เขาแทบไม่เป็นที่รู้จักในลำดับชั้นอำนาจของนาซี แต่ความจริงแล้วเขามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอำนาจของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ใครจะเข้าถึงตัวอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของเขา-หัวหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีไรช์-เสียก่อน กระทั่งในช่วงปีท้ายๆ ของอาณาจักรไรช์ จึงค่อยมีคนอื่นเข้ามาเป็นคนสำคัญของท่านผู้นำทดแทน
วันที่ 30 มกราคม 1933 เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจึงต้องการผู้ช่วยซึ่งคอยจัดการงานทุกสิ่งอย่างมาประดับไว้ตรงจุดศูนย์กลางของอำนาจ นั่นคือ สำนักนายกรัฐมนตรีไรช์
ฮิตเลอร์ต้องการคนระดับหัวหน้าที่เขาไว้วางใจได้ และที่สำคัญ ใครคนนั้นจะต้องมีความสามารถด้านบริหารจัดการ วิลเฮล์ม ฟริก (Wilhelm Frick) คนสนิทของเขาเสนอตัว ฮานส์-ไฮน์ริช ลัมเมอร์ส (Hans-Heinrich Lammers) ฮิตเลอร์ใช้เวลาชั่งใจไม่นานก่อนตอบตกลง
นับเป็นก้าวย่างที่น่าประหลาดใจ เพราะในเวลานั้น ลัมเมอร์สแทบไม่ได้อยู่ในสายตาของใคร อีกทั้งยังไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับฮิตเลอร์มาก่อน และไม่น่าจะโผล่ขึ้นมาเป็นคนสำคัญในระดับแถวหน้าของพรรคนาซี แต่มันก็เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด ลัมเมอร์สคือบุคคลที่ฮิตเลอร์กำลังมองหา…เขาเป็นคนนิ่งเงียบ มีประสิทธิภาพ และคล่องแคล่วเรื่องงานหลังบ้าน
จะว่าเขาไม่มีความทะเยอทะยาน เหมือนที่นักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์ไว้ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ฮานส์-ไฮน์ริช ลัมเมอร์ส เกิดเมื่อปี 1879 เริ่มเข้าทำงานในกระทรวงมหาดไทยในกรุงเบอร์ลินตั้งแต่ปี 1920 มีความเป็นชาตินิยมสูง จากเริ่มแรกที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชาติเยอรมัน (DNVP) ด้วยความที่มีแนวความคิดทางการเมืองแบบขวาจัด จึงเกิดความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาในยุคสาธารณรัฐไวมาร์
ปี 1931 ลัมเมอร์สเข้าร่วมพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือพรรคนาซี (NSDAP) เลขทะเบียนสมาชิก 1,010,355 เขาเป็นสมาชิกพรรคนาซีคนเดียวที่ได้รับตำแหน่งสำคัญในสำนักนายกรัฐมนตรีไรช์ และได้รับความไว้วางใจจากฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก
สำหรับลัมเมอร์สแล้ว อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เปรียบเสมือนกฎหมายและผู้ตรากฎหมาย ตั้งแต่ปี 1934 เขาปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้นำโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อสงสัยใดๆ
ธรรมชาติของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์คือ นอกจากจะไม่ใส่ใจทุ่มเทการจัดการงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับรัฐบาลแล้ว เขายังรู้สึกรำคาญใจกับมันด้วยซ้ำ เขาชอบที่จะปกครองด้วยความช่วยเหลือของบรรดา ‘ไพร่พลคนใกล้ชิด’ มากกว่า
กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฮิตเลอร์จะถูกส่งต่อให้รัฐมนตรี ไม่มีการแปรญัตติหรืออภิปรายในระบบรัฐสภาของอาณาจักรไรช์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไหน หรือผู้ใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย ต้องการเข้าพบเพื่อปรึกษาฮิตเลอร์ละก็ จะต้องผ่านด่านคนสำคัญ นั่นคือ ฮานส์-ไฮน์ริช ลัมเมอร์ส
ลัมเมอร์สกลายเป็นด่านหน้า ที่คอยเปิดทางเข้าถึงตัว ‘ผู้นำ’ ใครคนไหนไม่ติดต่อผ่านเขา คนนั้นก็ไม่มีโอกาสได้เข้าพบฮิตเลอร์ แม้กระทั่งบางเรื่องเขาก็ได้รับอำนาจจากฮิตเลอร์ให้ดำเนินการแทน เขาเปรียบเหมือนบุคคลที่ทุกคนควรให้การนับหน้าถือตา ตัวลัมเมอร์สเองก็มองตำแหน่งหน้าที่ของตนว่าได้เปรียบกว่าบรรดาคนระดับสูงของพรรคนาซี และพยายามใช้ความได้เปรียบนั้นค่อยๆ สร้างฐานอำนาจให้กับตนเอง เพราะเขารับรู้ข่าวสารทุกเรื่องที่ส่งผ่านถึงฮิตเลอร์
นอกจากชาตินิยมแล้ว ลัมเมอร์สยังเป็นพวกต่อต้านยิว และตำแหน่งหน้าที่ที่เขาได้รับก็เข้าทาง ในการผลักดันให้นโยบายการเมืองต่อต้านยิวของพรรคนาซีบรรลุผลตามเป้าหมาย มีหลายครั้งหลายกรณีที่ลัมเมอร์สเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรอบของกฎหมาย เช่น คิดหาเหตุผลสนับสนุนให้การสังหารหมู่ ‘บุคคลไม่สมประกอบ’ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีผลบังคับใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น ก่อนจะกลายเป็นที่มาของค่ายกักกันเพื่อส่งตัวคนพิการ คนไม่ปรับตัวเข้ากับสังคม หรือคนอ่อนแอ ไปสังหารด้วยวิธีการฉีดยาพิษหรือรมแก๊ส
ลัมเมอร์สเคยไปเยือนค่ายกักกันครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวคือในปี 1934 ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่มีเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิว กระทั่งในปี 1943 เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิวในค่ายกักกัน คนใกล้ชิดฮิตเลอร์ยังปฏิเสธว่าทั้งหมดเป็นเพียงข่าวลือ ระหว่างนั้นไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอส รับผิดชอบเรื่องนี้ ฮิมม์เลอร์อ้างคำสั่งของฮิตเลอร์ในการลำเลียงชาวยิว และขณะดำเนินการ “จะมีทั้งคนแก่ คนป่วย ที่อาจจะพลัดล้มหรือตายระหว่างทาง” ฮิมม์เลอร์เคยชี้แจงอย่างนั้น แม้กระทั่งหลังสงครามสิ้นสุด ลัมเมอร์สยังอ้างว่าเป็นข้อมูลโจมตีของฝ่ายพันธมิตร แถมพูดดีเข้าตัวด้วยว่า เขาช่วยชีวิตชาวยิวไว้ถึงสองแสนคน
ดาวของฮานส์-ไฮน์ริช ลัมเมอร์สเริ่มหรี่แสงในช่วงสงคราม เมื่อมีดาวเด่นดวงใหม่ปรากฏขึ้นมา นั่นคือ มาร์ติน บอร์มันน์ (Martin Bormann) ตำแหน่งเลขานุการของท่านผู้นำ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อฮิตเลอร์ จนกระทั่งได้รับมอบหมายภาระหน้าที่จัดระเบียบการเข้าพบฮิตเลอร์แทนลัมเมอร์ส อย่างที่ว่า เมื่อดาวของบอร์มันน์ฉายแสงพราวบนฟ้านาซี ดาวของลัมเมอร์สก็ค่อยๆ หรี่แสงลงเรื่อยๆ ท้ายที่สุดแล้วลัมเมอร์สยังถูกคู่แข่งเหยียบซ้ำ จนตัวเองหมดหนทางเข้าถึงหรือใกล้ชิดฮิตเลอร์ไป
ครั้งสุดท้ายที่ลัมเมอร์สพบเจอฮิตเลอร์คือวันที่ 24 กันยายน 1944 หลังจากนั้นอีกราวแปดเดือน อาณาจักรไรช์ที่สามก็ล่มสลาย
ช่วงวันที่เยอรมนีกำลังเข้าสู่ภาวะพ่ายแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ยังสั่งพลพรรคให้จับกุมตัวลัมเมอร์ส เพราะเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นหรือร่วมคบคิดกับแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring) นายทหารระดับจอมพลและผู้นำระดับสูงของพรรคนาซี ที่พยายามจะโค่นเขาและแช่งชิงอำนาจ
ลัมเมอร์สได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระโดยทหารอเมริกัน แต่ก็ถูกศาลตัดสินในเดือนเมษายน 1949 คดีอาชญากรรมสงคราม ให้ต้องโทษจำคุก 20 ปี ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ผ่อนผันโทษให้เบาลง ลัมเมอร์สพ้นโทษออกจากเรือนจำอีกครั้งในเดือนธันวาคม 1960
เมื่อครั้งขึ้นศาลที่นูเร็มเบิร์ก ฮานส์-ไฮน์ริช ลัมเมอร์สให้การปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ชาตินิยมหรือต่อต้านยิว และไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว อาจเพราะหลักฐานผูกมัดเขามีน้อย ทำให้ศาลเชื่อคำให้การของเขา และไม่ได้ตัดสินประหารชีวิตเขาเหมือนจำเลยคนสำคัญอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังพ้นโทษจำคุกออกมาเพียงสองปี ลัมเมอร์สก็เสียชีวิตบนเตียงนอนในห้องพัก ขณะมีอายุ 83 ปี
อ้างอิง:
- Volker Koop, Hans-Heinrich Lammers. Der Chef von Hitlers Reichskanzlei, Verlag J.H.W. Dietz Nachforschung (2017)
- https://www.vorwaerts.de/rezension/hans-heinrich-lammers-hitlers-manager