เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 และกำลังจะสาบานตนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สิ่งที่ทั่วโลกจับตามองคือ นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือหรือไม่
เพราะหากวัดจากสมัยที่แล้ว ทรัมป์คือประธานาธิบดีที่ ‘ไม่เชื่อ’ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังบริภาษอยู่บ่อยครั้งว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็น ‘ข่าวปลอม’
คำถามคือทิศทางการจัดการปัญหา ‘โลกรวน’ ในเทอมที่ 2 ของประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น หรือเขาจะยังยืนบนจุดยืนเดิม
ก้าวที่เปลี่ยนไปของการจัดการปัญหาโลกรวนหลังชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์
หลังโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 กำลังจะสาบานตนและย้ายเข้าทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคม 2025 นี้ ทั่วโลกต่างกำลังจับตามองถึงความเป็นไปของประเทศมหาอำนาจทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และอีกประเด็นที่ทำให้ร้อนๆ หนาวๆ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้คือประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นที่รู้กันก่อนหน้านี้ว่า เมื่อทรัมป์ยังเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในช่วงปี 2017-2021 ทรัมป์ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นเรื่องโลกร้อนไว้อย่างชวนสะดุ้งและเป็นไวรัลไปทั่วโลก ทรัมป์มีคู่ปรับคนสำคัญคือ เกรต้า ทันเบิร์ก (Greta Thunberg) หญิงสาวชาวสวีเดนซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเคยลับฝีปากกันทาง X ให้ชาวโลกได้เห็นกันมาแล้ว
เหตุใดเราจึงต้องสนใจความเป็นไปของสหรัฐฯ ต่อประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจากในปัจจุบันประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นภารกิจระดับโลกที่ต้องดำเนินการร่วมกันในประชาคมโลก เพื่อรับมือกับเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศตามแนวปฏิบัติภายใต้ข้อตกลงปารีส ซึ่งมีกว่า 194 ประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีภายใต้ข้อตกลงนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งข้อตกลงปารีสคือ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ว่าด้วยการกำหนดมาตรการในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของภาวะโลกรวน โดยสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ซึ่งภาคีสมาชิกที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงนี้ต่างมีหมุดหมายว่า จะต้องมีการลดอุณหภูมิลง 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 และเนื่องด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน เพราะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสัมพันธ์กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างมหาศาล ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศอย่างการเปลี่ยนตัวผู้นำของสหรัฐฯ ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมไปถึงนานาประเทศด้วย การกำหนดกิจกรรมของประเทศที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกระทบต่อประชากรทั่วโลกด้วย
ดังนั้นการเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจ ในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามอง
ก่อนหน้านี้ทรัมป์เป็นอย่างไร
ย้อนไปเมื่อปี 2009 ที่ทรัมป์ยังไม่เข้าวงการการเมือง ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่งได้เคยลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ The New York Times กับผู้นำทางธุรกิจอีก 12 คน สนับสนุนให้มีการตรากฎหมาย เพื่อจัดให้มีมาตรการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งการปรับเปลี่ยนให้สหรัฐฯ เป็นประเทศพลังงานสะอาด โดยมีแถลงการณ์ว่า “หากเราไม่ทำมันตอนนี้ ผลกระทบมันจะร้ายแรงและจะไปถึงจุดที่มวลมนุษยชาติและโลกของเราย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว”
ตลกร้าย 8 ปีต่อมาในปี 2017 ทรัมป์ในปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 1 ทรัมป์พาสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส โดยการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ทรัมป์อ้างว่า หากสหรัฐฯ ยังเข้าร่วมข้อตกลงนี้อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ลดลงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีคนตกงานกว่า 6.5 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดภายใต้ข้อตกลงปารีสทำให้สหรัฐฯ ยังไม่อาจถอนตัวออกจากข้อตกลงได้ทันที จนกว่าจะถึงปี 2020 และหลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ได้กลับมาเข้าร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงปารีสอีกครั้งในสมัยประธานาธิบดี ดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ในปี 2021 ดังนั้นเมื่อทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในสมัยที่ 2 จึงเป็นที่น่าจับตาดูว่า ทรัมป์จะพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้งหรือไม่
นอกจากผลงานเด่นเรื่องการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่แสดงวิสัยทัศน์ในปัญหาโลกร้อนคือ หลักฐานดิจิทัลฟุตปรินต์ของทรัมป์เมื่อยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรก เป็นที่รู้กันว่าทรัมป์มักจะใช้เครื่องมือในการสื่อสารคือ X ทรัมป์ใช้งานโดยเฉลี่ยวันละ 7 โพสต์เป็นอย่างต่ำและในเรื่องโลกร้อนทรัมป์โพสต์ไปกว่า 115 ครั้ง และมักจะโพสต์ว่า โลกร้อนคือเรื่องหลอกลวงที่จีนสร้างขึ้นเพื่อโจมตีเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรากฏการณ์โลกร้อนคือข่าวปลอม นอกจากจะไม่ใช่แค่ข่าวปลอม วิทยาศาสตร์ก็ปลอม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสภาพภูมิอากาศมีมาตั้งแต่ปี 1850
ทรัมป์กล่าวว่า ไม่มีวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศอะไรทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นคาร์บอนไดออกไซต์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนคือ โครงสร้างหลักของร่างกายมนุษย์ทุกคน ซึ่งถึงตรงนี้ทุกคนที่ได้อ่านต่างกุมขมับ เพราะทรัมป์เข้าใจผิดเป็นอย่างมาก เพราะการที่ร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยคาร์บอน (C) และออกซิเจน (O) ทำให้ทรัมป์เข้าใจว่า คาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) คือส่วนประกอบสำคัญของร่างกายมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วคาร์บอนไดออกไซต์คือ ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ยังไม่พอเท่านั้น ทรัมป์ค่อนข้างจะสับสนระหว่างคำว่า ‘สภาพภูมิอากาศ’ และ ‘อากาศ’
ทรัมป์ไม่เคยเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มักจะร้องขอให้โลกร้อนอยู่เสมอ เพราะเข้าใจว่าโลกร้อน หมายถึง การที่อากาศมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยบรรเทาความหนาวเย็น ทรัมป์ชอบบ่นว่า สหรัฐฯ หนาวจะตายอยู่แล้ว หิมะตกหนัก ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ โปรดกลับมาเถอะโลกร้อน เราต้องการโลกร้อน หรือโพสต์สั้นๆ ที่บอกว่า “ข้างนอกหนาวมาก เรื่องโลกร้อนคงเป็นเรื่องโกหกสินะ”
ตัดภาพมาที่สถานการณ์โลกร้อนที่สวนทางกับคำพูดของประธานาธิบดีเหลือเกิน หน่วยงานประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ มีการรายงานว่า โลกของเราอาจแตะถึงจุดที่อันตรายในปี 2030 ซึ่งจะนำมาซึ่งปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดจากที่เคยผ่านมา ผู้คนอดอยากรุนแรง เพิ่มการเสียชีวิต โรคภัยไข้เจ็บจากมลพิษทางอากาศ และสหรัฐฯ อาจสูญเงินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วย
ขณะที่ทรัมป์อาจไม่เข้าใจความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยซ้ำ ทำให้ทรัมป์เชื่อว่า เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไม่มีอะไรมาก จึงไม่ได้ถูกตั้งไว้เป็นนโยบายอันดับแรกในการดำเนินการหลักของรัฐบาลสมัยทรัมป์ และนอกจากความเข้าใจอย่างผิดๆ แล้ว ทรัมป์ยังมั่นใจในตัวเองมากถึงกับเคยประกาศตัวว่า เขาคือนักสิ่งแวดล้อมตัวจริง เขาต้องการน้ำและอากาศสะอาด ซึ่งในความเข้าใจของทรัมป์ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมคงจะเป็นแค่เรื่องของอากาศและคุณภาพที่ดีเท่านั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของภาวะโลกรวน
อุปสรรคใหญ่ของโลกของหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง
การที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 หมายความว่า ใน 4 ปีข้างหน้า โลกของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป วาระ 4 ปีของทรัมป์ต่อจากนี้มีความหมายมากสำหรับสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังตื่นตัว จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เห็นได้จากการที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา
ในสมัยของไบเดน สหรัฐฯ ดำเนินการอย่างหนักในเรื่องของแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 50% ในปี 2030 และลดการปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ในปี 2050 รวมถึงการออกกฎหมายในปี 2022 คือพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act 2022: IRA) ซึ่งมีสาระสำคัญในการจัดสรรเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยคาร์บอน ให้เงินสนับสนุนการวิจัยในด้านพลังงานสะอาด ซึ่งหลังจากการออกพระราชบัญญัตินี้ ประชาคมโลกต่างเฝ้ามองอย่างมีความหวังว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้นของโลก กำลังจะแก้ไขภาวะโลกรวนอย่างจริงจังแล้ว จนกระทั่งเมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเข้ามาในปี 2014 ทุกคนต่างตั้งคำถามว่า ‘ปณิธานของไบเดนจะได้รับการสานต่อหรือไม่’
ขณะที่โลกของเรารอเวลาไม่ได้แล้ว เพราะอยู่ในจุดที่สภาพภูมิอากาศไม่อาจหวนคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป ผนวกกับการปรากฏตัวของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกไม่สามารถเสียเวลาได้แล้วแม้แต่ขณะเดียว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างเป็นกังวล
ในปัจจุบันที่ทุกประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดต่อมวลมนุษยชาติ แต่สิ่งที่ทรัมป์ทำคือในสมัยของเขา เขาจะสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล
ทรัมป์ในสมัยที่ 2 สนใจแต่การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งคาดการณ์ว่า อาจมีเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 4 พันล้านตันในปี 2030 และสิ่งนั้นทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีนักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า
เป็นไปได้อย่างมากที่ทรัมป์อาจมีการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง ทั้งยังจะรื้อกฎหมายและสิ่งที่ไบเดนได้ทำลงไปแล้ว ดังนั้นนักวิเคราะห์ทางสิ่งแวดล้อมจึงได้แสดงความกังวลต่อทรัมป์ ที่อาจทำให้กระบวนการเพื่อให้เกิดการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังดำเนินไปอยู่อาจหยุดชะงักลง ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงตามมาเกินกว่าที่ผู้ใดจะคาดเดาได้ คงดูไม่จืดและน่าเอือมระอา เมื่อประเทศที่มุ่งจัดการเรื่องปัญหาโลกร้อนอย่างแข็งขันก็ทำต่อไป แต่ขณะที่ประเทศที่เป็นต้นเหตุหลักกลับไปไม่สนใจไยดีที่จะจัดการ
และท้ายที่สุดธรรมชาติย่อมเอาคืนทุกคน โดยไม่เลือกข้างใครทั้งนั้น
อ้างอิง
https://www.carbonbrief.org/experts-what-does-a-trump-presidency-mean-for-climate-action/
Tags: สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, ทรัมป์, climate change, Rule of Law, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา, โลกรวน