“การแสดงละครทั้งหมดที่เคยจัดที่นี่มีทั้งหมด 116 เรื่อง รอบการแสดง 828 รอบ จัดเฟสติวัล 11 ครั้ง โครงการแลกเปลี่ยน 2 ครั้ง โชว์เคส 29 ครั้ง เวิร์กช็อป 55 ครั้ง เสวนาพูดคุยหลังละคร 59 ครั้ง ฉายหนัง 10 ครั้ง ยังไม่นับที่กลุ่มละครต่างๆ แวะเวียนมาประชุม คุยงาน ซ้อมละครแต่ละปีมีนักทำละคร ผู้ชม และคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับละครโรงเล็กพระจันทร์เสี้ยวการละครราวปีละ 4,000 คน”
ทั้งหมดนั้นคือสรุปภาพรวมตลอด 10 ปี ก่อนประกาศปิดตัวละครโรงเล็ก ‘Crescent Moon Space’ หรือ ‘พระจันทร์เสี้ยวการละคร’ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ
คน : การแสดง : สถานที่ : กาลเวลา
20 ปีที่แล้ว พื้นที่กว้างยาวด้านละไม่ถึง 10 เมตร หลังแท่นหินสีดำไม่ไกลจากลานน้ำพุของ ‘สถาบันปรีดี พนมยงค์’ เคยเป็นสำนักงานของ ‘พระจันทร์เสี้ยวการละคร’ ที่เอาไว้ประชุม เตรียมงาน พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นโรงละครขนาดเล็กและถือเป็นอีกพื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะการละคร ที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ล่าสุด สถาบันปรีดี พนมยงค์ ประกาศเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และเตรียมปิดอาคารเพื่อปรับปรุง
สุดา พนมยงค์ ประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เขียนชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า เนื่องจากตัวอาคารไม่เคยมีการปรับปรุงครั้งใหญ่มากว่า 20 ปี อาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ไม่สะดวกต่อการใช้งาน ไม่รองรับกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ ที่ยังต้องดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ อย่างเช่นการจัดทำนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตย ความรู้เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ และการจัดปาฐกถาทางวิชาการ ฯลฯ
คำชี้แจงยังระบุว่า ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจที่คลาดคเลื่อนเรื่องทางสถาบันปรีดีฯ จะถูกยกให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาบริหารสถาบัน ซึ่งกรรมการมูลนิธิฯ ไม่เคยมีมติเรื่องนี้ แต่มีมติว่าการปรับปรุงสถาบันฯ อาจทำให้ไม่สะดวกในการใช้สถานที่ ดังนั้นจะขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์เพื่อจัดกิจกรรมชั่วคราวก็ได้
นั่นเป็นที่มาให้หลายชีวิตหลากความสัมพันธ์มารวมตัวกันเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยกันทำความสะอาดละครโรงเล็ก ก่อนส่งคืน ‘ชุมชนศิลปะ’ ซึ่งทุกคนใช้ร่วมกันมายาวนาน
“พระจันทร์เสี้ยวการละครมีโอกาสเข้ามาอยู่ที่นี่ (สถาบันปรีดี พนมยงค์) ตั้งแต่ปลายปี 2541 ตอนนั้นได้การสนับสนุนพื้นที่ให้ใช้ห้องได้หนึ่งห้อง เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายศิลปวัฒนธรรมของทางสถาบัน” สินีนาฏ เกษประไพ แห่งพระจันทร์เสี้ยวการละคร เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงประจำปี 2551 เล่าถึงเรื่องราวในวันวาน
เธอบอกว่า ช่วงที่อาคารของสถาบันฯ สร้างเสร็จได้ไม่นาน ก็มีส่วนร่วมคิดกิจกรรมให้คนรู้จักและเข้ามามีส่วนร่วม งานยุคแรกเป็นงานกลางแจ้งตรงลานน้ำพุ ‘ลานจันทร์สานฝันคนเมือง’ ซึ่งเป็นคล้ายที่สังสรรค์กันยามเย็น อาจมีงานละคร แสดงดนตรี อ่านบทกวี หรืออีกหลายอย่าง ที่ทำให้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน ในช่วงแรก สถาบันปรีดีฯ เป็นพื้นที่ให้ศิลปินมาพบปะ หารือ และเตรียมงาน แต่ต่อมาในปี 2550 พระจันทร์เสี้ยวการละครก็เริ่มใช้ห้องเล็กๆ ที่ได้มา ปรับเป็นโรงละคร
สำหรับนักแสดงในคณะละครเล็กๆ เมื่อจะเล่นละครแต่ละครั้ง ก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งหมดไปกับค่าเช่าโรงละคร สินีนาฏบอกว่า เรื่องที่กลุ่มคนทำละครพูดถึงเสมอคือบ้านเรายังขาดแคลนโรงละคร แม้ในกรุงเทพฯ จะมีโรงละครใหญ่หลายแห่ง แต่ล้วนมีราคาสูง
“นึกถึงโรงละครในตึกแถวที่ญี่ปุ่น คือโรงละครบ้านเขาบางแห่งอยู่ชั้นสอง ชั้นสาม บางแห่งอยู่ชั้นใต้ดินเลยด้วยซ้ำ เลยคิดว่าทำไมไม่ทำห้องที่มีอยู่ให้เป็นโรงละคร”
แต่กว่าจะแปลงห้องขนาดจิ๋วให้เป็นโรงละครได้ ก็ต้องค่อยๆ สะสมอุปกรณ์ปรับสภาพห้อง ค่อยๆ หางบประมาณไปเรื่อยๆ แม้แง่กายภาพจะแตกต่างไปจากโรงละครสมบูรณ์แบบที่มีขนาดใหญ่เครื่องเคราครบครัน แต่พระจันทร์เสี้ยวการละครไม่ได้มองความใหญ่เป็นสาระ แค่ต้องการพื้นที่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้
นอกจากจะเป็นโรงละครแล้ว สถาบันปรีดีฯ ยังเป็นเวทีพูดคุย จัดเวิร์กช็อป เช่น พื้นฐานการแสดง การเขียนบทละครเวที การออกแบบแสงเพื่อละครเวที การฝึกการใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว ระยะหลังมีละครหุ่น หุ่นมือหุ่นเปเปอมาเช่ โยคะ และมีโปรเจ็กต์ทดลองอีกมากมาย
“พอมีพื้นที่มันก็เป็นตัวเลือกให้กับกลุ่มละคร แบบไม่ต้องใหญ่มาก แล้วค่อยจัดการสร้างสรรค์พื้นที่นั้นให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น มันเกิดการแปลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดโปรเจ็กต์ทดลองหลายอย่าง… พอไม่มีพื้นที่ตรงนี้ก็ทำงานได้ยากขึ้น”
ตอนสินีนาฏตัดสินใจว่าถึงเวลาที่พระจันทร์เสี้ยวการละครต้องออกจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ย้ายบ้านไปที่อื่น ซึ่งยังไม่รู้ว่าบ้านหลังใหม่คือที่ไหน ก็เต็มไปด้วยความคิดว่าจะจัดการละครที่เริ่มแล้วแต่ยังไม่จบลงอย่างไร จะเอาอุปกรณ์ไปเก็บไว้ที่ไหน ฯลฯ ไม่ใช่แค่นั้น สมาชิกละครโรงเล็กแห่งนี้ ต่างผูกพันกับโรงละครเหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง
“อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังมีความหลงใหลในการทำงาน ถ้าสิ่งนี้มันยังแข็งกล้าอยู่ ก็ต้องหาพื้นที่ให้ได้” สินีนาฏกล่าว
โรงละคร = พื้นที่ทางวัฒนธรรม
อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรมวันปิดตัวโรงละครพระจันทร์เสี้ยว ทั้งเข้าร่วมในฐานะผู้ชมและนักแสดง
เขาสนใจงานละครมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ จากการเป็นผู้ชมจนกลายเป็นนักแสดงที่โรงละครพระจันทร์เสี้ยว
“ผมว่าละครสเกลไม่ใหญ่มันต้องรีดเค้นความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพออกมาเยอะ ต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่สี่เหลี่ยมตรงนี้ให้เป็นทุกอย่างให้ได้ เป็นแกลเลอรีศิลปะ ยานอวกาศ นอกโลก ฉากละครเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้มันเป็นมาทุกอย่างแล้ว”
อรรถพลกังวลว่า ถ้าต่อไปไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะฝึกปรือกันที่ไหน จะเอาอะไรไปโชว์เคส ทั้งนี้สังคมกำลังต้องการละครที่ออกไปสู่ระดับนานาชาติ แต่ศิลปินกลับไม่มีพื้นที่ทำงาน ไม่มีคน หรือแม้แต่เครือข่ายสนับสนุน
“สำหรับผม พื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ของโรงละครในความหมายทางกายภาพ มันคือพื้นที่ทางวัฒนธรรม มีคนมาเกาะกลุ่มทำงาน ใครไปใครมาก็รู้ว่าละครเรื่องไหนจะมาลง คนไหนกำลังซ้อมเรื่องไหนอยู่ มันมีโอกาสดึงกำลังคนมาช่วยกัน แล้วก็ปั้นคนรุ่นใหม่ขึ้นมา”
