ชีวิตหลังเรือนจำของนักโทษอาจเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบ ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์หยิบจับมาใช้บอกเล่าเรื่องราวอยู่เนืองๆ ด้านหนึ่งเพราะมันเป็นเสมือนดินแดนสนธยาที่หลายคนไม่รู้จัก (หรือก็อาจวาดหวังว่า จะไม่มีโอกาสต้องไปรู้จักเป็นการส่วนตัว) พื้นที่อันแสนจำกัดหลังกรงขัง, การเคลื่อนตัวของเวลาที่ราวกับช้ากว่าโลกข้างนอก, เส้นทางชีวิตของผู้คนที่ลงเอยในหมุดหมายเดียวกัน และมิตรภาพตลอดจนศัตรูที่ก่อตัวขึ้นมาในห้องเล็กแคบ และโดยตัวมันเองแล้ว ‘การคุมขัง’ นั้นยังว่าด้วยความโดดเดี่ยวที่ชวนสำรวจความเป็นมนุษย์ได้อีกหลายแง่มุม
เดอร์รัล เชตวูด (Derral Cheatwood) ผู้เขียนหนังสือ The Geography of Execution และนักวิจัยว่าด้วยภาพยนตร์กับการคุมขัง เคยนิยามไว้ว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น “ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยคุกบอกเราถึงเงื่อนไขทางธรรมชาติทางสังคมที่เราอาศัยอยู่” และสถานะ ‘การเป็นคนนอก’ ของคนดูส่วนใหญ่อาจทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังกรงขังดู ‘น่าตื่นตา’ และหนังคุกบางเรื่องก็ใช้เงื่อนไขแห่งความเป็นอื่นและแปลกใหม่นี้ เพื่อถ่ายทอดชีวิตผู้คนในนั้นออกมาเป็นความบันเทิง ซึ่งด้านหนึ่งหมิ่นเหม่กับการหยิบจับเอาความขมขื่นของใครคนหนึ่ง มาเล่าให้กลายเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจในสายตาของคนนอก
พอล มาสัน (Paul Mason) ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ เคยออกความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้ว ภาพยนตร์เรื่องแต่งที่พูดถึงคุกและนักโทษนั้น ไม่ได้เสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนที่มีต่อชีวิตในเรือนจำมากนัก อันเนื่องมาจากความอุตสาหกรรมบันเทิงเปลี่ยนอาชญากรรม และการต้องโทษให้กลายเป็นวัตถุแห่งความบันเทิงเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะคุกในภาพยนตร์ช่วง 2 ทศวรรษให้หลังที่ถูกมองเป็นแค่เครื่องมือในการ ‘ลงโทษ’ และ ‘กำจัด’ อาชญากรโรคจิตที่เป็นตัวละครในหนัง
ขณะที่งานวิจัยชื่อ The Ideology of the Carceral State: Examining the Prison Through Film โดย ไรอัน ฟิลลิปส์ (Ryan Phillips) จากมหาวิทยาลัยโอลด์โดมิเนียนชี้ว่า “เรือนจำเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมชมหรือมองมันในฐานะของการเป็นคนนอก ซึ่งหมายความว่า วิธีคิดและเรื่องราวของผู้คนในเรือนจำจึงแทบไม่เคยเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง (First-Hand Knowledge) และทำให้การเล่าเรื่องกับภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อนั้นสำคัญอย่างยิ่ง”
