ในอนิเมะญี่ปุ่นเรื่อง SOUL EATER ยมทูตแสบสายพันธุ์ซ่า จะมีตัวละครหนึ่งชื่อว่า ‘Death the Kid’ ที่มีพฤติกรรมคลั่งไคล้ความสมมาตรและหลงใหลในความสมบูรณ์แบบมากเกินไป เช่น เมื่อจะรวมกลุ่มต่อสู้กับเพื่อนๆ เขามักเปิดตัวด้วยท่ายืนที่เป๊ะเสมอ แต่หากใครในกลุ่มทำองศาแขนผิดเพี้ยนไปเพียงเล็กน้อย เขาจะมีอาการหงุดหงิดและเรียกร้องให้ทุกคนทำท่าใหม่อีกครั้ง โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้า ส่งผลให้การต่อสู้ในหลายครั้งเขามักเสียเปรียบศัตรู จากความกังวลเรื่องความสมมาตรของตนเอง ซึ่งทำให้บรรดาเพื่อนๆ ต่างตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายไปด้วยอยู่บ่อยครั้ง

ลักษณะพฤติกรรมแบบ Death the Kid โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้จักกันในนาม โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-compulsive personality disorder (OCPD) โดยอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำมักพบในหมู่วัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หมกหมุ่นอยู่กับความเป็นระเบียบ ความสมบูรณ์แบบ ความสมมาตร และยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองคิดมากเกินไป ซึ่งหลายคนไม่ค่อยรู้ตัวว่า ตนเองมีความคิดแบบย้ำคิดย้ำทำ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ โรคย้ำคิดย้ำทำไม่ได้มีแค่ในการ์ตูน ทว่าพบได้บ่อยมากที่สุดในบรรดาโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้งหมด หรือคิดเป็น 3-8% ของจำนวนประชากร ซึ่งถึงแม้นิสัยที่รักในความสมบูรณ์แบบจะฟังดูดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันสร้างผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก ทั้งในเชิงของตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง 

อาการหลักๆ ของผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำส่งผลต่อการทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนิสัยที่เข้มงวดกับกฎระเบียบและความสมบูรณ์แบบจนมากเกินไป อาจทำให้การคิด การตัดสินใจ รวมถึงการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ประกอบกับการยึดติดในความคิดของตนเอง และมองทุกอย่างแค่ขาวกับดำ ผิดกับถูกอยู่เสมอ ทำให้ไม่ประนีประนอมหรือยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งส่งผลเสียต่อการทำงานแบบกลุ่มและความสัมพันธ์

ในงานวิจัย Impact of obsessive-compulsive disorder on quality of life ที่เผยแพร่ในปี 2009 เกี่ยวกับผลกระทบจากโรคย้ำคิดย้ำทำต่อการดำเนินชีวิต โดยสำรวจผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำจำนวน 197 คน พบว่า คุณภาพชีวิตของพวกเขาลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทุกด้าน ทั้งความสัมพันธ์และการทำงาน อันเนื่องมาจากความรุนแรงของโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมโดยรอบ 

เมื่อมองเพียงผิวเผินผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ มักมีความมั่นใจ มีระเบียบ และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง จากมาตรฐานที่เข้มงวดของพวกเขา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานบางประเภท ทว่าอย่างไรก็ตามการประนีประนอมเปลี่ยนแปลง หรือผ่อนปรนต่ออะไรบางอย่าง มักส่งผลเสียมากกว่าผลดีในหลายครั้ง เพราะแต่ละสถานการณ์เรียกร้องวิธีการแก้ไขที่ต่างกัน ซึ่งในบางครั้งความคาดหวังต่อความสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้ตอบโจทย์ 

สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำยังคงไม่ได้รับการวิจัยอย่างชัดเจน แต่นักจิตวิทยาเชื่อว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่อาจส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไป ได้แก่ ปัจจัยด้านพันธุกรรมจากบรรพบุรุษ หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพหรือจิตเวชมาก่อน ก็มีแนวโน้มสูงที่คนคนนั้นอาจป่วยเป็นโรคที่ใกล้เคียงกันกับคนในครอบครัว ซึ่งอาจเกิดจากยีนที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่ต้น 

อีกปัจจัยหนึ่งคือ บาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก การศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า การถูกทารุณทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก มีผลต่อพัฒนาการความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ซึ่งในบางกรณีผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำอาจมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลพ่วงมาด้วย

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมักจะไม่รู้ว่า พฤติกรรมของตนเองส่งผลเสียต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างไร กว่าจะรู้ตัวอาจเป็นช่วงที่พวกเขาประสบปัญหาในชีวิตรูปแบบอื่น จนนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรอบข้าง หรือมีโอกาสได้ปรึกษากับจิตแพทย์ ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือคนรอบข้างอาจจะกำลังเป็นโรคนี้ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ แนะนำให้พวกเขาไปรักษาและพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข เพราะเอาเข้าจริงแล้วทั้งตัวเขาและคนรอบข้างต่างกำลังได้รับผลกระทบในเชิงลบจากโรคย้ำคิดย้ำทำ

ที่มา:

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/24526-obsessive-compulsive-personality-disorder-ocpd

https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC2633465/

Tags: , , ,