เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง
ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ. 2560)

หากย้อนกลับไป พ.ศ. 2499 ปีที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้คำขวัญวันเด็กในประเทศไทยเป็นปีแรก จวบจนถึงคำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2560 ‘เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง’ จากนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ‘ลุงตู่’ ของเด็กๆ

ประเทศไทยเคยมีคำขวัญวันเด็กมาแล้วทั้งหมด 59 คำขวัญ ที่ผู้นำในแต่ละยุคสมัยได้ฝากไว้ให้เด็กๆ

จากยุคเผด็จการ ประชาธิปไตยครึ่งใบและเบ่งบาน จวบจนวนเวียนมาถึงยุคเผด็จการอีกครั้ง เด็กในวันนั้นโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ความหวัง ความฝัน และอนาคตของชาติยังคงถูกฝากฝังให้เด็กๆ ผ่านคำขวัญ

คำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจหลงลืม แต่กลับมีเรื่องมากมายให้สังเกตและจดจำ

จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2499)

Photo: pantip.com

คำขวัญวันเด็กมาจากไหน?

ในงานค้นคว้าอิสระเรื่อง ‘คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย’ โดย บุญญาภา อักษรกาญจน์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2556 ได้ระบุว่า คำขวัญวันเด็กมีขึ้นในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2499 มีใจความว่า ‘จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม’

จะสังเกตว่า คำขวัญวันเด็กนี้ไม่มีคำว่า ‘เด็ก’ และรัฐบาลไม่ได้กล่าวถึงเด็กโดยตรง แต่เนื้อหาของคำขวัญนั้นสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับเด็กของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเด็กในเรื่องการศึกษาและจริยธรรม

สามัคคีคือพลัง
สัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ. 2517)

คำขวัญวันเด็กที่มีคำว่า ‘เด็ก’ ครั้งแรก

หลัง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้สำเร็จ (พ.ศ. 2500) จากนั้นคำขวัญวันเด็กได้เงียบหายไป 2 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งคำขวัญวันเด็กในยุคของ จอมพล สฤษดิ์ นี้เองที่เริ่มมีการใช้คำว่า ‘เด็ก’ ในคำขวัญครั้งแรก โดยคำขวัญวันเด็กในยุค จอมพล สฤษดิ์ จะมีลักษณะเฉพาะคือ คำขวัญวันเด็กจะมีคำขึ้นต้นเหมือนกันทุกปีว่า ‘ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า…’

ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด และรักชาติยิ่ง
จอมพล ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2511)

Photo: wikipedia.org

คำขวัญวันเด็กที่ยาวและสั้นที่สุด

‘สามัคคีคือพลัง’ คือคำขวัญวันเด็กในยุค สัญญา ธรรมศักดิ์ (พ.ศ. 2517) มีจำนวน 14 ตัวอักษร ซึ่งเป็นคำขวัญวันเด็กที่สั้นที่สุด

ขณะที่คำขวัญวันเด็กที่ยาวที่สุดเกิดขึ้นในยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2511) มีจำนวน 97 ตัวอักษร มีเนื้อความว่า ‘ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย มีความเฉลียวฉลาด และรักชาติยิ่ง’

คำขวัญวันเด็กเน้นด้านคุณธรรม การศึกษา แต่ห่างเหินจิตสาธารณะและสิ่งแวดล้อม

จากผลการวิเคราะห์เนื้อหาคำขวัญวันเด็ก ในงานค้นคว้าอิสระเรื่อง ‘คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย’ โดย บุญญาภา อักษรกาญจน์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2556 และจากการวิเคราะห์คำขวัญในช่วง พ.ศ. 2557-2560 เพิ่มเติมของผู้เขียนพบว่า นายกรัฐมนตรีนิยมใช้เนื้อหาในคำขวัญวันเด็กดังนี้

นายกรัฐมนตรีมีการใช้คำขวัญประเภทจริยธรรมทั้งหมด 50 คำขวัญ ในจำนวนนี้เน้นด้านคุณธรรมมากที่สุด 10 คำขวัญ และน้อยที่สุดคือ ด้านการมีจิตสาธารณะ เพียง 2 คำขวัญ

ขณะที่คำขวัญที่พบรองลงมาคือ คำขวัญด้านการศึกษา มี 20 คำขวัญ และคำขวัญที่พบน้อยที่สุดคือ คำขวัญประเภทส่งเสริมสิ่งแวดล้อม มีแค่ 2 คำขวัญ คือ ‘ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม’ และ ‘สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม’

ซึ่งทั้งสองคำขวัญข้างต้น เกิดขึ้นในยุคของ ชวน หลีกภัย

ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2503)

Photo: postjung.com

คำขวัญวันเด็กยุคเผด็จการทหารมักมีลักษณะเชิง ‘ออกคำสั่ง’

เมื่อวิเคราะห์ถึงรูปแบบและการใช้ภาษา โดยอ้างอิงจากงานค้นคว้าอิสระเรื่อง ‘คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย’ ฉบับดังกล่าวพบว่า คำขวัญวันเด็กที่มีลักษณะเป็นประโยคคำสั่ง ซึ่งเป็นประโยคที่ผู้พูดต้องการบังคับให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม อาทิ มีคำกริยา ‘จง’, ‘ต้อง’ และคำลงท้ายว่า ‘นะ’ ล้วนเป็นคำขวัญวันเด็กที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการรัฐบาลทหาร จอมพล ป. – จอมพล สฤษดิ์ – จอมพล ถนอม ช่วง พ.ศ. 2499-2507 เช่น

‘จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม’ – จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2499

‘ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด’ – จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ. 2503

‘ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ’ – จอมพล ถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2514

ผู้เขียนได้วิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่า คำขวัญในลักษณะประโยคคำสั่ง ยังมีการใช้ในยุคอื่นๆ เช่น

‘เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้’ คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2519 ยุคหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

หรือถ้านับย้อนหลัง จะพบการใช้ประโยคลักษณะนี้ครั้งล่าสุดในยุค พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ได้แก่

‘เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด’ พ.ศ. 2548 และ ‘อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด’ พ.ศ. 2549

รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2547)

Photo: nipponnews.net

4 ลักษณะร่วมคำขวัญวันเด็ก ที่เด็กชอบที่สุด

จากการสำรวจความพึงพอใจคำขวัญวันเด็กของเด็ก 100 คน ในงานค้นคว้าอิสระเรื่อง ‘คำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีไทย’ โดย บุญญาภา อักษรกาญจน์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาศิลปากร ปี 2556 พบว่า คำขวัญที่เด็กชอบส่วนใหญ่จะมีลักษณะ 4 ข้อ ต่อไปนี้

  1. เป็นคำขวัญมากกว่า 2 วรรค
  2. มีคำสัมผัสคล้องจอง
  3. มีเนื้อหามากกว่าหนึ่งประเภท
  4. เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางสังคม

เช่น ‘อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย’ คำขวัญวันเด็กของ จอมพล ถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นคำขวัญวันเด็กที่เด็กชอบมากที่สุด

หรือ ‘รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน’ ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2547 เป็นต้น

ขณะที่คำขวัญที่เด็กพึงพอใจน้อยที่สุด ส่วนมากจะเป็นคำขวัญของนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เนื่องจากมีลักษณะบังคับให้ทำ เป็นคำที่ไม่มีคำสัมผัส ไม่เป็นประชาธิปไตย มีจำนวนวรรคเพียง 2 วรรค และมีเนื้อหาเพียงประเภทเดียว เช่น ‘ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย’

ส่องคำขวัญวันเด็กยุค ‘ลุงตู่’

ไม่รู้ว่า นายกฯ ประยุทธ์ หรือ ‘ลุงตู่’ ของเด็กๆ ทำการบ้านเรื่อง ‘คำขวัญวันเด็ก’ หรือไม่ แต่ถ้าคิดจากเกณฑ์คำขวัญวันเด็กที่เด็กชอบทั้ง 4 ข้อ จากงานศึกษาอิสระข้างต้น ต้องยอมรับว่า คำขวัญวันเด็กจากลุงตู่ ได้แก่

‘ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต’ พ.ศ. 2558

‘เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต’ พ.ศ. 2559

‘เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง’ พ.ศ. 2560

ล้วนมีวรรคมากกว่า 2 วรรค มีสัมผัสคล้องจอง มีเนื้อหามากกว่าหนึ่งประเภท และเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางสังคม ซึ่งเข้าเกณฑ์คำขวัญวันเด็กที่เด็กพึงพอใจครบทุกข้อ

ถ้าหากไม่ทำการบ้านมา ก็ต้องยอมรับว่า นอกจาก ‘ลุงตู่’ จะมีความสามารถด้านการแต่งเพลงแล้ว

การแต่งคำขวัญวันเด็กก็ไม่เบา…

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

Tags: