผิวหนังรอบๆ แผลยุบบวม-แดง-ร้อนลงอย่างเห็นได้ชัด
“ถ้ามาเร็วกว่านี้ ก็คง…” ประโยคทำนองนี้ติดปากผมไปเสียแล้ว เวลาพูดกับคนไข้ที่มาโรงพยาบาลช้ากว่าที่ควรจะเป็น “…คงหาย กลับบ้านได้แล้ว” ถึงพูดไปแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น และมีนัยยะของการสมน้ำหน้าซ้ำเติมอีกด้วยซ้ำ แต่เมื่อผมพูดออกไปด้วยความปรารถนาดี ประโยคนี้ก็น่าจะเป็นการสรุปบทเรียนสำหรับคนไข้
ให้ครั้งต่อไปจะได้ไม่ผิดพลาดอีก
ผมเดินไปปรึกษาพี่พยาบาลอีกคนว่าจะสามารถตัดเล็มแผลแทนผมได้หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาเวลาทำแผลคนไข้ที่นอนอยู่บนหอผู้ป่วย บางครั้งพี่พยาบาลก็จะตัดเล็มแผลให้เลย ไม่ต้องเสียเวลานำคนไข้ลงไปทำที่ห้องผ่าตัด แต่ครั้งนี้พี่พยาบาลส่ายหน้า เห็นว่าแผลใหญ่เกินไป
“งั้นผม ‘เซ็ทโออาร์’ ไว้ตอนบ่ายครึ่งแล้วกันครับ” การ ‘set OR (operating room)’ ก็คือการเตรียมห้องผ่าตัดนั่นเอง ซึ่งผมต้องราวนด์คนไข้คนอื่นและจัดการงานเอกสารให้เสร็จก่อน แล้วค่อยสะสางงานที่ไม่เร่งด่วนอีกทีหลังกินข้าวเที่ยง
…
“เดี๋ยวจะเจ็บตอนฉีดยาชานะครับ” ผมได้ยินคนไข้โอดโอยตอนล้างแผลรอบหนึ่งแล้ว นึกถึงตอนล้างจานก็ต้องทั้งขัดทั้งถูให้สะอาดเหมือนกัน ตอนฉีดยาชาก็จะเจ็บอีกรอบ แต่จะเป็นการเจ็บครั้งสุดท้ายก่อนที่ยาชาจะออกฤทธิ์ ทว่าด้วยความกว้างของแผลและเป็นแผลติดเชื้อ ยาชาก็อาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
ระหว่างที่ผมใช้เครื่องมือตัดแต่งแผล คนไข้จึงร้องเจ็บเป็นระยะ
“ถ้าเจ็บไม่เยอะก็อดทนเอาหน่อยนะ” พี่พยาบาลปลอบคนไข้ “ร้องอย่างนี้หมอเขาจะใจเสียเอา”
ในขณะที่การปล่อยเนื้อตายทิ้งไว้จะเป็นที่สะสมเชื้อโรคและขัดขวางการหายของแผล เมื่อลงมาถึงห้องผ่าตัดแล้วก็ต้องตัดออกจนเกลี้ยงที่สุด แล้วค่อยฉีดยาชาเพิ่มตรงตำแหน่งที่คนไข้ร้องเจ็บ และเพลามือให้คนไข้พักเป็นช่วงๆ แทน
“เอ… คนไข้เป็นอะไรรึเปล่า” อยู่ๆ คนไข้ก็เงียบไป จนพี่พยาบาลผิดสังเกต
“อ๋อ ไม่ค่อยเจ็บแล้วค่ะ” ทำเอาผมฮาครืน เพราะนึกว่าจะปวดจนเป็นลมหมดสติไป
ยาชาคงออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว บรรยากาศในห้องผ่าตัดจึงเริ่มผ่อนคลายลง
“พี่ทำงานอยู่ที่ไหนนะครับ” ผมชวนคนไข้คุยบ้างระหว่างที่มือยังขยับอุปกรณ์ต่อ (แต่ไม่ถึงกับมันมือ) จำได้ว่าวันแรกที่เจอกัน ผมถามเขาไปแล้วว่าทำงานอะไร บ่อยครั้งที่ผมเจอคนไข้ทำงานประเภทรับจ้างมักไม่ค่อยอยากมาโรงพยาบาลเพราะกลัวเสียรายได้
“เป็นมานานแค่ไหนแล้ว” พี่พยาบาลก็อยากรู้เหมือนกันว่าแผลขนาดนี้ต้องทิ้งไว้นานขนาดไหน
“นี่รักษาเองด้วยนะครับ” ผมเสริม แล้วก็แลกเปลี่ยนกับพี่พยาบาลซึ่งทำงานมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกโรงพยาบาลว่าเคยใช้ยาฆ่าเชื้อตัวที่คนไข้ซื้อมากินเองหรือไม่ ปรากฏว่าเคยแต่ได้ยินชื่อ แต่ไม่ยักเคยเห็นหมอคนไหนใช้เช่นกัน
“กินใบหนานเฉาเหว่ยด้วย” คนไข้ให้ข้อมูลเพิ่ม ส่วนตัวผมนั้นไม่ผิดคาด เพราะสมุนไพรชื่อนี้หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ป่าช้าเหงา’ กำลังเป็นที่นิยมปลูกไว้กินของคนทั่วไป แต่ก็อดถามไม่ได้ว่า “แล้วกินแก้อะไรหรอครับ”
“ก็กลัวจะเป็นเบาหวานด้วย”
“ไม่รอหมอวินิจฉัยก่อนเลยนะครับ” คนไข้หัวเราะ แต่เมื่อคืนวันนั้นผมได้สั่งให้คนไข้งดน้ำงดอาหารเจาะเลือดไปตรวจตอนเช้าแล้ว เพราะโรคเบาหวานมักจะส่งผลให้แผลหายช้าและคนไข้ก็อาจมีโรคนี้ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว ทว่าโชคดีที่ผลระดับน้ำตาลในเลือดปกติ
“แม่เขาหามาให้กิน” คนไข้ทำท่าจะพูดต่อ “นี่แม่ก็บังคับให้มา”
“แม่สามีน่ะหรอ” พี่พยาบาลเดาได้ถูกต้อง ในขณะที่ผมยังงงอยู่ว่าคนไข้หมายถึง ‘แม่’ คนไหน
“ให้มาตอนกลางคืนนั้นเลย?” ถึงอย่างไรผมก็ยังข้องใจกับการที่คนไข้มาโรงพยาบาลกลางดึกอยู่ดี
“คืนนั้นนอนไปแล้ว เขาก็แอบมาเปิดดูแผลเรา แกตกใจมากรีบสั่งให้มาโรงพยาบาลทันที”
“ไฟต์บังคับ” ผมแซว “ไม่มาโรงพยาบาลไม่ได้” ทั้งที่เมื่อคืนนั้นยังบอกสาเหตุกับผมว่าเป็นเพราะอาการปวดแผลมากจนทนไม่ไหวอยู่เลย
กว่าจะตัดเล็มแผลเสร็จ ผม พี่พยาบาล และคนไข้ก็แลกเปลี่ยนกันได้อีกหลายเรื่อง ซึ่งไม่ได้ทำให้สมาธิในการทำแผลลดน้อยลงเลย แต่กลับช่วยลดอาการเกร็งไม้เกร็งมือของผมลงไปได้เสียอีก เพราะคนไข้สามารถคุยโต้ตอบได้สบายๆ ราวกับว่าผมกำลังนวดคลายเส้นให้มากกว่า
…
ผมเดินออกมาจากห้องผ่าตัดด้วยความรู้สึกประหลาดใจในตัวเองอย่างหนึ่งคือ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผมเจอคนไข้คนนี้จนถึงวันนี้ ผมแทบไม่พูดตำหนิในสิ่งที่คนไข้ทำมาเลย หรือกระทั่งแสดงความหงุดหงิดออกไประหว่างการสัมภาษณ์ประวัติ การซักถามประเด็นที่นอกเหนือจากประวัติอาการ แล้วก็เป็นการตั้งคำถามโดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อโต้เถียงคนไข้ในเชิงเหตุผล ยกตัวอย่างเมื่อก่อนพอผมถามว่า “ทำไมถึงมาเวลานี้” แล้วเจอคนไข้บอกว่า “ปวดมาก”
ผมอาจโต้แย้งกับคนไข้ว่า “ถ้าปวดมากก็กินยาแก้ปวด แล้วค่อยมาหาหมอตอนเช้าก็ได้”
หากแต่มีเป้าหมายเพื่อรับรู้วิธีคิดด้วยความอยากจะเข้าใจคนไข้มากกว่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าวิธีคิดนั้นถูกหรือผิด การทำเช่นนี้ทำให้ผมดึงตัวเองกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองคือ การรักษาคนไข้ต่อโดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ และในท้ายที่สุดก็ได้เห็นแล้วว่าตอนแรกๆ คนไข้กลัวหมอมากแค่ไหน
Tags: โรงพยาบาล, แผลติดเชื้อ, สุขภาพ, การแพทย์