‘วัยหนุ่ม 2544 (2024) หนังยาวเรื่องล่าสุดของ พุฒิพงษ์ นาคทอง ผู้กำกับจาก 4Kings (2021) และ 4 Kings II (2023) เล่าเรื่องชีวิตในคุกของ เผือก (แสดงโดย ณัฏฐ์ กิจจริต) เด็กหนุ่มที่ต้องรับโทษความผิดที่ตัวเองก่อ และความรุนแรงปรากฏตัวตั้งแต่ก่อนหน้าที่เขาจะถูกพาเข้าไปสู่โลกหลังกำแพง เมื่อนายตำรวจใช้กำลังตบตีเขา ตลอดจนผู้คุมอำมหิตที่พร้อมเมินเฉยต่อการใช้กำลังหลังลูกกรง เหนืออื่นใดคือ บรรดา ‘ขาใหญ่’ ที่ควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นความตายของนักโทษคนอื่นๆ ในเรือนจำ
ชีวิตภายในเรือนจำนับตั้งแต่อาหารการกิน หรือการตรวจสอบจำนวนผู้ต้องขังแต่ละวัน ไปจนถึงความเลวทรามชั่วช้า ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือรุมทำร้ายปางตาย ดูจะเป็นธงหลักที่ วัยหนุ่ม 2544 บอกเล่ามากที่สุด เพราะเส้นเรื่องของตัวละครหรือมิติอื่นๆ ในหนังเบาบางเสียจนจดจำแทบไม่ได้ คนดูรับรู้ชะตากรรมของตัวละครเผือกเพียงแค่ 15 นาทีแรกว่า เขาก่อคดีรุนแรงและถูกลากเข้าเรือนจำพร้อมกับ ฟลุ๊ค (แสดงโดย ภูมิภัทร ถาวรศิริ) เกย์ที่ต้องคดีค้ายาเสพติด
ทั้งสองถูก ‘รับน้อง’ หนักไม้หนักมือโดย เบียร์ (แสดงโดย อารักษ์ อมรศุภศิริ) หัวโจกของเหล่านักโทษโดยมีสายตาของ บังกัส (แสดงโดย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) เฝ้ามองอย่างเป็นห่วงเป็นใย และหนังก็ไม่เบาไม้เบามือต่อชะตากรรมเด็กใหม่ทั้งสอง เพราะรู้ดีว่ากำลังจะ ‘ขาย’ ภาพชีวิตความบัดซบของนักโทษ
พวกเขาถูกซ้อมปางตาย หนักหนากว่านั้นคือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งก็ชวนตั้งข้อสงสัยว่า ผู้กำกับพินิจประเด็นเหล่านี้อย่างไร หนังเลือกจะฉายภาพตัวละครชายขอบถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมาและเป็นเวลานาน เพื่อจะย้ำถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยที่ก็น่าเสียดายว่า เป็นการย้ำที่ไม่พาหนังไปไหนสักเท่าไร ประกอบกับการที่หนังก็ละเลยความเป็นมาของตัวละคร หรือมิติชีวิตในเหลี่ยมมุมอื่นๆ ของพวกเขา ราวกับตัวละครที่เป็นนักโทษเหล่านี้มีหน้าที่แค่มารับบท รับโทษทัณฑ์ รับการทรมานในคุกให้คนดูได้ชมผ่านจอภาพยนตร์เท่านั้น
ว่ากันตามตรงถึงฉากที่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์และมุ่งหน้าทำลายกันและกันโดยตรงในคุกนั้น American History X (1998) คือหนังที่ฉายภาพเหล่านี้ได้เด็ดขาด แม่นยำและชวนขนหัวลุก โดยไม่จำเป็นต้องแช่ฉากนั้นนานนับนาที เพื่อให้คนดูสัมผัสถึงความหวาดกลัวสะอิดสะเอียน ผ่านเรื่องราวของสองพี่น้องวินยาร์ดอย่าง ดีเรก (แสดงโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) กับแดนนี (แสดงโดย เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง) ภายหลังจากที่พ่อของพวกเขาถูกคนค้ายาผิวดำยิงเสียชีวิต
