การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ใกล้เข้ามาทุกที ทำให้กลุ่มการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองระดับประเทศ หรือกลุ่มการเมืองประจำจังหวัด ต่างลงพื้นที่หาเดินหาเสียงกันอย่างคึกคัก เพื่อขอโอกาสจากประชาชนขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘นายก อบจ.’

ถามว่าความสำคัญของ อบจ.นั้นคืออะไร ต้องบอกว่า อบจ.นับเป็นโมเดลการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายสูงสุดได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้พัฒนา ดูแล และจัดเก็บภาษีบางส่วนได้ด้วยตนเอง โดยการเลือกนายก อบจ.ครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2547

หากมองในแง่ของอำนาจนายก อบจ.สามารถตราข้อบัญญัติ อบจ.เพื่อการจัดการบริหารภายในท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนิน ‘หน้าที่’ หลักๆ คือการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งแต่เรื่องสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนน การคมนาคม การจัดการขยะ การจัดการระบบสาธารณสุข ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัย จึงอาจเรียกได้ว่า อบจ.ถือเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง

โดยปกติแล้วการเลือกตั้งนายก อบจ.ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มการเมืองภายในจังหวัดเป็น ‘ตัวออกหน้า’ โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติหนุนอยู่ข้างหลังเป็นเงามืด แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ตลอดจนพรรคประชาชน (รวมทั้งคณะก้าวหน้า) ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการส่ง ‘ผู้สมัครนายก อบจ.’ ในนามพรรคการเมือง ทำให้ปีนี้พรรคการเมืองอื่นที่เคยอยู่หลังฉากเช่นพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาส่งตัวแทนชิงเก้าอี้นายก อบจ.ด้วยตัวเอง

ทว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ในปี 2568 นี้กลับมีข้อพิรุธปรากฏให้สังคมได้เห็นชัดแจ้ง และชวนตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่อยากให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิมากนัก The Momentum ได้รวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งแคมเปญการเลือกตั้งนายก อบจ.เพื่อสะท้อนภาพการจัดเลือกตั้งที่เต็มไปด้วย ‘คำถาม’ ตัวโตๆ หลายข้อ 

เลือกตั้ง ‘วันเสาร์’

โดยปกติแล้วการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และการเลือกตั้งระดับชาติ จะวางให้เป็น ‘วันอาทิตย์’ เนื่องจากเป็นวันที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปทำงาน สามารถสละเวลาไปลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตยได้

ข้อกังวลดังกล่าวถูกเสนอขึ้นจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ตลอดจนนักวิชาการที่ออกมา ‘คัดค้าน’ และเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เปลี่ยนวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แสดงความกังวลตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ว่า จากมติของ กกต.ที่เห็นชอบวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพราะคนจำนวนไม่น้อยมีความจำเป็นที่ต้องทำงานวันเสาร์ ขณะเดียวกันหากมีการเลือกตั้งในวันนั้นจะทำให้ประชาชนต้องลางานในวันศุกร์เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนามาเลือกตั้ง

ขณะที่ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงนายก อบจ. พรรคประชาชน ก็แสดงความเป็นกังวลเช่นเดียวกันบนเวทีเสวนาของ Thai PBS เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาว่า กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งควรตั้งอยู่บนหลักการอำนวยความสะดวก ให้ประชาชนไปใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด

“สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งในวันเสาร์ ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้คือ ผู้ที่ทำงานต่างถิ่น ไม่ได้อาศัยอยู่ในท้องที่ หรือผู้คนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวอายุ 18-40 ปี” 

ขณะเดียวกัน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้คือ กกต.ไม่ได้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะหากจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์จริงๆ กกต.ควรจะมีทางเลือกให้ประชาชนเพิ่มเติม เช่น การเลือกตั้งนอกเขต หรือการเลือกตั้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ทว่าประเด็นนี้ กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งได้ออกมาตอบข้อกังวลดังกล่าว โดยมีหลักใหญ่ใจความคือ หากจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งเลยกรอบระยะเวลา 45 วันหลังนายก อบจ.หมดวาระ ดังนั้นจึงต้องเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์แทน

ส่วนคำถามว่า กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคมซึ่งเป็นวันอาทิตย์ได้หรือไม่ กกต. ชี้แจงว่า เนื่องจากต้องมีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส. อบจ.) 76 จังหวัดใหม่ และมีระยะเวลาให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนและหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนั้น กกต.ยังได้ประสานไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด นายจ้าง ตลอดจนส่วนราชการอื่นๆ อำนวยความสะดวกต่อลูกจ้างโดยไม่นับเป็นวันลาหยุด พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิอย่างทั่วถึง

ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีเลือกตั้งนอกเขต

หากใครยังจำกันได้ ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 กกต.เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขต เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน ให้สามารถแสดงสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างทั่วถึง แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขตนั้น ‘ไม่สามารถทำได้’ เนื่องจากไม่มีระเบียบระบุไว้

จากสถิติการเลือกตั้งพบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ 46.57 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิอยู่ที่ 29.27 ล้านคน คิดเป็นเพียง 62.8% ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ 52.19 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิอยู่ที่ 39.51 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 75.71% ดังนั้นการเลือกตั้งที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยทั้งสองจึงมีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิที่สูงแตกต่างกัน

เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยด้วยตัวเองว่า ผู้ที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยการเลือกต้องนายก อบจ.ประจำปี 2568 นี้ กกต.ตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ 65% ทั้งที่การเลือกตั้งนายก อบจ.ปีนี้มีการตั้งงบประมาณไว้สูงถึง 3,563 ล้านบาท

หากอิงจากสถิติการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 มีผู้มาใช้สิทธิที่มากกว่าที่ กกต.ตั้งเป้าหมายไว้ จึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจคือ ตัวเลขดังกล่าวที่ กกต.ตั้งเป้าไว้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่

เลือกตั้ง vs รับปริญญา

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นอกเหนือจากเป็นวันเลือกตั้งนายก อบจ.แล้วยังเป็นวันที่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร หากอิงข้อมูลจากสำนักทะเบียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2565-2566 จะมีสูงถึง 19,701 คน ซึ่งปกติกิจกรรมนี้จะมีทั้งครอบครัว ญาติ และมิตรสหาย เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จของชีวิต จึงอาจอนุมานได้ว่า จะมีประชาชนที่ไม่สามารถกลับไปเลือกตั้งนายก อบจ.ได้เป็น ‘หลักหมื่น’

เมื่อวันสำคัญทั้งสองไม่ว่าจะเป็น ‘การเลือกตั้งนายก อบจ.’ หรือ ‘พิธีสำเร็จการศึกษา’ อาจทำให้ใครหลายคนต้องชั่งน้ำหนักในใจของตัวเองว่าจะเลือกทำสิ่งไหน หากเลือกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ก็จะต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาของตัวเอง และจะไม่สามารถเดินทางมายังพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ หรือหากเลือกเดินทางมาเข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้กระทั่งมาแสดงความยินดีกับบัณฑิตหน้าใหม่ ก็จะไม่สามารถกลับไปลงคะแนนเสียง ‘นายก อบจ.’ ในพื้นที่ของตนได้

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยก็คงรับรู้ถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ได้ออกหนังสือถึงผู้สำเร็จการศึกษาประจำปี 2565-2566 โดยระบุว่า เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาไม่เสียสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยยินดีอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่จะเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ได้ ด้วยการออก ‘หนังสือแจ้งเหตุจำเป็น’ โดยผู้สำเร็จการศึกษาสามารถดาวน์โหลดหนังสือดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของกองบริหารงานวิชาการ นับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

โดยการดำเนินการยื่นหนังสือเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่กำหนดว่า “กรณีผู้ใดไม่ไปเลือกตั้งให้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ 7 วันก่อนหรือ 7 วันหลังวันเลือกตั้ง” โดยบัณฑิตสามารถแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นมาโดยตลอด และขอสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาที่ประสงค์จะเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.ได้ ยื่นเรื่องขอไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ไม่เสียสิทธิทางการเมือง

แม้ว่าจะปฏิเสธความจริงที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นตัวสะท้อนถึงการกระจายอำนาจ และเป็นโมเดลประชาธิปไตยโดยตรง ที่ให้สิทธิประชาชนเลือกผู้นำท้องถิ่นด้วยตัวเอง ถือว่ามีผลใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

แต่เมื่อประเมินกับสิ่งที่เกิดขึ้นของการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์ การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างทั่วถึง หรือแม้กระทั่งจัดชนกับวันสำคัญอื่นๆ อาจสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความไม่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง’ 

ขณะที่บางคนถึงขั้นเปลี่ยนชื่อเต็มของ กกต. จาก ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ เป็น ‘คณะกรรมการขัดขวางการเลือกตั้ง’

ทั้งหมดนำมาสู่คำถามที่ว่า หากประชาชนเป็นคนที่สำคัญที่สุด และการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่เหตุใดประชาชนจำนวนไม่น้อยถึงไม่สามารถออกมาใช้สิทธิได้ และการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนเจตนารมณ์ได้อย่างแท้จริงหรือไม่

นี่คือคำถามที่ยังต้องรอคำตอบต่อไป…



Tags: , , ,