ถ้าปาราวตีไม่ได้ดี ปาฯ จะไม่กลับมาค่ะแม่

หนุ่มสาวชาวภารตะหลายคนยอมจากบ้านมาเสี่ยงโชคที่บอมเบย์ ชื่อเก่าติดปากของเมืองหลวงประจำรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ริมทะเลอาหรับมุมไบ เพื่อไขว่คว้าชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะโบกมือเฉิดฉายทักทายสื่อมวลชนบนพรมแดงบอลลีวูด หรือหาเช้ากินค่ำตามโครงการก่อสร้างตึกระฟ้านานา

คนอินเดียตั้งฉายาให้มุมไบว่า มายานาการี (Maya Nagari) เรียกให้คุ้นหน้าค่าตาสักหน่อยก็คือ มายานคร (คำว่า nagari, nagar ในภาษาฮินดี มีรากมาจากบาลีสันสกฤต ซึ่งไทยเรายืมมาใช้ว่า นคร) แปลง่ายๆ ตรงตัวว่าเมืองแห่งฝัน

จำนวนประชากรมุมไบคลาคล่ำเนืองแน่นเป็นอันดับหนึ่ง ชนะนิวเดลีขาดลอยด้วยตัวเลขกว่ายี่สิบล้านคน ทิ้งห่างให้เมืองหลวงตัวจริงต้องน้อยหน้าปาดน้ำตาอยู่เงียบๆ มาหลายปีซ้อน

ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน คือตำแหน่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจติดหนึ่งในห้าของประเทศ สาขาหลักสถาบันการเงินชื่อดัง รวมถึงบรรษัทในชาติข้ามชาติล้วนตั้งอยู่ที่นี่ บวกกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ร้อยแปดพันล้าน โอกาสมากมายอ้าแขนเชื้อเชิญมนุษย์ช่างฝันทุกคนสู่มุมไบ แม้เกินครึ่งหนึ่งจะจบลงที่สถานะลูกจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็ตาม

อุตส่าห์จากบ้านไกลเมืองทั้งที ปาราวตีไม่ยอมก้มหน้าตรากตรำคลุกฝุ่นแน่นอน

มุมไบยังเป็นหมุดหมายหลักบนเส้นทางล่าฝันของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้หวังอยากโลดแล่นในวงการบอลลีวูด หรือ Hollywood of Bombay อุตสาหกรรมภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก เจิดจรัสแซงหน้าแวดวงบันเทิงอื่นๆ ของอินเดีย อาทิ ทอลลีวูด (Tollywood) แถบรัฐเบงกอลตะวันตก, คอลลีวูด (Kollywood) รัฐทมิฬ และอีกหลายๆ วูด ตามแต่ละภูมิภาคพิกัดเมืองอีกด้วย

คันกานา รานอต (Kangana Ranaut) ดาราสาวจาก Queen (2013) ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอระหกระเหินหนีออกจากบ้านเกิดรัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) ประตูสู่เทือกเขาหิมาลัย นั่งรถบัสต่อรถไฟทิ้งครอบครัวที่กีดกันความฝันของเธอมามุมไบเพื่อค้นฟ้าคว้าดาว ปัจจุบัน เธอคือนักแสดงหญิงค่าตัวสูงอันดับต้นของวงการ

ถึงแม้สุดปลายทางจะการันตีชื่อเสียงและทรัพย์สินเงินทอง แต่ปีหนึ่งๆ บอลลีวูดผลิตภาพยนตร์และซีรีส์นับพันเรื่อง ใช้นักแสดงโนเนมหลายหมื่นคน กว่าจะโด่งดังพลุแตก มีคนรู้จักจำหน้าได้ ต้องแลกมาด้วยจิตใจอันแน่วแน่มั่นคง และโชคชะตา

ซูนิล มาลิก (Sunil Malik) พิธีกรหนุ่มประจำรายการ Movie Talkies เดินทางจากนิวเดลีมาตามฝันเช่นกัน ทว่า เกือบเจ็ดปีที่ผ่านมา เขาเป็นได้เพียงนายแบบโฆษณาและนักแสดงซีรีส์สืบสวนสอบสวน Masakali นอกกระแสเท่านั้น

“แต่ผมก็จะพยายามต่อไป เชื่อว่าสักวันหนึ่งต้องมีวันนั้น” ซูนิลบอก

ดาราดังอินเดียดังระดับไหน…

จำนวนแฟนคลับที่แวะเวียนมาเซลฟี่ แอบส่องหน้าต่างบานโน้นที บานนี้สองทีตลอดเวลา หน้ามันนัต (Mannat)บ้านหรูริมทะเลสีโกโก้ราคาเกือบแปดสิบล้านบาทของชาห์รุกห์ข่าน (Shah Rukh Khan) ดาราเกือบไม่หนุ่มสุดฮอต ฝากผลงานจอเงินมาแล้วเฉียดร้อยเรื่อง คงเป็นคำตอบได้ดี

