ผ่านมาแล้ว 1 เดือนที่ชาวบ้านริมแม่น้ำกกใช้ชีวิตอย่างหวาดผวา หลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) หรือ สคพ.1 ตรวจพบสารพิษอันตรายในระดับเกินค่ามาตรฐานมีทั้งแคดเมียม ตะกั่ว และสารหนู ปนเปื้อนมากับแม่น้ำกกที่ไหลมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา หลังจากมีประชาชนร้องเรียนว่า มีอาการแพ้และเกิดอาการระคายเคืองผิวหนังหลังลงเล่นน้ำในแม่น้ำกก
มีการคาดการณ์ว่า สารโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนูมีที่ สคพ.1 ตรวจพบ อาจมีที่มาจากการทำเหมืองทองคำและเหมืองแรร์เอิร์ธของบริษัทจีนใกล้กับแม่น้ำกก หรือแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ก่อนที่แม่น้ำสายนี้จะไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากกระบวนการขุดเหมือง โดยเฉพาะเหมืองทองจำเป็นต้องสกัดเอาสารหนูออกและนำไปทิ้งจึงอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่แม่น้ำกกซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน
ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ขณะที่ปลาในแม่น้ำกกมีตุ่มอักเสบขึ้นตามลำตัว คำถามคือ อะไรคือความน่ากังวลในตอนนี้ที่รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และหากละเลยจนวิกฤตยืดเยื้อจะมีปัญหาอะไรที่ ‘ใหญ่กว่า’ รออยู่หรือไม่
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ International Rivers ที่มีบ้านพักในจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ในช่วงฤดูฝนของไทยปีนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือ ‘โคลน’ จากเหมืองที่ถูกน้ำหลากซัดมาจะทำให้ชุมชนรอบแม่น้ำกกเจอวิกฤตซ้ำรอยมหาอุทกภัยเชียงรายเมื่อปี 2567
“ตอนนี้ไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เรากังวลว่า ถ้ามีฝนตกหนักอีกจะทำอย่างไร เพราะเหมืองที่อยู่ใกล้แม่น้ำกกในพม่าขุดเปิดหน้าดินไปเยอะมาก ซึ่งทำให้น้ำท่วมรอบต่อไปหนักกระทบหนักกว่าเดิมแน่ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสารปนเปื้อนอะไรใดๆ เลย
“แต่พอมันมีสารปนเปื้อน โคลนที่มีสารโลหะหนักเจือปนมาด้วย เราก็กังวลอีกว่า ถ้าเข้าไปในบ้านชาวบ้านจะทำอย่างไร ไหนจะตกค้างตามพืชผลการเกษตรกับสิ่งแวดล้อมอีก ยังไม่นับรวมปัญหาพวกโรคแปลกๆ ที่อาจจะเกิดกับชาวบ้านได้รับสารนี้สะสมไป 10-20 ปี”
แม้จะยังไม่มีสัญญาณในตอนนี้ว่าน้ำจะท่วม แต่การปนเปื้อนของสารหนูที่เกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ส่งผลกระทบกับประชาชนที่ต้องใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค บางส่วนต้องใช้น้ำจากภูเขาแทนจะสูบน้ำจากแม่น้ำกก ส่วนเกษตรกรก็ไม่สามารถที่จะใช้น้ำรดพืชผลทางการเกษตรได้
“หน่วยงานท้องถิ่นพยายามที่จะให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้แม่น้ำกกมากเท่าที่ทำได้ แต่เราก็ยังเห็นคนลงไปหาปลาอยู่ ชาวบ้านก็เล่าว่า เขาจำเป็นเพราะถ้าไม่หาปลาเขาก็ไม่รู้จะเอาอะไรกิน ทำแบบนี้มาทั้งชีวิตแล้ว มันน่าเศร้านะที่คนหาปลาต้องมาถูกสั่งว่าห้ามกินปลา เรื่องนี้มันต้องเยียวยาเขา เพราะเขาต้องกินต้องใช้”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ เร่งสำรวจข้อมูลและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ในเมียนมาเพื่อให้ปรับกระบวนการทำเหมือง
แต่แม้จะสั่งให้รวบรวมข้อมูล แต่ก็พบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากฝั่งประชาชน เช่น จากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ที่มีการเปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียมชี้พิกัดของเหมืองที่คาดว่า เป็นต้นตอปล่อยสารพิษออกมาเรื่อยๆ ส่วนการแก้ปัญหา เพียรพรชี้ว่า ผ่านมาครึ่งเดือนแล้วน้ำในแม่น้ำกกก็ยังคงขุ่น
“รัฐบาลเขาอาจจะเจรจาทางลับ หรืออาจทำบางสิ่งบางอย่างกับปัญหาแม่น้ำกกไปแล้ว แต่อย่างที่เห็น ผลลัพธ์คือวันนี้แม่น้ำกกก็ยังคงขุ่นอยู่ สะท้อนว่าปัญหายังไม่ได้รับแก้ไข และเหมืองก็ยังไม่ได้หยุดก่อมลพิษ”
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่พบภาพถ่ายดาวเทียมที่ยืนยันได้ว่า มีการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ 2 แห่งในเมืองยอน รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนไทย 25 กิโลเมตร และมีโอกาสที่สารเคมีจากการทำเหมืองจะไหลลงแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก ก่อนจะไหลเข้าอำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ เข้าสู่จังหวัดเชียงราย และลงสู่แม่น้ำโขง กระทบประชาชนกว่า 1 ล้านคนในรัฐฉานและจังหวัดภาคเหนือของไทย
มูลนิธิฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การทำเหมืองแรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา ทำให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการทำเหมือง ทั้งการใช้กรดซัลฟิวริกหรือแอมโมเนียมซัลเฟต ทำให้ที่ทำให้ดินถล่ม เกิดมลพิษตกค้างในผิวดินและน้ำ ทำให้สัตว์ป่าและสัตว์น้ำตาย มีสารพิษปนเปื้อนพืชผลทางการเกษตร และทำให้ประชาชนในชุมชนโดยรอบเจอปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคผิวหนังและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
“เคยได้ยินแต่แม่น้ำในประเทศอื่นปนเปื้อน แต่ไม่เคยคิดเลยว่า วันหนึ่งมันจะมาเกิดขึ้นกับแม่น้ำในบ้านเรา เราไม่อยากต่อว่ารัฐบาลเลย แต่ผลตรวจคุณภาพน้ำออกมาตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน และก็รู้อยู่แล้วว่า มันมีต้นตอมาจากการทำเหมืองเถื่อนบนแม่น้ำกก พวกคุณมัวทำอะไรอยู่ หรือหากทำแล้วช่วยบอกหน่อยว่าทำอะไรไปแล้ว”
ส่วนความเป็นไปได้ที่สารพิษในแม่น้ำกกจะไหลลงแม่น้ำโขงกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบนั้น เพียรพรระบุว่า มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กระแสน้ำและการตกตะกอนของสารพิษ
“ตอนนี้เรายังตอบไม่ได้ว่าสารนี้มันจะถูกพัดไปไกลขนาดไหน แต่ถ้ามันไหลลงแม่น้ำโขงจริง ปัญหามันจะใหญ่กว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมาก ที่แน่ๆ ตอนนี้เราพบแล้วว่า มีการทำเหมืองอย่างน้อยๆ ใน 3 แม่น้ำคือ แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ซึ่งอยู่ในรัฐฉานทั้งหมด ทั้งยังมีการทำเหมืองนอกจากเหมืองทอง เช่น เหมืองแร่แรร์เอิร์ธที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของจีน การที่สารพิษจะไปปนเปื้อนในแม่น้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขงจึงเป็นไปได้มาก”
เรื่องยิ่งซับซ้อนและยากเข้าไปอีก เมื่อพื้นที่ของเหมืองอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มอิทธิพลว้าแดงในรัฐฉาน ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ทุนจีนมาทำสัมปทาน
ประเด็นนี้เพียรพรชี้ว่า ต้องเริ่มจากการที่รัฐบาลยอมรับก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการทำเหมืองเถื่อนที่ไม่มีการกำกับด้วยกฎหมายอย่างถูกต้อง จากนั้นจึงใช้มาตรการเช่นที่ใช้กับการกำจัดแก๊งคอลเซนเตอร์ริมชายแดนไทย อย่างการตัดน้ำ ตัดไฟ และตัดอินเทอร์เน็ต แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นการกดดันด้วยมาตรการทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ
แต่แม้ว่าการเจรจาและใช้มาตรการของรัฐบาลไทยจะได้ผลทันทีในวันพรุ่งนี้ แต่ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ International Rivers ก็มองว่า การฟื้นฟูยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ต้องมีการสำรวจและตรวจวัดการปนเปื้อนไม่ใช่แค่ในสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำเท่านั้น แต่ต้องตรวจสารปนเปื้อนในร่างกายของประชาชนด้วย
อ้างอิง
Tags: แม่น้ำกก, แม่น้ำสาย, เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ, ปนเปื้อน, มลพิษ, พม่า, เหมืองทอง, สารพิษ, แม่น้ำ