แม้ว่าตัวแทนจากรัฐบาลไทยเดินทางไปพูดคุยกับเมียนมา ให้ควบคุมการทำเหมืองที่ตั้งอยู่บนลำน้ำกก ในรัฐฉาน แต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่า การทำเหมืองทั้งเหมืองทองและเหมืองแรร์เอิร์ธโดยกลุ่มทุนจีนจะยุติลง แม้แต่การจะขอข้อมูลว่า เหมืองแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำกกในเมียนมามีกระบวนการทำเหมืองที่คำนึงสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีกระบวนการอย่างไร รวมไปถึงแร่ชนิดใดที่บริษัทจีนกำลังตามหาในเหมืองแรร์เอิร์ธยังคงไม่ได้คำตอบ
กระนั้นถึงจะไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก และยังต้องพึ่งพาข้อมูลส่วนใหญ่จากภาคประชาชนและนักวิชาการด้านน้ำที่ยังมีข้อมูลจำกัด แต่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับเอ่ยถึงการสร้างเขื่อนดักตะกอนบนแม่น้ำกกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนที่จะไหลมาตามแม่น้ำกกจากเมียนมา ผ่านเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่-เชียงรายก่อนลงแม่น้ำโขง โดยให้กรมทรัพยากรน้ำออกแบบ
เมื่อยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเหมืองที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำกกในรัฐฉาน ก่อนที่แม่น้ำจะไหลเข้าสู่ประเทศไทยมีความเสี่ยงทำสารพิษใดปนเปื้อนมากับแม่น้ำบ้าง นอกจากจะทำให้แผนการสร้างเขื่อนของรัฐบาลอาจป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้แล้ว ยังทำให้ชะตากรรมของชาวบ้านลุ่มน้ำกกตกอยู่บนความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่าพวกเขาต้องป้องกันตัวเองจากอะไร
“ถ้าจะให้เราบอกได้ว่าผลกระทบของการทำเหมืองใกล้กับแม่น้ำกกในรัฐฉาน เมียนมา จะส่งผลกระทบอะไรกับไทยที่อยู่ท้ายน้ำบ้าง เราต้องรู้ก่อนว่า เหมืองข้างบนเขากำลังทำอะไร และทำเหมืองกันแบบไหน แต่สถานการณ์ในตอนนี้เรามีข้อมูลตรงนี้น้อยมากๆ” สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน ระบุ
การจัดการบนความ ‘ไม่รู้’
จากการพูดคุยกับสมพร ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน คือภาพถ่ายดาวเทียมเหนือแม่น้ำกกในรัฐฉานที่พบการเปิดหน้าดินเป็นลักษณะของการทำเหมืองทอง แต่สิ่งที่ไม่รู้เลยคือ การแยกทองคำออกจากหินหรือที่เรียกว่า ‘การแต่งแร่’ ใช้วิธีการใดที่อาจทำให้สารพิษปนเปื้อนหรือไม่
“การแต่งแร่ที่ประเทศไทยเคยทำคือใช้ไซยาไนด์มาจับทองแยกออกจากหิน แต่อีกวิธีที่อาจจะใช้ในประเทศอื่นคือการใช้ปรอท ซึ่งเป็นวิธีที่เก่า และเป็นตัวที่น่ากลัวมากที่สุด หากปรอทจากเหมืองปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำอาจเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร เช่น ในตัวปลา และเมื่อคนกินปลาที่มีปรอทเข้าไป ระบบประสาทอาจถูกทำลายได้
“ที่สำคัญคือผลกระทบกับเด็กทารกในท้องหญิงตั้งครรภ์ เพราะปรอทจะเดินทางไปตามรกของแม่เข้าไปสะสมในตัวอ่อน เมื่อคลอดแล้วอาจพบปัญหาความพิการ เช่น ตาบอดหรือมีปัญหาด้านระบบประสาท”
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน เล่าว่า เมื่อมีปรอทปนเปื้อนเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร แม้จะเป็นปริมาณที่เล็กน้อย แต่จุลินทรีย์จะทำให้ปรอทมีความเป็นพิษมากขึ้น ผลกระทบต่อร่างกายก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามการสะสมของปรอท ความอันตรายของสารโลหะหนักชนิดนี้เป็นที่มาของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (The Minamata Convention on Mercury) จัดทำขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อควบคุมการใช้สารปรอท หนึ่งในนั้นคือการควบคุมสารปรอทที่อาจถูกปลดปล่อยไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง โดยมีประเทศไทยร่วมเป็นภาคี
ส่วนการใช้ไซยาไนด์จับทอง สมพรชี้ว่า แรงงานในเหมืองมีโอกาสได้รับอันตรายจากสารดังกล่าวมากกว่า ซึ่งไซยาไนด์จะสลายตัวเมื่อสัมผัสแสงแดด จึงไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับสารปรอท
“แต่พอเราไม่รู้ว่าเหมืองข้างบนเขาทำอะไร ใช้สารเคมีอะไร ปริมาณเท่าไร มีกระบวนการทำเหมืองผิดวิธีเสี่ยงทำให้เกิดการปนเปื้อนหรือไม่ เราก็มองไม่ออกว่าจะจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร คนน้ำกกต้องเฝ้าระวังสารตัวไหน แล้วพอจะตรวจ ต้องตามหาสารอะไร เมื่อไม่รู้ก็ตรวจได้ไม่ครอบคลุมทุกสาร”
เมื่อต้องทำงานบนความไม่รู้ ภาครัฐจึงจัดการสถานการณ์แม่น้ำกกปนเปื้อนด้วยการ ‘คาดเดา’ ซึ่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนชี้ว่า นอกจากจะทำให้การตรวจการปนเปื้อน การหาวิธีป้องกัน และฟื้นฟูไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสูญเสียทรัพยกรไปโดยเปล่าประโยชน์โดยไร้ความชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
“ฉะนั้นข้อมูลจึงสำคัญที่สุด ทำให้เราสามารถปกป้องตัวเองจากปัญหาครั้งนี้ได้” สมพรระบุ
การใช้ชีวิตของชาวบ้านบนฐานของการ ‘เดา’
หาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน พูดคุยถึงปัญหาการจัดการของภาครัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดหาน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภคให้กับชาวบ้านที่ก่อนหน้านี้ใช้น้ำจากแม่น้ำกกในครัวเรือน แต่หลังจากพบการปนเปื้อนของสารหนูในแม่น้ำกก ภาครัฐได้สั่งให้ ‘งด’ การใช้น้ำ “แต่กลับไม่บอกว่าจะให้ชาวบ้านไปเอาน้ำจากที่ไหนมาใช้แทน”
ขณะเดียวกันชาวบ้านเกิดความกังวลกับอาหารที่มาจากแม่น้ำกกหรือแม่น้ำโขง ที่แม่น้ำกกไหลไปสมทบว่า อาจมีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจากเหมืองที่อยู่ต้นแม่น้ำ ทำให้การซื้อขายดำเนินไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มั่นใจว่า ปลาที่อยู่ในแม่น้ำกกยังคงกินได้อยู่หรือไม่
สมพรกล่าวถึงกรณีปลาติดเชื้อในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงโดยระบุว่า ตนได้สอบถามกับกรมประมงที่ได้นำปลาไปตรวจสอบและได้ข้อมูลว่า อาการเป็นตุ่มอักเสบตามลำตัวของปลาเกิดจากสภาพของแม่น้ำที่มีความเสื่อมโทรมจากการปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ปลาอ่อนแอและป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
“แต่คำถามที่หลายคนสงสัยอาจจะหมายถึงสารพิษที่อยู่ในตัวปลา เช่น สารหนู ปรอท ในส่วนนี้กรมประมงอยู่ระหว่างเก็บชิ้นส่วนของปลาไปตรวจสอบ”
สิ่งที่น่ากังวลนอกจากการสะสมของโลหะหนักในตัวปลา คือการสะสมในพืชผลการเกษตร สมพรระบุว่า หากเกษตรกรใช้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี เช่น สารหนู รดพืชผลทางการเกษตร สารจะกระจายปนเปื้อนบนหน้าดิน ปนเปื้อนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารหนูในน้ำที่สูบขึ้นมาใช้
“ผักแต่ละชนิดก็มีความสามารถในการสะสมสารโลหะหนักหรือสารหนูแตกต่างกัน อย่างเช่นพืชตระกูลข้าว รากของมันสามารถดูดสารหนูเข้าไปอยู่ในเมล็ดข้าวได้ หากเรากินเข้าไปก็จะรับสารหนูเข้าไปด้วย
“แต่ผักบางชนิดก็เอาสารหนูไปสะสมที่ลำต้นหรือใบ ถ้าเราไม่ได้กินตรงส่วนที่มีการสะสมของสารหนู โอกาสที่จะรับสารนี้เข้ามาในร่างกายก็จะน้อย ซึ่งตรงนี้ก็ยังต้องการรัฐเข้ามาให้ข้อมูลให้คนรู้เท่าทันว่าควรกินตรงไหนไม่รับสารพิษ”
ในปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่ริมกกยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจวัดสารโลหะหนักด้วยตัวเอง สมพรจึงชี้ว่า ควรมีการจัดสรรอุปกรณ์สำหรับตรวจหาการปนเปื้อนของสารโลหะหนักให้กับชาวบ้าน และสอนการใช้ให้ชาวบ้านตรวจหาการปนเปื้อนเอง ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้านเองแล้ว ภาครัฐสามารถนำข้อมูลการปนเปื้อนที่ชาวบ้านตรวจพบในหลายพื้นที่เป็นหลักฐานให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุติทำเหมืองลุ่มแม่น้ำกกได้
ทว่าในวันนี้สิ่งที่สมพรกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านริมกกเผชิญกับความไม่ชัดเจนเนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่า น้ำและอาหารที่มาจากแม่น้ำกกยังใช้ได้อยู่หรือไม่
“เราอยากทราบแผนของรัฐบาลทั้งการฟื้นฟู ผลการตรวจวัดสารปนเปื้อน อยากรู้ว่าอะไรที่ชาวบ้านทำได้และอะไรที่ชาวบ้านทำไม่ได้ เขาควรจะเข้ามาสร้างความมั่นใจกับประชาชนเพื่อให้เกิดความกระจ่าง” หาญณรงค์ระบุ
เขื่อนดักตะกอนที่สร้างโดยไร้ข้อมูลจริงอาจกันไม่ได้
สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ในปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีของแม่น้ำกกครั้งนี้ คือข่าวคราวของการ ‘สร้างเขื่อน’ เพื่อดักตะกอนจากเหมืองในรัฐฉานที่อาจไหลมาพร้อมกับการปนเปื้อนสารเคมี โดย ภูมิธรรมให้กรมการบินพลเรือนสำรวจพื้นที่ตั้งและให้กรมทรัพยากรน้ำ ออกแบบเขื่อนที่สามารถกรองสารพิษและดูดตะกอนได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบ
“การสร้างเขื่อนไม่สามารถหยุดการปนเปื้อนของสารหนูได้หรอก จะหยุดได้คือต้องไปห้ามเหมืองข้างบนแม่น้ำกกให้ยุติการทำเหมืองจึงจะไม่มีสารโลหะหนักถูกปล่อยลงมาซ้ำอีก ” หาญณรงค์ กล่าว
สอดคล้องกับสมพรที่มองว่าเขื่อน ‘ไม่ใช่คำตอบ’ และจะนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่
“ตั้งแต่จุดที่สร้างเขื่อนจะถูกเปลี่ยนระบบนิเวศ ในขณะที่เราไม่ได้หยุดแหล่งกำเนิดสารปนเปื้อนจากเหมืองข้างบน ตะกอนก็จะไหลลงมา ไทยก็จะต้องดูดดินที่ปนเปื้อนสารไหลมาจากเหมืองไปเก็บที่ไหนสักแห่ง”
ทั้งนี้เธอมองว่า การที่หน่วยงานรัฐต้องมาคอยดูดตะกอนที่ปนเปื้อนจากเหมืองไปไว้ที่ไหนสักแห่งเปรียบเสมือนการ ‘สร้างภูเขาลูกใหม่’ เนื่องจากเหมืองในรัฐฉานมีการเปิดหน้าดินในปริมาณมหาศาล ขณะเดียวกันหากจะใช้วิธีขุดหลุมฝังกลบอาจไม่ตอบโจทย์ภูมิประเทศของจังหวัดเชียงราย-เชียงใหม่ที่เป็นพื้นที่สูง มีที่ราบไม่มาก หากเกิดการชะล้างของน้ำฝน ก็อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน
“เขื่อนมันดักสารหนูไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติละลายในน้ำ แต่ก็อาจจะมีคนเห็นด้วยที่ต้องสร้างเขื่อนแล้วมาดูดตะกอนทุกปี เพราะงบประมาณที่จ่ายคือภาษีประชาชน เขาอาจจะเห็นด้วยเพราะได้เงินก็ได้”
การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ความไม่ชัดเจน ล้วนเกิดจากความไม่มีข้อมูลของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นริมแม่น้ำกกที่ชัดเจน และยิ่งนานวันก็ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ที่อยู่ริมแม่น้ำกก สิ่งสำคัญอีกประการของการไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดคือ การที่ภาคประชาชน เอกชน และภาครัฐ ไม่รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร ซึ่งอาจทำให้การหาทางออกในวิกฤตน้ำกกปนเปื้อนครั้งนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ
Tags: ทุนจีน, เมียนมา, เชียงราย, แม่น้ำกก, เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ, ปนเปื้อน, รัฐบาล, เหมืองแร่ทองคำ, เชียงใหม่, มลพิษทางน้ำ, แม่น้ำโขง, บริษัทจีน, สารเคมี