Claimbodia

Thiefland

คือคำที่เป็นภาพแทนในดราม่าระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาอย่างเป็นที่รู้กัน จน Urban Dictionary เว็บไซต์พจนานุกรมศัพท์สแลง ถึงกับบัญญัติศัพท์ 2 คำอย่างเป็นทางการ เพื่ออธิบายประเด็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และลุกลามทุกประเด็นตั้งแต่อาหาร บุคคลสำคัญ สู่ประเด็นใหญ่โตอย่างวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์สำคัญของชาติ 

จากกระแสความเกลียดชังระหว่าง 2 เพื่อนบ้านในอาเซียน สู่บทสนทนาเพื่อย้อนกลับมาทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปและต้นตอของข้อพิพาท โดยเฉพาะแนวคิดหรืออุดมการณ์ใดที่แฝงอยู่เบื้องหลังของคำศัพท์สาดโคลนเหล่านี้ โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดพื้นที่เสวนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘โจรสยาม VS เคลมโบเดีย: ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายในรายวิชา อศ. 454 สัมมนาหัวข้อเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา 

เพื่อมองปัญหาและต่อยอดวิธีการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ The Momentum จึงสรุปประเด็นสนทนาจากวงวิชาการครั้งนี้ นำปฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนและผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ขณะที่ผู้เสวนาประกอบด้วย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ธิบดี บัวคำศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งยศ บุญจันทร์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี สฏฐภูมิ บุญมา อาจารย์สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ไทยกับเขมร ความเป็นมา ‘คนละคนเดียวกัน’

สุจิตต์เริ่มการปาฐกถาในหัวข้อ ไทยกับเขมร ‘ทับซ้อน’ ความเป็นมา ‘คนละคนเดียวกัน’ โดยย้ำว่า การพูดในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทนักวิชาการ เป็นเพียงเสรีชนคนหนึ่งที่ทำหนังสือพิมพ์มาตลอด ขณะที่ข้อมูลในการพูดทั้งหมดรวบรวมมาจากข้อสรุปทางวิชาการที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งสรุปแบ่งเป็นประเด็นได้ต่อไปนี้

1. ประวัติศาสตร์ไทยกับเขมรคือ ประวัติศาสตร์ตามอำเภอใจ ใครนึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน หรืออยากจะด่าอะไรก็ด่า โดยไม่แยแสหลักฐานทางวิชาการและโบราณคดี หนักข้อกว่านั้น คือ การสร้างหลักฐานขึ้นมาเองตามที่อยากจะให้เป็น โดยยกตัวอย่างถึงพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก ที่มักมีการอ้างว่าสมเด็จพระนเรศวรกษัตริย์แห่งอยุธยา ประหารชีวิตพระยาละแวก กษัตริย์กรุงกัมพูชาด้วยพิธีปฐมกรรม หรือการนำเลือดศัตรูล้างเท้า ทั้งที่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ตอนพระนเรศวรตีเมืองละแวก พระองค์ไม่ได้ฆ่าพระยาละแวกซึ่งหนีไปอยู่ที่เมืองเชียงแตงหรือสตรึงแตงในภาษาเขมรแล้ว

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ความหมายของ ‘ขอมแปรพักตร์’ ที่แต่งเติมในสมัยหลัง ถือเป็นประวัติศาสตร์จับยัดเข้ามาเพื่อแสดงความรักชาติ เพราะในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและถูกต้องที่สุด ไม่มีเหตุการณ์ขอมแปรพักตร์ ขณะที่พระราช พงศาวดารอยุธยา ประโยคดังกล่าวหมายถึงการที่เขมรแข็งข้อ ไม่อ่อนน้อมต่ออยุธยาและพระเจ้าอู่ทอง อีกทั้งในพงศาวดารเขมร ขอมแปรพักตร์หมายถึงความขัดแย้งภายในเขมรระหว่างกลุ่มที่อาศัยในโตนเลสาปกับตอนใต้

2. ข้อเท็จจริงพบว่า ข้อมูลประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับเขมร ทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีมากมายทั้งไทย เขมร อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ผู้คนไม่อ่าน เพราะอยากให้ข้อมูลเป็นตามใจตนเอง โดยยกตัวอย่างถึงกรณีข้อพิพาทปราสาทเขาวิหารในปี 2505 ซึ่งพบว่า เครือข่ายวิทยุภายในกรุงเทพฯ มีการด่าทอกัมพูชาเพื่อสร้างกระแสชาตินิยม เช่น คำว่า ‘ลิ้นสองแฉกเหมือนเหี้ย’

“ข้อมูลระหว่างไทยกับเขมรเปิดเผยทั่วโลก ไม่ได้ปิดลับ ไม่เหมือนราชการไทยปิดลับ (…) ปัญหาคือชนชั้นนำผู้มีอำนาจไม่อ่านหนังสือ ประเทศไทยมีปัญหาแบบนี้ เลยคลั่งชาติเพื่อปกปิดกลีบเดิมแท้ของตน

“ไทยมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร แต่ในความเป็นจริงปิดกั้น รัฐบาลกล่อมเกลาและครอบงำด้วยประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับคลั่งเชื้อชาติไทย และปกปิดข้อมูลที่เป็นจริง ผู้มีอำนาจต้องอ่านหนังสือ ถ้าไม่อ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจ และเอาอคติของตนเองไปบังคับบัญชา”

3. ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างผูกพันด้วยประวัติศาสตร์เครือญาติ กล่าวคือ ทั้งภูมิภาคใช้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของอำนาจผ่านการแต่งงาน ถือเป็นต้นทางระบบอุปถัมภ์ หรือเป็นที่รู้จักในคำว่า ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ แต่ถูกแทนที่โดยประวัติศาสตร์ความบาดหมาง โดยหนทางแก้ไขที่ดีคือ การหันกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์เครือญาติจากหลักฐานที่พบแทน 

4. วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง โดยต้นกำเนิดมาจากอินเดีย และผสมผสานกับลักษณะเฉพาะในท้องถิ่น เช่นในอดีตไทยใช้อักษรเขมร แต่เขียนเป็นภาษาไทยหรือที่เรียกว่า ‘ขอมไทย’ 

5. ปัญหาและประวัติศาสตร์บาดหมางที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากจากแนวคิดเรื่องรัฐชาติ ซึ่งมาจากเจ้าอาณานิคม และพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีแนวคิดนี้แต่เดิม (สามารถอ่านประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมได้ในหนังสือกำเนิดสยามจากแผนที่ (Siam Mapped) โดย ธงชัย วินิจจะกูล)

6. สำหรับหนทางในการแก้ไขปัญหา สุจิตต์มองว่า ไทยต้องลดบทบาทประวัติศาสตร์กระแสหลัก และแก้ไขในแนวทางของตนเอง โดยที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ไทยเต็มไปด้วยแนวคิด ‘ปลดแอก’ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบยุโรปที่มักพูดถึงแต่การยึดเมืองขึ้น ทั้งที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบริบทต่างจากยุโรป เพราะให้ความสำคัญกับ ‘จำนวนไพร่พล’ มากกว่าขนาดของพื้นที่ที่ยึดครอง

“การสร้างประวัติศาสตร์ไทยใหม่หมายถึงการค้นคว้า เรียบเรียงตามหลักฐานทางวิชาการประวัติศาสตร์-โบราณคดี ด้วยแนวทางประวัติศาสตร์เครือญาติ ศาสนา การเมือง การค้า การผสมผสานทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม

“ผมไม่คิดว่า ความขัดแย้งนี้จะเลิกได้ทั้งหมด เพียงแต่ (ขั้นตอนนี้) จะช่วยลดเงื่อนไขที่นำไปสู่ความบาดหมาง ผมคิดว่าสันติภาพไม่ใช่แค่ไทย-เขมร แต่รวมไปถึงมลายู ปัตตานี ภูมิภาคอุษาคเนย์ และทั้งโลกด้วย” สุจิตต์ทิ้งท้าย

วาทกรรม ‘ขายชาติ’ เครื่องมือทางการเมืองของรัฐทหาร

ขณะที่ธำรงศักดิ์อภิปรายว่า จากประสบการณ์การสอนหนังสือ 25 ปีพบว่า กัมพูชากลายเป็นประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบ ซึ่งแซงหน้าเมียนมาในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จึงต้องมองลึกลงไปว่า สาเหตุที่คนไทยไม่พอใจกัมพูชา เป็นเพราะถูกปลูกฝังให้เกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกระบวนการสร้างสำนึกความเป็นไทย โดยมีผู้มีอำนาจเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์

ธำรงศักดิ์ย้อนอธิบายว่า อันที่จริงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีแนวคิดเรื่องแผนที่หรือเขตแดน แต่สิ่งนี้มากับรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งมีจุดตั้งต้นจากการที่อังกฤษรบชนะพม่าในปี 2368 นำมาสู่การปักปันเขตแดนที่ไม่มีแต่เดิม จนสร้างสำนึกร่วมกันว่า เขตแดนมีความสำคัญอย่างไร สะท้อนจากการจัดทำแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 

เมื่อมีการได้มาซึ่งเขตแดนแล้ว การนิยามว่าใครเป็นใครจึงตามมา ชัดเจนที่สุดคือ ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กระแสความคิดชาตินิยมเริ่มเข้ามา มีความพยายามสร้างความเป็นไทย เช่น การใช้คำว่าภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน แทนกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ 

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสคลั่งชาติที่ถูกปลุกปั่นมาถึงปัจจุบันคือ การที่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ผู้นำขณะนั้น สั่งให้มีการทำ ‘แผนที่เสียดินแดน’ ซึ่งเริ่มแรกมีเพียง 8 ครั้ง ก่อนที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 14 ครั้ง นับเป็นสารตั้งต้นไปสู่วาทกรรม ‘ขายชาติ’ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีการเมืองภายในประเทศ เช่น กรณีโจมตีรัฐบาลเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร จากกรณีปราสาทเขาวิหารในปี 2551 หรือการที่อดีตผู้บัญชาการทหารบกคนหนึ่งหยิบยกวาทกรรมเสียดินแดน 14 ครั้ง มาพูดในการบรรยาย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า วิธีการแก้ไขข้อพิพาทไทย-กัมพูชา คือการทำความเข้าใจกับวาทกรรมเสียดินแดน หรือสิ่งที่บังคับใช้ผู้คนต้องสนับสนุนระบอบทางการเมืองเพื่อความเป็นสุขบนแผ่นดินด้วยการเชื่อฟังผู้นำ แม้ว่าจริงๆ แล้ววาทกรรมดังกล่าวจะทำให้รัฐทหารเติบโตก็ตาม ขณะที่ประเทศไทยก็ต้องโอบรับความหลากหลาย เพื่อลดกระแสความเกลียดชังลง

‘เขมรเนรคุณ’ ไม่ต่างจาก ‘เคลมโบเดีย’

ด้านธิบดีนำเสนอบทสนทนาในมุมที่แตกต่าง คือการวิพากษ์คำว่า ‘เขมรเนรคุณ’ ซึ่งเหมือนกับคำว่า ‘เคลมโบเดีย’ ในปัจจุบัน โดยย้อนเล่าว่า คำหรืออารมณ์ร่วมดังกล่าว ปรากฏขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังกัมพูชายื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ปมปราสาทเขาพระวิหารในปี 2502 โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยแต่งกลอนเสียดสีกัมพูชาที่มีใจความว่า เมื่อก่อนไทยเคยช่วยเขมรมากมาย แต่เขมรกลับเนรคุณ จองหอง ไม่สำนึกบุญคุณไทย 

ในปีเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศไทยยังเขียนหนังสือออกมาเสียดสีในทำนองเดียวกันว่า ไทยมีส่วนช่วยกัมพูชาในการเรียกร้องเอกราช และพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรง ‘สำนึกบุญคุณ’ แต่หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเริ่มทวงสิทธิดินแดน ซึ่งหากสรุปในมุมมองของตนแล้ว ถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศจึงอาจเป็นการตอกย้ำว่า กษัตริย์แห่งกัมพูชาทรงไม่สำนึกคุณที่ไทยเคยช่วยไว้ก็ได้

สำหรับประเด็นเขมรแปรพักตร์ ธิบดีมองต่างจากสุจิตต์บางแง่มุม ผ่านการวิเคราะห์ว่า คำดังกล่าวถูกเข้าใจกันเป็นวงกว้างเทียบเท่ากับประโยคเขมรเนรคุณ ซึ่งปรากฏในแบบเรียนตั้งแต่ไทยมีแผนการศึกษา โดยที่บทบาทของกัมพูชามักถูกอธิบายว่าเป็นประเทศราชที่มักฉวยโอกาสแปรพักตร์ในยามที่ไทยอ่อนแอเสมอ 

โดยสรุปธิบดีมองว่า ไม่ว่าจะคำว่า ‘เขมรเนรคุณ’ หรือ ‘เคลมโบเดีย’ ต่างก็มีจุดร่วมกัน คือ กัมพูชาเนรคุณไทย กล่าวคือ ไทยมีสถานะต่อกัมพูชาในฐานะ ‘ผู้มีพระคุณอันใหญ่หลวง’ แต่กัมพูชากลับเป็นพวกไม่สำนึกบุญคุณที่ไทยเคยให้ความช่วยเหลือ 

“เวลาเราบอกว่า กัมพูชาเคลมหรือก๊อบปี้ของไทย แต่เป็นการก๊อบปี้ไทยที่มีบุญคุณอันใหญ่หลวง จึงกลายเป็นเนรคุณ เคลมโบเดียจึงกลายเป็นว่าเขมรเนรคุณ” 

อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาฯ ทิ้งท้ายว่า วิธีการแก้ไขปัญหาอาจไม่ใช่การมองแค่ผ่านกรอบประวัติศาสตร์เครือญาติ ซึ่งก็เต็มไปด้วยการทะเลาะและความขัดแย้ง แต่ต้องพูดถึง ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ ให้มากขึ้น อย่ากลบฝังอดีต โดยต้องทบทวนและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์กันใหม่ แต่ไม่ใช่เพื่อตอบคำถามหรือทำให้ความขัดแย้งลดลง แต่เป็นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ หรือทบทวนให้ตนเองเติบโตมากขึ้นกว่านี้ 

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: มองสำนึกกัมพูชาต่อไทยในฐานะ ‘ภัยคุกคาม’

ปิดท้ายบทสนทนาด้วยยิ่งยศที่อธิบายความสัมพันธ์บาดหมางของ 2 ประเทศจากมุมมองของกัมพูชา ในลักษณะ ‘ผู้ร้าย’ หรือ ‘ศัตรู’ จากชนวนทั้งการเมืองภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคม และทวีคูณในสงครามเย็น โดยเฉพาะในยุคสังคมราษฎรนิยม ที่มีสีหนุเป็นผู้นำพรรคสังคมราษฎรนิยมตั้งแต่ปี 2498-2513 

เริ่มแรกไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาที่ยังไม่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 2493 ซึ่งอยู่ในบทบาทรัฐปกครองตนเอง แม้จะมีความพยายามปรองดอง แต่บริบทของสงครามเย็นทำให้ 2 ประเทศต่างบาดหมางกัน เพราะไทยอยู่ในกลุ่มโลกเสรีและสนับสนุนสหรัฐอเมริกา ขณะที่กัมพูชาภายใต้สีหนุวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และดำเนินนโยบายรับความช่วยเหลือทุกฝ่าย จนทำให้ทางการไทยเคลือบแคลงต่อนโยบายดังกล่าว นำไปสู่จุดแตกร้าวในช่วงปี 2499 และ 2501 หลังสีหนุเยือนจีน ซึ่งเท่ากับว่า กัมพูชากำลังเปิดโอกาสให้จีนคอมมิวนิสต์แพร่ขยายอิทธิพลเหนือกลุ่มประเทศอินโดจีน

ฝ่ายไทยจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่หักหน้ารัฐบาลกัมพูชาภายใต้สีหนุหลายอย่าง เช่น สนับสนุนกลุ่มเขมรเสรี ฝ่ายต่อต้านสีหนุที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสม์ โดยหลักฐานของ CIA ยังพบว่า ไทยมีส่วนร่วมกับแผนการกรุงเทพฯ คือ พยายามเปลี่ยนรัฐบาลกัมพูชาด้วยการล้มล้างระบอบของสีหนุ

นอกจากนี้กัมพูชายังเผชิญกับสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง หลังสีหนุต้องเปลี่ยนรัฐบาลราว 10 ชุดในช่วง 3 ปีแรก เท่ากับว่า ทางเลือกของพระองค์ในการปกป้องตนเอง จึงมีไม่กี่อย่างคือ การสร้างกระแสชาตินิยมผ่านวาทกรรม ‘ประวัติศาสตร์ต้านไทย’ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งโจมตีไทยในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และยังสามารถสร้างความนิยมผ่านกระแสชาตินิยม

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น สีหนุสร้างชุดความคิดต้านไทยขึ้น เพื่อปลุกระดมคนในชาติ เช่น วาทกรรมไทยรุกรานกัมพูชาทำให้พระนครล่มสลาย เพราะมีจิตริษยา ขณะที่ยังมีพระราชดำรัสเรียกไทยว่า ‘น้องสาว’ ถือเป็นการลดทอนในสถานะที่ไม่เท่าเทียมกัน 

นอกจากนี้ในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ยังเปรียบเปรยไทยว่า ไม่ต่างจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมนี เพราะทำกัมพูชาบ้านแตกสาแหรกขาด ซ้ำร้ายไทยยังอยากได้ดินแดนกัมพูชาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังบ่อนทำลาย เสี้ยมให้คนกัมพูชาทะเลาะกันเอง ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้มักถูกผลิตซ้ำผ่านวิทยุกระจายเสียงและมหรสพ เช่นการจัดคณะละครชาติที่แสดงเรื่องนักตาคลังเมือง ว่าด้วยเรื่องกองทัพผีที่ช่วยกัมพูชาต้านสงครามกับไทย

เมื่อมองกลับมาในปัจจุบันถึงปมความขัดแย้งครั้งนี้ ยิ่งยศมองว่า วิธีการแก้ไขปัญหาของ 2 ประเทศคือ การอธิบายเรื่องราวตรงไปตรงมา เพราะที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือ จนก่อให้เกิดความทรงจำร่วมอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่คนในสังคมเลือกจะเชื่อเช่นนี้ แม้จะมีการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ก็ตาม 

Tags: , , , , , ,