**รีวิวนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์**
ย้อนดูเนื้อเรื่อง Blade Runner ทั้งภาคแรก (1982) และภาคล่าสุด Blade Runner 2049 เริ่มต้นจากการต่อสู้ระหว่างมนุษย์เทียมที่ร่างกายเหมือนมนุษย์แท้ เมื่อพวกมันเริ่มตั้งคำถามกับชีวิต ก็เริ่มกระด้างกระเดื่องและหาทางต่ออายุให้ตัวเอง ทำให้ฝ่ายรัฐ ต้องส่งเด็กคาร์ด (Deckard) นายตำรวจ Blade Runner มือดี (หน่วยงานค้นหาและยุติการทำงานของมนุษย์เทียม) ไปจัดการ
มนุษย์เทียมหรือพวกที่เรียกกันว่า replicants เป็นมนุษย์ที่ผลิตโดยบริษัทวอลเลซ บริษัทที่เทกโอเวอร์กิจการของไทเรลซึ่งเป็นบริษัทแรกที่คิดประดิษฐ์มนุษย์เทียมออกมาเพื่อใช้เป็นแรงงาน มนุษย์เทียมกับมนุษย์แท้นั้นแทบไม่ต่างกัน ทดสอบแยกได้ด้วยเพียงวิธีเดียวคือการใช้เครื่องมือจ้องลึกไปในม่านตา ร่วมกับการค้นหาความทรงจำจากแบบสอบถามคัดแยก ว่าความทรงจำนั้นเป็นความทรงจำของจริงหรือเป็นเพียงสิ่งที่ ‘ถูกบรรจุ’ ลงไปกันแน่
เด็กคาร์ดไล่กำจัดทีละคน แต่แล้วกลับได้พบมนุษย์เทียมสาวนางหนึ่งซึ่งเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นมนุษย์ จนกระทั่งเขาได้ทดสอบและเตือนให้เธอตระหนักรู้ว่าแท้จริงเธอเป็นใคร เขาทั้งต้องสู้และหลบหนีการตามล่าของพวกมนุษย์เทียมในเมืองอนาคตอันโสโครก ที่มีฉากเป็นฝนที่ตกอยู่ตลอดเวลา
สามสิบปีต่อมา ใน Blade Runner 2049 เป็นเรื่องราวของ ‘เค’ นายตำรวจ Blade Runner ซึ่งเป็นมนุษย์เทียมรุ่นใหม่ มีชีวิตอยู่ในแฟลตเล็กๆ กับคนรักไร้ตัวตนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โฮโลแกรมของบริษัทวอลเลซ (บริษัทที่ผลิตมนุษย์เทียม) ซึ่งตอบโต้กับเขาตามอัลกอริธึม
ภารกิจไล่ล่าตัวมนุษย์เทียมรุ่นก่อนเพื่อยุติการทำงาน ทำให้เคได้ค้นพบโครงกระดูกปริศนาในบ้านของมนุษย์เทียมผู้นั้น ซึ่งนำไปสู่ความลับที่ว่า มนุษย์เทียมรุ่นก่อนแท้จริงแล้วมีความสามารถในการสืบพันธุ์และให้กำเนิดมนุษย์รุ่นต่อไปได้ และให้กำเนิดไปแล้วหนึ่งคน เป็นเวลานานพอที่ทำให้ขณะนี้ มนุษย์ผู้นั้นน่าจะโตเต็มวัย เหตุการณ์นี้เองกลายเป็นปมปัญหา ที่นำพาเคไปสู่ความจริงต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์เทียม และความลวงเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ ของเขาเอง
นี่คือพล็อตคร่าวๆ ของหนังทั้งสองภาค พิจารณาแล้วอาจรู้สึกได้ว่านี่ไม่ใช่ข้อถกเถียงใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องไม่ใหม่เพราะนิยายต้นฉบับที่ชื่อ Do Androids Dream of Electric Sheep? ที่เขียนโดย ฟิลิป เค. ดิก (Philip K. Dick) นั้นมีอายุเกือบจะห้าสิบปีแล้ว) หนังหลายเรื่องได้เคยถกเถียงในประเด็นเดียวกับหนังเรื่องนี้ไปอย่างสุดขอบแล้ว แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Blade Runner ด้อยคุณค่าของมันลง
