เหมือนตรวจผู้ป่วยใน แต่เปลี่ยนจากหอผู้ป่วยเป็นบ้าน

แต่ละเตียงอยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร

ทุกวันหลังจากผมตรวจคนไข้คลินิกโรคเรื้อรังที่มารับยาตามนัดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในตอนเช้าเสร็จแล้ว ตอนบ่ายผมจะไปเยี่ยมบ้านคนไข้ตามที่พี่เจ้าหน้าที่ประจำ รพ.สต. นั้นๆ เตรียมเคสไว้ให้ ส่วนใหญ่—เกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้— เป็นคนไข้ติดเตียง เพราะเคลื่อนย้ายไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือมาตรวจที่ รพ.สต. ลำบาก เว้นแต่ผมจะขอเพิ่มเคสเองต่างหาก

คนไข้ติดเตียง หรือ “bedridden” ในภาษาอังกฤษ ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ตอนเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ก็นึกขำว่าทำไมคนไข้ต้องไป “ขี่เตียง” แต่เมื่อมองคนไข้ตรงหน้าประกอบก็เข้าใจทันทีว่าคำนี้หมายถึง ภาวะที่คนไข้นอนอยู่กับเตียงตลอดเวลา ไม่สามารถลุก-นั่ง-ยืน-เดิน-ทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติ แม้กระทั่งจะเข้าห้องน้ำ ก็ต้องปัสสาวะหรืออุจจาระบนเตียงแทน แค่คิดก็ลำบากแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งสาเหตุเป็นได้ตั้งแต่

  • อุบัติเหตุทางจราจร ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ขยับร่างกายส่วนที่อยู่ถัดจากระดับนั้นลงมาไม่ได้
  • อุบัติเหตุล้ม ข้อสะโพกหรือกระดูกต้นขาหัก
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกทำให้เป็นอัมพาต ขยับร่างกายไม่ได้ครึ่งซีก
  • ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาลนานจนกล้ามเนื้อขาลีบ
  • โรคข้อเข่าเสื่อม ข้อยึด-ข้อติดเดินไม่ได้
  • ความชราที่กลืนกินเรี่ยวแรงของสมองจนไม่สั่งการให้ขยับร่างกายอีกต่อไป

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยคาดการณ์แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรพื้นฐานได้ด้วยตนเองในอีก 20 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2580) ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคน หรือประมาณ 6.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

“หมอ! ดูนั่นสิ มีคนไข้ติดเตียงอีกคนหนึ่งให้หมอตรวจ” พี่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. พูดกับผมด้วยน้ำเสียงทีเล่นทีจริง พร้อมกับชี้ไปทางเด็กเล็กแต่ตัวจ้ำม่ำนอนคว่ำอยู่บนฟูก ชันคอขึ้นชะเง้อมองหาแม่ที่ผละจากเขามายืนรับแขกตรงปลายเตียงคุณยาย ซึ่งนอนติดเตียงนี้มาค่อนเดือนแล้ว เพราะลื่นล้มกระดูกต้นขาหัก หมอที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดไม่ผ่าตัดให้เนื่องจากการบีบตัวของหัวใจผิดปกติ โอกาสผ่าตัดแล้วเสียชีวิตสูง จึงกลับมารักษาด้วยการนอนถ่วงน้ำหนักดึงขาข้างที่หักไว้ไม่ให้กระดูกเข้ามาเกยกันที่บ้านแทน

ญาติวัยทำงานจึงต้องเลี้ยงดูทั้งคู่พร้อมกัน

คนแรกแบเบาะ

อีกคนแบ็บอยู่กับเตียง

ต่างกันที่คนแรกจะมีพัฒนาการเป็นนั่ง คลาน ยืน เกาะเดิน และเดินได้เอง ในขณะที่อีกคนพอล้มแล้วก็นั่งไม่ได้เพราะปวดตรงที่กระดูกหัก เลยต้องนอนอย่างเดียว ซึ่งพอนอนๆ ไป จากเคยหยิบฉวยอะไรได้ก็ถดถอยเป็นนอนรอความช่วยเหลืออย่างเดียว ผู้ดูแล (caregiver) จะต้องป้อนข้าว เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ ส่วนการพลิกตัวก็ลำบาก เพราะติดว่าขาข้างที่หักต้องถ่วงน้ำหนักไว้ แล้วไม่เคยมีใครแนะนำว่าต้องตะแคงตัวอย่างไร เลยมีแผลกดทับแทรกซ้อนให้ทำแผลวันละครั้งเพิ่มขึ้นมาอีก

