‘วัลลภิศร์’ ผู้เป็นสารพัดช่างและสารานุกรมเคลื่อนที่

อาจารย์จักรพันธุ์ ได้เขียนคำแนะนำคุณต๋องไว้ในหนังสือ ‘มวยเมืองสยาม’ ผลงานการเขียนของคุณต๋องที่ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารพลอยแกมเพชร และนำมารวมเล่มอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2547 ว่า

‘วัลลภิศร์ สดประเสริฐ หรือต๋อง เป็นผู้ที่มีความสามารถหลายๆ ด้าน รวมอยู่ในบุคคลคนเดียว และความสามารถในแต่ละด้านนั้น มิใช่อย่างพื้นๆ หากเป็นพิเศษ หรืออย่างชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว

‘ต๋องจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงออกแบบได้ตั้งแต่งานสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ๆ ไปจนงานออกแบบชิ้นเล็กๆ เช่น ส่วนหลังคาโบสถ์วัดเขาสุกิมที่จันทบุรี โรงและฉากหุ่นกระบอก ตาลปัตรสำคัญหลายอัน สัญลักษณ์และเครื่องหมายสถาบันอีกหลายชิ้น ฯลฯ

‘กระทั่งตัวอักษรสำหรับหน้าปกหนังสือ เช่นหนังสืออุปลมณี หนังสือหุ่นวังหน้า สูจิบัตรหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ และปกหนังสือ ‘มวยเมืองสยาม’ ทั้งตัวภาษาไทยและอังกฤษ

‘ต๋องพอใจที่จะทำงานช่างต่างๆ ทั้งช่างออกแบบ ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างหล่อ ช่างแกะ และช่างกลึง งานช่าง ทุกอย่างที่ทำ ต๋องจะทำอย่างละเอียดรอบคอบ ศึกษาค้นคว้าทดลองคิดค้นกลไกและวิธีการอยู่ช้านานอย่างมิรู้เบื่อหน่ายท้อ ถอย ทำงานช่างทุกอย่างด้วยความสนุกสนาน

‘งานจิตรกรรมประเพณี เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต๋องมีพลังฝีมือเป็นเลิศ ไม่มีใครเทียบ และไม่เหมือนใคร เป็นที่รู้กันในหมู่ช่างสาขานี้มานาน แต่ไม่เอิกเกริก

‘กระทั่งจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดตรีทศเทพวรวิหารที่ต๋องเป็นแม่กอง เป็นผู้วางองค์ประกอบทั้งหมด และร่างภาพสำคัญๆ ทั้งสิ้น เช่น ภาพพญาวสวัตตีมารกำลังน้าวศรในผนังมารผจญ และภาพพุทธนฤมิตในผนังยมกปาฏิหาริย์ ฯลฯ ที่ทำให้ผู้ที่ได้มาเห็นประจักษ์ในฝีมืออันอัศจรรย์ ที่ไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยออกสู่สาธารณชน มากเท่าไรนัก

‘นอกจากวิชาช่างสารพัดแล้ว ต๋องยังชอบที่จะศึกษาในศาสตร์อื่นๆ มีพุทธศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และ วรรณคดีมาแต่ไหนแต่ไร จึงมักจะเป็นสารานุกรมเคลื่อนที่สำหรับเพื่อนฝูง คนใกล้ชิดที่อยากจะรู้เรื่องราวเหล่านี้ เป็นที่รู้กันว่า ต้องมาถามต๋อง เช่นเดียวกับเรื่องดนตรีปี่พาทย์ ที่ต๋องเรียนอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งบัดนี้มิได้เลิกละ

‘อนึ่ง ศาสตร์ของการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทยๆ เช่นมวยไทย หรือศาสตราวุธต่างๆ ของไทยเรา เป็นวิชาหนึ่งที่ต๋องรักและสนใจศึกษามาตั้งแต่เด็กๆ ต๋องเคยเข้าแข่งฟันดาบสองมือในกีฬามหาวิทยาลัยสมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเรียนมวยไทยกับปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย

‘วิชาเหล่านี้ เกี่ยวเนื่องและปรากฏอยู่ในลีลาท่าทาง ความรู้สึก และความรู้ที่เป็นพื้นฐานอันแน่นแฟ้นในรูปเขียน และข้อเขียนของต๋อง โดยไม่ต้องจงใจเจตนาให้เด่นชัด แต่เจือเข้มอยู่ในเนื้องานของต๋องเองอยู่แล้วเป็นปรกติและธรรมดาที่สุด

‘ต๋องมีความสามารถในการเขียนร้อยแก้วและร้อยกรองได้เป็นอย่างดี งานร้อยกรองที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บทหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊กฯ บทหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย ลิลิตร่วมรบม่านที่ต๋องตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อสดุดีสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชโดยเฉพาะ….ฯลฯ

‘เรื่อง ‘มวยเมืองสยาม’ เป็นบทความร้อยแก้วที่เขียนติดต่อกันลงในนิตยสารรายปักษ์ ‘พลอยแกมเพชร’ อยู่นานพอ สมควร แม้คนที่ไม่ได้สนใจในการต่อสู้เลยสักนิด แต่เมื่อได้อ่านข้อเขียนของต๋องแล้ว มักติดใจและติดตามอ่านตอนต่อๆ ไป โดยไม่เบื่อ

‘หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือร้อยแก้วที่รวมเล่มเป็นเล่มแรกของต๋อง ตามคำเรียกร้องของบรรดานักอ่าน