ดีเรกก็หมกมุ่นอยู่กับการเข้าลัทธิเชิดชูคนผิวขาว (White Supremacist) โดยเขาเชื่อว่า ชาติพันธุ์ของตัวเองนั้นสูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ และถึงที่สุด เขากลายเป็นผู้นำลัทธิในชุมชน ปลุกเร้าความรุนแรงต่อคนที่ไม่ใช่คนขาว พร้อมด้วยสายตาเทิดทูนของแดนนีที่เชื่อว่า สิ่งที่พี่ชายของเขาทำนั้นถูกต้องอย่างที่สุด
กระทั่งดีเรกฆาตกรรมคนดำละแวกบ้าน (ด้วยวิธีโหดเหี้ยมและถ่ายทำอย่างเด็ดขาด) เขายินยอมให้ถูกจับกุมด้วยทีท่าลำพองใจ เพราะเชื่อว่าตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้อง เขาเข้าร่วมกลุ่มบูชาคนขาวในคุก เพื่อจะพบว่า แท้จริงแล้วมันเป็นแค่เพียงเรื่องบังหน้าในการซื้อขายยาระหว่างแก๊ง ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เขาสิ้นศรัทธากับการ ‘เทิดทูนการเป็นคนขาว’ มิหนำซ้ำก็ไม่มีมิตรสหายคนไหนจากลัทธิข้างนอกที่เขาเป็นผู้นำมาเยี่ยมเยียนเขาแม้แต่คนเดียว ทั้งหมดทั้งปวงนี้ยังผลให้เขาพยายามหาทางออกจากกลุ่มและใช้ชีวิตสันโดษในคุก แต่กลับถูกข่มขืนโดยคนในกลุ่มบูชาคนขาวที่เห็นเขาพยายามตีตัวออกหาก
ฉากที่ว่าใน American History X กินเวลาไม่นานนัก แต่ความแม่นยำของการกำกับทำให้คนดูเข้าใจความโหดเหี้ยมและรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หมดจด พ้นไปจากการที่ตัวหนังฉายภาพการเมืองและอุดมการณ์ด้านเชื้อชาติทั้งในและนอกเรือนจำแล้ว มันยังพูดถึงวงจรแห่งความเกลียดชังที่ถึงที่สุดมีแต่กัดกินตัวเองและไม่เกิดผลงอกงามอันใดนอกจากความเกลียดชังใหม่ๆ ต่อผู้คนหรืออาจจะต่อตัวเอง
‘การแบ่งฝักฝ่าย’ หรือการเป็นกลุ่มก้อนยังปรากฏใน A Prophet (2009) หนังร่วมทุนสร้าง 2 สัญชาติ (ฝรั่งเศส-อิตาลี) กำกับโดย ฌัก อูดีอาร์ด (Jacques Audiard) ว่าด้วยชีวิตของ มาลิก (แสดงโดย ทาฮาร์ ราฮิม) เด็กหนุ่มเชื้อสายอัลมัฆริบวัย 19 ปีที่ต้องโทษจำคุก 6 ปี จากคดีบุกจู่โจมสำนักงานตำรวจ ขณะที่สภาพภายในคุกนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและการงัดข้อกันระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่ๆ ของกลุ่มเชื้อสายคอร์ซิกา นำโดย ลูเซียนี (แสดงโดย นีลส์ อาเรสตรัป) ที่สร้างกฎและเงื่อนไขการปกครองอันอำมหิตและกลุ่มอัลมัฆริบ
มาลิกจำใจก่ออาชญากรรมในคุกตามคำสั่งของลูเซียนี เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกทำร้ายจนตาย ความดีความชอบนี้ทำให้กลุ่มคอร์ซิกามองเห็นเขาเป็นลูกไล่ และแม้จะปฏิบัติต่อเขาด้วยความรุนแรงและเหยียดหยาม แต่การอยู่ใต้ปีกของพวกคอร์ซิกาก็ไม่ทำให้เขาถูกทำร้ายจากนักโทษคนอื่นๆ ความลับเดียวที่เขาเก็บงำไว้กับตัวคือ เรื่องที่ว่าแท้จริงแล้วเขามีเชื้อสายเป็นชาวอัลมัฆริบ
อีกด้านหนึ่ง มาลิกก็ได้มิตรภาพดีๆ จากเพื่อนชาวอัลมัฆริบในคุกที่ค่อยๆ ทำให้เขาเพิ่มอำนาจและอิทธิพลในเรือนจำที่ลูเซียนีไม่ทันเห็น ก่อนจะขยับขยายกลายเป็นความขัดแย้งที่หยั่งรากลึกเสียยิ่งกว่าที่ใครจะแก้ไขอะไรได้ทัน
A Prophet ถือเป็นหนังแจ้งเกิดราฮิมในฐานะนักแสดงนำ ตัวหนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และเป็นตัวแทนหนังจากฝรั่งเศส เข้าชิงสาขาหนังพูดภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ ตัวหนังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า จับจ้องไปยังเรื่องราวของ ‘เชื้อชาติ’ ได้อย่างละเอียดอ่อนและมีหัวใจ ตลอดจนสถานะการเป็นอื่นของตัวละครที่ต้องกลืนกลายเป็นอื่นเพื่อความอยู่รอด
The Mauritanian (2021) หนังร่วมทุนสร้าง 2 สัญชาติ (สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา) ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี (แสดงโดย ทาฮาร์ ราฮิม-เป็นผู้ต้องขังอีกเรื่องแล้ว) ชายชาวมอริเตเนียนที่ต้องสงสัยว่า มีส่วนพัวพันในวินาศกรรม 911 โดยไม่แจ้งข้อหาและถูกกักขังที่คุกกวนตานาโม อันเป็นคุกของสหรัฐฯ ในคิวบา
เงื่อนไขสำคัญและอันตรายอย่างยิ่งคือ คุกกวนตานาโมไม่อยู่ใต้กฎหมายสหรัฐฯ เท่ากับความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในคุกแห่งนี้ จะไม่ถูกพิจารณาผ่านตรรกะทางกฎหมายใดๆ ของสหรัฐอเมริกา แนนซี (แสดงโดย โจดี ฟอสเตอร์) เป็นทนายที่อาสาเข้ามาทำคดีของซาลาฮี ท่ามกลางเสียงประณามก่นด่าของผู้คนที่เชื่อกันว่า เธอกำลังปกป้องผู้ก่อการร้าย ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนอเมริกา ขณะที่แนนซีนั้นยืนยันหนักแน่นว่า สิ่งที่เธอปกป้องไม่ใช่ตัวซาลาฮีหรือความเป็นปัจเจกใดๆ แต่เธอกำลังปกป้องหลักนิติธรรม เนื่องจากซาลาฮีถูกพาตัวมายังคุกกวนตานาโม โดยไม่มีข้อหาการทำผิดที่แน่นอน ทุกคำกล่าวอ้างของทหารและทางการรัฐนั้นเป็นเพียง ‘ข้อสมมติฐาน’ ที่เชื่อมโยงคร่าวๆ ว่า เขาน่าจะมีส่วนเกี่ยวกับการก่อการร้าย
หนังอุทิศช่วงเวลาส่วนใหญ่บอกเล่าชีวิตในคุกกวนตานาโมของซาลาฮี และการทุ่มกำลังทำทุกวิถีทางของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ซาลาฮีเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ ห้องขังไร้หน้าต่างชวนให้หายใจไม่ออก, การจงใจทำให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับการพักผ่อนด้วยการเปิดเพลงเสียงดังอัดใส่ตลอดเวลา, การเอาไฟส่องหน้า หรือแม้แต่กระบวนการไต่สวนนอกกฎหมายที่รวมถึงการทารุณกรรมใต้ร่มผ้า เช่น การซ้อมทรมาน, การเอาผ้าปิดหน้าแล้วเอาน้ำราดจนสำลัก เพื่อให้เขาสารภาพผิดที่ไม่ได้ก่อ ฯลฯ สิ่งที่ทำร้ายซาลาฮีจึงไม่ใช่เพื่อนนักโทษ แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ซาลาฮีได้รับการปล่อยตัวจากคุกกวนตานาโมในอีก 14 ปี 2 เดือน หลังจากถูกจับกุมโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ ชัดเจน
Tags: People Also Watch, หนังคุก, American History X, วัยหนุ่ม A Prophet, The Mauritanian