ด้วยวิสัยทัศน์ของเดนีส์ วิลเนิฟ (Denis Villeneuve) ผู้กำกับชาวแคนาดาที่เชื่อมือได้ที่สุดคนหนึ่งในโลกหนังเมนสตรีมปัจจุบัน หากลองมองย้อนกลับไปดูหนังทั้งหมดของเขา อันได้แก่ Incendies, Prisoners, Enemy, Sicario และหนังไซไฟเรื่องดังเมื่อต้นปีอย่าง Arrival ก็จะพอมองเห็นว่าหนังแทบทุกเรื่อง (โดยเฉพาะในยุคฮอลลีวูด) ล้วนมีประเด็นหลักเกี่ยวโยงกับปัจเจกชนที่ค้นหาตัวเอง ค้นพบตัวเอง และสุดท้ายก็กลับค้นพบอีกว่า การค้นพบตัวเองนั้น แท้จริงเป็นเพียงเรื่องจอมปลอม
จุดร่วมของเหล่าตัวละคร เช่น ผู้ชายที่ลูกโดนลักพาตัว อาจารย์ที่ค้นพบ Doppelganger (คู่เหมือน หรือ คนที่อัตลักษณ์เหมือนกันทุกอย่าง) ของตนเอง ตำรวจสาวมือดีที่ถูกเรียกไปทำคดีเจ้าพ่อ และนักภาษาศาสตร์ที่พยายามเข้าใจมนุษย์ต่างดาว พวกเขาและเธอล้วนต่างต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ตัวตนต้องพังทลายลง เช่น การค้นพบว่า Doppelganger ของตนเอง แท้จริงก็คือตัวเองในรูปแบบที่ดีกว่า การค้นพบว่าอุดมการณ์ที่ยึดถือ (การยึดมั่นในความยุติธรรมแบบตำรวจ หรือความเชื่อมั่นว่าภาษาสำคัญกว่าสงคราม) เป็นเพียงแค่เบี้ยในกระดานความชั่วร้ายของมนุษย์ การพบว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นเพียงเรื่องเหลวไหล ส่วนหนทางข้างหน้าไม่ใช่ชีวิตใหม่ แต่เป็นการตระหนักรู้ว่าไม่มีชีวิตใหม่ใดๆ การค้นพบว่าเราเป็นมนุษย์น่ารังเกียจ ชั่วช้า เห็นแก่ตัว ฝันลมๆ แล้งๆ และสิ้นหวัง
เคก็เช่นกัน ชีวิตของเขาคล้ายคลึงกับนักสืบเคตจาก Sicario นายตำรวจสาวมือดีที่ถูกส่งเข้าไปร่วมทีมไล่ล่าพ่อค้ายาชายแดน เธอเชื่อมั่นในตัวเอง แม้ชีวิตอาจจะเงียบเศร้า แต่เธอเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษคนหนึ่ง ก่อนจะพบว่าเธอเป็นเพียงตัวประกอบของระบบยิ่งใหญ่ที่ตัวเองไม่มีวันเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เช่นเดียวกันกับเค เขาเชื่อมั่นว่ากำลังทำสิ่งที่ถูก และ ‘ถูกเลือก’ มาทำงานนี้
การตระหนักถึงคุณสมบัติพิเศษส่วนบุคคลเป็นการรับรู้ตัวตนแบบมนุษย์ อันเป็นเอกพจน์ว่าฉันคือฉัน ไม่ใช่ฉันคือมนุษย์เทียม ซึ่งเป็นพหูพจน์ที่ถูกออกแบบมาเหมือนๆ กันในโรงงาน ดังนั้น การตั้งครรภ์และให้กำเนิด จึงหมายถึงการเป็นมนุษย์ที่แท้ เป็นเด็กที่เกิด เป็นมนุษย์เทียมคนแรกที่ถูกนับว่าเป็นมนุษย์ เพราะเป็นปัจเจกบุคคลที่มีดีเอ็นเอเฉพาะตนเอง มีคุณสมบัติเฉพาะของตนเอง เช่นเดียวกับที่เคเชื่อมั่นในตัวตนของเขา ‘ความพิเศษ’ ซึ่งอาจเรียกว่าภาวะเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์นั้น กลายเป็นแรงขับสำคัญต่อการทำงานเสี่ยงภัยทั้งหมดของเขา การได้เรียนรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกเลือก ไม่ได้เป็นแค่มนุษย์เทียมธรรมดา แต่กลับเป็นมนุษย์เทียมซึ่งเป็นเพียงของสำเนาของมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง ตอกย้ำความเทียมของตัวเอง สิ่งนี้ทำให้นึกถึงบทเปิดนิยาย Jakob von Gunten (ชื่อไทย มนุษย์บริกร) ที่โรเบิร์ต วัลเซอร์ (Robert Walser) เขียนขึ้นในปี 1909 ไว้ว่า
“แต่ถึงอย่างไรเด็กหนุ่มจากสถาบันเบ็นยาเม็นทาแห่งนี้ก็ไม่มีทางไปไหนได้ไกลอยู่แล้ว ผมหมายถึง ในอนาคตพวกเราจะเป็นได้เพียงเศษเล็กๆ ใต้บัญชา การเรียนอันแสนเพลิดเพลินสําหรับเรานั้น มักจะสอดแทรกคําสั่งสอนให้รู้จักอดทนและเชื่อฟัง แต่จะมีประโยชน์อันใดเล่า คุณสมบัติสองประการนี้อาจช่วยเราไปสู่ความสําเร็จได้เพียงเล็กน้อย หรืออาจช่วยไม่ได้เลย”
การสำรวจมนุษย์แท้-เทียม ความอยากเป็นมนุษย์และไม่อาจเป็นมนุษย์ เป็นแกนเรื่องหลักของหนังในภาคต้น ดังที่กล่าวไป สิ่งที่ใช้ในการคัดแยกมนุษย์แท้-เทียมไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก (ร่างกาย) อีกต่อไป แต่เป็นความทรงจำ
ในภาคแรกนั้น มนุษย์เทียมตระหนักว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ เมื่อค้นพบว่าความทรงจำของเธอเป็นสิ่งจำลองที่ถูกบรรจุลงไปเหมือนๆ กัน หากในภาคนี้ หนังกลับย้อนทาง เมื่อเคค้นพบว่าความทรงจำของเขาเป็นความทรงจำจริงๆ ของตัวเขาเองผ่านการพิสูจน์ในสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งดูคล้ายสวนอีเดน และตัวนักสร้างความทรงจำก็มีสถานะมนุษย์คนแรก (ของพระเจ้าองค์ใหม่) คล้ายๆ อดัมกับอีฟในคนเดียว หรืออาจจะกล่าวให้ถูกคือที่จริงแล้ว เคเป็นอดัมที่เกิดจากอีฟ การค้นพบนี้เป็นแรงขับต่อส่วนที่เหลือของหนัง กลายเป็นการย้อนเกล็ดกลับไปสู่การค้นพบว่ามนุษย์เทียมมีความทรงจำของตนเอง และเป็นมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง
นอกจากความทรงจำแล้ว สิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์และมนุษย์เทียมเป็นมนุษย์ คือ ความรัก ข้อเสนอเกี่ยวกับความรักในหนังไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสำรวจอย่างทะลุปรุโปร่งมาก่อนหน้าในหนังอย่าง Her ที่มองเห็นร่างกายในฐานะที่แตกต่างกัน มนุษย์มองเห็นร่างกายในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (ธีโอดอร์จึงปฏิเสธการร่วมรักกับร่างกายของหญิงคนอื่นที่มีจิตของซาแมนธาเข้าไปอยู่) ในขณะที่ความไร้ร่างกายของซาแมนธากลับนำไปสู่การตื่นรู้เหนือขีดจำกัด และละทิ้งธีโอดอร์ไป
ในทางตรงกันข้าม การใช้ร่างกายของหญิงคนอื่นในการร่วมรักของเคกับจอย ซึ่งมีสถานะเป็นโปรแกรมไม่ต่างจากซาแมนธา จึงชักนำสนามการถกเถียงเกี่ยวกับสภาวะ ‘หลังมนุษย์’ เข้ามาในเรื่อง เนื่องจากร่างกายไม่ใช่เครื่องแสดงความเป็นมนุษย์ แต่เป็นข้อจำกัดของมนุษย์ หากเราสามารถถอดเอาการประมวลผลของสมองออกจากร่างกายที่ตายได้ไปไว้ในที่ที่ไม่มีทางตาย มนุษย์จะยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ ถ้ายังเป็นเพราะยังมีจิตสำนึกรู้ อะไรกันแน่คือ ‘มนุษย์’
