ก่อนอื่นขอเริ่มเรื่องด้วยอภินิหารของพระปิณโฑลภารทวาช พระอรหันต์ผู้บันลือสีหนาทอภินิหาร ‘ยิ่งกว่าการปีนเสา’ เพราะพระเถระผู้เรืองฤทธิ์ผู้นี้เคยเหาะเหินเดินอากาศเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวกรุงราชคฤห์ ในสมัยพุทธกาล
เรื่องราวครั้งนั้นมีอยู่ว่า เศรษฐีผู้หนึ่งได้รับปุ่มไม้แก่นจันทร์ที่มีค่ามากจึงมีความคิดที่อยากจะรู้จักกับพระอรหันต์ เพราะมีพวกลัทธิต่าง ๆ มากมายได้โอ้อวดกันว่า ตนเป็นพระอรหันต์ (ผู้วิเศษ) เพื่อต้องการให้รู้ชัดว่าใครเป็นพระอรหันต์กันแน่ เศรษฐีจึงนำปุ่มไม้แก่นจันทร์นี้กลึงเป็นบาตรแล้วนำไปแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่สูง 15 วา และประกาศให้ทั่วเมืองว่า
“ผู้ใดที่สามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ผู้นั้นก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เราและเหล่าครอบครัวจะยึดผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต”
เมื่อได้ยินเช่นนั้น ผู้คนมากมายต่างอ้างตนเป็นอรหันต์และพยายามแย่งชิงบาตรแก่นจันทร์นั้น ทว่าเวลาผ่านไปนานกว่า 7 วันก็ไม่มีผู้ใดนำบาตรลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์แล้ว
ในขณะนั้นพระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาช กำลังออกบิณฑบาตอยู่ เมื่อได้ฟังชาวเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เช่นว่า ทำให้พระมหาโมคคัลลานะคิดว่า ชาวเมืองกำลังดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จึงต้องการให้ชาวเมืองได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์จริง อย่างไรก็ตามแม้ท่านรู้ดีว่า ตนเองมีอิทธิฤทธิ์มากที่จะแสดงได้ แต่ท่านก็มีใจกว้างจึงยกให้พระปิณโฑลภารทวาชเป็นผู้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แทน
พระปิณโฑลภารทวาชจึงเข้าจตุตถฌานสมาบัติ กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศ พร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์แล้วเหาะลอยเลื่อนมาอยู่ยังที่แขวนบาตรแก่นไม้จันทร์ เพื่อนำบาตรลงและเหาะตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรแก่นไม้จันทร์ที่ลงมาจากที่แขวนไว้บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็ม แล้วถวาย พระเถระรับแล้วก็กลับสู่วิหาร ส่วนชาวเมืองเมื่อได้เห็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระปิณโฑลภารทวาช จึงพากันชุมนุมติดตามพระเถระที่วิหาร เพื่อหวังให้ท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ชมอีก จึงเกิดเสียงอื้ออึงจนไปถึงพระกรรณของพระพุทธองค์
เมื่อพุทธองค์ทรงทราบเรื่องราวแล้ว จึงทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ และเรียกพระปิณโฑลภารทวาชมาเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนพระปิณโฑลภารทวาช และบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ หากภิกษุฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ นอกจากนั้นทรงตรัสให้นำบาตรแก่นไม้จันทร์ไปทุบให้เป็นผงเพื่อทำยาหยอดตา และบัญญัติสิกขาบทห้ามใช้บาตรไม้ หากภิกษุใช้ต้องอาบัติทุกกฎ
เหตุใดผู้เขียนถึงเริ่มราวเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปด้วยอภินิหารเหาะเหินของพระปิณโฑลภารทวาช เพราะอันที่จริงๆ เราจะเห็นว่า ตลอดอายุพุทธศาสนากว่า 2,500 ปี ได้เข้าปะทะสังสรรค์กับความคาดหวังมากมายที่ต้องการให้ ‘พุทธศาสนา’ มีหน้าตาแบบที่ตนคาดหวัง อย่างเช่นเศรษฐีแห่งราชคฤห์ต้องการเพียงจะพิสูจน์ความเป็นอรหันต์ตามคำนิยามที่ตนเองเข้าใจ
และก็ไม่น่าเชื่อว่า การถกเถียงอะไรแบบนี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ จวบจนเมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างฝ่ายหนึ่งคือ ‘ภิกษุปีนเสาไฟฟ้า’ กับอีกฝ่ายคือ ‘ฆราวาสผู้รู้ธรรม’
เมื่อเรื่องมันเกิดเดี๋ยวนั้น
ความในคัมภีร์ฝ่ายบาลีระบุว่า หลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์เพียง 7 วัน พระสงฆ์รูปหนึ่งนามสุภัททวุฒบรรพชิต ได้ร้องห้ามเหล่าสงฆ์เมืองกุสินาราที่ร้องไห้เศร้าโศกกับการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ว่า
“พวกท่านอย่าได้โศกเศร้าไปเลย เราพ้นห่วงแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะเบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร บัดนี้พวกเราปรารถนาสิ่งใดก็กระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่กระทำสิ่งนั้น”
พระมหากัสสปะจึงได้ร้องต่อที่ประชุมสงฆ์ให้ลงมติ เพื่อทำการสังคายนาพระธรรมคำสอน เนื่องจากคำกล่าวของพระสุภัททวุฒบรรพชิตเป็นเหตุนั้น พระกัสสปะได้เสนอเหตุผลของการเรียกร้อง 3 ประการ คือ
-
พระสุภัททะกล่าววาจาไม่เหมาะสม ทำนองว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานไปได้ก็ดี เราจะได้พ้นจากพันธะ ไม่มีผู้มาคอยตักเตือน นึกอยากทำอะไรก็ทำได้ตามประสงค์
-
ทรงเคยรับสั่งกับพระอานนท์ว่า พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ในเวลาที่พระองค์ล่วงไป
-
เพราะรำลึกถึงพระคุณของพระศาสดา
ด้วยเหตุผลทั้งสามนี้ สภาสงฆ์ได้ลงมติยอมรับข้อเรียกร้องของพระกัสสปะ หลังการปรินิพพานล่วงได้ 3 เดือน การสังคายนาครั้งที่ 1 จึงจัดขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของพระมหากัสสปะเป็นประธานสงฆ์ รวมถึงเป็นผู้สอบถามข้อพระธรรมและพระวินัย พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 500 รูป ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา เขาเวภาระ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ การสังคายนาครั้งนี้ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 7 เดือนจึงสำเร็จ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โดยตลอด
ด้านปกรณ์สันสกฤต ฝ่ายมหายาน ระบุต่างไปว่า เมื่อข่าวการปรินิพพานกระจายไปถึงคณะพระสงฆ์นอกเขตเมืองกุสินารา คณะสงฆ์ต่างๆ พากันถือข้อปฏิบัติตามเจ้าคณะของตนแทนที่พุทธบัญญัติ
ไม่ว่าจะเรื่องของพระสุภัททวุฒบรรพชิต หรือเหล่าคณะสงฆ์ต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระ เมื่อพิจารณาเห็นถึงความคิดที่แตกแยกเช่นนั้น พระกัสสปะจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นแห่งการสังคายนา เพื่อมิให้ผู้คนติเตียนว่า สงฆ์ของพระสมณโคดมปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาแต่เพียงชั่วกาลแห่งควันไฟ เมื่อศาสดานิพพานแล้วก็เลิกศึกษา
ในข้อนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า คณะสงฆ์ของพระศากยมุนีมีความเปราะบางและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมานานแล้ว และสิ่งเดียวที่สมานรอยร้าวพวกนั้นเอาไว้ได้ก็คือ ‘พระบรมศาสดา’
