เหตุฆาตกรรม มูห์ซิน เฮนดริกส์ (Muhsin Hendricks) อิหม่ามเกย์ชาวแอฟริกาใต้ จุดประกายความหวาดกลัวภายในคอมมูนิตี้ชาวมุสลิมที่เป็น LGBTQIA+ ท่ามกลางความฉงนของสังคมว่า ใครเป็นผู้ลอบสังหารเขากันแน่
เฮนดริกส์เป็นอิหม่ามคนแรกของโลก ที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองว่าเป็นเกย์ แม้สร้างความตกใจและเสียงคัดค้านภายในชุมชนมุสลิมด้วยกันเอง แต่เขาก็สามารถเรียกร้องได้อย่างเสรี เนื่องจากบรรยากาศในประเทศเอื้ออำนวย เมื่อรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้ปี 1996 คุ้มครองประชาชนจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ ขณะที่ประเทศมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ปี 2006 จนนำไปสู่การผลักดันครั้งสำคัญ เช่น การสร้างมัสยิด Masjidul Ghurbaah สำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และจัดตั้งองค์กร Inner Circle สำหรับเควียร์มุสลิม
นอกจากเชื่อว่า การเป็นเกย์สามารถนับถือศาสนาอิสลามได้ เฮนดริกส์ยังเห็นด้วยที่จะให้ชาวมุสลิมแต่งงานกับศาสนาอื่นโดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา หลังเขาแต่งงานกับชายชาวฮินดู อีกทั้งยังทำพิธีสำคัญให้กับคู่รักต่างศาสนาอื่นๆ ในแอฟริกาใต้
“ความต้องการที่ได้เป็นตัวของตัวเอง นั้นยิ่งใหญ่กว่าความกลัวที่จะตาย” เฮนดริกส์เคยกล่าวประโยคทองในสารคดี The Radical (2022) ถึงการเปิดเผยว่า ตนเองเป็น LGBTQIA+
อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า อิหม่ามเกย์เสียชีวิตจากการถูกยิงบนรถในเมืองเกเบอร์ฮา (Gqeberha) ประเทศแอฟริกาใต้ หลังจากเดินทางไปประกอบพิธีแต่งงานให้กับคู่รักที่ต่างศาสนา โดยหลักฐานจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นผู้ก่อเหตุใส่หมวก และวิ่งออกมาจากรถกระบะที่กำลังขวางรถของเฮนดริกส์ ก่อนจะยิงเขาจนเสียชีวิตในช่วงเวลาเที่ยงวัน
แม้ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม และไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นการกระทำที่เกิดจากความเกลียดชังหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเสียชีวิตของอิหม่ามเกย์ก่อให้เกิดความกลัวภายในชุมชนมุสลิมที่เป็น LGBTQIA+ โดยเฉพาะแรงปะทะกับความเชื่อดั้งเดิมที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศในศาสนาอิสลาม
“การจากไปของเขาทำให้ผู้คนกลัวที่จะพูดเรื่องรสนิยมทางเพศของตนเอง” ฟาติมา เอสซอป (Fatima Essop) อาจารย์ด้านอิสลามศึกษาประจำ University of the Western Cape แสดงความรู้สึก โดยย้ำว่า การสังหารครั้งนี้ห่างไกลจากความเชื่อศาสนาอิสลามที่มีความเมตตาและรักเพื่อนมนุษย์ และไม่มีคำแก้ตัวใดๆ แม้จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เฮนดริกส์เรียกร้องก็ตาม
ขณะที่ โทนี ครูเกอร์ อาเยบาซิบเว (Toni Kruger-Ayebazibwe) บาทหลวงหญิงผู้สนับสนุนประเด็นความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า การจากไปของอิหม่ามเกย์ทำให้ผู้นำ LGBTQIA+ คนอื่นๆ เริ่มต้องไตร่ตรองความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งให้พวกเขาเรียกร้องประเด็นเหล่านี้ต่อไป เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้องค์กร Muslim Judicial Council (MJC) และ United Ulama Council of South Africa (UUCSA) ออกมาประณามต่อการสังหารอิหม่ามเกย์ว่า นี่คือการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และแอฟริกาใต้คือสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนรับฟังความเห็นต่าง โดยเรียกสรรพนามของเฮนดริกส์แทนว่า Mr. ไม่ใช่อิหม่ามหรือชีค (Sheik) แต่อย่างใด
MJC ย้ำว่า องค์กรไม่เห็นด้วยต่อจุดยืนของเฮนดริกส์ เพราะไม่สอดคล้องกับคำสอนตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อชุมชน LGBTQIA+ หรือกลุ่มเรียกร้องอื่นๆ
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2025/02/17/africa/hendricks-gay-imam-south-africa-intl/index.html
https://www.bbc.com/news/articles/cglyl6el10xo
https://www.bbc.com/news/articles/cly3nlv5d52o
Tags: ความเท่าเทียมทางเพศ, LGBTQIA+, ศาสนาอิสลาม, อิหม่ามเกย์, แอฟริกาใต้, อิสลาม, มุสลิม