หากเราลองดูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ก็จะเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านมักแอบเกลียดกันบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ก็แอบเหยียดกันอยู่เบาๆ ทั้งเพราะอยู่ใกล้กันเกินไปจนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งหรือความขัดแย้ง ออกทำนองลิ้นฟัน และเพราะลึกๆ แล้วมนุษย์ก็แอบต้องการรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น หากจะมีใครที่อยากเหยียด (ไม่ว่าจะมีเค้าความจริงหรือไม่) ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงก็น่าจะเป็นเป้าหมายที่ใกล้ตัวที่สุด

ความรู้สึกแบบนี้สะท้อนอยู่ในภาษาด้วย ตัวอย่างเช่นในภาษาไทย ยุคหนึ่งเคยมีคนใช้ชื่อประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง ในความหมายทำนองว่า “รสนิยมไม่ดี” เป็นต้น

ในโลกตะวันตกเอง แม้จะมีสำนวน Love thy neighbor (as thyself). พร่ำสอนให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนที่รักตนเอง แต่เอาเข้าจริงแล้วมีสำนวนที่สะท้อนความดูแคลนชาติอื่นเยอะมาก แม้ปัจจุบันจะรณรงค์พยายามให้เลิกใช้สำนวนเหล่านี้ แต่ก็ยังมีให้พบเห็นได้บ้าง

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าเรื่องไม่ค่อยจะดีในแต่ละด้าน ชาวอังกฤษและอเมริกันยกให้ชาติไหนกันบ้าง (แค่ดูก็พอนะครับ ไม่ต้องเอาไปใช้จริง เดี๋ยวจะโดนเขาด่าเอาได้)

มารยาทแย่

พอขึ้นชื่อเรื่องมารยาทไม่ค่อยจะงาม ไปไม่ลามาไม่ไหว้ ประเทศที่โดนเข้าไปเต็มๆ ก็คือ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็น frenemy ของอังกฤษตั้งแต่ไหนแต่ไร

ในภาษาอังกฤษมีสำนวน take French leave หมายถึง หายหัวไปดื้อๆ ปกติใช้กับงานเลี้ยงงานสังคมต่างๆ หมายถึง แอบหนีออกจากงานโดยไม่ไปลาเจ้าของงานหรือคนในงาน บ้างก็เจอในความหมายว่า โดดเรียนหรือโดดงาน เป็นสำนวนที่พบมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ว่ากันว่าสำนวนนี้มาจากการที่ชาวฝรั่งเศสในยุคนั้นมักชอบหายตัวจากงานต้อนรับต่างๆ โดยไม่ไปร่ำลาเจ้าภาพนั่นเอง นอกจาก take French leave แล้ว ก็ยังมีสำนวน French exit ด้วย ใช้ในความหมายเดียวกัน

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจก็คือ ฝรั่งเศสเองก็ไม่ยอมน้อยหน้า เรียกการไม่ร่ำลาแบบนี้ว่า filer à l’anglaise หมายถึง บ๊ายบายแบบคนอังกฤษ เป็นการแก้เผ็ด

ถ้าคิดว่าจะมีฝรั่งเศสประเทศเดียวที่โดนหางเลข คิดผิดนะครับ เพราะคนไอริชเองก็โดนด้วยเหมือนกัน ในภาษาอังกฤษมีสำนวน Irish goodbye ใช้ทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกัน หมายถึง หายตัวไปเฉยๆ โดยไม่บอกลา เช่นกัน แต่ใช้ได้กว้างกว่า take French leave เช่น หากเราแชทกับคนที่เราหมายปองกันทุกวัน แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งอีกเขาก็หายตัวไปดื้อๆ (หรือที่เรียกว่า ghosting) แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่า Irish goodbye ได้ ว่ากันว่ามาจากการที่คนไอริชดื่มหนัก เมาแอ๋จนไม่มีสติพอจะบอกลาดีๆ

ว่าด้วยเซ็กซ์

พอว่าด้วยเรื่องความโรแมนติก โลดโผนเรื่องเพศ และมักมากในกามแล้ว ชาวอังกฤษก็ยกให้กับชาวฝรั่งเศสตามเคย

ตัวอย่างที่ชัดสุดก็คือคำว่า French kiss (การจูบแบบใช้ลิ้น) ว่ากันว่า ทหารชาวอังกฤษและอเมริกันสมัยสงครามโลกเห็นนักรักชาวฝรั่งเศสจุมพิตดูดดื่มผาดโผนแบบนี้แล้ว เลยเก็บกลับไปใช้กับคนรักของตนในประเทศบ้านเกิดบ้าง ทำให้คำว่า French kiss เป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้นมา (ทั้งที่คนก็น่าจะจูบแบบนี้เป็นกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว)

อีกสำนวนหนึ่งคือ French letter ในภาษาอังกฤษแบบบริติช หมายถึง ถุงยาง เริ่มใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว ว่ากันว่าที่เรียกถุงยางแบบนี้ก็เพราะสมัยก่อนทำจากหนังแกะ พอแห้งแล้วมีลักษณะเป็นแผ่นบางกรอบคล้ายกระดาษเขียนจดหมาย แต่ก็ยังอุตส่าห์ไม่เรียกว่า letter เฉยๆ ต้องขอแว้งกัดชาวฝรั่งเศสสักนิดและเรียกว่า French letter

ส่วนโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศ ก็เคยเป็นที่รู้จักกันในนาม French disease เพราะภาพจำว่าคนฝรั่งเศสมีความสำส่อน แม้ชาวอิตาเลียนจะเป็นหัวโจกโยงโรคนี้กับชาวฝรั่งเศส แต่ชาวอังกฤษก็นำชื่อนี้มาใช้ตามโดยไม่ทักท้วงแต่อย่างใด

นอกจากชาวฝรั่งเศสแล้ว หวยก็ไปออกที่ชาวไอริชเช่นกัน ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Irish twins หมายถึง ลูกหัวปีท้ายปี สืบสาวที่มากลับไปได้ราวยุคศตวรรษที่ 19 เนื่องจากชาวไอริชส่วนมากเป็นชาวคาทอลิกและเชื่อว่าไม่ควรใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด ผลก็คือมีลูกดกมาก แม้จะมีฐานะยากจนแต่ก็ยังขยันมีลูก บางคนต้นปีเพิ่งคลอดไปคน ยังไม่ทันขึ้นปีใหม่ก็คลอดอีกคนแล้ว ทำให้เกิดสำนวน Irish twins นั่นเอง ทั้งนี้ สำนวนนี้ถือว่าแรงพอทีเดียว มีนัยยะว่ามีลูกมากทั้งที่ฐานะไม่ค่อยจะพร้อม

ตัวเหม็น

นอกจากเรื่องมารยาทและเซ็กซ์แล้ว ชาวอังกฤษก็ยังโยนเรื่องความซกมกให้ชาวฝรั่งเศสด้วย ในภาษาอังกฤษมีสำนวน take a French shower และ take a French bath หมายถึง การประโคมน้ำหอมเพื่อดับกลิ่นตัวแทนการอาบน้ำ มาจากความเชื่อที่ว่าชาวฝรั่งเศสชอบขี้เกียจอาบน้ำ ก็เลยฉีดน้ำหอมทาโคโลญเข้าสู้ หวังกลบกลิ่นตัวให้มิดนั่นเอง

ไว้ใจไม่ได้

พอเป็นเรื่องการโกง ภาษาอังกฤษก็มิวายขอเหยียดชาวบ้านสักนิด ในภาษาอังกฤษมีคำว่า gyp เป็นได้ทั้งนามและกริยา ถ้าใช้เป็นนามจะหมายถึง มิจฉาชีพ คนลวงโลก ส่วนถ้าใช้เป็นกริยาจะหมายถึง โกง ว่ากันว่าคำนี้มาจากคำว่า Gypsy หรือพวกยิปซี เป็นคำที่คนใช้เรียกกลุ่มคนโรมานี ซึ่งเป็นชนกลุ่มที่กระจายไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ในยุโรปและตอนเหนือของอินเดีย

ที่คนเหล่านี้ถูกเรียกว่ายิปซีก็เพราะในสมัยศตวรรษที่ 16 คนอังกฤษเข้าใจว่าชนกลุ่มนี้มาจากอิยิปต์ เลยเรียก Egyptian หรือ Egipcyan ไปๆ มาๆ จึงหดสั้นเหลือเพียง Gypsy

ส่วนที่ชาวยิปซีมาเกี่ยวกับการโกงได้ก็เพราะคนจำนวนมากมีภาพจำว่าชนกลุ่มนี้หากินด้วยการลักเล็กขโมยน้อย ไม่ก็ต้มตุ๋มคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่

อีกชาติที่โดนเรื่องไว้ใจไม่ได้ก็คือชาวเวลส์ ในภาษาอังกฤษมีกริยา welsh หมายถึง ชักดาบ ไม่จ่ายหนี้คืน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้) ส่วนที่มาที่ไปนั้น ทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าชาวเวลส์ไปทำอะไรผิดหรือโกงหนี้ใครเมื่อไรอย่างไร แต่ที่รู้ก็คือประสบความซวยถูกนำชื่อไปเป็นกริยาที่หมายถึง เบี้ยวหนี้ เสียแล้ว

ขี้เหนียว ขี้เมา เลวไปเสียทุกอย่าง

ในช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศอังกฤษและฮอลแลนด์ทำสงครามกันหลายสิบปี ดังนั้นในช่วงนี้ กระแสชาตินิยมจึงลุกโหมในประเทศอังกฤษ อะไรที่เกี่ยวกับชาวดัตช์ก็แลดูเลวทรามไปเสียหมดในสายตาชาวอังกฤษ นำไปสู่สำนวนความหมายเชิงลบมากมายที่โยงกับชาวดัตช์

