วันนี้ (7 กรกฎาคม 2568) Khmers Times สื่อท้องถิ่นของกัมพูชารายงานว่า ซำ มัป (Sum Map) โฆษกประจำกระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ของกัมพูชา กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทย ‘ชะลอ’ การส่งคืนโบราณวัตถุของกัมพูชากว่า 20 ชิ้น โดยอ้างว่า ประเทศไทยไม่มีงบประมาณสำหรับการจัดส่ง ซึ่งในประเด็นนี้ กัมพูชาพร้อมที่จะจ่ายค่าขนส่งที่เกี่ยวข้องให้
ซำ มัประบุว่า หลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าพบกับ ฮุน มาเนต (Hun Manet) นายกฯ กัมพูชา เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการพูดคุยถึงแผนการส่งคืนโบราณวัตถุ ซึ่งตามกำหนดการเดิม พิธีการส่งมอบจะเกิดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ที่กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม จากความขัดแย้งบริเวณชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ โฆษกประจำกระทรวงวัฒนธรรมของกัมพูชากล่าวว่า อาจส่งผลให้กำหนดการคืนส่งโบราณวัตถุล่าช้ากว่าเดิม
“การส่งคืนนั้นได้รับการตกลงกันไว้แล้ว แต่การส่งมอบอาจไม่เกิดขึ้นทันในวันที่กำหนดจึงอาจจะต้องเลื่อนออกไป แต่ทุกฝ่ายได้ตกลงกันไว้แล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพียงแต่ต้องรอให้สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยเสียก่อน” ซำ มัปกล่าว
ทั้งนี้โบราณวัตถุทั้ง 20 ชิ้นจะส่งตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (ด่านอรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว และนำไปจัดแสดงที่จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการของประเทศไทยถึงความคืบหน้าการส่งมอบ
ขณะที่ฝั่งของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การส่งมอบโบราณวัตถุ 20 ชิ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นกรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุที่นำเข้าผิดกฎหมายจากประเทศสิงคโปร์จำนวน 43 ชิ้น
ต่อมากรมศิลปากรได้ตรวจสอบและส่งคืนกัมพูชาตามข้อพิสูจน์ไปแล้ว 23 ชิ้น ขณะที่อีก 20 ชิ้นที่เหลือ ทางกัมพูชาได้ส่งเอกสาร พร้อมทั้งหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ต่อมากรมศิลปากรได้ข้อสรุปว่า 20 ชิ้นที่เหลือนั้นเป็นวัตถุโบราณที่มีต้นกำเนิดจากประเทศกัมพูชา จึงต้องส่งมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ
“เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว จึงไม่สมควรที่จะนำมาโจมตีกระทรวงวัฒนธรรม หรือสร้างความเข้าใจผิดทางการเมือง อีกทั้งยังมีวัตถุโบราณของไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ประเทศไทยก็ขอให้ส่งคืนไม่ว่าจะจากยุโรปและในประเทศอื่นๆ ก็ได้รับส่งคืนมาเป็นจำนวนมากเช่นกัน” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
จิรายุยังกล่าวต่อไปว่า ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับการใส่ร้ายดังกล่าว เพราะหากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้โบราณวัตถุของสยาม-ไทย ที่อยู่ในต่างแดนจำนวนมากไม่มีใครส่งให้ประเทศไทย สุดท้ายประเทศและคนไทยก็จะสูญเสียโบราณวัตถุสำคัญอีกจำนวนมากที่กำลังเรียกร้องขอให้นำส่งกลับประเทศไทยเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
– https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/98151
Tags: กัมพูชา, ไทย, โบราณวัตถุ, ส่งมอบ