คนอินเดียคนไหนไม่รู้จักคุณชาห์ แสดงว่าคนนั้นไม่ใช่คนอินเดีย

ตามประสาเมืองใหญ่คนเยอะที่จราจรบนท้องถนนแน่นขนัด คมนาคมรางรอบเมืองคือทางออกหลักชั่วโมงเร่งด่วน เส้นทางรถไฟโดยสารแรกของประเทศวิ่งจากสถานีบอริบันเดอร์ (Bori Bunder) ในมุมไบ ไปยังทานี (Thane) สถานีเมืองใกล้เคียงชื่อเดียวกัน เมื่อ 165 ปีก่อน ก่อนขยับขยายเรื่อยมาจนเกิดภาพจำคนนั่งเรียงสลอนบนหลังคารถไฟยามนึกถึงอินเดีย

สถานีบอริบันเดอร์ซอมซ่อผุพังไปตามกาลเวลา และกลับมาผงาดขึ้นอีกครั้งรับตำแหน่งมรดกโลก ด้วยสถาปัตยกรรมโครงสร้างซับซ้อนลดหลั่นละเอียดยิบสไตล์วิกตอเรียน พร้อมชื่อใหม่อ่านยากกว่าเดิม Chhatrapati Shivaji Terminus เรียกย่อๆ ว่าซีเอสที (CST)

สำหรับเจ้าหญิงวงการขนส่งมวลชนอินเดียอย่างปาราวตี (สถาปนาเอง) รถเมล์และรถไฟคือพาหนะคู่ใจ เพราะเธอเหนื่อยจะตกลงราคากับออโต้ริกชอว์—รถรับจ้างคล้ายตุ๊กตุ๊กสีเหลือง มีมิเตอร์ไว้ประดับมากกว่าใช้จริง

ระบบขนส่งทางรางของมุมไบมีทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า แม้จะเรียบหรูติดแอร์เย็นฉ่ำในราคาเท่าเทียมกัน แต่รถไฟพัดลมแซมกลิ่นสนิมกลับชิงส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า ด้วยเหตุสถานีรถไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมพื้นที่เมืองเพียงพอ สนนราคาที่ 5-10 รูปีอินเดีย (2.5-5 บาท) ตามระยะทางใกล้ไกล

เสียงลือเสียงเล่าอ้างโจษจันเช่นไร ความจริงในตู้โดยสารก็เฉกเช่นนั้น

มวลมหาประชามุมไบการ์ (Mumbaikar) แออัดยัดแย่งพื้นที่หายใจเช้าเย็นตามเวลางาน ขึ้นไปท่าไหน ออกมาท่านั้นเกือบทุกราย เห็นกลุ่มก้อนชายหนุ่มล่ำสันเนืองแน่นจ้องตาปริบ หญิงสาวหลายคนยอมยกธงขาว จรลีหาสัญลักษณ์ ‘Ladies Coach’ กันขวักไขว่

ไหนๆ ก็ต้องแนบสนิทชิดเชื้อฝูงชนแปลกหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขอสัมผัสนอกสัมผัสในกับเพื่อนสาวพลังสาวจะอุ่นใจกว่า

จากสถานีรถไฟเชิร์ชเกต (Churchgate) ระยะนั่งรถได้เดินก็ถึง คือ Gateway of India ซุ้มประตูหินบวกคอนกรีตสีทรายคล้าย Arc de Tromphe ที่ปารีส ผสมหอคอยสุเหร่าอิทธิพลศิลปะอิสลาม อนุสรณ์สถานรำลึกการเยี่ยมเยือนของพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และชายา

อุตส่าห์เป็นประตูทั้งที เมื่อมีเข้าก็ต้องมีออก ให้สมกับความหมายตามพจนานุกรม Gateway of India รับบทสักขีพยานให้เจ้าอาณานิคมอีกครั้ง ในฐานะทางออกของทหารอังกฤษชุดสุดท้าย หลังอินเดียประกาศเอกราช (15 สิงหาคม 1947) เกือบหนึ่งปี