สำนวนที่ทุกวันนี้เจอได้มากสุดน่าจะเป็น go Dutch หมายถึง หารค่าข้าวกัน ถ้าไม่หารเท่าจำนวนคนก็ต่างฝ่ายต่างจ่ายส่วนที่ตัวเองกินลงไป บางครั้งก็เรียกว่า Dutch treat มาจากที่คนสมัยนั้นมองว่าคนดัตช์เป็นคนขี้เหนียวแล้งน้ำใจ ลืมไปได้เลยว่าจะมาเลี้ยงข้าวให้กินฟรีๆ

นอกจากนั้นยังมีสำนวน Dutch courage หมายถึง หึกเฮิมเพราะดื่มเหล้า ว่ากันว่ามาจากสมัยสงคราม ชาวอังกฤษเห็นว่าทหารดัตช์หึกเฮิมในการกรำศึกหลังกรึ๊บจินลงไป เลยบอกว่าความกล้ามาจากเหล้านั่นเอง ทำนองว่าอันที่จริงแล้วชาวดัตช์ขี้ขลาดตาขาว

อีกสำนวนที่ผุดขึ้นมาจากกระแสเกลียดชาวดัตช์ก็คือ Dutch act เป็นสแลงที่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบแล้ว หมายถึง ฆ่าตัวตาย

ว่าด้วยของขวัญ

ชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาก็ไม่รอดพ้นอคติและการเหยียดเช่นกัน ในภาษาอังกฤษฝั่งอเมริกัน มีสำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการให้ของขวัญ คือ Indian giver หมายถึง คนที่ให้ของคนอื่นไป แล้วมาขอคืนภายหลัง สำนวนนี้เกิดในสมัยที่ชาวยุโรปไปลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกาช่วงราวศตวรรษที่ 17 ชนพื้นเมือง (หรือที่แต่ก่อนเรียกอินเดียนแดง) ให้ของแก่ผู้อพยพชาวยุโรปเพื่อเป็นการแลกของกัน ทำนองยื่นหมูยื่นแมว เมื่อให้ของไป เขาคงให้อะไรตอบแทนมาตามธรรมเนียม แต่ผู้อพยพชาวยุโรปเข้าใจว่าเป็นของขวัญให้เปล่า ปัญหาจึงเกิดเพราะชนพื้นเมืองรู้สึกว่าอีกฝั่งไม่ยอมให้ของแลกเปลี่ยนเป็นการตอบแทน จึงเรียกของที่ให้ไปคืน ชาวยุโรปที่ไปตั้งถิ่นฐานเลยเรียกคนที่เรียกของขวัญคืนแบบนี้ว่า Indian giver นั่นเอง

อีกสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับของขวัญเหมือนกันคือ Greek gift หมายถึง ของขวัญที่นำมาแต่ความทุกข์โศกฉิบหาย มาจากเรื่องอีเนียด (Aeneid) ของเวอร์จิล (Virgil) ในเรื่องกล่าวถึงมหากาพย์สงครามเมืองทรอย หลังฝ่ายกรีกรบกับเมืองทรอยอยู่ยาวนานถึง 10 ปี ชิงนางเฮเลนคืน ท้ายที่สุดฝั่งกรีกก็ทำทีเป็นยอมแพ้ ทิ้งม้าไม้ขนาดยักษ์ไว้หน้าประตูเมืองและบอกว่าเป็นเครื่องสักการะเทพีอธีนา แม้นักบวชชื่อ Laocoon พยายามเตือนทัพทรอยว่าม้าไม้นี้เป็นอุบาย ไม่ให้ไว้ใจชาวกรีกแม้จะนำของขวัญมาให้ก็ตาม (เป็นที่มาของสำนวน Beware of Greeks bearing gifts) แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ เข็นเข้าไปในประตูเมือง พอตกกลางคืน ทหารกรีกที่ซ่อนอยู่ในม้าไม้ก็ออกมาเปิดประตูเมืองจากด้านใน และตีเมืองทรอยแตกในที่สุด

ลูกอีช่างต่อ

ชาวยิวเป็นชนชาติที่ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องความตระหนี่ถี่เหนียว ต่อรองได้ก็ทำ เลยถูกนำไปใช้เป็นกริยาที่ความหมายไม่ค่อยจะดี คือ jew down หมายถึง ต่อราคาแหลก เช่น The cane was 500 baht, but that granny tried to jew me down to 50 baht. ก็จะหมายถึง ไม้เท้าราคา 500 อาม่าเล่นต่อแหลกจะเอา 50 บาท

 

 

บรรณานุกรม

  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Parker, Steve. Kill or Cure: An Illustrated History of Medicine. DK: New York, 2013.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , ,