ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ประกอบกับเสียงส่วนใหญ่ทั้งสภาบนและสภาล่างของสหรัฐฯ ที่อยู่ในมือของพรรครีพับลิกัน (Republican Party) นับเป็นสัญญาณสำคัญว่า ทรัมป์จะ ‘ทำตามสัญญา’ ได้อย่างคล่องตัว โดยหนึ่งในคำมั่นที่เขาให้ไว้ในการหาเสียงคือ การตั้งกำแพงภาษี เครื่องมือที่ทรัมป์อวดอวยว่า เป็น “สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยคิดค้นขึ้นมา”

ที่สำคัญการกลับมาครั้งนี้ของเขามาพร้อมกับมาตรการกำแพงภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปสมัยที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายปกป้องเศรษฐกิจของตัวเองผ่านกฎหมายกำแพงภาษีที่ชื่อว่า Smoot-Hawley Act เมื่อปี 1930 อัตราภาษีนำเข้าสมัยนั้นอยู่ที่ราว 6% แต่มาคราวนี้ทรัมป์ถึงขั้นข่มขู่ว่า จะเก็บภาษีสินค้าจีนทุกประเภท 60% เก็บภาษีรถยนต์จากเม็กซิโก 500% และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด 10-20%

หากเขาดำเนินนโยบายเช่นนี้จริง มหาอำนาจอย่างยุโรปและจีนก็ต้องถูกบีบบังคับให้ลงสนาม จากประชาชนที่ย่อมเรียกร้องให้รัฐบาลของตน ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตัวเองเช่นเดียวกับสหรัฐฯ กลายเป็นสงครามการค้าแบบตาต่อฟัน คุณขึ้น ผมขึ้น ฉันขึ้น จนสนามการค้าระหว่างประเทศสั่นคลอน ตลาดเสรีพังทลาย การแข่งขันไร้ความเป็นธรรม และเส้นทางนี้คือ เส้นทางที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบเพราะเราเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกโดยคู่ค้าอันดับหนึ่งของเรา คือสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการส่งออกทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่แล้ว ไทยอาจเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเพ่งเล็ง เพราะ ‘เกินดุลการค้า’ กับสหรัฐฯ อีกทั้งยังใกล้ชิดกับจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้เผชิญสถานการณ์เช่นนี้อย่างโดดเดี่ยว เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

ทวิปัญหาจากสงครามการค้าโลก

การก้าวเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์มีแนวโน้มสูงว่า จะทำไปสู่สงครามการค้าโลกอย่างจริงจัง ถือเป็นการบีบบังคับกลายๆ ให้กลุ่มประเทศในอาเซียน ‘เลือกฝั่ง’ ว่าจะร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือเลือกซบอกรัฐบาลจีน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลในอาเซียนต่างเลือก ‘เหยียบเรือสองแคม’ มาตลอด และได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเวียดนาม ซึ่งมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เพิ่มขึ้นจากก้าวกระโดดจากกลยุทธ์ ‘จีน + 1’ ที่เหล่าบริษัทจีนขยับขยายห่วงโซ่อุปทานการผลิตไปตั้งในประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี แล้วจึงส่งออกสินค้าจากประเทศเหล่านั้นไปยังสหรัฐฯ

แน่นอนว่าการทำเช่นนั้นย่อมถูกเพ่งเล็งโดยสหรัฐฯ ซึ่งหากทรัมป์จะเอาจริงเอาจังในการกำราบจีน การตั้งกำแพงภาษีกับเหล่าประเทศฐานการผลิตในเอเชียก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แผนการดังกล่าวนับว่าน่ากังวล เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น โดยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อจีดีพีคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก ที่สำคัญคือ ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากตลาดในประเทศกำลังอิ่มตัว เพราะอัตราการเกิดที่ต่ำและการขยับเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงต้องอาศัยความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ

แต่ถึงแม้ว่าทรัมป์จะไม่แตะต้องเหล่าประเทศเล็กๆ ในอาเซียนแล้วมุ่งมั่นสู้รบปรบมือกับจีนเพียงประเทศเดียว กลุ่มประเทศอาเซียนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญผลกระทบ เพราะสินค้าจีนที่แข่งขันลำบากในสหรัฐฯ ย่อมถาโถมกลับเข้ามาทะลักในเอเชีย สินค้าราคาถูกซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลจีนอุดหนุนต้นทุนการผลิตอย่างมาก ย่อมทำให้อุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถแข่งขันได้

รัฐบาลหลายประเทศก็รู้สึกถึงแรงกดดันดังกล่าว เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียที่ประกาศเตรียมเก็บภาษีสินค้าจากจีน 100-200% โดยเฉพาะเสื้อผ้าและเหล็กกล้า ส่วนรัฐบาลมาเลเซียและไทยก็มีการขยับกฎเกณฑ์ ให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าราคาถูกที่นำเข้าในประเทศ ซึ่งนับเป็นการตอบโต้อ้อมๆ ต่อการเปิดตัวแพลตฟอร์มสินค้าจีนอย่าง Temu

2-3 เดือนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าอกสั่นขวัญผวา ของเหล่าภาครัฐและภาคธุรกิจในอาเซียน ที่หากเดินเกมดีก็อาจกลายเป็นฐานผลิตแห่งใหม่ของจีน หากเดินเกมพลาดก็อาจโดนตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ แต่หากอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรก็อาจกลายเป็นปลายทางของสินค้าราคาประหยัดที่พร้อมไหลทะลักมาจากประเทศจีน

มุ่งสู่ภูมิทัศน์ใหม่

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศที่ไม่มีกำแพงกีดกันย่อมมีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะแต่ละประเทศสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญแล้วนำมาค้าขายได้อย่างเต็มที่ การพัฒนาทางเทคโนโลยีจึงเน้นการก้าวไปข้างหน้า มากกว่าการพัฒนาสิ่งเดิมซ้ำซ้อนเพียงเพราะถูกกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตามโลกในอุดมคติเช่นนั้นก็ยากจะเป็นจริง นับตั้งแต่วันแรกที่ทรัมป์ก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 1 ส่วนในวาระที่ 2 ก็เป็นการปิดประตูความเป็นไปได้ดังกล่าว

คู่ขัดแย้งสำคัญในสงครามการค้าสหรัฐฯ อย่างรัฐบาลจีน จึงปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ โดยหันเหสู่ ‘การผลิตในประเทศให้เพียงพอ’ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง โดยลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสารพัดนโยบาย ‘ขัดแข้งขัดขา’ ของสหรัฐฯ ทั้งการจำกัดการส่งออกและการคว่ำบาตรทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีเพื่อไม่ให้จีน ‘แซงหน้า’ สหรัฐฯ ได้อย่างง่ายดาย

แต่นโยบายดังกล่าวกลับสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึง ด้วยตลาดในประเทศที่ใหญ่โตมโหฬาร เงินทุนมหาศาลและกองทัพนักวิทยาศาสตร์ จีนใช้เวลาไม่นานเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอนวัตกรรมป้อนเข้าสู่ตลาดโลก เหล่านักวิทยาศาสตร์จีนปัจจุบันผลิตงานวิจัยชั้นแนวหน้า โดยเฉพาะด้านเคมี ฟิสิกส์ และวัสดุศาสตร์ โดยมีงานวิจัยตีพิมพ์มากกว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ส่วนในฟากฝั่งธุรกิจ จีนเองก็เปลี่ยนจากแหล่งผลิตสินค้าราคาประหยัด สู่การผลิตสินค้าล้ำสมัยในราคาจับต้องได้ โดยมีสินค้าเรือธงสำคัญคือ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือเมื่อปี 2020 การคว่ำบาตรหัวเว่ย (Huawei) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนซึ่งหลายคนคาดว่า จะทำให้บริษัทล่มสลาย แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะกลับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์มือถือในจีน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หัวเว่ยเปิดตัวโทรศัพท์มือถือหุ่นใหม่ Mate 70 ที่ใช้ชิปขนาดเจ็ดนาโนเมตรซึ่งผลิตในประเทศ พร้อมกับระบบปฏิบัติการใหม่ HarmonyOS NEXT ที่เป็นระบบปฏิบัติการสัญชาติจีนแท้ๆ เพื่อลงสนามแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง Android ของกูเกิลและ iOS ของแอปเปิล

ก้าวใหม่ครั้งสำคัญนี้บ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า เทคโนโลยีโลกกำลังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายโลกตะวันตกและโลกตะวันออก หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 สายก็อาจแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนประเทศฐานการผลิตเพื่อส่งออกอย่างไทยก็อาจต้องคิดหนัก เพราะด้วยทรัพยากรทั้งเงินทุนและแรงงานที่จำกัด การต้องพัฒนาความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 สายอาจเป็นไปได้ยาก กลยุทธ์ ‘เหยียบเรือสองแคม’อาจใช้ได้อีกสักพัก จนถึงวันแตกหักที่เราต้องตัดสินใจ ‘เลือก’

นี่คือภูมิทัศน์ใหม่ที่การค้า การเมือง และนวัตกรรม ไม่สามารถแยกขาดจากกันอย่างชัดเจนอีกต่อไป

เอกสารประกอบการเขียน

The world faces its worst trade wars since the 1930s

Donald Trump’s second term would be a protectionist nightmare

Donald Trump would leave Asia with only bad options

How worrying is the rapid rise of Chinese science?

Huawei’s new made-in-China software takes on Apple and Android

Trump’s win to hit China economy as decoupling intensifies

Tags: , , ,