‘เป็นที่น่าสังเกตว่า งานแทบทุกด้านและแทบทุกชิ้นของต๋อง ทำขึ้นเพื่อการจำเพาะกิจทั้งนั้น มิใช่ทำขึ้นมาลอยๆ แบบ ไม่มีสาเหตุ

‘ต๋องเขียน ‘มวยเมืองสยาม’ ขึ้นมา มิใช่เพื่อให้คนเป็นมวย หากเขียนขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือเพื่อให้คนรักชาติไทย รักศิลปะประจำชาติไทย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่า ในอุดมคติแบบไทย ที่ยึดถือความซื่อสัตย์ ความนอบน้อมถ่อมตน ความเจียมตน และความกตัญญูกตเวทีเป็นสำคัญ

‘ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วครบถ้วนในตัวต๋องทุกประการ’

คำแนะบทนี้สะท้อนถึงตัวตนของคุณต๋องได้อย่างครบถ้วนจากผู้ที่เขาเรียกว่า ‘อาจารย์’

 

ผลงานหนังสือของวัลลภิศร์ ทั้งเขียนเรื่องและวาดรูป

ผลงานหนังสือของวัลลภิศร์ ทั้งเขียนเรื่องและวาดรูป

‘อาจารย์จักรพันธ์ุ’ คือผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกอย่าง

วันนี้คุณต๋องวางมือจากการที่ต้องดูแลงานหลายๆ อย่างในมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต และการดูแลอาจารย์ มาพูดคุยกับเราเพิ่มเติม หลังจากที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนิทรรศการครั้งนี้ไปแล้ว คราวนี้เราขอให้เขาเล่าถึงความเป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ที่ผูกพันกันมาเนิ่นนาน

เส้นทางของทั้งสองมาบรรจบพบกันในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

“ผมอยู่กับอาจารย์มาตั้งแต่อายุ 23 ตอนนี้ 68 อายุผมอ่อนกว่าอาจารย์ 6 ปี เราเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันมา ตั้งแต่ ตอนที่ผมเรียนมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ซึ่งเมื่อก่อน ตอนที่สอบไม่ได้จิตรกรรมฯ ผมยังคิดว่าจะลาออกด้วยซ้ำไป แต่ถ้าลาออกตอนนั้นคงโง่ฉิบหาย เพราะจะไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์มาจนทุกวันนี้ พอมามองย้อนไปถึงรู้ว่า ครูบาอาจารย์เราอยู่ที่นี่ เป็นบุญของเราที่ได้มาเรียนคณะนี้”

เมื่อเรียนจบมัธยม 8 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส คุณต๋องอยากเรียนต่อด้านศิลปะ จึงเลือกมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแหล่งต่อยอดความรู้

“อาจารย์สอนวิชาศิลปะไทยที่คณะนี้ จริงๆ เป็นวิชาที่เรียนทั้ง 2 คณะ คือจิตรกรรมฯ กับมัณฑนศิลป์ ครูที่สอนวิชานี้ของคณะมัณฑนศิลป์ มีอาจารย์จักรพันธุ์แล้วก็อาจารย์อีก 2 คน คนหนึ่งคืออาจารย์เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ ส่วนทางจิตรกรรมมีอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ก็จริง แต่อาจารย์เฟื้อก็ไม่ค่อยได้สอนแล้ว

“อาจารย์เป็นคนที่ตรงต่อเวลาและรักในการสอนมาก สมัยนั้นจะได้ค่าสอนชั่วโมงละ 25 บาท วันหนึ่งมาสอน 3 ชั่วโมง ได้เงิน 75 บาท ก็ใช้เป็นค่าแท็กซี่กับใช้เลี้ยงข้าวลูกศิษย์ประจำ แต่ตลอดเวลาที่สอนหนังสือ อาจารย์ไม่เคยพลาดหรือขาดสอนแม้แต่ครั้งเดียว แล้วใครที่เป็นลูกศิษย์จะรู้ดีว่า อาจารย์ยังขึ้นชื่อในเรื่องความละเอียดของงาน และที่ลือเลื่องไม่แพ้กันก็คือความปากร้ายใจดี เลยไม่มีใครที่ไม่รักอาจารย์เลย”

ลูกศิษย์คณะมัณฑนศิลป์ที่เรียนกับอาจารย์จักรพันธุ์ ในช่วง พ.ศ. 2513-2516 จึงได้รับทั้งความรู้และความเมตตาจากอาจารย์เต็มที่

“อาจารย์จบคณะจิตรกรรมฯ ก็จริง แต่ไม่เคยไปสอนที่จิตรกรรมฯ เลย คือเขารู้ว่าอาจารย์เก่งวิชาเขียนภาพเหมือนคน แต่อาจารย์ไม่เคยได้สอนใคร ไม่เคยมีลูกศิษย์วิชานี้ มีหลายคนอยากเป็นแต่ก็ไม่ได้เป็น หรือแค่เป็นแบบไกลๆ แต่ถ้าใครได้รับการแนะจากอาจารย์หรือปูพื้นฐานให้แล้ว ผมว่าเราจะมีบุคลากรทางเขียนภาพเหมือนอีกเยอะเลย

“ผมเองก็ไม่ได้วิชานี้จากอาจารย์ เพราะพื้นฐานทางเขียนกายวิภาคของมัณฑนศิลป์จะเรียนไปทางใช้กับการสร้างเก้าอี้ ใช้คนละแบบ แล้วชั่วโมงเรียนสั้นกว่าของจิตรกรรมฯ ได้เรียนน้อยกว่า ความแม่นเลยจะไม่เท่า

