ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นข่าว นักร้องเรียน ทนายหน้าเซเลบ วนเวียนอยู่หน้าสื่อไม่เว้นแต่ละวัน บางคนมีอิทธิพลถึงขั้นสามารถกำหนดกระแสสังคม สร้างประเด็นข่าว โน้มน้าวสื่อ ทำให้สังคมเชื่อตาม และอาจส่งผลถึงตำรวจและศาลเนื่องจากมีแรงกดดันทางสังคมที่ตามมาได้
แล้วอะไรกันเล่าที่ประกอบสร้าง นักร้องเรียน ทนายคนดังหน้าสื่อเหล่านี้ออกมามากมาย?
หนึ่งอย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าอาชีพเหล่านี้สามารถชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ‘มีปัญหา’ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น และกระบวนการที่ล่าช้า อย่างที่เรามักคุ้นหูเวลาโจกท์ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อว่า แจ้งความมาหลายเดือนแล้วเรื่องไม่คืบหน้า ตำรวจไม่สนใจ ขอให้จบเรื่อง และกลัวไม่ได้รับความยุติธรรม ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นแรงกระเพื่อมหลักที่มาจากความเปราะบาง และความไม่เชื่อมั่นในกระทรวงยุติธรรมไทย โดยผู้เสียหายหรือโจกท์จึงต้องหาทนาย หรือช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อที่จะช่วยเสริมอำนาจในกระบวนการยุติธรรมแบบ ‘ไทยๆ’
เมื่อมีอิทธิพลต่อสื่อ สังคม ย่อมมีระบบอุปถัมภ์ และมีอำนาจต่อรอง
ภายหลังจากช่องโหว่ของความเชื่อใจ และการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ นักร้องเรียน และทนายชื่อดังจึงได้รับ ‘แสง’ ชื่อเสียง และหลายคนถูกมองเป็นฮีโร่ ในการช่วยเหลือเปิดโปง ยืนเคียงข้างประชาชน ขณะที่กระบวนการยุติธรรมล่าช้า และการเข้ามาของนักร้องเรียน ทนายดัง ก็มาช่วยกดดัน และชี้นำกระแสสังคมให้คล้อยตามได้
กลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลไปถึงขั้นนักร้องเรียนหลายคนมีสมญานามเป็น ‘อาวุธสังหาร’ ที่สามารถชี้ชะตา พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งได้ และกลายเป็นหนึ่งอาชีพที่มีรายได้ดี
ข้อมูลจากไทยพีบีเอส ในบทความเปิดยุทธภพ 3 กลุ่มนักร้องการเมือง อาวุธสังหาร รัฐบาลแพทองธาร ระบุไว้ว่า ในอดีตมีข้อมูลระบุว่า นักร้องส่วนใหญ่ มักจะได้รับค่าตอบแทน หากคำร้องดังกล่าวได้รับการประทับรับฟ้องจากหน่วยงานที่เข้าไปยื่น แสดงว่า คำร้องผ่านการกลั่นกรอง มีการเสนอข่าวจากสื่อ ว่ากันว่า ราคาค่าเขียนคำร้องและค่าตัวที่จะต้องจ่ายให้ผู้เข้ายื่นคำร้อง ราคาจะอยู่ที่ 2 แสนบาท กลุ่มนี้ถือเป็นมืออาชีพ มีทีมกฎหมาย ตรวจสอบคำร้องก่อนยื่น มีเป้าหมายชัดเจน ค่าดำเนินการจะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับ ความยากง่ายและผลสัมฤทธิ์ทางคดี
ส่วนทนายเซเลบหรือทนายหน้าสื่อนั้น ประชาชาติธุรกิจได้จัดอันดับ 5 ทนายคนดังที่มีคนติดตามมากที่สุดในโซเชียลมีเดีย อันดับ 1 คือ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘ทีมทนายประชาชน’ มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 2.1 ล้านคน
2. เดชา กิตติวิทยานันท์ หรือ ‘ทนายเดชา’ เจ้าของเพจ ทนายคลายทุกข์ มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 6.7 แสนคน
3. รัชพล ศิริสาคร เจ้าของสำนักงานทนายความ สายตรงกฎหมาย มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 5.4 แสนคน
4. นิติธร แก้วโต เจ้าของเพจ ทนายเจมส์ LK มีผู้ติดตามเฟซบุ๊ก 5 แสนคน
5. อนันต์ชัย ไชยเดช มีผู้ติดตามเฟซบุ๊ก 4.2 แสนคน
จากประโยค หากคำร้องดังกล่าวได้รับการประทับรับฟ้องจากหน่วยงานที่เข้าไปยื่น แสดงว่า คำร้องผ่านการกลั่นกรอง มีการเสนอข่าวจากสื่อ ว่ากันว่า ราคาค่าเขียนคำร้องและค่าตัวที่จะต้องจ่ายให้ผู้เข้ายื่นคำร้อง ราคาจะอยู่ที่ 2 แสนบาท
รวมกับยอดผู้ติดตามต่างๆ เราจะเห็นว่า การที่ทนายดัง นักร้องเรียน ยิ่งมีอิทธิพลต่อสื่อสังคมแค่ไหน ก็จะยิ่งได้รับค่าตอบแทนสูงมากขึ้นไปอีก และหากมีการนำเสนอข่าวจากคดีที่ทำก็จะได้รับเงินเพิ่ม
นอกจากเรื่องเงินแล้วสิ่งที่ตามมาพร้อมกับการมีผู้ติดตามและคนเชื่อถือจำนวนมากคืออะไร?
คำตอบคือการมี ‘อำนาจต่อรอง‘ ที่มากขึ้น การอุปถัมภ์ การสนิทชิดเชื้อกับนักการเมือง และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผมเสนอคดีนี้ต่อสังคม พี่รับไปทำต่อ ได้กันทั้งคู่
หรือไปถึงขั้นแบล็กเมล์ เช่น หากไม่ทำตามจะฟ้องสื่อ
ตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจ และอิทธิพลของทนายผู้มีชื่อเสียง คือคดีทนายตั้มที่ฉ้อโกงเงิน เจ๊อ้อย-จตุพร อุบลเลิศ 71 ล้านบาท ที่ทนายตั้มสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปที่สถานีตำรวจบางซื่อ ให้อำนวยความสะดวกให้ สารินี นุชนารถ มาเข้าแจ้งความว่าถูกดูดเงินจากบัญชีที่ใช้โอนบิทคอยน์ ไปจำนวน 2,276,400 บาท
สำนักข่าวไทยรัฐยังรายงานต่อว่า พลตำรวจเอก ภูวดล อุ่นโพธิ ผู้กำกับสถานีตำรวจบางซื่อ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยืนยันว่ารู้จักกับทนายตั้ม 5 ปีแล้ว ตอนนั้นภาพลักษณ์ของทนายตั้มเป็นคนดี เป็นมูลนิธิทนายประชาชน ที่ผ่านมาทนายตั้มมักจะไหว้วานให้ตัวเองลงบันทึกประจำวันมาแล้วหลายเรื่อง ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทนายตั้มโทรศัพท์มาบอกว่า จะมีคนเข้ามาลงบันทึกประจำวัน ยืนยันว่าตนไม่รู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของคดี จนกระทั่งมาตกเป็นข่าวถึงรู้ว่าใบบันทึกประจำวันที่ทนายตั้มให้พรรคพวกมาลงไว้ถูกนำไปหลอกเจ๊อ้อย ยอมรับว่าตอนนี้รู้สึกเครียดและกังวล หลังถูกสังคมโจมตี ว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับทนายตั้ม ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินของตนได้เลย ยืนยันความบริสุทธิ์ใจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
‘สื่อ’ ส่วนประกอบสร้าง นักร้องเรียนและทนายชื่อดัง
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนและเป็นผู้อ่านในคราวเดียวกัน ในช่วงหลัง ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน หรือ Investigative Reporting ค่อนข้างหาอ่านได้ยากในสื่อของไทย และแน่นอนว่าการผลิตสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน
อาจจะด้วยทั้งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่สื่อต้องปรับตัว ปรับการทำงานให้ทุกอย่างต้องเร็ว ด่วน ให้ทันกระแส เพราะเพียงเวลาไม่นาน ข่าวที่ครองหน้าสื่อทั้งหมด อาจเงียบหายไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น บางข่าวอาจกินพื้นที่หน้าสื่อเป็นระยะเวลาไม่กี่วัน เป็นรายชั่วโมงเลย บางครั้งนับเป็นรายนาที หรือบางข่าวไม่แม้แต่จะได้พื้นที่ข่าว แต่ขณะเดียวกันบางข่าวกลับครองพื้นที่เป็นระยะเวลาหลายเดือน
นี่ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ ในวงการสื่อไทย เช่น การลดจำนวนพนักงานลง ลดเงินเดือน หรือการถูกฟ้องร้องปิดปาก และมีเรื่องของ ‘ธุรกิจ’ ตามมา ดังนั้น ‘ข่าวสืบสวน’ ที่ใช้กำลังในการทำ และใช้เงิน จึงค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ ขณะประชาชนทั่วไปก็มีสื่อมากมายให้ติดตาม หรือติดตามบุคคลดัง ที่คอยอัปเดทเรื่องราวต่างๆ ผ่านช่องทางของตัวเอง
จากวิถีเดิม หากสังคมมีประเด็นสงสัย ต้องหาคำตอบ นักข่าวต้องช่วยทำให้กระจ่าง ขุด สืบหาประเด็นเพื่อมานำเสนอต่อสังคม กลายเป็นว่า เรากลับหันหน้าพึ่งพาเหล่านักร้อง ทนายดังเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้ข้อมูลในคดี หรือการนำ โจกท์- จำเลย พร้อมด้วย ทนายความจากทั้งสองฝั่ง มานั่งเถียงพูดคุยกันในหน้าสื่อ
เหล่านี้อาจไม่ส่งผลดีต่ออะไรเลย แต่แน่นอนว่ามันได้ ‘เรตติง’ เพราะพูดแล้ว สนุก มัน ดราม่า คนดูชอบ
แต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมในกรณีนี้คือ แล้วเราได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้? นี่ยังไม่รวมถึงอคติที่ตามมาระหว่างการนั่งสัมภาษณ์อีกด้วย
หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นจากน้ำมือของ ‘สื่อ’ ไม่ใช่เพียงการประกอบสร้าง ทนายดัง นักร้องเรียน ให้มีตัวตน มีอิทธิพลในวงการ แต่สื่อสามารถเปลี่ยนแปลง ชี้นำกระแสสังคมในแต่ละช่วง เปลี่ยนผิดเป็นถูก เปลี่ยนถูกเป็นผิด หากไม่มีการกลั่นกลอง ตรวจสอบ และประมวลผลให้ถี่ถ้วน
เข้าใจมากๆ ว่าการทำงานเป็น ‘สื่อมวลชน’ ในปัจจุบัน มีเงื่อนไข มีอุปสรรค หลายอย่างมากมาย แต่อยากให้ทุกคนคอยนึกไว้เสมอว่า บางครั้งการมุ่งหวังเพียง ‘เรตติ้ง’ ทำเพราะกระแส ทำเอาความสะใจ อาจไม่ส่งผลดีต่อใครเลย ซ้ำร้ายยังประกอบสร้างให้เกิด วัฎจักรที่บิดเบี้ยว และเกิดช่องทางใหม่ๆ ให้คนมากอบโกยผลประโยชน์จากช่องว่างตรงนี้
แม้ปัจจุบัน การดิ้นรนของวงการสื่อยังเป็นเรื่องยาก เปราะบาง และขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ ทั้งเงิน และเวลาการทำงานเพื่อสร้างบทความ ข่าวที่มีคุณภาพ เราเข้าใจทุกข้อจำกัดของการทำงานนักข่าวในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า ตัวเราเองเป็น ‘สื่อมวลชน’
ที่มีส่วนชี้ถูก-ผิด ชี้นำในสังคม
Tags: สื่อมวลชน, From The Desk, ทนายตั้ม, ทนายดัง, ทนายหน้าสื่อ, นักร้องเรียน