ทำเช่นเดิมทุกวันๆ จนอาจเกิดความคิดที่ว่าผู้ป่วย “เขาเป็นภาระที่ต้องดูแล” โดยไม่รู้ตัว แต่ใช่ว่าผู้ป่วยที่ติดเตียงทุกโรคจะติดเตียงตลอดไปทุกราย

ถ้าคนไข้สื่อสารเข้าใจ ผมมักจะถามคนไข้ว่า “คนไข้อยากทำอะไรได้บ้าง” เสมอ และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมถามผู้ดูแลด้วยว่า “เราคาดหวังกับผู้ป่วยอย่างไรบ้าง” เหมือนกับเวลาเรียนหนังสือ ครูก็ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียนให้นักเรียนทราบว่าเรียนวิชานี้แล้วนักเรียนจะต้องรู้อะไรบ้าง เวลารักษาโรค หมอก็ต้องแจ้งเป้าหมายของการรักษาให้คนไข้ทราบเช่นกัน

แต่ในกรณีคนไข้ติดเตียงนี้ผมจะต้องถามความเห็นจากทั้งคนไข้และญาติด้วย ส่วนหนึ่งผมก็จะได้รับฟังความต้องการของคนไข้ ญาติเองก็จะได้เข้าใจความต้องการของคนป่วย และอีกส่วน การตกลงร่วมกันก็จะนำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างคนไข้-ญาติ-และทีมรักษา ซึ่งไม่เฉพาะแค่ผมคนเดียว แต่ยังมีพยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และนักกายภาพบำบัดที่มาลงเยี่ยมบ้านพร้อมกันอีกด้วย

ติดเตียงเพราะ ‘สโตรก’

โรคที่ผมมีความหวังมากหน่อยก็คือโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก หรือที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินภาษาอังกฤษของโรคนี้บ่อยขึ้นว่า “สโตรก (stroke)” คนไข้จะมีอาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก หากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกข้างขวา คนไข้ก็จะอัมพาตซีกซ้าย ตรงกันข้าม หากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกข้างซ้าย คนไข้ก็จะอัมพาตข้างซีกขวา พูดไม่ชัด เดินเซ ซึ่งตอนแรกอาการเหล่านี้อาจเป็นมากจนทำให้ญาติท้อแท้ว่าผู้ป่วยจะติดเตียงเช่นนี้ไปตลอด?

“อยากเดินได้แบบไม่ต้องใช้สี่ขา” คนไข้หมายถึงเดินโดยไม่ต้องพึ่งวอล์กเกอร์ (walker) อุปกรณ์ช่วยเดินที่มีลักษณะเหมือนคอกสี่เหลี่ยม คุณป้าท่านนี้เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ แขนขาอ่อนแรงซีกขวา วันแรกที่เป็นลุกเดินไม่ได้เลย แต่ก่อนออกจากโรงพยาบาลเริ่มขยับแขนขาได้มากขึ้น จนกระทั่งตอนนี้ฝึกใช้ ‘สี่ขา’ อยู่ที่บ้าน

“ป้าต้องทำได้แน่ๆ” ผมให้กำลังใจ พร้อมกับอธิบายว่ากว่าที่ระบบประสาทจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานานระดับเดือน โดยกำลังแขนขาจะกลับมาก่อนที่ 3 เดือนแรก

“ถ้าถึงตอนนั้น ป้าเดินได้แบบไหน ก็จะเดินได้แบบนั้นไปตลอด” จากนั้นความรู้สึกจะกลับมาภายใน 6 เดือน ถ้ามีความผิดปกติของภาษาร่วมด้วยก็จะกลับมาภายใน 1 ปี หากคนไข้ได้รับการกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ1 ซึ่งพอได้ยินดังนั้นแล้วคนไข้ก็ยกแขนตามที่นักกายภาพฯ สั่งอย่างไม่อิดออดเหมือนตอนแรก

ส่วนญาติก็หาขวดมาใส่น้ำเป็นน้ำหนักถ่วงให้คนไข้ฝึกออกแรงเพิ่มขึ้นด้วยตาเป็นประกาย

เมื่อเป้าหมายชัดเจน ความแข็งขันก็ตามมา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในคนไข้บางรายที่เนื้อสมองถูกทำลายเป็นบริเวณกว้าง ผมก็อาจจำเป็นต้องย่อความคาดหวังของคนไข้ลง บางครั้งก็แย็บถามดูก่อนว่า “ถ้าคนไข้กายภาพเต็มที่แล้วกลับมาไม่เหมือนเดิมล่ะครับ?”

