เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.6% ซึ่งถือว่าชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่ขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามถือว่ายังเป็นการเติบโตที่น้อยที่สุดในภูมิภาค และต่ำกว่าศักยภาพในอดีตที่เคยเติบโต 3-4%

ttb analytics ประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการบริโภคของภาคเอกชนเติบโตชะลอลง เนื่องจากสถาบันการเงินยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยสินเชื่อรายย่อยในไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัว 1.3% เทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งคุณภาพสินเชื่อรายย่อยมีแนวโน้มเป็นหนี้เสียมากขึ้น (Non-Performing Loan: NPL)

ขณะที่ตัวทวีคูณ (Multiplier Effect) จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคอย่างโครงการแจกเงินหมื่นของรัฐบาลในปี 2568 มีค่อนข้างน้อยที่ 0.7-1% ของจีดีพี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลในเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นการแจกเงินในประชาชนกลุ่มใหญ่กว่า 13.6 ล้านคน

ในภาคภาคการท่องเที่ยวและบริการจะมีแรงส่งในการเติบโต ที่ลดลงจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น โดยในปี 2568 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 37.8 ล้านคน จาก 35.5 ล้านคนในปี 2567 คิดเป็นการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ระดับ 95%

ด้านมิติของรายได้จากนักท่องเที่ยวเริ่มมีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน ttb analytics มองว่า รายจ่ายของนักท่องเที่ยว 1 ใน 3 จะอยู่ในหมวดโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้น หมายถึงเพดานรายจ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น

สำหรับปัจจัยด้านการส่งออกสินค้าในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว ประกอบกับการเปลี่ยนเส้นทางการค้า (Trade Diversion) ของผู้ผลิตจีนที่ใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลง เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ

นอกจากนั้นผลพวงจากสินค้าจีนที่มีจำนวนมากจะระบายมายังไทย ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตไทยให้รุนแรงมากขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันระยะยาว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรายไตรมาสที่หดตัว 8 ไตรมาสต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization Rate: CAPU) อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ และการผลิตโลหะจำพวกเหล็กและเหล็กกล้า กำลังสูญเสียการผลิตต่ำกว่าระดับปกติมากถึง 30-40%

ttb analytics ยังประเมินอีกว่า ในปี 2568 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้งมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ภายในสิ้นปี 2568 ทำให้แรงกดดันต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนมีข้อจำกัดมากขึ้น

ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.3-3.3% (ค่ากลาง 3.0%) โดยมองว่า มีปัจจัยสนับสนุนจากรายจ่ายของภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อีกทั้งการขยายตัวของความต้องการภาคเอกชนที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์วิเคราะห์ว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) รวมไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ

Tags: , , , ,