ย้อนกลับไปในปี 2557 คือช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามา ‘ดิสรัปชัน’ ทำให้หลากหลายวงการปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอุตสาหกรรมดนตรีโดยเฉพาะธุรกิจค่ายเพลงคือหนึ่งในนั้น
แม้หลายฝ่ายจะมองว่า เป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงหากจะขยับอะไร แต่สำหรับ มอย (สามขวัญ ตันสมพงษ์) บอล (ต่อพงศ์ จันทบุบผา) และออน (ชิชญาสุ์ กรรณสูต) พวกเขามองว่านี่คือจังหวะและโอกาสอันดีในการทำค่ายเพลงแบบใหม่ขึ้นมา จึงเกิดมาเป็น What The Duck
ค่ายเพลงชื่อยียวนแห่งนี้มีคอนเซปต์ไม่ยุ่งยาก คือการเป็นพาร์ตเนอร์ที่ทำงานโดยให้ตัวตนและเป้าหมายของศิลปินนำ แล้วค่ายจะคอยช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การโปรโมต การบริหารจัดการ สวนทางกับวิธีการทำค่ายเพลงแบบเก่า ที่จะหยิบใครสักคนขึ้นมาปั้นเป็นศิลปินมากกว่า
จนวันนี้ที่เวลาผ่านมา 10 ปี แม้เทรนด์ของดนตรีและพฤติกรรมการฟังเพลงของคนไทยจะเปลี่ยนแปลงจนทำให้ค่ายต้องปรับตัวขนาดไหน แต่สิ่งที่ What The Duck ยังคงเชื่ออยู่ตลอดคือ ‘เพลงที่ดีและศิลปินที่มีคุณภาพ’ อะไรที่ทำให้เขาเชื่อแบบนั้น ร่วมหาคำตอบผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ของ The Momentum
หากมองย้อนกลับไปในวันแรก อะไรที่ What The Duck เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด
ต้องบอกว่าเกือบทุกอย่าง ทุกอย่างที่เป็นวันนี้ ภาพที่อยู่ตรงหน้า ผมไม่เคยจินตนาการว่าจะเป็นแบบนี้เลย ไม่เคยคิดว่าบริษัทจะมีพนักงานเยอะขนาดนี้ ไม่คิดว่าบริษัทจะมีขนาดใหญ่เท่านี้
ผมเริ่มทำ What The Duck ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการเพลงกำลังเปลี่ยนถ่ายจากยุค Old School ที่มีค่ายดังอย่าง GMM Grammy, RS, Bakery Music, Smallroom, Believe Records มาสู่ยุค Fully Digital เป็นช่วงที่คนกำลังเริ่มเห็นว่า เราสามารถหารายได้จากช่องทางออนไลน์ได้
สมัยก่อนเราจะชินกับการทำเพลง ทำมิวสิกวิดีโอแล้วไปปล่อยตามช่องโทรทัศน์ แต่พอการเข้ามาของ Youtube และมิวสิกสตรีมมิงเจ้าต่างๆ มันเปลี่ยนทุกอย่างไปหมดเลย เราเริ่มเห็นว่าค่ายเพลงสามารถสร้างพื้นที่ปล่อยผลงานของตัวเองได้ อีกทั้งยังหารายได้จากมันได้โดยตรงอีก
ตอนนั้นผมอายุ 30 พอดี อยู่ในช่วงที่รู้สึกว่า ต้องมีอะไรสักอย่างเป็นของตัวเองบ้างแล้ว เลยไปชวนบอลและออนมาเปิด What The Duck ด้วยกัน
ถ้าถามว่ามันมีอะไรเปลี่ยนบ้าง ผมว่ามันชัดเจนว่า สิ่งที่เราตั้งใจในวันแรก วันนี้มันออกดอกออกผล และเปลี่ยนหน้าตาของวงการเพลงอย่างสิ้นเชิง ศิลปินทุกวันนี้ทำงานเองเป็นแทบทุกขั้นตอน The Toys หรือ Bowkylion ก็เป็นศิลปินที่ทำเพลงกันมาก่อนหน้าอยู่แล้ว
ดังนั้นหน้าที่เราในวันนี้มีเพียงแค่เชื่อมั่นในตัวเขา ให้อิสระในการทำงานกับศิลปิน
ในวันแรกของ What The Duck วางแผนเอาไว้แบบไหน
ในตอนแรกความตั้งใจของเราไม่ใช่ค่ายเพลง แต่เป็น Management Company ที่จะคอยดูศิลปินสัก 2-3 คน ไปหาศิลปินที่เขามีความสามารถ ทำเพลงเองได้ แล้วเราไปสนับสนุนเขา ดูเรื่องการจัดการ เรื่องการตลาด แล้วก็มีทุนให้นิดหน่อย เพื่อผลักดันให้เขาได้เซ็นสัญญากับค่ายศิลปินในที่สุด
แต่ทำไปทำมา กลายเป็นว่าเราเป็นคนดูแลเขายาวๆ แล้วก็มีศิลปินเข้ามาให้เราดูแลมากขึ้น จน What The Duck เป็นค่ายเพลงเอง
แล้วในวันนี้ที่การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ดนตรีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว What The Duck รับมืออย่างไรบ้าง
ผมใช้คำว่า Go With The Flow แล้วกัน คือเราไม่รู้ว่ามันคือวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริงการปรับตัวมันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรไหนบอกว่าทำแล้วจะมีเพลงที่ดัง จะสร้างศิลปินระดับโลกได้ เพราะถ้ามี ผมคงทำแล้วรวยไปแล้ว (หัวเราะ)
อย่างมากสิ่งที่พวกเราทำได้ คือทำงานให้หนัก สม่ำเสมอ และเชื่อมั่นในตัวตนมากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่า เพลงดี มันจะมีที่อยู่เสมอ แม้เราจะอยู่ในยุคที่ต้องตามเทรนด์ Short Clip ทำเพลงต้องมีท่าเต้น ก็ตาม
เรื่องเทรนด์การทำเพลงให้สั้นลง ให้เหมาะกับ Short Clip คิดเห็นอย่างไรบ้าง
ยากที่จะตอบว่าดีหรือไม่ดี เพราะ What The Duck ก็ทำมาหมดแล้ว ก็มีทั้งรู้สึกว่าดีบ้างไม่ดีบ้างแตกต่างออกไป
ผมว่าเรื่องนี้มานานาจิตตัง แต่สิ่งที่จะมาช่วยยืนยันว่าแนวทางที่กำลังทำอยู่มันถูกต้องกับค่ายเพลงหรือศิลปินหรือไม่ คือการต้องทำเพลงที่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน อย่างน้อยที่สุดพวกคุณต้องชอบผลงานของตัวเองก่อน
ก่อนปล่อยเพลง เรายังสามารถควบคุมได้ว่าจะให้เพลงออกมาแบบไหน เป็นแบบที่เราชอบหรือไม่ ซึ่งถ้ามันเป็นเพลงที่ชอบ แล้วถึงที่สุดมันจะไม่ดัง อย่างน้อยมันก็ยังมีคุณค่าต่อตัวศิลปินหรือค่ายเพลง แต่ถ้าเราตั้งใจจะทำเพลงให้ไวรัลแม้จะไม่ถูกใจเราก็ตาม ซึ่งถ้าสุดท้ายตลาดคนฟังเขาไม่ตอบรับ แล้วตัวเราเองยังไม่ถูกจริตอีก ผมว่าวิธีการแบบนี้ก็ไม่ถูกต้องสักเท่าไร
ดังนั้นจะทำเพลงแนวไหน สุดท้ายแล้วมันไม่มีถูกผิดเลย อยู่ที่ว่าตัวผู้ผลิตเองพึงพอใจมันหรือยัง และที่สำคัญคือมันยังคงไว้ซึ่งตัวตนของศิลปินอยู่ไหม เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
คิดว่าวันนี้ศิลปินจำเป็นต้องมีค่ายเพลงไหม
ค่อนข้างตอบยาก เพราะศิลปินแต่ละคนก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ตอนนี้เราจะเห็นว่ามีศิลปินอิสระบางคนที่ประสบความสำเร็จ สามารถปล่อยเพลง มีรายได้ มีงานโชว์ ทำเป็นอาชีพได้
แต่คำถามคือ หากศิลปินบางคนเขาอยากไปต่อ อยากทำมากกว่าที่เคยเป็นอยู่ ตรงนี้จะเป็นจุดที่ค่ายเพลงเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าอยากให้ช่วยเหลือการจัดการ การสร้างแบรนด์ การทำโปรโมต หากคุณอยากพาตัวเองไปโผล่ในรายการนี้ อยากให้เพลงปล่อยพร้อมกับที่สื่ออื่นๆ พูดถึงเพลงของคุณ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่มันมีการวางแผนกับทีมงานอยู่เบื้องหลัง
ในทางกลับกัน ปัจจุบันค่ายเพลงกำลังมองหาศิลปินแบบไหนอยู่
ในวันนี้ศิลปินเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีตัวตนที่ชัดเจน
ผมเองจะมีวิธีคิดอย่างหนึ่งว่า การจะเป็นศิลปินที่ดีคือคุณต้องดื้อ การที่จะแย้ง การที่จะนำเสนอว่าตัวเองชอบแบบไหน อยากเป็นแบบไหน อยากเห็นตัวเองอยู่ในจุดไหน ซึ่งถ้าทิศทางชัดเจน มีเป้าหมายแบบนี้ ผมจะชอบมาก กลับกันถ้าศิลปินที่เดินเข้ามาแล้วบอกว่า อะไรก็ได้ เอาตามที่พี่มองว่าดี แบบนี้ผมจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยสนใจเท่าไร ซึ่งเราจะเรียกศิลปินแบบนี้ว่า คนตามวิถี What The Duck
สุดท้ายคำว่า คนตามวิถี What The Duck คืออะไร
เขาคือคนที่มีความฝัน มีเป้าหมาย และมี ‘ของ’ ในฐานะศิลปินชัดเจน ดูโดดเด่นในสายตาเรา ซึ่งต้องการร่วมมือกับค่ายเพลงที่พร้อมให้ความอิสระ พร้อมเชื่อในแบบเดียวกับที่เขาเป็น
ซึ่ง What The Duck ก็จะมามีส่วนร่วมตรงนี้ เป็นผู้ตามที่ดีในทุกก้าวของพวกเขา
Tags: สามขวัญ ตันสมพงษ์, What The Duck, ค่ายเพลง, The Frame