‘การศึกษา’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย ทั้งยังกำหนดให้พลเมืองทุกคนต้องผ่านการศึกษาภาคบังคับในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงมีการกระจายสถานศึกษาไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดารตามแนวตะเข็บชายแดน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โรงเรียน ตชด.
โรงเรียน ตชด.แห่งแรกเกิดขึ้นในปี 2499 ณ บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือและผูกมิตรกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยมี ตชด.เป็นผู้ริเริ่มและใช้ตำรวจเป็นผู้สอน แทนการใช้คนจากกระทรวงศึกษาธิการ
ปัจจุบัน โรงเรียน ตชด.มีทั้งหมด 222 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือโรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึก ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้เด็กและเยาวชนชาติพันธุ์จากหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอย เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
กระนั้น แม้เด็กทุกคนจากทั้ง 2 หมู่บ้านจะได้เรียนหนังสือ แต่เด็กจำนวนไม่น้อยยังคงอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ แม้เรียนจบหลักสูตรประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็ตาม
The Momentum พูดคุยกับ สิทธิพล รักจงเจริญ และพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและอดีตนักเรียนในโรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึก เพื่อมองปัญหาการศึกษาในโรงเรียน ตชด. ที่ในวันนี้อาจไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพอย่างที่คาดหวังเอาไว้
1. การศึกษาที่ไม่ได้จัดขึ้นโดยครูวิชาชีพ
แม้ผ่านมาแล้ว 69 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงเรียน ตชด.แห่งแรกเมื่อปี 2499 ทว่าปัจจุบัน การสอนในแต่ละรายวิชาภายในโรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงใช้ตำรวจเป็นผู้สอน ขณะที่ผู้สอนบางส่วนไม่ได้เรียนในวิชาชีพครูหรือมีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน และจำนวนหนึ่งมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งปัจจัยนี้เองที่ทำให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึกอย่างสิทธิพลมองว่า เป็นปัญหา
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โรงเรียน ตชด.มีทั้งตำรวจและครูอัตราจ้างทำหน้าที่เป็นครูในโรงเรียน ซึ่งในมุมมองของผม ตำรวจที่มาสอนไม่มีการคัดเลือก ส่วนครูอัตราจ้างบางคนก็ไม่ได้จบครูโดยตรง ใครจะมาสอบเป็นครูอัตราจ้างก็ได้ ทำให้เด็กในโรงเรียน ตชด.เรียนรู้ช้า เพราะครูที่สอนไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอเทียบกับคนที่จบครูมาจริงๆ” สิทธิพลระบุ
เขายังกล่าวเสริมว่า ผู้สอนไม่สามารถสอนในเนื้อหาเชิงลึกได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ในวิชาที่สอน จึงสอนเท่าที่สอนได้ตามเนื้อหาในหนังสือ เด็กแต่ละคนจึงได้รับความรู้ในแต่ละรายวิชาแบบ ‘ทีละนิดทีละหน่อย’ โดยเฉพาะวิชาภาษาทั้งไทยและภาษาอังกฤษ ที่เด็กในหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอยยังไม่รู้วิธีและหลักการในการใช้ แม้จะจบการศึกษาสูงสุดในโรงเรียน ตชด.แล้วก็ตาม
“เด็กบางคนที่ในโรงเรียน ตชด. เขาเรียนได้ไม่ดี พอผมเอาเขามาสอนต่อ เขาก็เรียนได้ปกติ วิชาคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หาร มาให้ผมสอนให้ ไม่นานเขาก็จำเนื้อหาได้แล้ว แปลว่าเด็กกลุ่มนี้เขาก็มีความจำดีนะ แต่อาจจะเป็นเพราะคนสอนที่ไม่ได้เรียนวิชาที่ตัวเองเอามาสอน”
ก่อนหน้านี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสนับสนุนทุนให้ครูในโรงเรียน ตชด. เข้าศึกษาต่อให้จบระดับปริญญาตรี ก่อนจะกลับไปเป็นครูภายในโรงเรียน ตชด.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาของเด็กในพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตามสิทธิพลมองว่า ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจ แต่ควรเป็นใครก็ได้ที่จบการศึกษาด้านการเป็นครูมาโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ตชด.ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนทั่วๆ ไป
“หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้เอาคนที่จบการสอนหนังสือมาเป็นครู เพราะในโรงเรียน ตชด.ทุกวันนี้ บางคนจบแค่ ม.6 หรือบางคนเรียนจบระดับปริญญาตรีก็จริง แต่ก็ไม่ได้จบครู สุดท้ายมันทำให้การศึกษาในโรงเรียน ตชด.เป็นปัญหานะ” สิทธิพลกล่าว
2. ข้อจำกัดด้านการเดินทาง