อิสรภาพครั้งสำคัญผลพวงจากยุทธการอหิงสา หลักต่อสู้สันติวิธีที่มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ใช้รวบรวมไพร่พลปลดแอกอินเดีย ก่อนแตกหักกันเองรุนแรงภายหลังเรื่องสองขั้วศาสนา จนต้องแบ่งฝ่ายแยกประเทศกันวุ่นวาย ฮินดูคืออินเดีย อิสลามคือปากีสถาน ซึ่งยังบาดหมางจนจวบถึงปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์คานธี (Mani Bhavan Gandhi Museum) ย่านกัมเดวิ (Gamdevi) ถ่ายทอดชีวประวัติชายบนธนบัตรรูปีอินเดียทุกใบ ร้อยเรียงผ่านหุ่นจำลองสามมิติในอาคารคอนกรีตสีเหลืองหม่น เช่น เหตุการณ์เดินกลุ่มประท้วงไร้อาวุธไปกำทรายชายหาดดันดิ (Dandi Beach) รัฐคุชราต (Gujarat) สัญลักษณ์ดื้อแพ่งไม่ยอมจำนนต่อภาษีเกลือแสนขูดรีด บวกคำสั่งห้ามผลิตและครอบครองเกลือที่ไม่ใช่ของรัฐบาล

มุมไบสะท้อนความอินเดียได้ชัดเจน ทั้งช่องว่างระหว่างรวยจน และการประนีประนอมวิถีตะวันตกกับประเพณีดั้งเดิม

ขณะที่มูเกช อัมบานิ (Mukesh Ambani) ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศ (ข้อมูลล่าสุดกันยายน 2018) ใช้ชีวิตไฮคลาสบนอพาร์ตเมนต์หรู 27 ชั้น มูลค่า 32 ล้านบาท ย่านมุมไบใต้ (South Mumbai) เพียบพร้อมด้วยพนักงานปรนนิบัติกว่า 600 คน ตลอด 24 ชั่วโมง อีกฟากหนึ่งไม่ไกลกัน หลายครอบครัวต้องอาศัยทางเท้าข้างถนนขึงผ้าใบกันแดดลมฝนแทนบ้านพักอาศัย

ท่ามกลางแนวคิดชาตินิยมและศาสนาอันเข้มข้น มุมไบเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่สาวๆ กล้าเปลื้องส่าหรี สวมจริตเฟมินิสต์หัวก้าวหน้า นุ่งน้อยห่มน้อย ใส่กางเกงยีนเยี่ยงสาวตะวันตก พูดอังกฤษคำ ฮินดีสามคำ หรือมาราที (Marathi) ภาษาประจำรัฐ อีกสี่คำ โดยไม่ผิดแปลกอะไร

ปาราวตีสวมเดรสเปิดไหล่โชว์ทรวดทรง กดสมาร์ตโฟนเรียก Ola แอปพลิเคชันแท็กซี่ออนไลน์คล้าย Uber สัญชาติอินเดีย เดินทางร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ A Flying Jatt (2016) ที่โรงภาพยนตร์สุดล้ำสังกัด High Street Pheonix ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองเบอร์ต้นของมุมไบ ต้อนรับซูเปอร์สตาร์บอลลีวูดมาแล้วมากมาย รายล้อมด้วยร้านอาหารหลากสัญชาติหัวชื่อดัง รวมถึงแบรนด์แฟชั่นระดับท็อปต่างๆ

หลังงานเลี้ยงเลิกรา เธอนั่งรถไฟเที่ยวเกือบสุดท้ายกลับชุมชนแออัด พื้นที่อยู่อาศัยหลักของประชากรเมืองเกินครึ่ง มุมไบขึ้นชื่อว่ามีสลัมแทรกตัวอยู่แทบทุกหย่อมหญ้า หนึ่งในนั้นคือดาราวี (Dharavi) สลัมใหญ่อันดับสองของเอเชีย ฉากภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลก Slumdog Millionaire (2008)

มุมไบการ์หนึ่งล้านคนลงหลักปักฐานบนพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตรกว่า หรือประมาณ 4 สวนรถไฟ (กรุงเทพฯ) แห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้จากการเก็บพลาสติกบนภูเขาขยะขาย และดำผุดดำว่ายคูคลองเปื้อนมลภาวะหาของพอมีค่ารอบเขตแดน

มองภายนอกอาจเห็นเพียงความทรุดโทรมข้นแค้น ทว่า เบื้องหลังฟุ้งฝุ่นมอซอกลับซุกซ่อนธุรกิจขนาดย่อมหลากประเภทเอาไว้ ทั้งโรงงานภาชนะดินเผา โรงงานขนมปังแถว ไปจนถึงโรงงานรีไซเคิล ดาราวีส่งออกสินค้าหลายรายการสู่ตลาดการค้ามุมไบในฐานะศูนย์กลางการผลิตแนวหน้าแห่งหนึ่ง

ถัดจากดาราวีลงใต้ไม่กี่สถานีรถไฟ โดบิวัลลาห์ (Dhobi Wallah) ชายหนุ่มกำยำนักซักผ้าครึ่งหมื่นกำลังฟาดเสื้อผ้าบนแท่นหิน ภายในคอกปูนขนาดพอดีคน ตามวิถีซักผ้าอินเดียแท้อย่างขะมักเขม้น สมตำแหน่งพิกัดซักผ้ากลางแจ้งใหญ่สุดในโลก จาก Guinness World Records

เสื้อผ้านับหมื่นชิ้นส่งมายังโดบิกาต (Dhobi Ghat) ทุกวัน เริ่มต้นด้วยกระบวนการคัดแยก ชิ้นไหนมีคราบต้องขจัดออก ตัวไหนปนเปื้อน เช่น ผ้าปูเตียงชุ่มเลือดจากโรงพยาบาล ต้องต้มฆ่าเชื้อ ก่อนเปลี่ยนมือให้หนุ่มน้อยใหญ่ฟาดๆๆ จนสะอาดเอี่ยม

เพื่อประหยัดงบค่าตัวหนีบ เชือกป่านสองเส้นถูกขดเป็นเกลียวโครงสร้างดีเอ็นเอ ใช้เสียบชายผ้าคละสีตากบนดาดฟ้าเรียงรายพลิ้วไสว แห้งสนิทแล้วส่งต่อให้แผนกรีดจัดแจงยัดถ่านไม้คุกรุ่นลงอุดเตาเหล็กกล้า ต้นแบบเตารีดสมัยใหม่ จากนั้น บรรจงรีดอย่างพิถีพิถัน เตรียมส่งคืนลูกค้า

หยาดเหงื่อบนเรือนกล้ามจากการออกแรงทั้งวันของหนุ่มๆ เล่นเอาปาราวตีใจสั่นชั่วขณะ

ริมทะเลอาหรับเวลาเย็นย่ำ ลมทะเลซัดสาดดับไอร้อนบนชายหาดจาวปัตตี (Chowpatty Beach) หาดทรายหยาบแซมขยะประปราย แหล่งรวมพลยามว่างหลังเลิกงาน ถึงแม้พลังคลื่นจะรุนแรงตลอดปี แต่การวิ่งโล้น้ำกระเซ็นกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ก็บรรเทาความเหนื่อยล้าวุ่นวายของชีวิตคนเมืองได้หอมปากหอมคอ

ทางทิศเหนือของเมือง หาดหินริมถนนคาร์เตอร์ (Carter Road) มีบรรยากาศไม่ต่างกัน หนุ่มๆ นุ่งกางเกงในชิ้นเดียว เตะน้ำทะเลสีคล้ำกลิ่นคลุ้งเล่นกันเฮฮา ฟากหญิงสาวก็จับกลุ่มหัวเราะขำขันให้ความไร้เดียงสาของเพื่อนชาย

อีกวันของมุมไบกำลังจะจบลง…

ปาราวตีเฝ้ามองผู้คนรอบตัวปฏิสัมพันธ์กัน ขณะที่ท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนเฉดสี ฟ้าเป็นเหลือง เหลืองเป็นส้ม ส้มเป็นม่วง และถูกยึดครองด้วยสีดำในที่สุด อีกวันหนึ่งผ่านพ้นไปโดยไม่มีอะไรคืบหน้า แต่เมื่อวันใหม่เริ่มขึ้น ปาราวตีจะออกเดินทางอีกครั้ง

แล้วสักวัน ปาฯ จะได้กลับบ้านค่ะแม่!

  

การเดินทางตามรอยปาราวตีด้วยรถไฟ

  • Mannat: ลงสถานี Bandra
  • Chhatrapati Shivaji Terminus (CST): ลงที่สถานีชื่อเดียวกัน
  • Gateway of India: ลงสถานี Churchgate
  • Mani Bhavan Gandhi Museum: ลงสถานี Grant Road
  • High Street Pheonix: ลงสถานี Lower Parel
  • Dharavi: ลงสถานี Mahim Junction
  • Dhobi Ghat: ลงสถานี Mahalakshmi
  • Chowpatty Beach: ลงสถานี Charni Road
  • Carter Road Beach: ลงสถานี Bandra

 

*หมายเหตุ บางสถานที่ต้องนั่งแท็กซี่หรือเดินต่อ

Tags: , ,