ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมงาน 8 ปี ของ The Momentum เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ SCBX Next Tech สยามพารากอน

เป็นความตั้งใจของพวกเราในการพบปะ ‘เพื่อน’ ของเราเป็นครั้งแรก ไม่ว่าท่านจะเป็นลูกค้า ไม่ว่าท่านจะเป็นแบรนด์ ไม่ว่าท่านจะเป็นพาร์ตเนอร์ หรือเป็นคนทั่วไปที่แวะมาทักทายพวกเรา ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ที่ให้การสนับสนุนเรื่อยมา

อย่างที่ผมบอกบนเวที 8 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีพวกเรา ณ ปัจจุบันแค่คนเดียว หากแต่ยังมีคนอื่นๆ ที่ร่วมในประวัติศาสตร์หน้านี้ ทั้งทีมงาน ทีมสนับสนุน อีกจำนวนมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อยากจะรีวิวไม่ได้มีแค่ด้านดี หากแต่ยังมีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับการทำสื่อในเวลานี้ เพื่อเป็นสิ่งให้คนอื่นได้เรียนรู้ต่อไป

1.โลกหมุนเร็วมาก

หากนับวันนี้ ผมอยู่กับ The Momentum มานาน 4 ปี พอดิบพอดี หากนับย้อนกลับไป จะพบว่า 4 ปีที่แล้ว เป็น 4 ปีที่โลกหมุนไปเร็วมาก ทุกอย่างเปลี่ยนไปชนิดไม่ทันตั้งตัว

ผมกลับมาทำงานสื่อในวันที่การชุมนุมบนท้องถนนร้อนแรง คนรุ่นใหม่ผลักเพดานขึ้นสูงเพื่อหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลาเดียวกัน เป็นการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ที่ โจ ไบเดน (Joe Biden) เอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ ท่ามกลางวิกฤตอีกอย่างหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและของโลกคือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทั้งสภาพเศรษฐกิจสังคม จนโลกต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะกลับเข้าสู่สภาพเดิม

และถึงวันนี้เศษซากจากโรคโควิด-19 ก็ยังส่งผลกระทบต่อไป ไทยกลายเป็นประเทศที่ฟื้นจากวิกฤตได้ช้า ยังมีทีท่ามึนๆ งงๆ ว่าจะไปอย่างไรต่อ ที่สำคัญก็คือเศรษฐกิจยังคงโตต่ำ อนาคตยังโงหัวไม่ขึ้น

ส่วนโครงสร้างการเมืองไทยก็อย่างที่รู้กัน ทุกอย่างยังมึนๆ ยังหาทางไปต่อไม่ได้ ระบบลูกผสมไฮบริด มีแต่การต่อรอง และความเกรงใจเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ยังหาทางไปต่อไม่ได้เสียที

2.ความตั้งใจในการสร้างสื่อที่ดียังอยู่ เรื่องมันยาก แต่ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ยังต้องทำ

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว สิ่งที่ลำบากอย่างหนึ่งคือ สภาพเศรษฐกิจ ที่เราอยู่ทั้งในช่วงเวลายากลำบากอย่างโควิด-19 ข้อสังเกตคือ มีสื่อที่ตั้งขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันจำนวนหนึ่งที่ล้มหายตายจากไปแล้ว มีเพื่อนพี่น้องที่เติบโตในวงการมาพร้อมกันถูกเลิกจ้างไปก็มาก สื่อไทย (และอีกหลายประเทศทั่วโลก) เจอปัญหาเดียวกันคือ ยังหา Business Model ที่ลงตัวไม่ได้ การให้คนอ่านจ่าย Paywall เป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้จริงในประเทศนี้ ขณะที่ตัวเลขจากการแบ่งกับแพลตฟอร์มก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่อุ้มทั้งองค์กรได้ ฉะนั้นทางเลือกสำคัญก็คือ ต้องพึ่งพาลูกค้าผ่านระบบโฆษณา

ในเวลาเดียวกัน การทำสื่อในปัจจุบันคือ การทำสื่อที่ต้องพึ่งพิง แพลตฟอร์มที่เขาอาจจะทำให้เราถูกมองเห็นหรือไม่ก็ดี ฉะนั้นไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการทำหน้าที่สื่อมวลชนในวันนี้อีกต่อไป มีเพียงการลองผิดลองถูก ท่ามกลางสมรภูมิที่เข้มข้น 

สิ่งสำคัญคือ การหาสมดุลว่าด้วยการ เอาตัวรอดในเวลาเดียวกับความพยายามสร้างเนื้อหาที่ดี สร้างคอนเทนต์ที่เรารู้สึกว่ามีประโยชน์กับสังคม และอีกข้อสำคัญคือ ๆการพัฒนา คนของเราให้เก่งขึ้นไป ท่ามกลางการทำความเข้าใจกับ โจทย์ใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน

3.การทำงานกับคนรุ่นใหม่ ที่มีเงื่อนไขมากกว่าแต่ก่อน แต่ยังไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับไม่ได้