หรือบอกไปตามตรงว่า “อาจฟื้นตัวกลับมาไม่เหมือนเดิมนะครับ”

ติดเตียงมาหลายปี

จะมีคนไข้ติดเตียงอีกแบบที่ผมไปเยี่ยมบ้านคือป่วยมานานแล้วเป็นระดับปี ซึ่งมักไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่มากถึง 5-10 ปีเลยทีเดียว เนื่องจากญาติดูแลดี จึงไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเข้ากระแสเลือดจนเสียชีวิต อาจมีแผลกดทับบ้าง แต่ก็แค่ผิวหนังถลอกแดง ไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ก็แสดงว่าญาติพลิกตัวบ่อย ยิ่งทุกๆ 2 ชั่วโมงยิ่งดี บางบ้านมีที่นอนลมปูนอนก็ตะแคงตัวห่างขึ้นได้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังช่วยจัดหาเตียงคนไข้แบบที่โครงพยาบาลให้ ญาติสามารถหมุนปรับระดับความสูงของศีรษะตอนป้อนข้าวได้เพื่อป้องกันการสำลัก แต่สังเกตว่าคนไข้มักจะหนีไม่พ้นอาการข้อยึด-ข้อติดอยู่ดี

นิ้วทั้งห้าหงิกอยู่ในท่ากำมือ

ข้อศอกและข้อเข่างอพับ รยางค์ท่อนบนกับท่อนล่างเข้ามาชิดติดกัน

ปลายเท้าเหมือนจิกพื้นเหมือนเหยียบคันเร่งตลอดเวลา

“เขาขี้เกียจ” ญาติรีบฟ้องผม “บอกให้ยกแขนเองก็ไม่ยอมยก จะเหยียดเข่าให้ก็ร้องปวดแล้ว”

พอผ่านพ้นไปช่วงหนึ่ง ญาติกลับไม่ได้ขมีขมันทำกายภาพบำบัดทุกวันเหมือนเดิม คงเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มหมดหวัง คนไข้ก็หมดแรง เพราะอาการไม่ดีขึ้น บางรายมีอาการซึมเศร้า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร ส่วนผู้ดูแลและญาติก็รู้สึกไม่คุ้มค่าเหนื่อยที่จะทำ ญาติบางคนต้องลาออกจากงานประจำในโรงงาน เพราะต้องคอยป้อนข้าวผู้ป่วยสามมื้อ ช่วงระหว่างมื้อที่ว่างก็ไปทำงานรับจ้างเป็นงานๆ ไปแทน จึงไม่มีเวลาทำกายภาพบำบัดให้ หรือบางคนก็คร้านที่จะทำตามคนไข้ไปอีกคน

ซึ่งปัญหานี้ไม่ว่าจะติดเตียงด้วยโรคอะไรก็เป็นเหมือนกันแทบทุกราย

ผมอาจชวนญาติตั้งเป้าหมายกันใหม่ว่า ถ้าคนไข้ยังมีแขนขาข้างไหนขยับได้อยู่ ก็ยังพอหยิบจับช้อนกินข้าว หรือจับราวกั้นเตียงเพื่อพลิกตะแคงตัวเองได้ จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ข้อยึด-ติดไปมากกว่านี้

“เมื่อก่อนเหยียดไม่ได้เลย” ผมฟังคุณป้าเล่าว่าเขาพยายามนวดน้ำมันตรงข้อมือที่ยึด-ติดมานานแล้วของคุณลุง ตามคำแนะนำของนักศึกษาพยาบาลที่มาเยี่ยมบ้านและทำรายงานส่งอาจารย์เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน “แต่ตอนนี้ก็อ่อนลงบ้างแล้ว”

“ป้าอยากให้คุณลุงเหยียดนิ้วได้เหมือนเดิม”

“ใช่” คุณป้าตอบพลางดัดนิ้วมือของคุณลุงให้แบออก

“อย่างที่คุณป้าทำ หมอเห็นด้วยเลยนะ” ผมช่วยให้ความมั่นใจและชื่นชมในสิ่งที่ญาติปฏิบัติต่อคนไข้เหมาะสมแล้ว “ตั้งแต่หมอเยี่ยมบ้านมา คุณป้าเป็นคนหนึ่งที่ดูแลคุณลุงอย่างเต็มที่เลย” เป็นตัวเสริมทางบวก (positive reinforcement) ให้เขามีกำลังใจในการดูแลคนไข้แบบนั้นต่อไป

ความลับของคนไข้

“ป้าไม่ชอบฟังวิทยุ ทีวีป้าก็ไม่เคยเปิดดู ป้าชอบปลูกพริก ปลูกผักสวนครัว ถ้าไม่ติดเตียง ป่านนี้คงออกไปตัดฟืนแล้ว”

คุณป้าระบายความอัดอั้นออกมาทั้งน้ำตา ตอนแรกผมที่ผมเดินเข้ามาในบ้านเห็นคุณป้านอนอยู่เฉยๆ คนเดียว ส่วนญาติไปทำธุระบ้านข้างๆ อยู่ เลยคิดไปเองว่าน่าจะให้ญาติเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นเพื่อนแก้เหงาระหว่างวัน แต่คุณป้ากลับส่ายหน้าแสดงความไม่ต้องการ เลยถามคนไข้ว่า “แล้วคุณป้าอยากทำอะไรบ้าง” คำตอบที่ได้กลับเป็นอดีตก่อนที่จะล้มก้นกระแทกพื้นเมื่อ 3 เดือนก่อน

คุณป้าเดินไม่ได้นับจากนั้น

แผลกดทับขนาดใหญ่เท่ากับหนึ่งฝ่ามือที่ก้นติดเชื้อรุนแรง และเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลเมื่อ 3 วันก่อน

“หมายความว่าคุณป้าอยากเดินได้ใช่รึเปล่าครับ” ผมทวนความต้องการคนไข้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย เพราะฟังจากอาการของคุณป้าแล้วโอกาสในการกลับมาเดินได้มีน้อยมาก

“แต่ถ้าหากไม่มีความหวังหลงเหลืออยู่เลย เขาจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรกัน” ผมคิดในใจ เลยชวนคุณป้าตกลงเป้าหมายร่วมกันว่า “งั้นเอาอย่างนี้มั้ย คุณป้าฝึกนั่งให้ได้ก่อน”

ด้วยความหวังดีไม่อยากให้คุณป้าทิ้งการทำกายภาพบำบัดไป

“นั่งบนเตียงได้แล้ว ก็ค่อยนั่งห้อยขา พอมีแรงแกว่งขา คุณป้าก็จะเริ่มเดินได้นะ”

“แต่หมอโรงพยาบาลนครปฐมบอกว่า…” ยังไม่ทันพูดจบคุณป้าก็ปล่อยโฮออกมาก่อน “ป้าจะเดินไม่ได้อีกแล้ว”

คุณป้าเก็บงำเรื่องนี้มาตลอดที่คุยกันมาเกือบครึ่งชั่วโมง เนื่องจากคนไข้ไม่มีใบสรุปอาการมาจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาด้วย ผมจึงต้องถามเอาจากตัวคนไข้ว่า “หมอทางโน้นบอกกับคุณป้าว่ายังไงบ้าง” แต่ไม่มีวี่แววว่าหมอได้บอกคนไข้เรื่องแนวโน้มของโรคมาก่อนเลย ทำให้ผมรู้สึกผิดที่ไม่กล้าเผชิญความจริงกับคุณป้าอย่างตรงไปตรงมา จังหวะนั้นผมจึงได้แต่ปลอบคุณป้าไปว่า “คุณป้าคงกังวลกับที่หมอท่านนั้นบอก เดี๋ยวหมอจะสั่งยาช่วยคลายความกังวลให้นะ”

อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้คุณป้าหลับสนิท เพราะยาตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงและตื่นมารับมือกับความจริงในแต่ละวันได้

“คุณป้าได้ยินที่คนป่วยพูดแล้วเนอะ ที่เขาไม่ยอมพลิกตัว ไม่ยอมทำตามที่เราสั่ง” ผมหันไปทางญาติบ้าง เพื่อปรับความเข้าใจกับน้องสาวคนไข้ ซึ่งตอนแรกที่คุยกับเขาในฐานะผู้ดูแล ก็แสดงทีท่ารำคาญตัวคนไข้อยู่ไม่น้อย “ไม่ได้เป็นเพราะเขาขี้เกียจ หรือเขาอยากนอนอยู่เฉยๆ สบายกว่า แต่เป็นเพราะร่างกายเขาไม่เอื้ออำนวย และจิตใจเขาก็ยังไม่พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของชีวิต”

“ถ้าเป็นไปได้ เวลาเขาบ่นอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงกับเขาทุกเรื่อง” ผมเสนอแนะ แต่น้องสาวคนไข้ส่ายหน้าไม่ยอมลดราวาศอก

หนึ่งเตียง สองคน

คนแรกนอนแบ็บอยู่กับเตียง

อีกคนยืนอยู่ข้างกัน

ความยากของการเยี่ยมบ้านดูแลคนไข้ติดเตียงไม่ได้อยู่ที่การซักถามและตรวจร่างกายว่าคนไข้มีภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงหรือไม่ หากแต่อยู่ที่การดูแลความรู้สึกนึกคิดของทั้งคนไข้ และญาติหรือผู้ดูแลมากกว่า รวมทั้งตัวผมเองด้วย

 

 

อ้างอิง

1 ปิยะภัทร เดชพระธรรม. การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง. เวชศาสตร์ฟื้นฟูในปัญหาที่พบบ่อย. 2561

Tags: , , , ,