“อีกอย่างผมก็ไม่ชอบด้วยแหละ คือไม่ชอบเขียนภาพเหมือนคน เพราะว่าที่ผมเรียนมายังไม่มีครูบาอาจารย์ที่พูดแล้ว มันสว่าง พอเรามาอยู่กับอาจารย์ ถึงเราจะไม่ได้เรียน แต่เราเห็นอาจารย์อธิบาย เราโป๊ะ เข้าใจทันทีเลยว่าเป็นยังไง เข้าใจว่า เราจะเขียนรูปคน เราก็ดูหน้า ตา จมูก ปาก ก่อน

“บางทีเราเห็นอาจารย์เขียนรูปอยู่บนเฟรม เวลาขึ้นรูปเขียนสีน้ำมัน อาจารย์จะขึ้นแบ็คกราวน์ก่อน เราก็สงสัยว่าทำไมอาจารย์ใช้วิธีนี้ จะว่าเป็นความแม่นของอาจารย์ก็ใช่ แต่จริงๆ มันคือพื้นฐาน ผมได้ยินอาจารย์สอนคนว่า เวลาสังเกตภาพเหมือน เมื่อดูโครงหน้าเขาแล้วให้ดูอากาศที่ตัดเส้นรอบของตัวเขาด้วย

“พออาจารย์พูดอย่างนี้เราเข้าใจได้ง่ายเลย เพราะอาจารย์สอนจากวิชาบวกประสบการณ์ คือพูดแล้วเราสว่างเลย ซึ่งไม่เคยมีใครพูดแบบนี้ น่าเสียดายที่ไม่มีสถาบันไหนให้อาจารย์สอนวิชานี้”

โต๊ะทำงานของอาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต

คุณต๋องเว้นระยะก่อนกล่าวต่อว่า “คือเราไม่ได้จะยกย่องครูบาอาจารย์เราเกินเหตุ แต่ผมดูแล้วในยุคนี้ ในโลกนี้ไม่มีใครเขียนพอร์เทรตได้เก่งเท่าอาจารย์ ผมว่าฝรั่งก็สู้ไม่ได้ แต่การที่อาจารย์ไม่เคยได้สอนใครเลย ผมว่าไม่ได้เป็นกรรมของอาจารย์นะ แต่เป็นกรรมของแผ่นดินที่ อุตส่าห์มีบุคลากรที่เก่งขนาดนี้เกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่สามารถสืบทอดไว้ได้ มาถึงตอนนี้ก็สายไปซะแล้ว อาจารย์สอนใครไม่ได้แล้ว

“แต่คิดอีกทีก็น่าจะเป็นบุญของแผ่นดิน เพราะหากอาจารย์เอาเวลาไปสอนก็อาจจะไม่มีงานพวกนี้เกิดขึ้นมาก็ได้”

‘งานพวกนี้’ ในความหมายของคุณต๋องคืองานหุ่นกระบอก ที่อาจารย์จักรพันธ์ุได้ริเริ่มและฟื้นการเล่นหุ่นกระบอกขึ้นมา โดยนำงานประณีตศิลป์ทุกแขนงมาใช้ในการทำงาน มีคุณต๋องเป็นแม่กองใหญ่ในหลายๆ ส่วน

“เหมือนปีที่เล่นหุ่นสามก๊ก ที่จริงตอนนั้นเราซ่อมหุ่นหลวงเสร็จ ปูนซีเมนต์ที่เป็นผู้สนับสนุน อยากให้เราทำหุ่นโรงชุดขึ้นมาชุดหนึ่ง ตอนแรกอาจารย์คิดทำชุดพรหมมาศ แต่พอเสนอไปแล้วไม่ผ่านอนุมัติ อาจารย์เลยมาทำสามก๊ก ซึ่งก็โชคดีเหมือนกัน เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดสามก๊ก ถ้าไม่เกิดสามก๊กก็ไม่เกิดตะเลงพ่ายเหมือนกัน”

จากบัณฑิตด้านการออกแบบ คุณต๋องได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งการเขียนหนังสือ เขียนรูป เล่นดนตรี รวมถึงงานช่าง ก็เพราะการส่งเสริมของอาจารย์จักรพันธ์ุ

“อาจารย์ให้วิชาผมมาทุกวิชา วิชาเขียนรูปน่ะได้จากอาจารย์โดยตรง โดยอ้อมก็มีวิชามวยที่ทำให้เรารู้จักอาจารย์เขตร์ ศรียาภัย วิชาดนตรีทำให้ผมรู้จักอาจารย์บุญยงค์-บุญยัง เกตุคง ได้เป็นลูกศิษย์ท่าน

“ตอนนี้ได้พิเศษอีกคือวิชาดูแลผู้ป่วย วิชาพยาบาล ที่ผมดูแลอาจารย์ทุกอย่าง จนทำได้คล่องหมดเลย

“ต้องนับเป็นบุญของผมที่ได้มาอยู่กับอาจารย์ อย่างน้อยก็มีกิน ได้วิชา ผมพูดเสมอว่าถ้าผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ ผมคงหมดบุญที่จะเป็นช่างเขียน เพราะเราสอบเข้าจิตรกรรมฯ ไม่ติด ไปติดมัณฑนศิลป์ แล้วเราไม่ได้เจอคนแบบอาจารย์ เป็นอาจารย์คนอื่นคงแค่สอนเรา พอผ่านก็จบไป หรือได้อาจารย์เก่งอย่างนี้ เราเรียนด้วยแต่จบไปแล้วไม่ได้มาทำอะไรกับอาจารย์ วิชาเราก็ไม่งอกเงย เราคงไม่มีโอกาสทำงานศิลปะต่อแน่ๆ

“อาจารย์เป็นคนที่ถ้าเห็นแววของเด็ก อาจารย์จะส่งเสริม อย่างผม ตอนที่มีประกวดแสตมป์ของไปรษณีย์ ผมปิดหู ปิดตา ไม่รู้เรื่องนะ พออาจารย์มาบอกว่า ‘เอ้า ต๋อง เขาจะประกวดแสตมป์ชุดมวยไทย ชอบมวยก็เขียนสิ’ ผมก็เขียนทั้งๆที่ยังไม่แม่นเท่าไหร่หรอกเรื่องเขียนคน แล้วพอส่งประกวดเราก็ได้รางวัล

“หรือตอนจบใหม่ๆ อยู่ๆ อาจารย์ก็บอกว่า ‘บัวหลวงเขาประกาศรับภาพส่งเข้าประกวด มีจิตรกรรมไทยด้วย ต๋องลองส่งประกวดสิ’ พอส่งไปก็ได้รางวัล ซึ่งการได้รางวัลบัวหลวงมีประโยชน์กับผมหลายอย่าง เพราะผมได้นำเงินไปซื้อพระไตรปิฎกมาศึกษา ทำให้มีวิชาความรู้เพิ่มขึ้น นำมาใช้ในการทำงานในเวลาต่อมา”

รางวัลเกียรติยศที่คุณต๋องได้รับจากการส่งผลงานเข้าประกวดคือ

พ.ศ.2516 รางวัลที่ 1 ออกแบบดวงตราไปรษณียากร ชุดมวยไทย ในงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย

พ.ศ.2517 รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมประเพณี ครั้งที่ 1 ของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ

“พอได้รางวัลบัวหลวงแล้ว ผมก็ว่างๆ งาน ไม่มีอะไรทำจริงจัง อาจารย์เลยจ้างผมเขียนฉากลับแล ความจริงฝีมือขนาด อาจารย์จะต้องจ้างผมทำไม แต่เพราะอาจารย์อยากให้เราได้ทำงาน มีเงินใช้

“แล้วอาจารย์เป็นคนที่เป็นครูตลอด เป็นคนสนับสนุนลูกศิษย์ทุกคนก็จริง แต่ถ้าเผื่ออาจารย์ดันแล้วเราไม่เอา มันก็หมด แต่บังเอิญเราเชื่อ และทำตามอาจารย์ชี้แนะเราก็เลยต่อยอดไปเรื่อย

“อย่างต้อย (ไชยรัตน์ ณ บางช้าง – มัณฑนากร) เป็นลูกศิษย์จากมัณฑนศิลป์เหมือนกัน ต้อยก็เข้ามาคุยกับอาจารย์ตลอด แต่อาจารย์จะไม่ให้เขานั่งอยู่เปล่าๆ จะคอยบอกช่วยขัดนี่หน่อยสิ ช่วยตัดกระดาษหน่อย คือคนที่มาหาอาจารย์ ถ้าเด็กกว่า หรือเป็นลูกศิษย์จะอยู่ว่างไม่ได้

“หรืออย่างแตน (ม.ล.อารชว วรวรรณ ศิลปินไทยที่เคยชนะรางวัลเหรียญทอง จากงานแสดงระดับชาติของฝรั่งเศส) เวลาเขากลับมาจากฝรั่งเศส พอเช้ามา เขาก็มากดออดที่บ้านนี้ทุกวัน อาจารย์บอกเหมือนแตนมาโรงเรียนประจำ อาจารย์ก็ให้มาช่วยอาจารย์ทำงาน แตนได้ช่วยทำชุดนางละเวงของหุ่น เขาปักเป็น ก็ทำได้ ชุดนั้นเลยเป็นชุดนางละเวงที่สวย เพราะแตนจะเอาลูกปัด เอาผ้าลูกไม้มาจากฝรั่งเศสมาใช้

“เพราะอาจารย์เป็นคนขยัน เลยไม่ชอบให้ใครนั่งเฉยๆ อย่างบางคนเวลานั่งรถไปต่างจังหวัดด้วยกันจะชอบนั่งตัวงอ ห่อไหล่ มองเหม่อ อาจารย์จะบอกว่านั่งรถก็หัดมองใบไม้ใบหญ้าข้างทางสิ ให้จำธรรมชาติเอาไว้ด้วย

“บางคนเขียนพอร์เทรตเขาก็อาจจะเขียนแต่พอร์เทรต แต่อย่างอาจารย์ ธรรมชาติก็ชอบ เวลานั่งรถอาจารย์จะนั่งดูวิว ดูข้างทาง พอไปถึงเมืองจันท์ทำบุญทำอะไรเสร็จ อาจารย์ก็จะออกไปตระเวน อาจารย์ถึงเป็นคนที่พร้อมหมด อาจารย์เข้าป่า อยู่กับธรรมชาติ ซอกซอนไปได้ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ชอบเดินป่า

“ผมเองเป็นคนชอบเที่ยวป่า พอผมเห็นรูปป่าที่อาจารย์เขียน ผมว่าอาจารย์เขียนป่าได้อารมณ์มาก มันไม่ได้มีแต่ต้นไม้กับภูเขา แต่มีบรรยากาศ มีหัวใจของความเป็นป่า มีความวังเวง อาจารย์ไม่ได้เขียนด้วยฝีมืออย่างเดียว แต่อาจารย์ เขียนด้วยแรงบันดาลใจ

