SPOILER ALERT: ใครที่ยังไม่รู้และยังไม่อยากรู้ว่าใครฆ่าประเสริฐ ขอเชิญชมละครก่อนนะครับ
ถ้าจะมีซีรีส์สักเรื่องที่สร้างกระแสฮือฮาในช่วงนี้ เห็นทีจะหนีไม่พ้นเรื่อง เลือดข้นคนจาง ที่กำกับโดย ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ที่คนพูดถึงกันหนาหูส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นละครไทยไม่กี่เรื่องที่สะท้อนวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายจีนอย่างจริงจัง มีการนับญาติด้วยคำเรียกญาติอย่างที่ลูกคนจีนแต้จิ๋วหลายคนคุ้นเคย อีกส่วนก็เพราะเป็นคดีฆาตกรรมที่มีเงื่อนงำ แถมยังค่อยๆ มีผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าละครจะเฉลยแล้วว่าสรุปใครเป็นคนฆ่าประเสริฐ แต่ก็ยังต้องติดตามต่อว่าแรงจูงใจคืออะไรกันแน่
สัปดาห์นี้ เราจะลองจินตนาการดูว่า หากฆาตกรเป็นคนอื่นๆ ในตระกูลจิระอนันต์ จะมีคำศัพท์เก๋ๆ อะไรในภาษาอังกฤษที่มาใช้เรียกฆาตกรรมแบบนั้นได้บ้าง
What if?: ภัสสร ฆ่า ประเสริฐ
เนื่องจากประเสริฐเป็นเฮียของภัสสร การฆ่าแบบนี้จะเรียกว่า fratricide มาจากคำนาม frater ในภาษาละติน หมายถึง พี่ชาย หรือ น้องชาย มารวมกับ -cide ซึ่งมาจากกริยา caedere หมายถึง ฆ่า ได้ความหมายรวมว่า การฆ่าพี่ชายหรือน้องชายนั่นเอง
คำว่า frater นี่ยังเจอในคำว่า fraternity หมายถึง ภราดรภาพ แต่ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา คำนี้จะหมายถึง สมาคมหรือสังคมนักศึกษาชาย ปกติมักตั้งชื่อด้วยตัวอักษรกรีก มีการรับน้องและสืบทอดรุ่นเหมือนเป็นพี่ชายน้องชายกัน บางทีก็จะเรียกย่นย่อเหลือแค่ frat ด้วยความที่คนมักมีภาพจำว่าพวกกลุ่มนักศึกษาชายฉกรรจ์เหล่านี้ชอบทำตัวสำมะเลเทเมา ส่งเสียงดังเอะอะ เฮฮาปาร์ตี้ ก็เลยเกิดเป็นคำว่า frat boy เป็นคำความหมายลบที่ใช้เรียกผู้ชายที่ประพฤติตัวลักษณะนี้
นอกจากนั้น คำว่า frater ยังเจอในคำว่า fraternize ด้วย หมายถึง ผูกสัมพันธ์ ทำนองว่าจะไปเป็นพี่น้องกับเขา แต่มีความหมายในเชิงลบ คือไปผูกสัมพันธ์กับคนที่ไม่ควรคบหาหรือฝั่งที่เป็นอริกับเรา เช่น fraternize with the enemy ก็จะหมายถึง ไปสุงสิงตีสนิทกับศัตรู
อีกคำที่มาจาก frater คือ fraternal จะใช้เป็นคุณศัพท์แปลว่า เกี่ยวกับพี่ชายหรือน้องชาย หรือถ้าใช้พูดถึงแฝดที่ไม่ได้เกิดจากไข่ใบเดียวกันก็ได้หรือแฝดต่างไข่ นั่นก็คือ fraternal twins นั่นเอง (ตรงข้ามกับ identical twins หรือแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน)
คำว่า frater นี้ ถ้าออกเสียงดูแล้วรู้สึกว่าคล้ายกับคำว่า brother ก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะถ้าสืบสาวไปแล้วจะพบว่าทั้งสองคำมาจากรากเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นญาติกับคำว่า ภราดร ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาสันสกฤตด้วย
What if?: ประเสริฐ ฆ่า ภัสสร
ถ้ากลับกันคือให้ประเสริฐเป็นฝ่ายฆ่าภัสสร แบบนี้ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า sororicide มาจาก soror ในภาษาละติน หมายถึง พี่สาวหรือน้องสาว รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า หมายถึง การฆ่าพี่สาวหรือน้องสาว
คำว่า soror นี้ยังไปโผล่ในคำว่า sororal หมายถึง เกี่ยวกับพี่สาวหรือน้องสาว เช่น sororal bond หมายถึง สายสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวน้องสาว และพบได้ในคำว่า sorority ซึ่งเป็นสมาคมลักษณะเดียวกับ fraternity เพียงแต่มีไว้สำหรับนักศึกษาหญิงเท่านั้น
What if?: อาม่า ฆ่า ประเสริฐ
สมมติแท้จริงแล้วอาม่าเป็นคนลงมือฆ่าประเสริฐ ลูกในไส้แท้ๆ ของตน แบบนี้จะเรียก filicide มีส่วนประกอบ -cide ที่แปลว่า ฆ่า เหมือนเดิม แต่เอาคำว่า filius ในภาษาละตินที่แปลว่า ลูก มาแปะแทน ได้ความหมายว่า การฆ่าลูก
คำว่า filius นี้ เราพบเจอได้ในคำว่า filial เป็นคุณศัพท์หมายถึง เกี่ยวกับลูก เช่นถ้าบอกว่าการเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่านับเป็นหน้าที่ของบุตรธิดาในวัฒนธรรมจีน ก็อาจจะบอกว่า Taking care of one’s parents is considered filial duty in Chinese culture. ส่วนความกตัญญูในปรัชญาขงจื่อก็เรียกว่า filial piety
นอกจากนั้น เรายังเจอ filius ในคำว่า affiliation ด้วย หมายถึง ความเกี่ยวข้องหรือสังกัด นัยว่าดองกันในลักษณะที่มีองค์กรหนึ่งอยู่ภายใต้อีกองค์กรที่ใหญ่กว่า เหมือนความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกในปกครองนั่นเอง
คำว่า filius นี้ยังซ่อนอยู่ใน fitz ที่ไปปรากฏในนามสกุลต่างๆ เช่น F. Scott Fitzgerald เป็นต้น หมายถึง ลูก (คล้ายๆ กับ Mc ใน McDonald ของชาวไอริช และ son ใน Johnson) แต่เดิมใช้หมายถึง ลูก เฉยๆ แต่ภายหลังนำใช้กับลูกนอกสมรสของเชื้อพระวงศ์
ทั้งนี้ ถ้าไม่ใช้คำว่า filicide อีกคำที่ใช้ได้ก็คือ prolicide มาจาก proles ในภาษาละติน หมายถึง ลูกหลาน รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า ซึ่งคำว่า proles นี้เจอได้ในคำว่า prolific (มีผลงานมากมาย งานดก) และ proliferate (แพร่พันธุ์ เพิ่มปริมาณขึ้น)
แต่ถ้าอาม่าฆ่าประเสริฐตั้งแต่เป็นทารก แบบนี้จะเรียก infanticide คือเอา infant ที่แปลว่า ทารก มารวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า นั่นเอง (ทั้งนี้ infant คือทารกที่ยังพูดไม่ได้ มาจาก in- ที่แปลว่า ไม่ รวมกับ fans ที่แปลว่า พูด ความหมายตรงตัวคือ พูดไม่ได้ นั่นเอง)
What if?: ประเสริฐ ฆ่า อาม่า
แต่ถ้าสมมติประเสริฐเป็นฝ่ายที่ฆ่าอาม่า แบบนี้เราจะเรียกว่า matricide หมายถึง การฆ่าแม่หรือมาตุฆาต มาจาก -cide เหมือนเดิม แต่มารวมกับ mater ในภาษาละตินที่แปลว่า แม่ แทน
คำว่า mater นี้เป็นคำเดียวกับที่ปรากฏในชื่อโรงเรียนมาแตร์เดอี (Mater Dei) ความหมายถึง มารดาของพระผู้เป็นเจ้า ใช้เรียกขาน พระแม่มารี นั่นเอง และยังเป็นญาติกับคำว่า mother และมารดา ในภาษาไทยอีกด้วย
Mater นี้ปรากฏในคำภาษาอังกฤษอีกมากมาย เช่น maternal แปลว่า เกี่ยวกับแม่ เช่น maternal aunt คือ ป้าหรือน้าฝั่งแม่ (หรือที่คนจีนเรียกอาอี๊) หรือคำว่า maternity แปลว่า ความเป็นแม่ เช่น maternity leave หมายถึง การลาคลอด
