แล้วคุณลุงก็ยกมือไหว้ผม ราวกับว่าผมนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่คุณลุงตกเป็นผู้ต้องหา “ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง”
เพียงแต่ว่าคดีนี้คุณลุงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตัวเอง
ส่วนผมก็แค่นั่งอยู่ตรงหน้าคุณลุงในห้องตรวจผู้ป่วยนอกเท่านั้น
“คุณลุงเป็นอะไรมาครับ” ผมถามตามปกติ แต่พอจะทราบรายละเอียดเบื้องต้นที่พยาบาลคัดกรองซักประวัติพิมพ์ลงในระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนจะส่งคนไข้เข้ามาตรวจในห้องแล้ว
“ผมมีอาการเจ็บหน้าอก”
“ไหน คุณลุงเจ็บตรงไหน”
คุณลุงบอกว่า “เจ็บตรงนี้” พร้อมกับกางแขนซ้ายขึ้น ใช้มือขวาขยุ้มจับหน้าอกซ้ายเหนือหัวนมไล่ตามแนวกระดูกซี่โครงลอดใต้วงแขนไปถึงสะบักด้านหลัง
“เป็นมากี่วันแล้วนะครับ” เพราะระยะเวลาที่เป็น จะช่วยแยกโรคที่มีการดำเนินของโรคเร็ว-ช้าต่างกันออกจากันได้ “ก็เกือบๆ อาทิตย์ได้ แต่ไม่ได้เป็นตลอด”
“มันเจ็บจี๊ดๆ มั้ยคุณลุง” ถ้าครูบาอาจารย์มาอ่านเข้าอาจไม่นับเป็นลูกศิษย์ลูกหาเพราะใช้คำถามปลายปิด ปิดประตูตีคุณลุงเลยว่าเจ็บแบบกล้ามเนื้ออักเสบหรือไม่ โชคไม่ดีที่เดาอาการของคุณลุงไม่ถูก “ไม่นะ…” คุณลุงนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง “ผมเจ็บตื้อๆ มากกว่า”
“แล้วมันแน่นเหมือนมีใครมาเหยียบ เหมือนมีอะไรมารัด หรือเหมือนถูกของทับหน้าอกไว้รึเปล่า” ผมเว้นวรรคตามที่เคาะแป้นพิมพ์ รอคุณลุงนึกแล้วตอบกลับมาก่อน เพราะขืนพูดติดกันรัวๆ อาจารย์ เอ้ย! คนไข้ก็อาจฟังไม่ทัน จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ เมื่อใช้คำถามปลายเปิด คนไข้จะนึกคำบรรยายลักษณะอาการปวดของตัวเองไม่ถูก ผมก็เลยให้ตัวเลือกคุณลุงไปตามคำบรรยายอาการยอดฮิตติดชาร์ตคนไข้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ถ้าคุณลุงปวดจริง ก็ต้องเข้ากับสักคำบรรยายหนึ่งแน่นอน
แต่คุณลุงส่ายหัว
“แล้วมีอาการอะไรร่วมด้วยมั้ยครับ” เป็นต้นว่า เหงื่อแตก-ใจสั่น หรือคลื่นไส้-อาเจียน ซึ่งคุณลุงก็ส่ายหน้าอีกรอบ
“โอเค” ผมสื่อกับคุณลุงว่าเสร็จสิ้นการให้ปากคำแล้ว “เดี๋ยวผมขอตรวจร่างกายหน่อยนะครับ”
—
ผมใช้มือคลำจากหน้าอกข้างขวาซึ่งคุณลุงไม่ได้บ่นปวด ไปยังข้างซ้าย กดย้ำกระดูกซี่โครงตรงตำแหน่งที่คุณลุงปวด “เวลาหมอกด เจ็บมากขึ้นรึเปล่า” / “ไม่” คุณลุงปฏิเสธ “อ้อ มันรู้สึกว่ามีก้อนอะไรอยู่ตรงนี้ด้วยนะ” มีข้อมูลเพิ่มเติมจากโจทก์ว่าจำเลยทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้
“คุณลุงชี้ค้างไว้ตรงที่คุณลุงรู้สึกนะ” ผมเลื่อนมือไปคลำตรงจุดเดียวกัน เป็นชั้นไขมันใต้ผิวหนังกับชั้นกล้ามเนื้อตามปกติจึงบอกไปตามตรงว่า “ผมคลำไม่เจอนะครับ” เพื่อให้คุณลุงสบายใจไปหนึ่งเปลาะ
หันมาเอื้อมไปหยิบหูฟัง (stethoscope) ที่แขวนอยู่ตรงผนังห้องมาเสียบหู แล้วทาบปลายอีกด้านลงบนหน้าอกฟังเสียงหัวใจ และเสียงปอด “หายใจเข้า-ออกลึกๆ นะครับ” … ปกติทั้งคู่ “พอแล้วครับ หายใจตามปกติได้” ถอยกลับมาตั้งหลักที่โต๊ะตัวเดิม
—
“เจ็บหน้าอกมาแบบนี้ คุณลุงกังวลว่าจะเป็นอะไรรึเปล่าครับ” แทนที่จะแจ้งการวินิจฉัยคุณลุงไปทีเดียว ผมขอต่อความยาวสาวความยืดอีกสักหน่อย เพราะถ้าคุณลุงกังวลเยอะก็อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยันให้สบายใจอีกแรง
“ก็ไม่รู้เหมือนกันสิครับ” คุณลุงแค่นหัวเราะ เชื่อว่าใครที่ได้ยินคำถามทำนองนี้จากหมอ (น่าจะมีผู้อ่านบางท่านเคยถูกถามเช่นกัน) อาทิ “คิดว่าเป็นโรคอะไร” “คิดอย่างไรกับอาการที่เกิดขึ้น” ก็ต้องสงสัยคล้ายกันว่า “เป็นฝ่ายหมอไม่ใช่หรือที่จะต้องตอบคำถามนี้”
“คนไข้จะไปรู้ได้ยังไง?”
ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่งเพราะการวินิจฉัยโรค (disease) ซึ่งหมายถึงพยาธิสภาพหรือสภาพที่ผิดปกติของร่างกายเป็นหน้าที่ของหมอ แต่หลายครั้งผลการวินิจฉัยและยาที่จ่ายให้ไปรับประทานกลับไม่ได้บรรเทาอาการลงแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะว่าความคิด ความรู้สึก และความคาดหวังที่มีต่ออาการที่ผิดไปจากความปกติของตนเองยังคงอยู่ หรือพูดอย่างหนึ่งก็คือความเจ็บป่วย (illness) ของคนไข้ยังไม่ถูกรักษา
สำหรับผมแล้ว การถามทำนองนี้จะใช้สำหรับโรคที่อาการเป็นมาก เป็นเยอะ ดูเป็นรุนแรง แต่พอตรวจร่างกายแล้วกลับไม่พบความผิดปกติ หรือเป็นเพียงเล็กน้อยไม่สอดคล้องกับอาการที่เล่ามา
“อาการแบบนี้น่าจะเป็นแค่กล้ามเนื้ออักเสบธรรมดานะครับ เดี๋ยวหมอจ่ายยาแก้อักเสบกับยาคลายกล้ามเนื้อกลับให้ไปกินแล้วสังเกตอาการที่บ้าน” ถ้าคนไข้ไม่กังวลอะไร ผมก็จะไปต่อแล้วนะครับ ทว่าผมกลับสัมผัสได้ถึงความกังวลอันหนักอึ้งที่สีหน้าของคุณลุงแบกไว้
“เอ หรือว่าคุณลุงกังวลว่าจะเป็นมะเร็ง” / … (นั่งคิด) “ก็ไม่นะครับ” / “เพราะเห็นคุณลุงบอกว่าคลำได้ก้อนตรงใกล้กับรักแร้” “แต่ตรงนั้นหมอก็ตรวจแล้วว่าปกติ” / … (ความเงียบ) / “ถ้าอย่างนั้น ผมให้คุณลุงไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อน แล้วกลับมาคุยกันอีกที”
—
คุณลุงออกจากห้องไปเกือบชั่วโมง ผมตรวจคนไข้ต่ออีกหลายคน จนกระทั่งคุณลุงเดินเข้ามาอีกครั้งพร้อมกับยื่นผลการตรวจมาให้ เป็นแผ่นกระดาษมันขนาดเท่ากระดาษเอสี่ บนนั้นมีเส้นสีดำบางเหมือนเขียนด้วยปากกาหัว 0.38 มม. หยึกหยักไปมายาวเกือบเต็มหน้าเรียงจากบนลงล่างรวม 4 เส้น บนพื้นหลังช่องตารางสีแดง
ผมไล่สายตามองตามเส้นจ้องจับผิดพยานหลักฐาน
“ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคุณลุง ไม่ได้เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือเส้นเลือดหัวใจตีบนะครับ” แล้วคุณลุงก็ยกมือไหว้ผม ราวกับว่าผมนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่คุณลุงตกเป็นผู้ต้องหา “…ยกฟ้อง”
“ขอบคุณมากเลยครับหมอ ผมกลัวเป็นโรคหัวใจมาก เป็นห่วงหลานทั้ง 2 คน กลัวว่าจะเป็นอะไรไปเสียก่อน” คุณลุงเสมือนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นโรคร้ายแรง อาจไปได้ยินจากเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือคนในบ้านยุยงให้คิดขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณลุงเพียงคนเดียว ตั้งแต่ทำงานมา 2 ปีกว่า ผมก็เจอคุณลุงคุณป้าที่มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอกและความไม่สบายอกสบายใจคล้ายกันนี้หลายคดี
แต่เมื่อความกังวลที่ทบทับอยู่ในใจได้รับการคลี่คลายด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ความสบายใจเบ่งบานออกมา
ขณะเดียวกัน ผมจึงได้เห็นคุณลุงยิ้มเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้ามานั่งในห้องตรวจ
Fact Box
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักมีลักษณะเฉพาะ คือ เจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนสองข้าง โดยเฉพาะข้างซ้าย เป็นมากขณะออกกำลัง เป็นนานครั้งละ 2-3 นาที เมื่อนั่งพักอาการจะทุเลาลง ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัย