ใช้เวลาคิดกับตัวเองอยู่พักหนึ่งว่า ในช่วงส่งท้ายปีหนังสือที่จะหยิบมาอ่านควรมีหน้าตาแบบไหน และใช้เวลาอีกชั่วหนึ่งถึงจะหยิบหนังสือ นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ : Novelist as A Profession ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ออกมาจากชั้น

เหตุผลหลักๆ มีอยู่ 2 ข้อ 

  1. เป็นของขวัญวันคริสต์มาสที่ซื้อให้ตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ด้วยคอนเซปต์ง่ายๆ ว่า จะเลือกหนังสือที่มีปกสีแดง ซึ่งนักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ : Novelist as A Profession ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 มีปกสีแดงเป็นหลัก
  2. น้อยคนนักที่จะรู้ว่า จริงๆ ความฝันในอาชีพแรกที่จำได้ของฉัน คือการเป็นนักเขียน (ถึงขั้นเคยแต่งลงบล็อกตอนมัธยม) และตอนนี้ก็ยังฝันอยู่

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นการตัดสินใจที่ง่ายดายนัก ที่หยิบจับเล่มนี้กลับบ้านในวันนั้น และคิดว่าคงถึงฤกษ์งามยามดีที่จะเปิดอ่านของขวัญเมื่อปีที่แล้วเสียที

ออกตัวก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นวนิยาย ไม่ใช่เรื่องสั้น แต่มูราคามินิยามหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ‘ความเรียงอัตชีวประวัติ’ มีอยู่ทั้งหมด 11 บท ทั้งหมดคล้ายบันทึกคำบรรยายเรื่องส่วนตัวของเขา ซึ่ง 6 บทแรกมูราคามิได้นำบันทึกที่หลับใหลในลิ้นชักโต๊ะเขียนหนังสือของเขาออกมาปัดฝุ่น และอีก 5 บทที่เหลือเขียนขึ้นมาใหม่

การที่มูราคามินำบันทึกส่วนตัวที่เขียนไว้ตั้งแต่ช่วงแรกที่ก้าวขามาเป็นนักเขียนอาชีพ ทำให้เราได้เห็นความคิดเขาในช่วงนั้น โดยในบทแรกมูราคามิเริ่มต้นด้วยคำถามว่า นักเขียนนวนิยายเป็นกลุ่มคนใจกว้างหรือไม่ โดยเขาเปรียบเปรยนักเขียนนวนิยายไว้ว่า 

“กล่าวว่างานประเภทนวนิยายนั้นเปรียบประดุจสังเวียนมวยปล้ำที่ใครๆ ก็เข้ามาได้ง่ายๆ ถ้าคิดจะเข้า เชือกขึงรอบเวทีมีช่องกว้าง มีแท่นรองเหยียบขึ้นสังเวียนแสนสะดวกจัดเตรียมให้ สังเวียนกว้างใหญ่ ไม่มียามซุ่มคอยกีดกันไม่ให้เข้า กรรมการก็ไม่เรื่องมากเท่าไร นักมวยปล้ำมืออาชีพ -ซึ่งในที่นี้หมายถึงนักเขียนนวนิยาย- ออกจะถอดใจอยู่ประมาณหนึ่งแต่แรกแล้ว ท่าทีทำนองเอาเถอะใครก็ได้ ขึ้นสังเวียนกันเรื่อยๆ เลย ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นพวกยอมรับฟังความเห็นของคนอื่นได้ดี หรือเป็นพวกสบายๆ หรือเป็นพวกยืดหยุ่น พูดง่ายๆ คือ เป็นพวกยังไงก็ได้ค่อนข้างมาก” 

มูราคามิยังกล่าวต่อว่า แต่การเขียนนวนิยายอย่างต่อเนื่องยาวนาน เขียนนวนิยายเพื่อปากท้อง การจะใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปในฐานะนักขียนนวนิยายกลับเป็นเรื่องยากยิ่ง 

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่บทแรก คือความในใจของมูราคามิ ที่ถูกต่อต้านจากคนในวงการบางกลุ่มที่เคร่งครัดกับการเขียนนวนิยายแบบเดิม เช่น การที่เขาได้รับรางวัลนักเขียนหน้าใหม่จากนวนิยายเล่มแรกอย่าง สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนดาวรุ่งหน้าใหม่ เป็นตัวเต็ง และคาดเดากันว่า มูราคามิจะได้รับรางวัลนักเขียนอาคุตางาวะ รางวัลใหญ่ในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น แม้ว่าหากมูราคามิได้รับรางวัลจริง แน่นอนว่ากระแสต่อต้านเขาก็จะยิ่งมากขึ้น ขณะที่หากไม่ได้รับรางวัลก็จะถูกเย้ยหยัน 

 “เหล่าบรรณาธิการที่รายล้อมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นแบบนี้คุณมูราคามิคงหมดอายุแล้วละ ไม่น่าจะได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอาคุตางาวะอีกแล้ว ตอนนั้นผมคิดในใจว่า ‘หมดอายุนี่มันประหลาดไปหน่อยไหม’ รางวัลอาคุตางาวะโดยพื้นฐานแล้วมอบให้กับนักเขียนหน้าใหม่ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาย่อมถูกถอดออกจากการเสนอชื่อเข้าชิง”

ซึ่งการพลาดรางวัลดังกล่าวก็ทำให้เขาโล่งใจอยู่ไม่น้อย แม้ว่าไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักแต่ก็สัมผัสได้ในระหว่างบรรทัดเรื่อยมา มากไปกว่านั้นส่วนตัวมองว่าหนังสือเล่มนี้กลายเป็นถ้อยแถลงตอบโต้กลุ่มเหล่านั้นไปโดยปริยาย เพราะมูราคามิมีนิสัยไม่ค่อยโต้ตอบ จึงอาจใช้โอกาสในหนังสือเล่มนี้ชี้แจงทุกอย่างให้เสร็จสิ้น (อารมณ์เหมือนผมไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้อีกในอนาคต)

สิ่งใหญ่ๆ ที่เราเห็นได้จากความเรียงอัตชีวประวัติเล่มนี้คือ ความมีวินัยของมูราคามิที่จะเขียนนิยายในทุกวันวันละ 400 ตัวอักษร แม้วันไหนไอเดียโลดแล่นก็จะเขียนอยู่แค่นี้ หรือแม้แต่วันที่เขียนไม่ออกเขาก็จะเขียนให้ได้ 400 ตัวอักษร เนื่องจากต้องการปลูกฝังความสม่ำเสมอ ประกอบกับการวิ่งที่เขาเอาจริงเอาจังในชีวิตจริง ทั้งการวิ่งมาราธอนและการวิ่งในชีวิตประจำวัน และมองว่าการวิ่งกับการเขียนได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน

แล้วการเขียนนวนิยายเป็นอาชีพมันคืออะไรกันแน่? 

แม้หนังสือเล่มนี้ไม่อาจตอบคำถามได้ชัดเจนอย่างเป็น Bullet 1. 2. 3. 4. แต่แน่นอนว่าหากคุณอ่าน ทำความเข้าใจระหว่างบรรทัดของมูราคามิ คุณจะเห็นสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของเขาได้อย่างมากมาย เช่น การที่งานเขียนใหม่ๆ เข้าไปสั่นคลอนงานเขียนแบบดั้งเดิม ‘บริสุทธิ์’ และแรงต้านทานอย่างมากจากคนในวงการเดียวกัน

 แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นคือ ความไม่ย่อท้อ ความสม่ำเสมอ ซึ่งพออ่านถึงจุดที่เขาโดนคลื่นยักษ์แรงต้านโหมกระหน่ำใส่ ก็จะเผลออุทานกับตัวเองอยู่ไม่น้อยว่า ขนาดคุณมูราคามิที่โด่งดังมากๆ เมื่อก่อนโดนถึงขนาดนี้เลยเหรอ ส่วนหนึ่งคงเพราะมีจิตใจที่เข้มแข็งแน่ๆ คุณมูราคามิชอบพูดกับตัวเองเสมอว่า อย่างหนึ่งเป็นเพราะโชคช่วย แต่เรามองว่า ‘เขา’ คุณมูราคามิต่างหากที่กำหนดโชคชะตาของตัวเอง ทั้งการไม่ย่อท้อ ทำอะไรต้องเต็มที่ในทุกกระบวนการตั้งแต่การเขียน ตรวจทานต้นฉบับไม่รู้จะสักกี่ร้อยรอบ ไปจนถึงการหาโอกาสและตลาดใหม่ๆ ให้ตัวเองที่ต่างประเทศ และพัฒนาการเขียนอยู่เสมอ จนกลายมาเป็น ฮารูกิ มูราคามิ ในวันนี้

แต่ทั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การที่จะอยู่ในวงการนี้ได้ยาวนาน สำหรับเขาคือต้องเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ เพราะการเขียนนิยายถือเป็นงานที่สาหัสที่ต้องนั่งอยู่สถานที่ส่วนตัวถ่ายทอดเรื่องราวที่พาไปดำดิ่งและเป็นงานที่ใช้เวลายาวนาน

“พื้นฐานของนักเขียนนวนิยายคือการเล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องนั้นเรียกได้ว่า เป็นการลงสู่จิตใต้สำนึกของตน ที่ก้นบึ้งอันมืดมิดของจิตใจ ยิ่งพยายามเล่าเรื่องใหญ่ นักเขียนก็ยิ่งต้องดำดิ่งให้ลึกยิ่งขึ้น เหมือนเวลาคิดจะสร้างตึกใหญ่ย่อมต้องขุดฐานรากให้ลึกลงไปมากๆ และยิ่งพยายามเล่าให้เข้มข้นเท่าใด ความมืดใต้ดินก็จะยิ่งหนาและหนักมากขึ้นเท่านั้น” 

อีกสิ่งที่สามารถถอดบทเรียนได้จากหนังสือเล่มนี้คือ อาจะเรียกว่าเป็น ‘สัจธรรม’ ที่ไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบเรา หรือให้ทุกคนชอบงานเราได้ แต่อย่างน้อยเราต้องชอบ ‘สิ่งที่เราเขียน’ อย่างน้อยเราต้องสนุกไปกับมัน 

“สิ่งที่ผมอยากจะพูดคือ จงแสดงอย่างที่คุณอยากแสดงไม่ต้องคิดว่าโลกต้องการอะไร แสดงอย่างที่อยากแสดง แล้วให้โลกทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำ ถึงจะต้องใช้เวลาสิบห้าปีหรือยี่สิบปีก็เถอะ”

หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ก็พูดกับตัวเองว่ารู้สึกคิดไม่ผิดจริงๆ ที่เลือกมาอ่านในช่วงส่งท้ายปี เพราะได้เรียนรู้จากอัตชีวประวัติและได้เติมไฟให้ตัวเองอยู่ไม่น้อย ทั้งมุมมองการต่อสู้ในงานเขียน การได้รัก และไม่ได้รัก 

อาจเรียกว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งถึงการยอมรับ คนโชคดีหน่อยได้รับการยอมรับพิสูจน์ตัวตนตั้งแต่เด็ก หลายคนยามแก่ และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เจ้าตัวไม่อาจรู้ได้เลยว่า อีกร้อยปีให้หลังผลงานพวกเขาจะเป็นตำนานให้พูดถึง

แม้ ณ วันนี้ส่วนตัวยังไม่พร้อมลง ‘สังเวียน’ อย่างที่มูราคามิทิ้งท้ายเชื้อเชิญไว้ในบทแรก แต่ ณ วันนี้จะเตรียมความพร้อมทั้งกายใจ (จะออกกำลังกายให้มากขึ้น) และเรียนรู้ทั้งจากหนังสือและมนุษย์ให้มากขึ้น ดังที่เขากล่าวว่า 

“ในความหมายเดียวกับที่บอกว่า การเขียนนวนิยายจำเป็นต้องอ่านหนังสือจำนวนมาก ย่อมกล่าวได้ว่าการจะสร้างตัวละครมนุษย์ก็ต้องรู้จักมนุษย์ให้มากเช่นกัน”

 

 

Fact Box

นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ : Novelist as A Profession ของ ฮารูกิ มูราคามิ แปลโดย มุทิตา พานิช, สำหนักพิมพ์กำมะหยี่, 293 หน้า, ราคา 330 บาท

Tags: , , , , ,