คำว่า mater บางทียังใช้หมายถึงแม่ในเชิงเปรียบเปรย เช่น metropolis ที่หมายถึงเมืองใหญ่ คำนี้มาจาก meter ที่แปลว่า แม่ ในภาษากรีก (เป็นญาติกับ mater ในภาษาละติน) รวมกับ polis ที่แปลว่า เมือง ได้ความหมายทำนองว่า เมืองแม่ ใช้เรียกเมืองหลวงหรือเมืองที่ปกครองเมืองอื่น ไปๆ มาๆ เลยกลายมาใช้หมายถึง เมืองใหญ่ เช่น มหานครนิวยอร์ก หรือ ปารีส เป็นต้น
อีกคำที่มาจาก mater โดยที่เราอาจจะไม่รู้คือคำว่า material ที่แปลว่า วัสดุ และ matter ที่แปลว่า สสาร คำนี้มาจาก materia ซึ่งมาจาก mater ในความหมายที่แปลว่า ต้นกำเนิด (เหมือนแม่ให้กำเนิด) เดิมทีใช้หมายถึง แก่นไม้หรือเนื้อไม้ภายในลำต้น ทำนองว่าที่มาของส่วนต่างๆ ของต้นไม้ ต่อมาจึงนำมาใช้หมายถึงเนื้อวัสดุใดๆ ก็ตามแบบในปัจจุบัน
คำที่เป็นคู่กันกับ matricide ก็คือ patricide มาจาก pater ที่แปลว่า พ่อ รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า หมายถึง การฆ่าพ่อ หรือเรียกหรูๆ ว่าปิตุฆาต ใช้ได้ในกรณีที่ประเสริฐเป็นคนฆ่าอากง (pater เป็นญาติกับ father และ บิดา ในภาษาไทย)
แต่ถ้าฆ่าอาม่าเพราะว่าอาม่าเป็นคนแก่ ก็อาจจะเรียกว่า senicide หมายถึง การฆ่าผู้สูงอายุ มาจาก senilis หมายถึง แก่ อาวุโส มารวมกับ -cide หมายถึง ฆ่า ปกติใช้หมายถึงการฆ่าผู้สูงอายุเพราะไม่มีประโยชน์แล้ว อยู่แล้วเป็นภาระต่อสังคม พบได้ในสังคมในอดีตบางกลุ่ม ญาติของคำนี้หลงเหลือในภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น senior (อาวุโส) senile (ชรา) และ senate (วุฒิสภา)
What if?: คริส ฆ่า ประเสริฐ
หากฆาตกรหาใช่ใครที่ไหน แต่ดันเป็นศรีภรรยาที่นอนเตียงเดียวกันมา 20 กว่าปี แบบนี้จะเรียกว่า maritocide มาจากคำละติน maritus หมายถึง สามี รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า ได้ความหมายรวมว่า การฆ่าสามีตนเอง คำนี้ถือเป็นคำยากประเภทที่พิมพ์ใส่ไมโครซอฟต์เวิร์ดแล้วขึ้นเส้นหยักแดงๆ
คำว่า maritus นี้แทบไม่พบเจอในคำอื่นอีกเลย จะเจอก็แต่ในคำว่า maritorious (ซึ่งเป็นศัพท์อปกติมากๆ) แปลว่า รักสามีมากเกินขนาด ภาษาชาวบ้านเรียกว่า หลงผัว
maritus นี้มีที่มาจาก maritare อีกที หมายถึง แต่งงาน เป็นที่มาของคำว่า marital ที่แปลว่า เกี่ยวกับการแต่งงาน เช่น marital status หมายถึง สถานภาพการสมรส (แต่ถ้าเติม extra- ที่แปลว่า เพิ่มเติม เกิน เข้าไปเป็น extramarital แล้ว ก็จะเกิดนอกการสมรส เช่น extramarital affair หมายถึง การนอกใจคู่สมรส) รวมไปถึงคำว่า marry ที่แปลว่า แต่งงาน ด้วย
What if?: ประเสริฐ ฆ่า คริส
แต่หากกลับกัน คือประเสริฐเป็นฝ่ายฆ่าภรรยา แบบนี้จะเรียกว่า uxoricide มาจาก uxor หมายถึง ภรรยา รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า ในภาษาอังกฤษยังมีอีกคำที่มี uxor ปรากฏอยู่ในคำ นั่นก็คือ uxorious หมายถึง หลงเมีย รักเมีย มีความเป็นพ่อบ้านใจกล้าเบาๆ
What if?: เต้ย ฆ่า ประเสริฐ
ประเสริฐมีฐานะเป็นอาแปะหรือลุงของเต้ย ดังนั้น หากเต้ยเป็นคนลงมือฆ่าประเสริฐ คำที่จะใช้เรียกก็คือ avunculicide มาจาก avunculus ในภาษาละติน หมายถึง ลุง รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า หมายถึง การฆ่าลุง นั่นเอง คำละตินคำนี้ได้ทิ้งคำว่า avuncular ไว้ให้เราด้วยในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า เกี่ยวกับลุง หรือ แลดูอบอุ่นใจดีเหมือนลุง ประมาณคุณลุงเคนตั๊กกี้อุ้มถังไก่ทอดหรือลุงซานต้าคลอสขี่เลื่อนเทียมเรนเดียร์เป็นต้น
What if?: ประเสริฐ ฆ่า เต้ย
ส่วนถ้าประเสริฐเป็นคนฆ่าลูกของน้องสาวหรือหลานของตัวเอง แบบนี้จะเรียกว่า nepoticide มาจาก nepos แปลว่า หลาน รวมกับ -cide ที่แปลว่า ฆ่า หมายถึง การฆ่าหลาน ในภาษาอังกฤษมีคำที่เป็นญาติกันคือ nepotism หมายถึง การใช้อำนาจเพื่อเกื้อกูลญาติพี่น้อง ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหลานก็ได้ แค่เป็นญาติกันก็ได้แล้ว เช่น เอาญาติพี่น้องมาทำงานในบริษัทหรือใช้ลูกหลานสืบต่ออำนาจทางการเมืองเหมือนเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นต้น
ทั้งนี้ คำว่า nepos ในภาษาละตินนี้ยังเป็นที่มาของทั้ง nephew และ niece ที่แปลว่า หลานชาย (เช่น พีท ซึ่งเป็นตั่วซุงของตระกูล) และ หลานสาว (เช่น นางอสรพิษเหม่เหม) ในภาษาอังกฤษอีกด้วย
What if?: คดีพลิก ประเสริฐฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า suicide มาจาก -cide ที่แปลว่า ฆ่า ประกอบกับ sui ที่แปลว่า ตนเอง คำว่า sui นี้มีญาติในภาษาอังกฤษคือคำว่า sui generis มาจาก sui ที่แปลว่า ของตนเอง รวมกับ generis แปลว่า ชนิด หรือ ประเภท (มาจากคำว่า genus ที่วิทยาศาสตร์เอามาใช้หมายถึง สกุล ของสิ่งมีชีวิต) รวมได้ความหมายว่า เป็นชนิดหรือประเภทของตนเอง คือทั้งประเภทนั้นมีตัวเองเป็นสมาชิกอยู่คนเดียว พูดอีกอย่างก็คือ ไม่เหมือนใคร ไม่ซ้ำใคร เช่น Her novel is considered sui generis. หมายถึง นับว่านิยายของเธอเล่มนี้แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
- Bowler, Peter. The Superior Person’s Little Book of Words. Hawthorn Press: Perth, 1987.
- Bramwell, David. The Mellifluous Book of Hard Words. Page One: Singapore, 2008.
- Byrne, Josefa Heifetz. Mrs. Byrne’s Dictionary of Unusual, Obscure, and Preposterous Words. Twelfth Printing: New Jersey, 1974.
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.
- Elster, Charles Harrington. There’s a Word for it: A Grandiloquent Guide to Life. Pocket Books: New York, 2005.
- Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
- Lewis, Norman. Word Power Made Easy. Pocket Books: New York, 1978.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Nurnberg, Maxwell, and Morris Rosenblum. All About Words: An Adult Approach to Vocabulary Building. Signet Reference Books: New York, 1968.
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
- Shorter Oxford English Dictionary
- Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.