วงถกในเพื่อนฝูงทั้งหลายก็คือ แล้วเจน Z เด็กเจนใหม่ทั้งหลายมีปัญหาหรือไม่ เงื่อนไขเยอะเกินไปหรือไม่ แล้วทำอย่างไรถึงจะอยู่กับพวกเขาได้สงบสุข ทำให้พวกเราพอใจ พวกเขาพอใจ และทุกคนเติบโตไปพร้อมกัน

ผมนั่งทบทวนกับเพื่อนฝูง สมัยเราทำงานกันใหม่ๆ ไม่มีคำว่า Work life-balanced ไม่มีคำว่า Burnout ค่านิยมสมัยนั้น ซึ่งไม่ว่าถูกหรือผิดก็แล้วแต่ คือทำงานให้หนักที่สุดเข้าไว้ เป็นนักข่าวยิ่งหนักกว่า คือวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้ามีข่าวก็ต้องทำ ประชุมดึกดื่นก็ต้องเข้า เพราะเวลากลางวันเราต้องทำงานกัน จะประชุมกองทีต้องรอ 2-3 ทุ่ม

บทเรียนที่ต้องเรียนรู้ระหว่างทางคือ ต้องขีดว่าแค่ไหนที่เรียกว่า ทำงานหนัก หรือ ทำงานเบาขณะเดียวกันการเรียนรู้ที่จะประนีประนอมทั้ง เราและ เขาเขาต้องเรียนรู้ว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเขา ขณะที่เราก็มีเรื่องต้องเรียนรู้ว่ามีเรื่องอะไรที่ยอมรับได้บ้าง

แต่แน่นอนการเรียนรู้หลายครั้งก็มีทั้งเรื่องที่ทำให้ลำบากใจ เจ็บ หรือเสียเวลาเกินความจำเป็น สุดท้ายแล้วจึงขึ้นอยู่กับการทบทวนตัวเองสม่ำเสมอว่า การทำงานสื่อและทำงานระดับบริหารในเวลาที่ยากลำบากนี้ คุณมีความอดทนได้มากขนาดไหนกัน

4.เราอดทนกับความงี่เง่าได้มากน้อยขนาดไหน? 

คนวัยเราๆ ที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่าง เด็กและ ผู้ใหญ่’ สิ่งที่เรียนรู้ระหว่างทางก็คือ หลายครั้งที่ต้องจัดการ ดีลกับเรื่องที่หาเหตุผลไม่เจอ ไม่รู้ว่าสาระอยู่ที่ไหน แต่ก็ต้องทำเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการควบคุมอารมณ์ มองเกมยาวๆ ว่า สุดท้ายเป้าหมายของเรื่องนี้คืออะไร มากกว่าใช้อารมณ์จัดการ

ฉะนั้นนอกจากการอดทน การปรับตัวไว ความนิ่ง และ ความอดทนก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องเรียนรู้  เราเพิกเฉยกับอะไรได้ ผ่อนปรนกับอะไรได้ ขณะที่เรื่องไหนที่ต้องแสดงท่าทีขึงขัง ขณะเดียวกันหากอารมณ์เพิ่งขึ้นสูง เราจะทำอย่างไรให้ทีมนิ่งไปกับเรา ไม่พุ่งไปด้วยกันทั้งหมด และทำอย่างไรให้เรายังคุมเกมได้

สำหรับผม นี่คือความท้าทายที่สุด และเผาผลาญชีวิตที่สุดในการเป็นผู้ใหญ่

5.สิ่งที่พลาดมีมาก แต่ยิ่งพลาดเท่าไร เราก็เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น 

อีกข้อสำคัญก็คือ การอยู่กับ ความผิดพลาดระหว่างการเดินทางเราจะเจอข้อสำคัญว่าด้วยคำว่า “รู้อย่างนี้…” เต็มไปหมด

คำถามก็คือแล้วจะเอาคำพวกนี้ไปทำอะไรต่อ เราจะอยู่กับคำนี้ไปเรื่อยๆ หรือจะเรียนรู้ไปกับคำนี้ บทเรียนที่ผ่านมา จะทำให้รู้จักทุกเรื่อง รู้จักคน ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น และใช้ทั้งเหตุผล ใช้ทั้งความอดทน และใช้ความนิ่งในการจัดการปัญหามากขึ้น

ผมบอกกับทุกคนเสมอว่าหากมีเรื่องอะไรที่พูดผิดไป หรือตัดสินใจผิดในเวลานั้น มันก็คือความผิดพลาดที่ประสบการณ์ ความรู้ และความอดทนอาจยังไม่มากพอ 

แต่ทุกคน ทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาใน 4 ปีนี้ ย่อมเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเก่งขึ้นและแข็งแรงขึ้น

ถึงเวลานี้ต้องขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่เป็นกำลังใจให้พวกเรา เขียนติชมพวกเรา และอยู่กับพวกเราเสมอมา 

ความตั้งใจของผมและทีมงานยังเหมือนเดิมคือ ตั้งใจสร้างสื่อที่ดี… ที่จะมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศนี้ และสังคมไทย 

เจอกันเมื่อไรก็อย่าลืมทักทายกันนะครับ



Tags: , , ,