หากใครเคยไปเดินเล่นที่ HAY Thailand ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านสัญชาติเดนมาร์ก ย่านเจริญกรุง คงจะเห็นกระเบื้องเคลือบสีเขียวอ่อนด้านหลังเคาน์เตอร์ที่กลมกลืนไปกับร้าน จนใครๆ อยากซื้อเอาไปตกแต่งบ้านตัวเองอยู่เหมือนกัน โดยโทนสีเขียวอ่อนของกระเบื้องที่ดูเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดาจนถูกใจใครหลายคนนี้เรียกว่า ‘ศิลาดล’ ซึ่งความพิเศษคือเคลือบด้วยขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างของร้านส้มตำ จากไอเดียและฝีมือของนักออกแบบเซรามิกอย่าง โม จิรชัยสกุล
วันนี้ The Momentum ได้มาเยือนสตูดิโอเซรามิกของโมถึงอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อพูดคุยถึงที่มาของการนำขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างมาเคลือบเซรามิก จนได้สีสันถูกใจสาวก HAY พร้อมสำรวจบ้านหลังแรกของเหล่าเซรามิกที่เกิดในโรงไม้อันเป็นมรดกจากคุณพ่อ ซึ่งโมได้เข้ามารับช่วงต่อไม่นานนี้
จากขี้เถ้าเตาไก่ย่างร้านส้มตำสู่ร้านเฟอร์นิเจอร์สัญชาติเดนมาร์ก
เราเริ่มต้นถามนักออกแบบเซรามิกคนนี้ว่า มาร่วมงานกับ HAY ได้อย่างไร โมเล่าว่า อ๋อง-วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ส รีพับบลิค จำกัด (Norse Republic) และเป็นผู้นำเข้า HAY เคยไปเดินเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และได้เห็นงานเซรามิกของโมแล้วรู้สึกชอบ
“จำได้ว่าคุณอ๋องเล่าให้ฟังว่า เขาไปดูที่ชั้นบนสุดของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี แล้วเขาเห็นงานแจกันเซรามิกของเรา ที่ค่อนข้างเป็นงานอาร์ตนิดหนึ่ง แต่เขาชอบมาก ถ่ายรูปเก็บไว้เลย ก็คิดว่าถ้ามีงานเซรามิกจะจ้างคนนี้ เพราะมันดูมีของดี แล้วตอนที่มี HAY แล้ว คุณอ๋องเขาอยากได้งานศิลปินไทย ก็เลยไปคุยกับน้องสาวเขา ความบังเอิญคือน้องสาวเขาเป็นคนซื้อแจกันของเราไปตกแต่งบ้าน คุณอ๋องก็เลยทักมาใน Instagram เลยว่า อยากได้งานเรา” โมเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่กระเบื้องของเขาได้ไปอยู่ในร้าน HAY
ข้อสำคัญคือ ทาง HAY ไม่ได้จำกัดจินตนาการหรือวิธีทำงานของเขาแต่อย่างใด จึงได้ใช้เวลาคิดและพัฒนากระเบื้องสำหรับ HAY Thailand ไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดก็มาจบที่กระเบื้องเคลือบศิลาดลซึ่งเป็นงานที่เขาชอบ
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘กระเบื้อง’ โมบอกเราว่า ในไทยมักจะแยกเป็นกระเบื้องดินเผากับกระเบื้องเซรามิก แต่ไม่ว่าจะกระเบื้องประเภทใดก็ล้วนทำมาจากดินแล้วนำไปเผา โดยกระเบื้องดินเผาคือกระเบื้องที่เผาไฟต่ำ อย่างเช่นกระเบื้องอิฐสีแดงที่ปูพื้นวัด แต่กระเบื้องเซรามิกคือกระเบื้องที่เผาด้วยไฟสูง เนื่องจากต้องโชว์เนื้อผิว ต้องเคลือบให้ทนทาน ซึ่งจะเผาด้วยไฟ 1,280 องศาเซลเซียส
