หมากส้มมอหรือสมอไทยเป็นผลไม้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปได้ถึงสมัยพุทธกาล เป็นทั้งส่วนประกอบของอาหารและเครื่องยาตัวสำคัญของตำรายาไทย  กินได้ทั้งแบบสด แห้งหรือดองเก็บไว้ก็กินได้อร่อย ไม่คลายประโยชน์เลย

หมากส้มมอ ผลไม้สารพัดประโยชน์

หมากส้มมอหรือบักส้มมอที่คนอีสานรู้จัก เป็นผลไม้ป่าที่มีหลายชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คนเชียงใหม่เรียกม่าแน่ ใกล้ๆ กับแม่ฮ่องสอนที่เรียกว่าหมากแน่ะ ส่วนภาคกลางมีทั้งสมออัพยา และสมอไทย หมากส้มมอเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดียใต้ เนปาล จีน ศรีลังกา มาเลเซียและเวียดนาม ไต้หวัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia Chebuia Retz

ลูกหมากส้มมอที่ใช้กินเป็นผลวงรี มีเหลี่ยม กว้างยาวประมาณ 1 นิ้ว ผิวเกลี้ยง ตอนที่ยังอ่อนเป็นสีเขียวสด ตอนแก่จะเป็นสีเขียวออกเหลือง ตอนแห้งจะเป็นสีดำ ข้างในมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ดที่เมื่อแห้งแล้วจะเป็นสีดำ ลูกหมากส้มมอออกเป็นพวงจากช่อดอกสีขาวนวล ส่วนลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร มักอยู่ตามป่าเบญจพรรณ เต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามทุ่ง หมากส้มมอจัดเป็นผลไม้ในฤดูหนาว มันจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงถึงมิถุนายน และติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม เมื่อกินสด จะได้รสเปรี้ยวอมฝาด กินแล้วจะกระตุ้นให้น้ำลายไหล อยากอาหาร

นอกจากเป็นอาหารแล้ว เปลือกของต้นหมากส้มมอซึ่งมีสีน้ำตาลปนเทา สามารถนำมาใช้ย้อมผ้าซึ่งจะให้สีดำและสีเขียว โดยนำเปลือกมาต้มจนงวด แล้วใส่เส้นใยที่ต้องการย้อมลงไป จะได้สีดำแกมเขียว แต่ถ้าใส่ผ้าที่ย้อมครามลงไปจะได้สีเขียว

ที่มาภาพ: http://www.dnp.go.th

ผลเป็นยารักษาแทบทุกโรค

สิ่งที่ทำให้หมากส้มมอเป็นที่นิยมน่าจะเป็นประโยชน์ทางยาที่มีมากมาย จากการที่มีหลายรสชาติในตัวเอง ทั้งเปรี้ยว ฝาด หวาน ขม เพราะตามตำรายาไทย แต่ละรสของสมุนไพรจะบอกสรรพคุณทางยา จนถูกจัดให้เป็นราชาสมุนไพร ถึงกับมีการพูดกันว่า กินหมากส้มมออย่างเดียวเท่ากับกินสมุนไพรหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นยาระบายเมื่อกินผลสดตอนอ่อน ช่วยให้ขับถ่ายดีและแก้ริดสีดวงทวาร นำหมากส้มมอที่ยังอ่อนอยู่ 5-6 ลูกต้มกับน้ำ 1 ถ้วย เหยาะเกลือเล็กน้อย กินรวดเดียว หลังจาก 2 ชั่วโมงยาจะออกฤทธิ์ให้ขับถ่าย ในตัวมันเองยังสามารถช่วยสมานรักษาโรคท้องร่วงได้ด้วยเมื่อกินผลแก่ รวมถึงใช้เป็นยาสมานลำไส้อักเสบ

นอกจากนี้ยังแก้เจ็บคอได้ ด้วยการอมกลั้วในปาก รสเปรี้ยวของมันสามารถละลายเสมหะ แก้ไอและแก้กระหายน้ำ โดยเอาเนื้อหมากส้มมอตำผสมผสมเกลือและข่าแก่ให้แหละ แล้วอมทีละประมาณปลายนิ้วก้อย เก็บไว้ในตู้เย็น กินต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์อาการคันคอจะหายไป

ผลหมากส้มมอยังใช้ทารักษาแผลได้ด้วย เมื่อนำผลมาบดละเอียด แล้วเอาไปโรยบนแผลเรื้อรัง และยังสามารถนำไปผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ รากกระชายป่า เปลือกตะโกนา เปลือกมะคำไก่ หัวแห้วหมู รากต้นแจง ต้มกับน้ำ ใส่น้ำผึ้งลงไป กินทุกวันจะแก้ผิวที่เป็นกระได้

หมากส้มมอหรือสมอไทยยังเป็นผลไม้ที่เรียกกันว่าพุทธโอสถ เพราะในพระไตรปิฎกระบุไว้ว่าพระสงฆ์ฉันผลสมอไทยเป็นยาหลัก โดยใช้ผลสมอสดๆ ดองกับน้ำมูตรโคหรือไม่ก็ปัสสาวะของตน รักษาโรคหลายอย่างโดยเฉพาะโรคดีซ่าน ยังมีพระพุทธรูปปางฉันสมอด้วย ซึ่งเป็นปางที่พระพุทธเจ้าวางพระหัตถ์ขวาที่มีลูกสมอวางอยู่ไว้บนเข่า ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางบนตัก ในท่านั่งขัดสมาธิ มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว 49 วัน โดยที่ไม่ได้ฉันอาหาร ท้าวสักเทวราชจึงนำผลสมอซึ่งถือเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาถวาย พระพุทธเจ้าเสวยแล้วบ้วนพระโอษฐ์

ในตำราอายุรเวทของอินเดีย หมากส้มมอยังเป็นหนึ่งในผลไม้สามอย่างที่เรียกว่าตรีผลา ร่วมกับสมอเทศและมะขามป้อม ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ปรับธาตุในร่างกายในฤดูร้อนที่อาหารมักบูดง่าย จนทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้แปรปรวน  พิธีแต่งงานของชาวอินเดียในรัฐอัสสัม ครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวตัองมอบของขวัญเป็นผลไม้แห้งแบบพิเศษให้กับเจ้าสาว หนึ่งในนั้นคือ ลูกสมอหรือหมากส้มมอแห้ง ที่ปกติแล้วพวกเขาจะกินเฉพาะเวลาที่เป็นแผลในปากเท่านั้น

ที่มาภาพ: avithaifruit.blogspot.com

กินสดก็ดี ทำแกงก็ได้

หมากส้มมอกินได้หลายแบบ หากกัดผลสดทีละนิดจะได้รสเปรี้ยวอมฝาดนิดๆ ให้ดื่มน้ำตามจะได้รสหวานชุ่มคอ แล้วรสหวานก็กระจายไปทั่วปาก หรือแค่จิ้มเกลือกินเฉยๆ เหมือนกับกินมะม่วงดิบก็ได้ บางคนนิยมกินกับน้ำพริกกะปิ โดยจะทุบหมากส้มมอ นำไปแช่น้ำเกลือก่อน บางบ้านโขลกหมากส้มมอหยาบๆ คลุกกินกับพริกขี้หนูโขลก ใส่น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ได้หลายรสในคราวเดียวทั้งขม เผ็ด เค็ม และหวาน

คนอีสานจิ้มหมากส้มมอสดที่หั่นบางๆ กับแจ่วปลาร้าและปลาร้าบอง หรือบางบ้านก็จิ้มกินกับกุ้งหรือปลาจ่อมที่ทำมาจากกุ้งหรือปลาหมักกับเกลือและน้ำปลา ข้าวคั่ว หมักทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน

ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ซึ่งเป็นตำราอาหารเล่มแรกของไทย ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ก็ได้เขียนถึงวิธีการทำแกงคั่วสมอไทยไว้ด้วย เริ่มจากทำเครื่องพริกขิง โขลกส่วนผสมที่มีรากผักชี พริกไทย พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม ปลาย่าง ข่า เกลือ  แล้วนำมาใส่ลงไปในกะทิที่ผ่านการเคี่ยวจนเดือดแล้ว ใส่กุ้งสดลงไป เตรียมหมากส้มด้วยการฝานบางๆ ขยำกับเกลือจนหายขม แล้วเทลงหม้อ เติมน้ำตาลและน้ำปลา ต้มจนเดือด ก็กินได้แล้ว

การแช่อิ่มหรือดองช่วยยืดเวลาของหมากส้มมอต่อไปได้อีก สามารถเก็บเป็นยาสามัญประจำบ้านได้ในยามคับขัน แก้รสขมด้วยการแช่หมากส้มมอในน้ำข้าวที่ได้มาจากการหุงข้าว ผสมกับน้ำซาวข้าว ใส่เกลือลงไปนิดหน่อย ทิ้งไว้ 1 คืน เทออกแล้วแช่น้ำเกลือต่ออีก 2 คืน  ต้มให้น้ำสีเขียวๆ ออกหมด แกว่งด้วยน้ำสารส้ม หลังจากนั้นต้มน้ำเชื่อมใส่หมากส้มมอที่หายขมแล้วลงไปแช่ แช่ไว้ 5 วัน ก็เก็บไว้กินได้ 3-4 เดือน

อีกสูตรหนึ่งคือ ดองน้ำผึ้ง นำผลเรียงให้เต็มโหลแก้วแช่ในน้ำผึ้งจนท่วม ทิ้งไว้ 3 เดือน ก็กินได้ด้วยการตักน้ำผึ้ง 1 ช้อนชาละลายน้ำอุ่น กินบำรุงร่างกาย

อ้างอิง:

Fact Box

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ Local Alive ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักเสน่ห์ท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ และอาหาร ที่หายากแต่หาได้ในประเทศไทย

ในส่วนของ ‘หมากส้มมอ’ นี้ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของผลไม้เมืองหนองบัวลำภู ลองชมคลิปเที่ยวตลาดท้องถิ่นในจังหวัดหนองบัวลำภูได้ที่นี่เลย

Tags: , , , , ,