“อย่างตอนนี้ที่อาจารย์ป่วยแล้วจะเขียนรูป เรามากำหนดเวลาให้เขียน อาจารย์ไม่เขียนนะ นั่งจนหมดชั่วโมงก็ไม่เขียน จะนั่งจับชอล์คนิ่ง พอถามอาจารย์ก็บอกว่า นึกไม่ออก มันยังไม่เกิดแรงบันดาลใจ ถ้าเกิดเมื่อไหร่ก็เขียนได้เลย

“อย่างสมัยก่อนใครนั่งคุยกันอาจารย์ก็เขียนภาพล้อออกมา โดยที่บางคนไม่รู้เลยว่าอาจารย์เขียนอยู่”

 

ภาพ portrait ของวัลลภิศร์ที่วาดโดยอาจารย์จักรพันธ์ุ

คุณต๋องสรุปความเป็นอาจารย์จักรพันธุ์ไว้สั้นๆ ว่า “คือผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกอย่าง”

“อาจารย์เป็นมนุษย์พิเศษ เขียนรูปได้ เขียนหนังสือได้ เชิดหุ่นได้ แต่ดนตรีเล่นไม่ได้ อาจารย์เคยพยายามหัด แม่เคยพยายามหัดเปียโนให้ ก็ไม่ได้ แต่รสนิยมทางดนตรีอาจารย์ดี สามารถฟังได้หมด วิจารณ์ได้หมดว่าอันนี้เพราะหรือไม่เพราะยังไง แล้วฟังได้หมดทั้งเพลงไทย เพลงสากล ชอบหมด

“ส่วนผมเล่นเครื่องปี่พาทย์ ฆ้องกับระนาดได้ เมาธ์ออร์แกนเป่าได้นิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับเก่งกาจอะไร

“ตอนเล่นหุ่นกระบอกพระอภัยมณี อาจารย์เป็นคนทำบท แล้วให้ผมทำแค่บทเกริ่น ให้มีร้องเป็นเพลงหุ่นเกริ่น จนเป็นลักษณประจำคณะ คืออาจารย์เล่นหุ่นเมื่อไหร่ก็ต้องมีเพลงหุ่นเพลงแรกที่ร้องเล่าเรื่องก่อนแล้วถึงจะเดินเข้าเรื่อง ครั้งที่สอง ที่สาม ก็เป็นอย่างนี้ ยกเว้น ‘นางลอย’ เพราะเป็นช่วงที่ผมไปบวช แล้วอาจารย์คิดทำขึ้น เพราะพี่วิ (วิสุตา สาณะเสน) มาชวน อาจารย์เลยไปปรึกษาคนนั้นคนนี้แล้วทำขึ้น

“อันที่จริงผมเป็นคนไม่ได้ชอบเล่นหุ่นเท่าไรนะ แถมยังจะคอยขัดคอยค้านอาจารย์อีกด้วย ตอนนั้นเราคงติดปฏิบัติธรรม เห็นเรื่องหุ่นเป็นการละเล่น พอเหลืออีกสัก 10 วันจะเล่นหุ่นนางลอยอยู่แล้ว ผมสึกมาพอดี เลยได้มาช่วยอาจารย์ปั้นหน้าหนุมาน ผมเลยกลายเป็นคนไม่ชอบเล่น แต่ชอบทำ แล้วได้ทำบททุกที

“ผมว่าแรกๆ ผมเล่นหุ่นเพราะอาจารย์ แต่ตั้งแต่สามก๊กมาอาจารย์เล่นหุ่นเพราะผม โดยเฉพาะตะเลงพ่าย ที่ทำให้อาจารย์กลับมาทำหุ่นอีกครั้ง คืออาจารย์เล่นสามก๊กมานานๆ ก็เบื่อ บอกไม่เอาแล้ว เราไม่อยากเล่นหุ่นแล้ว เลยหยุดไปพอควร จนกระทั่งวันหนึ่ง มาบอกผมว่า ‘ต๋อง เราอยากเล่นหุ่นอีก เอาเรื่องอะไรดีที่เร็วๆ หน่อย ไม่ต้องทำนาน’

“ผมก็แนะนำว่าทำสามก๊กอีกมั้ยอาจารย์ เรื่องจีนน่าจะทำได้เร็วกว่าละครที่มีชฎา ที่ไหนได้ สิบกว่าปีแล้วยังไม่เสร็จเลย ความจริงเครื่องละครกลับทำง่ายกว่า เพราะพิมพ์มันคล้ายๆ กันหมด แต่หุ่นจีนไม่เหมือนกันสักตัว แล้วไม่ใช่ศิลปะของเรา เราต้องไปศึกษาใหม่ ศึกษาเพิ่ม แต่เมื่อเหยียบไปแล้วก็ต้องทำไป”

 

ความคืบหน้าของหุ่นกระบอกเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’

คุณต๋องรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ของการแสดงหุ่นกระบอกตะเลงพ่าย ที่ทำตั้งแต่เขียนบท ทำหุ่น ทำฉาก ทำดนตรี งานช่างฝีมือ ทุกอย่างที่ทำให้การแสดงนี้สวยงาม

หลังจากบทตะเลงพ่ายเรียบร้อย บรรจุเพลงเสร็จ หุ่นสำคัญพร้อม ก็เริ่มมีการซ้อมเชิดหุ่นกับวงปี่พาทย์ทุกอาทิตย์ และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมการฝึกซ้อมที่จัดขึ้นที่บ้านของอาจารย์จักรพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งอาจารย์ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อปลายปี พ.ศ.2558 การซ้อมหุ่นจึงต้องพักไป และเกิดคำถามจากผู้ที่ชื่นชอบและติดตามการแสดงหุ่นของคณะนี้ว่า

“ชีวิตนี้จะได้ดูการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย ของคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต เต็มเรื่อง หรือเปล่า”

วันนี้ คุณต๋องตอบเต็มเสียงว่า “ต้องได้ดูแน่นอน”

“ตอนนี้เราซ้อมกันจบเรื่องแล้ว หุ่นตัวเอกก็พร้อม ทหาร เสื้อผ้า เครื่องธงมีหมดแล้ว แต่ทหารที่เอาออกมาเล่นตอนนี้มีแค่ฝ่ายละ 8 ตัวเท่านั้นเองเพราะที่ไม่มี ถ้าเต็มโรงจริงๆ จะมีฝั่งไทย 40 พม่า 50 นี่มีผ้าเป็นพับรออยู่ เมื่อเสร็จหมดจะมีหุ่น 200 กว่าตัว ตอนนี้มีอยู่ 140 ตัว ไม่รวมพวกพาหนะ เช่น ช้าง ม้า

“อย่างอาจารย์ป่วยก็มีข้อเสียเยอะ คือขาดผู้นำ ขาดคนเชิดที่ฝีมือดีที่สุด ใครที่เคยได้เห็นอาจารย์เชิดพระสุพรรณกัลยา แล้วจะรู้ว่าไม่มีใครเชิดได้สวยเท่า อย่างเด็กที่มาทำกายภาพให้อาจารย์เขาไม่เคยดู พอได้ดูวิดีโอที่บันทึกไว้ เขาบอกว่าขนลุก อาจารย์เชิดได้สวยมาก ผมอธิษฐานทุกวันให้อาจารย์ได้กลับมาเชิดหุ่นอีกครั้ง

“ส่วนข้อดีคือ พอหยุดซ้อมหุ่นที่ต้องทำทุกเดือน เราก็มีเวลามาทำงานช่างให้เดินไปข้างหน้า ทุกอย่างก็เริ่มขยับ เรามีคนทำงานหลักๆ ที่ทำได้หลายๆ อย่างอยู่สิบกว่าคน อยู่กันมาเป็นสิบปี ได้วิชาความรู้กันไป บางคนได้แต่งานช่าง บางคนก็ได้วิชาอื่นไปด้วย บางคนเป็นช่างเขียนอย่างเดียว งานปักไม่ได้ บางคนก็ได้ทั้งสองอย่าง

“ที่งานหุ่นไม่เดินหน้าหรือเดินได้ช้า เป็นเพราะคนทำทั้งหมดเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจารย์เองยังเคยปรารภเลยว่า ‘เราจะได้เล่นเมื่อไหร่ เรามัวแต่ซ้อมไม่มีเวลาทำต่อเลย’

“ปัญหาอีกเรื่องคือ สถานที่ทำงานก็ไม่มีเพราะที่ในบ้านเริ่มไม่พอ เรื่องนี้มีฉากเขียนขนาดใหญ่ 5 x 8 เมตรอยู่หลายฉาก ทำเป็นฉากนูนต่ำ ม่านปักอีกหลายผืน สีวิกา ฉากไม้ที่เป็นพระราชวังทั้งของไทยและพม่า ทั้งเครื่องประกอบฉากที่เสร็จแล้ว และกำลังสร้างอยู่ ส่วนคนเล่นยังไม่ห่วง เดี๋ยวจะเกณฑ์นักเรียนมาฝึก เราทำหนังสือไปขอจากโรงเรียนแถวนนท์แล้ว วันนั้นก็มาปฐมนิเทศไปครั้งหนึ่งแล้ว เรื่องคนที่จะเล่นไม่ใช่ปัญหา เราหัดได้

“เด็กทำเรื่องงานช่างเราก็มี ต่อไปถ้าพิพิธภัณฑ์ของมูลนิธิฯ สร้างเสร็จ เราจะต้องหาที่เขียนฉากช้างอีก 1 ฉากก็จะครบ เป็นม่านตอนปิด ตอนที่พระนเรศวรชนช้างเสร็จก็ปิดจบ คือจะตัดออกก็ได้ เพราะไม่อยู่ในการแสดง แต่คิดแล้วไม่ตัดดีกว่า”

พิพิธภัณฑ์ ‘จักรพันธ์ุ โปษยกฤต’

ปัจจุบันมูลนิธิฯ กำลังสร้างพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 58 เขตสายไหม กรุงเทพฯ ตั้งใจให้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาชน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้เข้าชมได้ภายในปี พ.ศ 2562

ที่นี่นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่รวบรวมศิลปวัตถุสำคัญของชาติไว้แล้ว ยังมีโรงละครสำหรับจัดแสดงหุ่นกระบอก ที่พร้อมด้วยระบบเวที แสง สี เสียง เต็มรูปแบบ และสมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศ ซึ่งในระหว่างช่วงเตรียมการนี้ ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดทำโครงการ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ’ ขึ้น โดยทำการปรับพื้นที่ซ้อมหุ่นกระบอก ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซอยเอกมัย เพื่อเป็นห้องจัดแสดงผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลงานของศิลปินแห่งชาติอย่างใกล้ชิด

“นิทรรศการหมุนเวียนครั้งแรกนี้ถือเป็นการขัดตาทัพ แล้วเป็นเหมือนงานทดลองก่อนเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วย เราจะได้ดูว่าตรงไหนมีปัญหา จะได้แก้ไข อย่างเวลาตั้งหุ่นแสดง จะไม่เหมือนรูปเขียนที่จัดใส่ตู้จัดไฟส่องผลงาน อย่างหุ่นกระบอกหากจัดไฟสูงก็เป็นเงา ซึ่งถ้าเป็นหุ่นละครไทยไม่เป็นไร เพราะชฎากับหุ่นมันเท่ากัน แต่ถ้าเป็นหุ่นที่หมวกมีปีกมันบังเป็นเงาหมด แล้วหุ่นตะเลงพ่ายนี่ใส่หมวกมีปีกหมด เลยเป็นเงาบังหน้าหมด ในการจัดแสดงเราเลยแก้ปัญหาด้วยการทำโคมไฟส่องหน้าหุ่น แล้วทำให้มีลวดลายอยู่ในเรื่องด้วย ก็คิดแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ”

นิทรรศการหมุนเวียนจะจัดแสดงครั้งละ 4 เดือน แล้วเปลี่ยนเป็นผลงานชุดใหม่ ทั้งภาพจิตรกรรม และงานหุ่นกระบอก ที่ยังมีอยู่อีกมากมาย

“พิพิธภัณฑ์ของเรามีเนื้อที่ 5 ไร่เศษ จัดเป็นเนื้อที่ของตัวอาคาร 1 ไร่ สร้างเป็น 2 ชั้นครึ่ง มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,000 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูงไว้จัดงานที่เกี่ยวกับศิลปะ ขึ้นมาชั้น 2 เป็นโรงละครขนาดใหญ่ สำหรับผู้ชม 310 ที่นั่ง ซึ่งขนาดของโรงละครนี่ทำเอาใจคนเล่นมากกว่าคนดู ให้คนเชิดมีพื้นที่วิ่งได้เต็มที่ เพดานสูง 7 เมตรสำหรับฉากใหญ่ของเรา

“พอขึ้นมาอีกชั้นจะเป็นพื้นที่สำหรับแสดงผลงานระดับมาสเตอร์พีซของอาจารย์ จะมีรูปเขียนกับหุ่นจัดแสดงเป็นหลัก ซึ่งเท่าที่ดู ไม่น่าจะพอสำหรับจัดแสดงทีเดียวหมด เพราะว่ารูปเขียนเยอะมาก หุ่นก็มีเยอะหลายร้อยตัว เลยคิดว่าคงต้องจัดเป็นการแสดงงานหมุนเวียนอย่างที่เรากำลังจัดอยู่ แต่จะแสดงได้คราวละมากชิ้นกว่าที่จัดที่บ้านตอนนี้”

ในการทำงานทุกอย่างของมูลนิธิฯ ทุนทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานนั้นเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น

‘พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย‘ ที่อาจารย์จักรพันธุ๋เป็นผู้ออกแบบ

“รายได้มูลนิธิฯ ตอนนี้บอกเลยว่าทุกอย่าง หลักๆ แล้วมาจากเงินประธาน คือ อาจารย์ อย่างการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นเงินของอาจารย์ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วทุนในการสร้างส่วนใหญ่ก็ได้อาศัยบารมี ‘พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย’ พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อาจารย์ออกแบบเพื่อใช้เป็นพระประธานในการแสดงหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่าย พระพุทธรูปองค์นี้ที่บันดาลให้เราสร้างขึ้นมา แล้วนิมนต์มาทำหาทุน ตอนนี้ก็ยังมีให้เช่า มีคนมาบูชาไม่ขาดเลย นอกจากนี้ก็มีหนังสือรวบรวมผลงาน รูปภาพผลงานของอาจารย์จำหน่ายด้วย

“ความจริงแล้วมูลนิธิฯ เราก็เปิดรับบริจาค แต่มูลนิธิฯ เรามีจุดบอดคือ เราไม่ได้นับการอนุมัติให้เป็นมูลนิธิสาธารณะ คือทุกอย่างครอบคลุมข้อกำหนดของการเป็นมูลนิธิหมด ต้องเสียภาษี 2 เปอร์เซ็นต์ สามารถรับบริจาคได้ แต่ใบอนุโมทนาของมูนิธิฯ นำไปหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ ก็ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ที่อยากสนับสนุนงานมูลนิธิของเรา ก็ทำไม่ได้ คือเราเคยยื่นขอไปแล้วแต่ไม่ผ่าน ก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่สำหรับบริษัทปูนซีเมนต์ ต้องบอกว่าเขาเมตตาเรามาก คือเขาไม่ได้อะไรเลย ได้แค่ชื่อเสียง หรือกสิกรที่เคยให้เงินทุนต่างๆ ในการทำงาน ก็ต้องขอบคุณเขาจริงๆ”

‘มีความหวังที่ไม่คาดหวัง คือพรสวรรค์ประจำตัวของอาจารย์’

ในวันเปิดนิทรรศการเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาพอาจารย์จักรพันธุ์ที่เคียงข้างด้วยคุณต๋อง และคุณพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก-ผู้เป็นศิษย์อีกท่านของอาจารย์ สร้างความสบายใจอย่างยิ่งให้กับทั้งลูกศิษย์ลูกหา ผู้ที่เคารพและติดตามผลงานของอาจารย์

“สุขภาพของอาจารย์ดีขึ้น คือตอนนี้อาจารย์ยังเจาะฟีดอาหารก็จริง แต่อาจารย์กินทางปากได้ดีเลย เพราะว่าได้ยา ได้น้ำจริงๆ รู้อย่างนี้คงทำตั้งแต่ครั้งแรก ตอนนั้นได้น้ำไม่เต็มที่เพราะโรคเส้นเลือดสมองตีบจะกินน้ำอย่างเราๆ ไม่ได้ จะสำลัก ต้องกินน้ำผสมสารตัวหนึ่ง พอผสมแล้วทำให้กลืนง่าย แต่ตัวมันเองก็ทำให้เกิดเสมหะเหมือนกัน แล้วเมื่อสะสมเสมหะก็ทำให้ กลายเป็นกลืนยาก ประกอบกับช่วงนั้นไม่ได้ให้กายภาพมาดูดเสมหะประจำ แต่ตอนนี้ให้ทำทุกเย็น