หากอ้างอิงตามคัมภีร์บาลี แม้พระมหากัสสปะสามารถขึ้นมาเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าในฐานะประธานสงฆ์ เพื่อรักษาพระธรรมวินัยทั้งหมดเอาไว้ พระปุราณเถระกลับไม่ยอมรับการลงมติของสภาสงฆ์เท่าใดนัก เนื่องจากท่านมีความเห็นว่า มีสิกขาบทอยู่ 8 ประการที่สามารถละทิ้งได้ แรงกดทับที่ถูกปลดปล่อยออกมานี้ยิ่งเน้นย้ำไปอีกคำรบหนึ่งว่า พระสงฆ์จำนวนมากที่เข้ามาบวชในศาสนาของพระโคดมไม่ได้ยอมรับโดยสนิทใจกับข้อบัญญัติของพระศาสดา เพียงแต่เก็บเอาไว้ พูดกันตามตรงอย่างชาวบ้านคือ ‘เก็บไว้รอวันที่พระศาสดาจะตาย’ เรื่องราวความขัดแย้งในขณะสงฆ์จึงไม่ได้เกิดในปัจจุบันสมัยนี้ แต่มันเกิดขึ้น ‘เดี๋ยวนั้น’
‘วินัย’ หรือ ‘อภิธรรม’
ข้อพิจารณาสำคัญที่คณะสงฆ์ถกเถียงกันในปฐมสังคายนาคือ เรื่องของพระธรรมวินัยหรือสิกขาบทตามพุทธบัญญัติมากกว่าประเด็นอื่น ส่งผลให้การประชุมในครั้งนั้นสามารถชำระข้อวินัยเป็นหมวดหมู่ พร้อมยืนยันเรื่องสังฆมติที่ระงับความแตกแยกเกี่ยวกับเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย เหล่าอรรถกถาจารย์รุ่นหลังจึงมักเรียกคณะสงฆ์นี้สืบมาว่า คณะเถรวาท, สถวีรวาท (ว่าตามคำของพระเถระ หรือพระมหากัสสปะ), หรือวินัยวาที เพราะถือตามมติของพระเถระอันมีพระมหากัสสปะเป็นประธานและยึดมั่นในพระวินัยแบบดั้งเดิมเท่านั้น
100 ปีหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ คัมภีร์ฝ่ายสันสกฤตและฝ่ายบาลีกล่าวตรงกันว่า คณะสงฆ์จำนวน 700 รูป มีพระสัพพกามีมหาเถระเป็นประธาน พร้อมด้วยพระเถระอีกหลายท่านล้วนแต่เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถระ ได้ประชุมกันเพื่อสังคายนาข้อสิกขาบทอีกครั้ง เนื่องจากพระภิกษุหมู่หนึ่งเรียกว่า ‘พวกวัชชีบุตร’ แห่งเมืองเวสาลีต้องการแก้ไขวัตถุ 10 ประการ (ปัจจุบันปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค) การสังคายนาในครั้งนั้นนำไปสู่การแตกแยกของคณะสงฆ์โดยสมบูรณ์ คณะวัชชีบุตรได้แยกตัวออกจากเถรวาทีสังฆะออกมาเป็นกลุ่มสงฆ์เรียกว่า ‘มหาสังฆีกะ’ (ที่ประชุมสงฆ์หมู่มาก) เพราะคณะวัชชีบุตรมีผู้เข้าด้วยกว่าหมื่นรูป
ความแตกต่างอย่างสำคัญของฝ่ายเถรวาทีกับฝ่ายมหาสังฆีกะคือ มุมมองต่อพระธรรมวินัยและแนวคิดเรื่องอภิปรัญชา ความแตกต่างทางความคิดนี้เองที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า ‘ฝ่ายมหายาน’ เพราะเมื่อสงฆ์ฝ่ายมหาสังฆิกะไม่จำเป็นต้องปฏิบัติศาสนกิจและพระวินัยร่วมกับสงฆ์ฝ่ายสถวีระแล้ว จึงเป็นการสะดวกในการจะพัฒนาความคิดของตนต่อพระพุทธองค์ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ สุญญตา และเอกยาน เพื่อตอบสนองความสงสัยในเชิงจิตนิยม ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เคยถูกปิดกั้นโดยพระวินัยที่เข้มงวด
การเกิดขึ้นขอสองค่ายใหญ่ในโลกพุทธศาสนาหลังการสังคายนาครั้งที่ 2 นำไปสู่แตกนิกายออกไปอีกเป็น 18 นิกายย่อย ได้แก่ นิกายเถรวาท 1 และ 11 นิกายย่อย มหาสังฆิกะ 1 และนิกายย่อย 5 ตามคัมภีร์ฝ่ายบาลี และแยกเป็น 21 นิกายตามคัมภีร์สันสกฤต
โดยนิกายหนึ่งที่โผล่ทะลุกลางปล้องออกมา และผู้เขียนชื่นชอบเป็นการส่วนตัวคือ ‘เคารุกุลลิวาทิน’ (Kaurukullikavadin) นิกายนี้มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 หรือ 6 พร้อมแนวคิดที่ปฏิเสธพระธรรมวินัยปิฎกและพระสุตันตปิฎก เพราะเชื่อว่าไม่เป็นจริง ไม่ใช่พุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นการเขียนขึ้นโดยคณะสงฆ์ในชั้นหลังและเป็นเพียงกฎของการอยู่ในสังฆะเท่านั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามก็ได้ พระสงฆ์รูปใดใคร่จะอยู่ในสังฆะไม่ออกเดินจาริกก็ได้ ใคร่จะออกเดินไปยังที่ต่างๆ ไม่อยู่ประจำวิหารเลยก็ได้ พระสงฆ์รูปใดใคร่จะครองจีวรก็ครอง หรือไม่ครองก็ย่อมได้ตามแต่ความพึงใจของพระสงฆ์เหล่านั้น
