“เด็กชักค่ะ” แม่อุ้มลูกวัย 2 ขวบเข้ามาในห้องฉุกเฉินด้วยความตื่นตกใจ ระหว่างที่ผมกำลังเขียนใบส่งตัวคนไข้ฉุกเฉินอยู่
วันนั้นเป็นวันที่แปลก ตรงที่ช่วงหัวค่ำห้องฉุกเฉินเงียบสงบมาก จนกระทั่งเวลา 5 ทุ่ม ใกล้ผลัดเปลี่ยนเวรพยาบาล เป็นเวลาที่พี่พยาบาลเวรดึกที่ขึ้นชื่อว่า ‘ดวงเยิน’ ที่สุดกำลังจะมาขึ้นเวรเท่านั้น คนไข้หนักก็ถูกเข็นเข้ามาต่อเนื่องทีละคนๆ
สองรายแรกเป็นคนไข้ขี่มอเตอร์ไซค์ชนกัน รายต่อมาเป็นเด็กหอบ พยาบาลจัดการพ่นยาขยายหลอดลมให้ก่อน ส่วนคนที่ผมเพิ่งตรวจเสร็จแล้วมานั่งเขียนใบส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัดอยู่ เป็นคนไข้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่กำลังจะคลอด
“น้องเป็นไข้มาใช่มั้ย” พยาบาลตะโกนถามห่างๆ เพราะทุกคนยังง่วนอยู่กับคนไข้รายก่อนหน้านี้
“ค่ะ” น้ำเสียงของแม่ยังไม่หายกังวล
ผมเงยหน้าขึ้นมา สังเกตเป็นอย่างแรกว่า เด็กที่แม่อุ้มเข้ามา “กำลังชักอยู่หรือไม่?” เพราะถ้าเด็กไม่ได้กำลังชักอยู่หรือหยุดชักแล้ว ระดับความฉุกเฉินจะเปลี่ยนจากระดับวิกฤติ (สีแดง) เป็นระดับเร่งด่วน (สีเหลือง)
ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะชักจากไข้พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 5 ขวบ กลไกการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สัมพันธ์กับระบบประสาทที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ร่วมกับมีประวัติคนในครอบครัวเคยชักจากไข้มาก่อน โดยภาวะนี้จะไม่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว และไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคลมชักในอนาคต ยิ่งถ้าหยุดชักแล้วก็ยิ่งอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ เด็กคนนี้ลืมตารู้ตัวเหมือนเด็กปกติ
เหลือเพียงแต่ว่า “เด็กยังมีไข้อยู่หรือไม่?” เท่านั้น
“มีไข้ 38.5 (องศาเซลเซียส)” พยาบาลคนที่พอจะผละงานตรงหน้าได้ เข้าไปวัดไข้ให้เด็กก่อน เพราะถ้ายังมีไข้ก็จะต้องให้เด็กกินยาลดไข้ และเช็ดตัวจนกว่าไข้จะลดลงเพื่อไม่ให้เกิดภาวะชักซ้ำ
ยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดคือยาพาราเซตามอล ซึ่งสามารถกินซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนปริมาณว่าต้องกินกี่หยดหรือกี่ช้อนชาขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของยาในน้ำเชื่อมที่แตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ โดยคำนวณจากขนาดแต่ละครั้งเท่ากับ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
ยกตัวอย่าง เด็กที่มีน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม ต้องกินยา 10 x (10 ถึง 15) = 100 – 150 มิลลิกรัม
ในขณะที่ยาพาราเซตามอลในโรงพยาบาลผม มีความเข้มข้น 120 มิลลิกรัม/1 ช้อนชา
ดังนั้นเด็กคนนี้จะต้องกินยาครั้งละประมาณ 1 ช้อนชา เป็นต้น
“กินยาลดไข้มาล่าสุดตอนกี่โมง” พยาบาลคนเดิมถาม ได้ความว่าแม่เพิ่งเด็กกินยาลดไข้มา การรักษาจึงเหลือแค่การเช็ดตัว “ช่วยตามเปลหน่อยค่ะ”
ว่าแล้วพนักงานเปลก็เข็นเปลเปล่าเข้ามาไว้วางเด็ก ซึ่งจะจับเด็กนอน นั่ง หรือยืนก็ได้ แต่เพื่อให้สะดวกกับผู้ใหญ่เอง จะได้ยืนเช็ดตัวได้สะดวก
ส่วนอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ ได้แก่ กะละมังใส่น้ำก๊อก (น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่น) และผ้าขนหนู จากนั้นพยาบาลก็จะสอนเช็ดตัว
