วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2024) ฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) เปิดเผยรายงาน ความตายที่พรมแดนไทย-เมียนมา: การควบคุมตัว การทรมาน และการสังหาร อ่อง โก โก พลเมืองสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย ถึงเบื้องหลังการเสียชีวิตของ อ่อง โก โก (Aung Ko Ko) พลเมืองสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย ที่ถูกทางการไทยซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อช่วงต้นปี 2024 พร้อมระบุว่า มีการปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่าง หลังไม่มีเจ้าหน้าที่ชาวไทยคนใดถูกลงโทษจากความผิด 

อ่อง โก โกเป็นชาวเมียนมาวัย 37 ปี อาศัยในประเทศไทย เขาเป็นอาสาสมัครของชุดรักษาความปลอดภัยชุมชนบ้านใต้ (ชรบ.) หรือกลุ่มรักษาความปลอดภัยที่ผ่านการอบรมจากทางการไทย ทว่าในวันที่ 12 มกราคม 2024 อ่อง โก โก ถูกทหารไทย 4 นายจับกุมตัวและซักถามว่า เหตุใดเขาจึงมีเสื้อกั๊กสีดำของ ชรบ.ไว้ในครอบครอง

แม้มีพยานยืนยันว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ ชรบ.พร้อมกับเรียกร้องให้ปล่อยตัว แต่รายงานจากการสัมภาษณ์พยานหลักฐานถึง 23 ราย ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทหารไทย 3 นายซ้อมทรมานอ่อง โก โก โดยการทุบตีด้วยเครื่องมือที่ทำจากไม้ขนาดยาวจนเสียชีวิต ร่างไร้วิญญาณของเขามีบาดแผลฟกช้ำทั้งตัวและเลือดไหล รวมถึงมีรอยแผลลึกบนข้อศอกด้านขวา 

“วันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตมึงที่นี่”

“คราวนี้ได้ตายแน่นอน” คำพูดของทหารจากปากคำของประจักษ์พยาน ที่แสดงถึงเจตนาไม่ดีและเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกจับกุม ‘ศิรชัช’ พลเมืองชาวเมียนมาและสมาชิก ชรบ.วัย 24 ปี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024 โดยอ้างว่า พวกเขามีส่วนรู้เห็นและเป็นพยานการซ้อมทรมานอ่อง โก โก และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนถึงเสียชีวิต หลังพบว่า ศิรชัชใช้ไม้ไผ่ตีอ่อง โก โกบริเวณก้น 1 ครั้งและหน้าแข้งอีก 2 ครั้ง ทว่ากลุ่มทหารที่ลงมือซ้อมทรมานไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด แม้จะมีการแจ้งเบาะแสและชี้ตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม 

“ตำรวจแม่สอดได้เรียก ม.ล. (ชื่อย่อพยาน) ซึ่งเป็นประจักษ์พยานขอให้ชี้ตัวทหารจากจำนวนทั้งหมด 5 คนที่ยืนอยู่หลังกระจก โดยเป็นการชี้ตัว 2 รอบ แต่ ม.ล.ไม่สามารถระบุตัวผู้ทำให้อ่อง โก โกเสียชีวิตได้” ส่วนหนึ่งของรายงานเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทหารไม่ถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยืนยันว่า ความผิดดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายในประเทศไทย ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ป้องกันการปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงกฎหมายประมวลอาญาและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเรียกร้องให้ทางการไทยอำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นองคาพยพ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

“ในฐานะที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ผู้นำประเทศไทยย่อมมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” 

แมตทิว สมิท (Matthew Smith) ประธานกรรมการบริหารของฟอร์ตี้ไรต์ทิ้งท้าย โดยย้ำเตือนสถานะของไทยในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก เพื่อก่อให้เกิดหมุดหมายการคุ้มครองผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

Tags: , , , , , , , , ,