นอกจากนั้นนิกายนี้ยังปฏิเสธการทำสมาธิและการเทศนาธรรมด้วย เพราะสิ่งเดียวที่พึงใส่ใจคือ พระอภิธรรมปิฎก เนื่องจากเป็นคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง และคำสอนเหล่านั้นคือปรมัตถ์อันจริงแท้ การศึกษาคัมภีร์อื่นใดนอกเหนือจากพระอภิธรรมไม่จำเป็น หากศึกษาพระอภิธรรมอย่างถ้วนถี่แล้วจะสามารถบรรลุถึงการเป็นพระโพธิสัตว์ และเข้าสู่พุทธภาวะได้ในที่สุด
นิกายเคารุกุลลิวาทินนับเป็นตัวแทนอันสำคัญยิ่งของการมุ่งเน้นใส่ใจในพระอภิธรรมมากกว่าพระวินัย ฉะนั้นย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า แท้จริงแล้วพระวินัยหรือพระอภิธรรมกันแน่ที่ควรจะใส่ใจในฐานะฆราวาสผู้เดินตามเส้นทางนี้
ความเป็นสงฆ์และความเป็นชาวบ้าน
สุดท้ายเรื่องที่เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังมานี้ตามกระแส ‘ตื่นธรรม’ คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระกับสิ่งที่เรียกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ สรุปแล้วนี่มันอะไร จะเป็นพระหรือจะเป็นอะไรกันแน่
ในมุมมองของผู้เขียนการปะทะกันระหว่างความเป็นพุทธกับความศักดิ์สิทธิ์อื่นเป็นเรื่องปกติตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว เราพบเห็นหลักฐานของการปะปนกันนี้ได้ตลอดพุทธประวัติ เช่น การปรากฏตัวของพญานาคมุจลินท์เพื่อปกป้องพระองค์ ก็สะท้อนถึงการประนีประนอมกันระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนานาค
หากพิจารณาตามการก่อตัวของพุทธศาสนาในสังคมอุษาคเนย์โบราณ ริชาร์ด เอฟ. กอมบริช (Richard F. Gombrich) เสนอว่า การที่พุทธศาสนาเป็นที่ยอมรับในสังคมศรีลังกาและอุษาคเนย์โบราณ เป็นเพราะสังคมในพื้นที่นี้แต่เดิมยังขาดวิธีการหรือแนวคิดในการพ้นทุกข์และขาดวัฒนธรรมลายลักษณ์อักษร ซึ่งพุทธศาสนามอบทั้งสองอย่างนี้ให้ รวมถึงโลกทัศน์ทางจักรวาลวิทยาที่เป็นระบบ
อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากบริบทปัจจุบันในสังคมไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา คือ ภิกษุ-ภิกษุณีในพุทธศาสนามีสถานะที่พิเศษและเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ สถานะที่สูงกว่ากลุ่มหมอผีหรือผู้นำความเชื่อดั้งเดิม อันมีผลมาจากความคลุมเครือของนักบวชในพุทธศาสนาที่ถูกมองว่า เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นด้วยการหลีกหนีสังคม แต่สามารถให้คำแนะนำผู้คนในเรื่องของสังคมด้วย ในเวลาเดียวกันความคลุมเครือนี้ทำให้พระภิกษุเองมีสถานะเป็นประหนึ่งผู้วิเศษ ที่มีความรู้ในการจัดการกับความไม่สบายใจของผู้คน ส่งผลให้พระภิกษุเป็นที่เคารพนับถือด้วยสถานะพิเศษ
จารึกวัดโพธิ์ร้าง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 อักษรปัลลวะ ภาษามอญ จากวัดโพธิ์ร้าง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนจุดเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนากับความเชื่อดั้งเดิมได้เหมาะสม ดังเนื้อความในจารึกกล่าวถึงการสร้างวัดและพระพุทธรูปของ ‘โต้ง’ ทั้งสอง โดยคำว่า โต้งหรือโทงมีความหมายถึง ‘หมอผี’ หรือ ‘คนทรงเจ้า’ ซึ่งจัดเป็นชนชั้นนำทางสังคมในวัฒนธรรมมอญ
ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดข้างต้นของกอมบริชที่ว่า พุทธศาสนาได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับระบบความเชื่อดั้งเดิม โดยการนำจักรวาลวิทยาแบบใหม่และชุดความคิดใหม่ มาปรับปรุงชุดความคิดดั้งเดิมที่มาอยู่ก่อน
ทั้งนี่ผู้เขียนไม่มีคำตอบว่า สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แม้จะต้องให้ตอบพระธรรมวินัยก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วจะเกิดคำถามต่อไปว่า ‘พระธรรมวินัยใด’ ในเมื่อพระพุทธศาสนาโบราณโอบรับความหลากหลายมากมายเอาไว้อยู่แล้ว พุทธศาสนาใดแท้ พุทธศาสนาใดเทียม สำหรับผมขอตอบด้วยคำของมหาตมะ คานธี (Mohandas Gandhi) ที่ว่า
“My position is that all the great religions are fundamentally equal. We must have innate respect for other religions as we have for our own. Mind you, not mutual tolerance, but equal respect”
(จุดยืนของฉันคือศาสนาที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายล้วนเท่าเทียม เราพึงมีความจิตสำนึกในการเคารพต่อศาสนาอื่นเช่นเดียวกับที่มีต่อศาสนาของเราเอง สิ่งนี้มิใช่การอดทนต่อกัน แต่เป็นการให้เกียรติอย่างเท่าเทียม)
ฉะนั้นพุทธศาสนาทุกตระกูลควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเถรวาท มหายาน หรือวัชรยาน และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ ฆราวาสควรมีสิทธิในการวิพากษ์คณะสงฆ์ได้ เพียงแต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักการ มีหลักฐานรองรับ เพื่อให้การถกเถียงนำไปสู่ผลอันไพบูลย์ มากกว่าเป็นเพียงการเอาชนะกันด้วยอารมณ์
ที่มาข้อมูล
กรมศิลปากร. (2504). ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 2 จารึก ทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้. พระนคร: กรมศิลปากร.
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ: มติชน.
บุญย์ นิลเกษ. (2526). พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.
พระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), สมเด็จ. (2563). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ: ผลิธัมม์.
เสถียร โพธินันทะ. (2513). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. พระนคร: บรรณาคาร.
Dutt, Nalinaksha. (1978). Buddhist sects in India. Delhi: Motilal Banarsidass.
Gombrish, Richard F. (1997). How Buddhism Began: The Condition Genesis of the Early Teaching. New Delhi: Munshriam Manoharlal.
Hazra, Kanai Lal. (1982). History of Theravada Buddhism in South-East Asia with special reference to India and Ceylon. New Delhi: Munshiram Manoharlal Pub.
Ishii, Yoneo. (1986). Sangha, state, and society: Thai Buddhism in history. Honolulu: University of Hawaii Press.
Ray, Himanshu P. (2006). “The Axial Age in Asia: The Archaeology of Buddhism (500 B.C.-A.D. 500) in Archaeology of Asia
Thomas, Edward Joseph. (1971). The history of Buddhist thought. London: Routledge & Kegan Paul
Tags: พุทธศาสนา, พระสงฆ์, Indianiceation, สังคายนาพระไตรปิฎก, ธรรมวินัย, นิกาย