“อาจารย์กินได้ดี แล้วจะเลือกกินเฉพาะสิ่งที่ชอบ เพราะอาหารหลักจะได้จากอาหารที่ฟีดแล้ว พอเป็นพวกอาหารเสริม อาหารก็จะเลือกที่อาจารย์ชอบ อย่างบ๊ะจ่างนี่กินเป็นห่อๆ ถ้าไม่ชอบก็ไม่กินเลย ตอนนี้อาจารย์กินมื้อเดียว ที่เหลือก็กินผลไม้ ตอนหน้าทุเรียนนี่กินได้เยอะ เพราะกลายเป็นว่าทุเรียนกลืนง่าย เนื้อทุเรียนเป็นครีม แล้วไม่มีน้ำ ก็ไม่สำลัก มะม่วงสุกก็กินได้ แต่พวกเงาะ พวกส้ม ไม่ได้ จะทำให้สำลัก ตอนนี้พอไม่ต้องไปบีบคั้นให้อาจารย์กลืน ก็ลดอัตราความเสี่ยงที่จะสำลักลงได้ เพราะถ้าสำลักเข้าปอดแล้วจะยุ่ง คืออย่างอื่นไม่มีอะไรหรอก เรื่องนี้สำคัญ

“สรุปคือ อาการอาจารย์ดีขึ้นโดยลำดับ แต่อาจจะช้าหน่อย เราก็ต้องใจเย็น หมอบอกว่าจริงๆ อาจารย์เป็นน้อย เพราะเวลาพูด อาจารย์พูดชัด แต่บังเอิญเส้นที่ตีบมันเล็กก็จริงแต่เกิดไปโดนจุดสำคัญ ทำให้พูดไม่ถนัด เดินไม่สะดวก

“อาจารย์มีหงุดหงิดเหมือนกัน เพราะเคยทำอะไรได้เอง พักนี้จะไม่ค่อยคุย อย่างผมนั่งเฝ้า บางทีเป็นวันอาจารย์ก็ไม่พูดด้วยนะ จะเฉยๆ คุยด้วยก็เฉยๆ นอกจากมีเรื่องอะไรที่พิเศษ ถามไปอาจารย์ก็จะตอบ แต่ไม่มาก แต่ถ้าคนแปลกหน้ามา อาจารย์จะคุยด้วยจะทักสักคำสองคำ แต่พอเลยห้านาที คุ้นกันแล้วอาจารย์ก็จะไม่คุยแล้ว จะนั่งฟัง

“คือมีแค่ร่างกายซีกขวาเท่านั้นที่ต้องฟื้นฟู ซึ่งอาจารย์ดูดีขึ้นเยอะ ตอนที่เข้าโรงพยาบาลใหม่ๆ ผมเป็นห่วงว่ากล้ามเนื้อ ตรงมือมันแฟบไป แต่พอกายภาพแล้วก็ดีขึ้น

“ตอนนี้อาจารย์มีนัดพบหมอ 2-3 เดือนครั้งหนึ่ง อยู่บ้านเราก็ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของอาจารย์กันเต็มที่ แต่อาจารย์ใช้คำว่า ‘แค่นั้น ไม่ห่วงอะไร’ ยอมรับว่าแรกๆ ที่อาจารย์ป่วยเรามีห่วงบ้าง แต่อาจารย์ก็ทำใจได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งใครที่รู้จัก จะรู้ว่าอาจารย์มีนิสัยประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ประจำตัวก็น่าจะได้ นั่นคือ มีความหวังที่ไม่ใช่ความหวัง เพราะในชีวิตอาจารย์ไม่คาดหวัง พูดได้เลยว่าไม่เคยคาดหวังอะไรเลย แต่จะทำอย่างเต็มที่ ทำปัจจุบัน คาดหวังกับปัจจุบัน”

(ที่มาภาพ: มูลนิธิจักรพันธุ๋ โปษยกฤต)

••••••

การพูดคุยครั้งนี้ เราได้ยินข่าวดีหลายข่าว ทั้งเรื่องสุขภาพของอาจารย์จักรพันธุ์ ความคืบหน้าของการสร้างพิพิธภัณฑ์ และความสำเร็จของการจัดนิทรรศการหมุนเวียนครั้งแรก

“มีคนมาดูนิทรรศการเยอะมาก โดยเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ เลยพลอยทำให้หนังสือและของที่ระลึกทั้งหลายขายดีด้วย”

แม้ว่าคุณต๋องต้องมีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้นหลายอย่าง แต่ก็พร้อมทั้งแรงกายแรงใจที่จะทำให้งานทุกอย่างที่อาจารย์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ริเริ่มไว้ เสร็จสมบูรณ์ และเป็นจริงในเร็ววัน

เพราะนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่อาจารย์และตัวเขาเองอยากเห็นที่สุด

Fact Box

ขอเชิญทุกท่านร่วมชมนิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ 1 ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เข้าชมนิทรรศการได้ทุกวัน (ไม่มีวันหยุด) ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น น. ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต (ตรงข้ามห้างฯ บิ๊กซี สาขาเอกมัย) เลขที่ 49/1 ถนนสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-392-7754 หรือ 087-332-5467

Tags: , ,