ส่วนศิลาดลเป็นวิธีเคลือบ โดยเครื่องปั้นดินเผาที่เคลือบศิลาดลจะใช้ขี้เถ้าเป็นส่วนผสมในน้ำเคลือบ และผลลัพธ์ออกมาจะเป็นสีเขียวไข่กา ทั้งนี้สูตรน้ำเคลือบเครื่องปั้นดินเผามีมากมายหลายสูตร ซึ่งจะให้สีที่แตกต่างกันเมื่อนำไปเผาเรียบร้อยแล้ว
จุดนี้เราเริ่มสงสัยว่า เพราะเหตุใดโมจึงเลือกใช้การเคลือบศิลาดลจากขี้เถ้าเตาไก่ย่างสำหรับกระเบื้องในร้าน HAY
“จริงๆ เราชอบสี มันมีความเย็น เป็นสีที่ให้ความรู้สึกเย็น เป็นสีที่ถูกจริตเรา ตอนเราทำวิจัยตอนปริญญาโท ที่ทำก็เป็นเรื่องเคลือบศิลาดลนี่แหละ”
โมเล่าย้อนไปถึงช่วงที่เรียนปริญญาโท หลักสูตร Ceramics and Glass ที่ Royal College of Art กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงเรื่องราวสนุกมากมายที่ค้นพบระหว่างทางว่า ขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างแบบไทยๆ จะให้สีเขียวอ่อนสุดโมเดิร์นบนเครื่องปั้นดินเผาเหมือนกับ ‘เครื่องถ้วยชิงไป๋’ ของจีนที่มีอายุกว่า 1,000 ปีได้
“วิจัยนี้เราเริ่มทำที่อังกฤษ เรารู้สึกว่าศิลาดลที่สีมันค่อนข้างอ่อนมันให้ความรู้สึกโมเดิร์นมากกว่า ซึ่งเป้าหมายของเราคือสีอ่อนประมาณเครื่องถ้วยชิงไป๋ เราก็เลยต้องหาขี้เถ้ามาลองทดลอง ตอนนั้นอาจารย์ก็ไปโกยขี้เถ้าจากเตาผิงที่บ้านเขามาให้ เราก็ไปเก็บเศษไม้จากสวนไฮด์พาร์ก (Hyde Park) เอามาเผาจนได้ขี้เถ้า แต่พอเอามาเคลือบแล้วมันไม่สวย มันได้สีขาวแบบตุ่นๆ” โมเล่าเรื่องวิจัยในต่างแดน
งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้โมกังวลว่าอาจทำไม่สำเร็จ จนกระทั่งช่วงปิดเทอมที่โมได้กลับบ้านที่ประเทศไทย เขายังคงหมกมุ่นอยู่กับการหาขี้เถ้าที่สามารถให้สีเขียวอ่อนที่ต้องการได้ จนกระทั่งได้พบว่า ไม้จากโรงงานไม้ของครอบครัวให้สีเขียวไม่เหมือนไม้จากสวนไฮด์พาร์กกลางลอนดอน
“พอปิดเทอม บินกลับมาไทยก็นั่งเครียดว่าหรือโปรเจกต์เราจะล้ม แต่ก็ยังลองหาไม้ในโรงงานเรามาเผาทำขี้เถ้า ปรากฏว่าสีมันไม่เหมือนที่อังกฤษ เราจึงเริ่มสงสัยว่า หรือไม้ไทยจะไม่เหมือนไม้ที่อังกฤษ ทีนี้ก็เริ่มดูว่ายังหาขี้เถ้าจากที่อื่นได้อีกไหม ซึ่งตอนไปกินส้มตำไก่ย่าง ก็เหมือนเจอขุมทรัพย์ มันคือความบังเอิญ เราไม่รู้หรอกว่าขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างมันให้สีศิลาดลที่สวยที่สุดจริงๆ” โมเล่าอย่างตื่นเต้น
แม้ค้นพบแล้วว่า ขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างร้านนี้ให้สีศิลาดลสวยตรงใจ แต่เมื่อทดลองกับขี้เถ้าจากเตาไก่ย่างร้านอื่นๆ ก็พบว่าให้สีที่อยู่ในโทนเดียวกัน ทว่าแตกต่างกันเล็กหน่อย
“เราหอบขี้เถ้าใส่กระเป๋าเดินทางแล้วกลับไปทำที่อังกฤษ (หัวเราะ) ตอนนั้นกลัวตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมาก เพราะถ้าโดนตรวจก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่ก็ผ่านไปได้ แล้วสุดท้ายพอเรียนจบ อาจารย์ก็ถามว่าจะเอาขี้เถ้ากลับไทยไหม เราก็ไม่เอา อาจารย์เขาก็เลยขอไปทดลองอะไรของเขาต่อ”
โมเล่าต่อไปว่าช่วงที่ทำวิจัย เขาคิดไปถึงการใช้ขี้เถ้าจากเมรุหรือจากเตาเผาศพด้วย เพียงแต่ยังไม่ได้ลงมือทำจริงด้วย และบอกอย่างติดตลกว่า กลัวพระที่วัดคิดว่าเล่นของ
“ขี้เถ้าในเมรุยังไม่เคยใช้ เพราะยังสนิทกับวัดไม่พอ กลัวพระหาว่าเอาไปทำของ เล่นของ แต่ว่าสิ่งที่อาจจะเป็นโปรเจกต์ในอนาคตของเราคือกระดูกพ่อ เพราะก่อนตายเขาสั่งเสียไว้ว่า ‘ให้เอากูไปทำเซรามิกด้วยนะ’ แต่ถ้าถามว่าเป็นไอเดียใหม่ไหม ก็ไม่นะ เพราะมีศิลปินทำแล้ว” โมกล่าว
กระเบื้องเคลือบในโรงไม้
ในคราวแรกเราไม่คิดว่า เซรามิกของโมจะอยู่ในโรงไม้แถบปริมณฑล เพราะด้วยบุคลิกภาพที่ดูเป็นศิลปินเท่ๆ น่าจะมีสตูดิโอทำงานอยู่ใจกลางเมืองเสียมากกว่า ซึ่งโมเล่าว่าความจริงโรงไม้แห่งนี้ คือธุรกิจของครอบครัวที่โมเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อ หลังจากที่พ่อเสียไปชีวิตไปได้ไม่นานนัก
เมื่อคุยเรื่องโรงงานไม้กับโมจึงได้ทราบว่า ความจริงโมเกิดในครอบครัวช่างฝีมือ ตั้งแต่รุ่นอากงหรือปู่ที่เคยเป็นช่างทำตู้ทองให้ร้านขายทองในเยาวราช จนขยับขยายมาทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในรุ่นพ่อของโมได้ทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์แบบสั่งผลิตหรือคัสตอมเมด จนโรงงานแห่งนี้ได้ตกทอดมาถึงโม จากศิลปินผู้หลงใหลในเซรามิกจึงได้รับบทบาทอีกหนึ่งอย่างคือ การเป็นเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ บริษัท ดูรีเฟล็กซ์ จำกัด
ด้วยความที่เติบโตในโรงไม้สำหรับเฟอร์นิเจอร์ เราจึงสงสัยว่า ทำไมโมจึงเลือกเรียนเพื่อเป็นช่างปั้นเซรามิกมากกว่าที่จะเลือกเป็นช่างไม้
“พ่อจะชอบให้เราทำของไร้สาระ” โมกล่าว
“คือความจริงเราก็ไม่เคยคิดว่าจะชอบเซรามิก จนกระทั่งเลือกเรียนไอดีจุฬา (สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) ซึ่งตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่งโดยไม่ต้องพยายามอะไรมาก แล้วต้องเรียนเซรามิก ปรากฏว่าทำเซรามิกวันแรกปุ๊บ พังเลย วันที่ 2 พังอีก พังอยู่ 3-4 เดือนจนรู้สึกว่า อันนี้คือความท้าทายของชีวิต เหมือนเพิ่งเคยเจอสิ่งที่ยากครั้งแรกในชีวิต เลยชอบ กลายเป็นว่าความล้มเหลวคือความท้าทาย แล้วเราก็โชคดีที่เจอแพสชันของเราเร็ว ตอนนั้นเรียนปี 2 อายุ 19 ปี ที่เจอแล้วรู้ว่าอยากทำสิ่งนี้ไปเลยตลอดชีวิต” โมเล่าถึงแพสชันที่มีต่อเซรามิก
แพสชันของโมสานต่อโดยพ่อของเขา เมื่อโมไปบอกพ่อว่า อยากเรียนต่อปริญญาโทด้านเซรามิกที่ประเทศอังกฤษ พ่อก็สนับสนุนเต็มที่
“ค่าเทอม 5 ล้าน มันแพงมาก แต่ป๊าให้ พร้อมบอกว่า ‘ถ้ามึงบอกว่าอยากเรียน MBA กูจะไม่ให้’ ป๊าเขาสนับสนุนในความประหลาดของเรา เขาค่อนข้างชอบให้ลูกทำอะไรแปลกๆ ถ้าเราเรียนอะไรเซฟๆ แบบบริหารธุรกิจ เขาก็จะบอกน่าเบื่อ เรียนไปทำไม” โมกล่าวถึงพ่อผู้ล่วงลับ
แม้การเรียนจบเซรามิกในระดับปริญญาโท และเลือกเป็นศิลปินอาจถูกมองว่าไม่มั่นคง แต่โมกลับคิดว่าไม่ว่าอย่างไร งานคราฟต์ยังพอทำเงินได้ แม้จะต้องต่อสู้กับเซรามิกจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทั้งคุณภาพดีและราคาถูก
“Pain Point คือแขนงอุตสาหกรรมเซรามิกของประเทศเราทำได้ดีเกินไป จนแขนงงานคราฟต์อยู่ลำบาก แล้วเซรามิกจากโรงงานมันราคาถูกมาก ปรากฏว่าพอเป็นงานคราฟต์ปั้นมือ คนบางกลุ่มอาจไม่เข้าใจว่าทำไมราคาแพง มันถูกเปรียบเทียบราคากันตลอด แต่ทุกวันนี้คนก็เข้าใจและอยากได้งานคราฟต์มากขึ้นนะ” โมบอกกับเรา
ในวันนี้ตัวตนของโมผสมผสานทั้งแพสชันในงานเซรามิก กับความรับผิดชอบในโรงไม้ที่เขาเติบโตมา สองสิ่งนี้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งในสถานที่เดียวกัน
“ตอนแรกไม่คิดว่าเซรามิกกับโรงงานเฟอร์นิเจอร์จะสัมพันธ์กันเลย แต่พอทำจริงจัง มันเริ่มมีการครอสกันบางอย่าง เช่น การทำสีเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันมีการใช้เตาเซรามิกเข้ามาช่วย ทำให้สีสเตนเลสของเราทนทานกว่าเจ้าอื่นในตลาด เพราะคนอื่นเขาพ่นสีเฉยๆ แต่ของเราพ่นแล้วอบด้วย ทำให้ผนึกกับเนื้อโลหะได้ดีขึ้น หรือเดี๋ยวนี้มีโต๊ะท็อปเซรามิก เราก็สามารถทำได้ด้วยความรู้จากเซรามิก”
แต่สิ่งที่ทำให้สตูดิโอของโมแตกต่างกับสตูดิโอเซรามิกอื่นๆ มากที่สุด คงเป็นเหล่าเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน ซึ่งโมได้นำไม้จากในโรงงานมาทำเป็นเครื่องมือสำหรับปั้นเซรามิก ที่โมภูมิใจนำเสนอเรียกว่า ‘อมยิ้ม’ อุปกรณ์ที่ปลายเป็นไม้กลมสำหรับกดกลางก้อนดินให้กลวงจนกลายเป็นหม้อ
“การที่เราโตมากับโรงไม้ เราก็จะมีเครื่องมือสนุกสนานเล่น เอาเทคนิคการทำไม้กับไม้ในโรงงานมาทำเครื่องมือทำเซรามิก ซึ่งสตูดิโอเซรามิกอื่นเขาไม่มีกัน อันนี้ก็เป็นความโชคดีของเรา” โมบอกภูมิใจขณะเดินพาชมสตูดิโอหลังสิ้นสุดการพูดคุย
Tags: HAY Thailand, โมจิรชัยสกุล, ศิลาดล, Feature, เซรามิก, HAY