อรรถพลทราบวันเวลาแน่ชัดที่พระจันทร์เสี้ยวการละครต้องย้ายออกจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนเรื่องที่ว่า ทางสถาบันต้องปรับปรุงอาคารและย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เขาพอมีข้อมูลมาพักใหญ่แล้ว
ซึ่งรับกันตามตรง หากคิดในเชิงธุรกิจก็ต้องยอมรับว่าการให้ศิลปินมาพำนักนั้นคงได้ค่าตอบแทนไม่มากนัก
“โรงละครพระจันทร์เสี้ยวในสถาบันปรีดี พนมยงค์ ไม่เหมือนการไปเช่าพื้นที่เป็นกับเจ้าของที่อื่น มันเป็นการช่วยเหลือกันทางวัฒนธรรม ถ้าผู้บริหารชุดใหม่ของสถาบันเข้ามาแล้วไม่ได้มองพื้นที่ตรงนี้เป็นต้นทุนทางสังคม ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมต่างไปจากการมองพื้นที่ตรงนี้ในเชิงธุรกิจ คือตลอดสิบปีคุณได้ศิลปินสร้างงานออกมาเป็นละครร้อยๆ เรื่อง มีคนดูที่เป็นหนุ่มสาวที่สนใจงานละครจำนวนมาก มันตีออกเป็นมูลค่าไม่ได้ จะเป็นเงินเท่าไหร่ จะแปลว่าอะไรบ้าง”
สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทางการละคร ไม่ใช่แค่การเปิดพื้นที่ให้คนมาเช่าเล่นละคร แต่ยังมีส่วนพัฒนาคุณภาพการละครด้วย
อรรถพลเห็นว่าหลังจากนี้คนทำละครต้องดิ้นรนมากขึ้น ต้องหาพื้นที่ทำงานแห่งใหม่ ซึ่งนอกจากพระจันทร์เสี้ยวการละครแล้ว พื้นที่นี้ยังเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีคณะละครอย่าง B-Floor และ FoFo Hut ด้วย
“บ้านเรายังให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงนี้น้อย ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน… ประเทศไหนที่ให้เขาความสำคัญกับศิลปะ การมีเป็นโรงละครขนาดเล็กแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ” อรรถพลกล่าว
เขาเสริมว่า ในประเทศที่สนับสนุนงานศิลปะ ศิลปินจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งเรื่องพื้นจัดแสดง และเงินสมทบทุนการทำงาน โดยถือว่าเป็นต้นทุนความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของเมือง ถ้าเมืองไหนมีต้นทุนเหล่านี้ดี ก็สะท้อนความเป็นอยู่ของชีวิตคนในเมืองนั้นด้วย
สำหรับเขาโรงละครพระจันทร์เสี้ยวในสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงไม่ใช่แค่พื้นที่สี่เหลี่ยมที่หายไป แต่เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ทุกคนจำเป็นต้องคิดจริงจังว่าถ้าปราศจากพื้นที่นี้แล้ว คนทำงานศิลปะการละครจะไปอยู่ที่ไหน
อ้างอิง:
- เว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ http://pridiinstitute.com
FACT BOX:
- เมื่อปี 2526 องุ่น มาลิก ครูและนักเขียนอันเป็นที่เคารพ มอบที่ดินจำนวน 371 ตารางวา เพื่อเป็นบริเวณให้ปลูกสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ เจตนาให้มีสถานที่เพื่อดำเนินกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อราษฎรตามที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ห่วงใยมาตลอด พิธีวางศิลาฤกษ์มีขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2510
- กิจกรรมทำความสะอาดและคืนพื้นที่หลังการปิดตัวของพระจันทร์เสี้ยวการละคร (Crescent Moon Space) มีขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2560 และเชิญชวนให้คนมาเขียนความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่ต่อพื้นที่แห่งนี้เพื่อบอกลาและบันทึกประวัติศาสตร์ทางการละคร ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทาง facebook.com/@crescentmoonspacebkk