ในหนังเรื่องนี้เราก็ได้พบว่าความหมกมุ่นทั้งหมดของเรื่องคือ ‘ร่างกาย’ นั้นเอง เพราะมนุษย์กับมนุษย์เทียมมี ‘ร่างกาย’ แบบเดียวกัน เมื่อถูกยิงก็มีเลือดไหลเหมือนกัน ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์แบบมีสายไฟระโยงระยาง ร่างกายจึงกลายเป็นเครื่องปกปิด เป็นเสื้อผ้า ร่างกายที่มนุษย์ให้ความสำคัญได้รับการให้คุณค่าในหนังในฐานะเปลือกห่อหุ้ม และกลายเป็นสิ่งอันตรายเพราะทำให้มนุษย์เทียมและมนุษย์ใกล้เคียงกัน
ความรักของเรื่องจึงมีความสัมพันธ์ทางกายเป็นเครื่องชี้ ความรักของเคกับจอยเป็นความรักแบบหลังมนุษย์ที่ไร้ร่างกาย แต่เคไม่ใช่มนุษย์เทียมที่พ้นไปจากความเป็นมนุษย์ เขาอยากเป็นมนุษย์ และการมีความสัมพันธ์ทางกายทำให้เขาเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับจอยที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ใช่มนุษย์ แต่เธอก็ยังอยากเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ของเธอก็ถูกเล่าผ่านร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายของผู้หญิง แต่เป็นร่างกายของเครื่องฉายประจุ ซึ่งถ้าเครื่องพังก็เท่ากับเธอตาย ‘หายไปอย่างผู้หญิงที่ผู้หญิงจริงๆ เป็น’
ความรักของหนังเรื่องนี้จึงเป็นความรักของสิ่งคล้ายมนุษย์สองชนิดที่อยากเป็นมนุษย์ เพื่อที่จะพบว่าปัญหาของพวกเขาไม่ได้มีแค่การไม่ได้เป็นมนุษย์ แต่การอยากเป็นมนุษย์ก็เป็นปัญหาและข้อจำกัดประการหนึ่ง ความรักของเคกับจอย (joi) จึงเป็นเพียงความรื่นรมย์ (joy) ทางกายภาพ ในขณะที่เรื่องน่าขันคือละครที่ตั้งชื่อว่า เลิฟ (luv) กลับเป็นมือสังหารของวอลเลซและมันช่วยไม่ได้อย่างที่เอลวิส (ซึ่งเป็นเอลวิสเทียม) ร้องไว้ในเพลงที่ชื่อว่า ‘มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เลยที่เราจะตกหลุมรัก’
คนเช่นเคก็เป็นเช่นเดียวกับยาคอบใน มนุษย์บริกร และเป็นเช่นเดียวกับมนุษย์เทียมและมนุษย์จำนวนมากกว่าในโลกนี้ ที่ไม่สามารถจะเป็นมนุษย์ในแบบอุดมคติได้ เพราะข้อจำกัดของทั้งเชื้อชาติ ฐานะทางการเงิน สังคม ชนชั้น และในข้อจำกัดนั้น การฝันถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คงเป็นสิ่งเดียวที่หาได้ แม้ว่าทางออกจะอยู่ที่การเป็นมนุษย์แบบอื่นๆ ก็ตาม ดังเช่นที่วัลเซอร์เขียนไว้
“ทุกวันนี้คนหมู่มากตกเป็นทาส และปัจเจกก็ตกเป็นทาสทางความคิดของคนหมู่มากอีกที ไม่มีอะไรที่ดีงามและยอดเยี่ยมอีกแล้ว ความงาม ความดี และความยุติธรรมเป็นสิ่งที่นายฝันถึงได้อย่างเดียวเท่านั้น ไหนบอกฉันหน่อยสิว่านายฝันเป็นไหม”
Tags: Philip K. Dick, Review, Movie, Blade Runner, Blade Runner 2049, Denis Villeneuve, เดนีส์ วิลเนิฟ, sci-fi