วันนี้ (21 กรกฎาคม 2025) จีนเริ่มสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทิเบต หวังเพิ่มแหล่งพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและ NGO กังวลว่า โครงการนี้อาจสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนพื้นเมือง รวมถึงประเทศข้างเคียงอย่างบังกลาเทศและอินเดีย
ในปี 2020 ทางการจีนเปิดตัวเมกะโปรเจกต์มูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5,500 ล้านบาท) คือเขื่อนยาร์ลุงซาร์โป (Yarlung Tsangpo) โดยโครงการนี้ได้รับการจับตามองในฐานะเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าเขื่อนสามผาถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในปัจจุบัน เบื้องต้นคาดว่า โครงการนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 5 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต และตอนล่างของแม่น้ำยาร์ลุงซาร์โป
ล่าสุด หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีจีน เปิดเผยความคืบหน้าผ่านสำนักข่าว Xinhua ว่า รัฐบาลริเริ่มโครงการดังกล่าวเรียบร้อย พร้อมเรียกเมกะโปรเจกต์นี้ว่า ‘โครงการแห่งศตวรรษ’ ขณะที่ย้ำว่า ทางการให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ตามรายงานของ Reuters และ BBC เขื่อนยาร์ลุงซาร์โปมีศักยภาพสร้างไฟฟ้าถึง 300 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ครอบคลุมทั้งภูมิภาคและทั่วประเทศ ถือเป็นแนวทางการลดการปล่อยพลังงานคาร์บอน ขณะที่ยังก่อให้เกิดการสร้างงานครั้งใหญ่ต่อประชากรในทิเบต ทว่าก็มีความท้าทายในการสร้างตามมา โดยเฉพาะภูมิประเทศของทิเบตที่ยากต่อการก่อสร้าง
แม้ทางการจีนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ผู้เชี่ยวชาญและ NGO ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการเขื่อนยักษ์นี้อาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อม โดย International Campaign for Tibet กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่า เขื่อนยาร์ลุงซาร์โปจะทำให้ชาวทิเบตนับล้านคนที่อาศัยบริเวณแม่น้ำ ได้รับผลกระทบในการทำมาหากิน และสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ราบสูงทิเบตจะได้รับความเสียหายอย่างถาวร เช่น การเจาะภูเขานัมชาบาร์วา (Namcha Barwa) ราว 20 กิโลเมตร เพื่อเปลี่ยนทางการไหลของแม่น้ำ
ขณะที่ประเทศปลายน้ำอย่างอินเดียและบังกลาเทศอาจเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ โดย Lowy Institute เปิดเผยรายงานในปี 2020 ว่า การสร้างเขื่อนของจีนจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียโดยตรง เพราะต้นน้ำของแม่น้ำพรหมบุตรในอินเดียคือแม่น้ำยาร์ลุงซังโบ ซึ่งไหลออกจากทิเบตลงสู่รัฐอรุณาจัลประเทศและรัฐอัสสัมของอินเดียจนไปถึงบังกลาเทศ
The Conversation วิเคราะห์ว่า หากมีการสร้างเขื่อนจริง เป็นไปได้ว่าตะกอนในแม่น้ำพรหมบุตรที่ก่อให้เกิดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะกักเก็บที่ต้นน้ำอย่างเดียว เป็นเหตุให้ผลผลิตการเกษตรคุณภาพเสื่อมลง จนอาจกระทบความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาค
อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญยังคาดว่า ที่ตั้งของเขื่อนอยู่เขตสุ่มเสี่ยง ซึ่งอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซียชนกัน เป็นไปได้ว่าอาจเกิดเหตุแผ่นดินไหว ดินถล่ม จนถึงวิกฤตน้ำท่วม หากเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างเขื่อนแตก
นอกจากนี้การก่อสร้างเขื่อนยังเกิดข้อพิพาททางกฎหมายตามมาว่า ประเทศใดเป็นเจ้าของแม่น้ำ หรือมีสิทธิใช้แม่น้ำร่วมกันมากน้อยแค่ไหน แล้วรัฐบาลจีนต้องรับผิดชอบต่อการก่อมลพิษบนแม่น้ำหรือไม่ โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนยืนยันว่ามีสิทธิชอบธรรมทางกฎหมายในการสร้างเขื่อน ขณะที่ยืนยันว่า ประเทศข้างเคียงจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้สร้างเขื่อนหลายแห่งในทิเบต โดยมีรายงานจาก BBC ว่า รัฐบาลได้กวาดล้าง ทำร้ายร่างกาย และคุมขังชนพื้นเมืองนับร้อยรายที่ต่อต้าน ขณะที่มีหลายฝ่ายเชื่อว่า ทางการอาจก่อสร้างเขื่อนยาร์ลุงซาร์โปมานานหลายปี แต่เพิ่งเปิดเผยในปี 2020 ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 รวมถึงกรอบเป้าหมายระยะยาวในปี 2035 ของพรรคคอมนิวนิสต์จีน
อ้างอิง
– https://www.bbc.com/news/articles/crmn127kmr4o
– https://thediplomat.com/2025/02/whats-driving-chinas-controversial-mega-dam-in-tibet/
Tags: Environment, จีน, อินเดีย, บังกลาเทศ, สิ่งแวดล้อม, ทิเบต, เขื่อน, สร้างเขื่อน