นับเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างกลุ่มผู้หญิงในอินเดียและฝ่ายชาวฮินดูขวาจัด เหตุประท้วงล่าสุดมาจากการที่ผู้หญิงสองคน พร้อมด้วยตำรวจนอกเครื่องแบบเดินเข้าไปในวัดฮินดูที่มีอายุกว่า 100 ปีเมื่อเช้ามืดวันพุธที่ 2 มกราคม โดยวัดซาบาริมาลา รัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดียนี้ เพิ่งยอมให้ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 10-50 ปีเข้าไปสักการะ หลังจากคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อเดือนตุลาคม 2018
ก่อนหน้านั้นวัดไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 10-50 เข้าไปสักการะ ด้วยเหตุผลว่าพวกเธออยู่ในวัยมีประจำเดือน ซึ่งจะเป็นการรบกวนพระอัยยัปปา (Ayyappa) ผู้ที่ไม่แต่งงานและถือพรหมจรรย์ ตั้งแต่ศาลฎีกาตัดสินว่าการห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่มีลูกได้เข้าวัด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำตัดสินดังกล่าวทำให้ผู้หญิงหลายคนพยายามเข้าวัด แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีผู้ชุมนุมหลายพันคนขวางทางเข้าวัด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตำรวจยังคุ้มครองพวกเธอไปจนถึงบ้าน และมีแผนที่จะคุ้มครองผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องการเข้าไปในวัดด้วย รัฐบาลของเกรละบอกว่าการคุ้มครองผู้หญิง หากพวกเธอต้องการเข้าวัดเป็นเรื่องของสิทธิพลเมือง
หลังจากที่ผู้หญิงสองคนเข้าไปในวัด เจ้าหน้าที่วัดบอกว่า พวกเธอทำให้วัดมัวหมอง จึงต้องเปิดประตูประมาณ 1 ชัวโมง เพื่อทำพิธีชำระล้างให้บริสุทธิ์ มีการชุมนุมทั่วรัฐเกรละ โฆษกตำรวจกล่าวว่าต้องปิดถนนหลายสายและผู้ชุมนุมขว้างหินใส่ตำรวจ นอกจากนี้ตำรวจกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับการประท้วงในวันพฤหัสบดี เพราะว่ากลุ่มการเมืองและกลุ่มฮินดูได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านการเข้าวัดของผู้หญิง
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ 1 มกราคม ผู้หญิงหลายล้านคนในรัฐเกรละ ยืนแถวเรียงยาวติดต่อกันเป็นห่วงโซ่มนุษย์ยาว 300 ไมล์ เพื่อแสดงการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งปกครองเกรละกล่าวว่า มีประชาชน 5.5 ล้านคนเข้าร่วม ขณะที่ตำรวจท้องถิ่นบอกว่ามีประมาณ 3 ล้านคน ผู้ชุมนุมตะโกนว่า “เราจะยืนหยัดเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง! เราจะสู้เพื่อการแยกรัฐออกจากศาสนา (secularism)!”
เมื่อปลายปีที่แล้ว กระแส #MeToo ในอินเดียได้รับความสนใจ ผู้หญิงจำนวนมากโพสท์รูปและเล่าเรื่องการถูกคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย และการถูกล่วงละเมิดจากผู้มีชื่อเสียง ในแวดวงสื่อมวลชน วงการบันเทิง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล การแสดงออกของพวกเธอประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ชายที่ถูกกล่าวหาหลายคนลาออก
ผู้เข้าร่วมกำแพงมนุษย์นี้มีหลากหลาย ทั้งผู้หญิงที่สวมส่าหรี ผ้าคลุมบูร์กา นักบวชหญิงและคนใส่กางเกงยีนส์ มีผู้ชายเข้าร่วมด้วย พวกเขาชูแขนขึ้น บางส่วนพูดถึงการเพิ่มโควตาของผู้หญิงในหน่วยงานของรัฐบาล และการปผู้หญิงอินเดียนับล้านรับปรุงการเข้าถึงของกลุ่มจัณฑาล ซึ่งเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุดของอินเดีย
ต่อมาวันพุธที่ 2 มกราคม ผู้หญิงหลายร้อยคนในเมืองมุมไบ ก็ยืนเรียงกันเป็นโซ่มนุษย์เพื่อแสดงความสนับสนุนผู้หญิงในเกรละ
สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริการายงานว่า ศาลฎีกาตกลงที่จะพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากที่มีการต่อสู้ทางกฎหมายจำนวนมากเกิดขึ้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลบอกว่า การตัดสินใจของผู้นำทางศาสนาได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญอินเดีย ส่วนผู้หญิงทุกอายุก็ยังไปสวดมนต์ที่วัดฮินดูอื่นๆ ได้
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2019/01/02/world/asia/india-women-wall-sabarimala.html
https://learningenglish.voanews.com/a/protests-in-india-after-women-enter-hindu-temple-/4725882.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-46733750
ที่มาภาพ: REUTERS/Stringer