ขั้นตอนที่สำคัญคือควรถอดเสื้อผ้าออกให้หมด แล้วเช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน จากส่วนปลายเข้าหาส่วนกลางลำตัว เช่น จากปลายแขนเข้าหารักแร้ เพื่อระบายความร้อน
เช็ดตัวจนรู้สึกว่าตัวเด็กเย็นลงแล้วก็วัดไข้ซ้ำ ถ้าเป็นไปได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเล็กควรมีปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้ ซึ่งซื้อได้จากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป
“ไข้เหลือ 37.5” ต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียสถือว่าไม่มีไข้ แต่ ‘ไข้’ ในที่นี้หมายถึง ‘อุณหภูมิ’ ร่างกาย เช่นเดียวกับคำว่า ‘ปรอท’ ไม่ได้หมายถึงสารปรอทจริงๆ แต่คือ ‘เทอร์โมมิเตอร์’ วัดอุณหภูมิที่บางชนิดบรรจุปรอทอยู่ภายใน เมื่อเด็กปลอดภัยแล้วจึงถึงคิวหมอเข้าไปซักประวัติและตรวจร่างกาย
แต่ถ้าไข้ยังไม่ลด ผู้ปกครองก็ต้องเช็ดตัวเด็กซ้ำใหม่อีกครั้ง
ส่วนขณะที่เด็กชัก ผู้ปกครองควรตั้งสติ จับเด็กให้ปลอดภัย ระวังไม่ให้เด็กตกจากที่สูง ให้นอนในท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลักจนกว่าเด็กจะหยุดชัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกินเวลาไม่เกิน 5 นาที
ที่สำคัญไม่ใช้ช้อนหรือของแข็งงัดปาก ซึ่งอาจจะเคยได้ยินคนพูดต่อๆ กันมา หรือมีละครเรื่องใดในอดีตที่ทำให้คนเข้าใจผิด รวมถึงผมเองตอนก่อนที่จะเข้ามาเรียนหมอด้วย หรือเป็นไปได้ว่าตอนที่ชัก เด็กจะดูเหมือนว่ากำลังกัดลิ้นตัวเองอยู่ เพราะเว็บไซต์ทางการแพทย์อเมริกาก็เขียนเตือนเรื่องนี้เหมือนกัน
ในระหว่างนั้นให้สังเกตเด็กว่า ลักษณะอาการชักของเด็กเป็นอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่หมอต้องถามเพื่อให้การวินิจฉัย
“เด็กชักอย่างไรครับ?”
“แขนขาเกร็งหรือกระตุก?”
“ข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง?”
“ตากระตุกด้วยไหม?”
“เป็นอยู่นานแค่ไหน?”
“มีปัสสาวะหรืออุจจาระราดหรือเปล่า?”
“หลังหยุดชัก เด็กเป็นอย่างไร?”
คำถามเหล่านี้จะประเดประดังเข้ามาเป็นชุดราวกับอาฟเตอร์ช็อก ท่ามกลางความตระหนกตกใจตั้งแต่หนแรกที่ลูกชัก พ่อแม่บางคนอาจไม่พร้อมที่จะตอบ แต่ทุกคำถามช่วยประกอบการตัดสินใจของหมอ หมอส่วนใหญ่จึงคาดคั้นเอาคำตอบให้จนได้
ดังนั้นถ้าคำถามไหนผู้ปกครองไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็ควรตอบไปตามตรง และทางที่ดี ควรให้คนที่อยู่กับเด็กตอนที่กำลังชักอยู่มาโรงพยาบาลด้วยเป็นคนตอบหมอถึงจะได้ข้อมูลถูกต้องที่สุด
คุณแม่ท่านนี้บอกลักษณะอาการชักของเด็กได้ค่อนข้างครบ ทำให้ผมมั่นใจว่าเด็กน่าจะป่วยเป็นภาวะชักจากไข้จริง และมีอาการไอน้ำมูกนำมาก่อน 1-2 วัน การรักษาขั้นถัดมาจึงเป็นการรักษาด้วยการนอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาล การเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลและระดับเกลือแร่ในเลือด และการให้ยารักษาการติดเชื้อและรักษาตามอาการที่เหมาะสม
ขอย้ำอีกครั้งครับว่าการดูแลเบื้องต้นให้กับเด็กที่มีภาวะชักจากไข้สามารถทำได้เองที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องรีบอุ้มเด็กมาโรงพยาบาลในทันที เพราะการรักษาขั้นแรกไม่ใช่การตรวจจากหมอ ยกเว้นแต่ว่าเด็กยังไม่หยุดชัก
“ลูกชักค่ะ” ในขณะที่ผมกำลังเขียนคำสั่งการรักษานอนโรงพยาบาลของเด็กคนแรกอยู่ คนไข้รายถัดมาก็เข้ามาติดๆ กันเลย ดวงเยินของพี่พยาบาลเวรดึกทำท่าจะปลุกผมให้ตื่นตลอดทั้งคืนนี้
Tags: ชักจากไข้, ลมชัก, ภาวะชักจากไข้