เนื่องจากโรงเรียน ตชด.มุ่งเน้นให้การศึกษากับประชาชนบริเวณชายแดนของประเทศ การเดินทางเข้ามาในพื้นที่จึงต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับครูผู้สอนที่ต้องเดินทางจากเขตเมืองเข้าสู่เขตป่าเขา
พงษ์ศักดิ์ ชาวบางกลอยที่เคยเรียนอยู่ในโรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึก อธิบายว่า การเดินทางจากในเมืองเข้ามาสอนหนังสือในโรงเรียนต้องใช้เวลามากถึงครึ่งวัน ขณะที่ครูไม่ได้มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่้เดียวกันกับโรงเรียน จึงต้องไปกลับหัว-ท้ายสัปดาห์
“ช่วงวันจันทร์กับวันศุกร์ ครูจะมาสอนไม่ทันเพราะติดการเดินทาง วันจันทร์ช่วงเช้าก็จะไม่ได้เรียน ส่วนวันศุกร์ที่จริงครูเขาควรจะเดินทางกลับตอนเย็นหลังสอนเสร็จ แต่ความเป็นจริงบ่ายโมงเขาก็กลับบ้านแล้ว”
ในรายวิชาที่ครูมาสอนไม่ทันเนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางมาโรงเรียนนั้น ไม่ได้มีการจัดการเรียนซ้ำในรายวิชา ครูจะสอนในวิชาที่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่ แต่ถึงแม้ถูกตัดทอนเวลาไปเยอะ แต่เด็กก็ยังได้เรียนในวิชาทำการเกษตร เช่น เลี้ยงปลา ปลูกผัก ซึ่งพงษ์ศักดิ์มองว่าไม่สำคัญ เนื่องจากคนในชุมชนมีทักษะจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรอยู่แล้ว
“เราเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปเก็บไข่ จับปลาทุกๆ วัน เราก็รู้อยู่แล้ว อย่างการทำเกษตรหลักสูตรพวกนั้นมันก็ไม่ค่อยจะยาก เราสามารถไปเรียนกับครอบครัว กับภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้ว จากเดิมที่เราทำการเกษตรแบบผสมสสานอยู่แล้ว เรื่องนี้เขาอ้างว่าเพื่อเป็นการให้ความรู้เด็กเพื่อเอาไปประกอบอาชีพ”
เมื่อเวลาการสอนถูกตัดไปเพราะครูต้องเดินทาง เวลาในการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึกจึงเหลือน้อยนิด หากจะเพิ่มเวลาเรียนให้มากขึ้น พงษ์ศักดิ์เสนอให้ลดวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรพื้นฐานลง และเพิ่มชั่วโมงการสอนให้เทียบเท่ากับโรงเรียนทั่วไป เพื่อให้เด็กในโรงเรียน ตชด.สามารถเข้าถึงเนื้อหาในแต่ละวิชาได้อย่างเต็มที่
3. การประเมินที่ยังถูกตั้งคำถาม
จากกรณีที่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอยมีความบกพร่องในการสื่อสารด้วยภาษาไทย พงษ์ศักดิ์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินเลื่อนชั้นนักเรียนของโรงเรียน ตชด.โป่งลึกซึ่งรับเด็กจากทั้ง 2 หมู่บ้านเข้าศึกษาว่า อาจมีการ ‘ปล่อยเกียร์ว่าง’ กล่าวคือ แม้นักเรียนจะมีผลการเรียนย่ำแย่เกินกว่าจะอนุมัติให้เลื่อนชั้นหรือสอบไม่ผ่าน ครูผู้สอนอาจไม่มีการประเมินให้นักเรียนต้องเรียนซ้ำชั้น หรือเริ่มเรียนใหม่ในวิชาที่ผลการเรียนย่ำแย่แต่อย่างใด
ในขณะที่สิทธิพลที่มีประสบการณ์คุมสอบนักเรียนจากโรงเรียน ตชด.แล้วพบกับปัญหานักเรียนไม่สามารถอ่านเนื้อหาในกระดาษคำถามได้ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดโรงเรียนจึงปล่อยให้นักเรียนเลื่อนชั้นในขณะที่การอ่านและการเขียนยังคงมีปัญหา
“โรงเรียน ตชด.มีการสอบวัดระดับของเด็กปกติ ส่วนประเด็นที่โรงเรียนไม่มีการสอนซ้ำเด็กที่มีผลการเรียนไม่ผ่านในแต่ละระดับชั้น ผมอาจจะยังไม่แน่ใจ แต่เท่าที่สังเกตเห็น เด็กในโรงเรียน ตชด.ทุกคนก็เลื่อนชั้นกันทุกปี นอกเสียจากเด็กที่ไม่เข้าเรียนเลยก็อาจจะต้องเรียนซ้ำชั้น เราเข้าใจว่า เด็กที่ผลการเรียนไม่ดี สอบไม่ผ่าน จะเลื่อนชั้นได้ด้วยคะแนนจิตพิสัยอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วนตัวผมแปลกใจ เพราะเด็กที่จบออกมาเขาใช้ภาษาได้ไม่ดี โรงเรียนเขาให้จบออกมาได้อย่างไร หากเป็นในเมืองเด็กเรียนไม่ผ่านก็ซ้ำชั้น ตอนที่ผมไปคุมสอบ เด็กจากโรงเรียน ตชด.เขาอ่านข้อสอบไม่ออกเลย ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่า สาเหตุเกิดจากอะไร” สิทธิพลระบุ
The Momentum พยายามติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาภายในโรงเรียน ตชด. ทั้งมูลนิธิ ตชด.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากกรณีดังกล่าว
4. การศึกษาที่อาจสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่ม
สิทธิพลและพงษ์ศักดิ์ชี้ว่า อีกหนึ่งปัญหาคือการสนับสนุนการศึกษาที่ไกลกว่าแค่ระดับประถมศึกษาให้กับเด็ก เนื่องจากทุนการศึกษายังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กในพื้นที่ที่ต้องการเรียนต่อในระดับมัธยมต้นไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่หมู่บ้านบางกลอยและหมู่บ้านโป่งลึกไม่ได้มีโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ สิ่งนี้ย่อมเป็นอุปสรรคและมีผลต่อการตัดสินใจของเด็ก รวมไปถึงผู้ปกครองกับการส่งบุตรหลานเรียนต่อหลังจบการศึกษาจากโรงเรียน ตชด.
“คนที่อยากไปเรียนต่อสูงๆ เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐน้อยมาก คนที่พอรู้ว่าจะหาทุนจากไหนก็โชคดี แต่คนที่ไม่รู้ก็หมดอนาคตไป” พงษ์ศักดิ์กล่าว พร้อมเสริมว่า ทุนที่ได้มาก็มักมาพร้อมเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น ให้ไปดูแลแปลงเกษตรของเจ้าของทุน มากไปกว่านั้น เมื่อมีทุนมาครั้งหนึ่งก็อาจถูกกันเอาไว้ให้เฉพาะบุตรหลานของผู้มีอำนาจในโรงเรียน
และเมื่อได้รับทุนสำหรับค่าเทอมแล้ว ก็อาจจะไม่ได้เป็นทุนที่ดูแลค่าใช้จ่ายแบบครบวงจร ครอบครัวที่ต้องการส่งบุตรหลานเรียนต่อหลังจบประถมศึกษาจึงต้องคิดต่อถึงค่าใช้จ่ายทั้งที่พัก ค่าอาหาร รวมไปถึงค่าเดินทาง ซึ่งหลายครอบครัวตัดสินใจไม่ให้บุตรหลานเรียนต่อจากความกังวลค่าใช้จ่ายดังกล่าว
“เราอยากจะให้รัฐดูแลด้านทุนการศึกษาสำหรับค่าใช้จ่าย เช่น ค่าหอ ค่ากิน หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ไว้สำหรับเด็กที่ต้องการศึกษาในระดับที่สูงกว่าประถมขึ้นไป” สิทธิพลระบุ
ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำ นอกเหนือจากการสนับสนุนการศึกษาด้วยการให้เรียนต่อในระดับสูง อย่างการทำให้การศึกษาในพื้นที่ ‘เท่าเทียม’ โรงเรียนทั่วๆ ไปของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ยังเป็นเรื่องยากในมุมมองของสิทธิพลและพงษ์ศักดิ์ เพราะอุปสรรคการเข้าถึงเทคโนโลยี สื่อสมัยใหม่ และคุณภาพการสอนที่แตกต่าง จึงอีกไกลที่การศึกษาในถิ่นทุรกันดารจะสามารถลดความเหลื่อล้ำของประชาชนในพื้นที่ได้จริง
“ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ดูจากการอ่านออกเขียนได้ของเด็กก็รู้แล้วว่าแตกต่างกับการศึกษาในเมือง เราอยากจะให้การศึกษาของเด็กบนนี้ได้รับเทียบเท่ากับการศึกษาในโรงเรียนอื่นๆ เพื่อไม่ให้เขามีปัญหากับเส้นทางการศึกษาต่อในอนาคต” สิทธิพลกล่าว
รัฐธรรมนูญไทยแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า ในการจัดการศึกษาทุกระดับ รัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งหากเอาข้อความดังกล่าวเปรียบเทียบสถานการณ์จริงในโรงเรียน ตชด.บ้านโป่งลึกวันนี้ยังคงอีกยาวไกลที่ ‘คุณภาพ’ การศึกษาจะทัดเทียมกับโรงเรียนในเมือง
ทั้งนี้คงปฏิเสธได้ยากว่า การพัฒนาโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีปัญหามากมาย แต่หากปล่อยให้เด็กและเยาวชนต้องจมอยู่กับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมอยู่แบบนี้ ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับการพัฒนาประเทศ และยังทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย