วันนี้ (28 ตุลาคม 2567) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.), เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเข้าหารือกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมนำเสนอสมุดปกขาวแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

พิชัยกล่าวสรุปแผนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ที่หารือร่วมกับเอกชนทั้ง 3 ภาคไว้ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้

  1. การเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ ผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนและผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) โดยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งหนึ่งในประเภทหนี้ครัวเรือนที่รองนายกฯ ระบุไว้ว่าต้องให้ความสำคัญในการแก้ไข คือ ‘หนี้รถกระบะ’ ที่เป็นสินทรัพย์ในการสร้างรายได้ของประชาชน

  1. การค้าขายกับคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศจีน สนั่นระบุว่า สภาหอการค้าไทยมีกลไกที่จะผสานความร่วมมือกับสภาหอการค้าของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงสถานทูตและผู้ประกอบการรายใหญ่กว่า 300 รายของจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งเผยว่า รัฐบาลจีนได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลไทยออกกฎหมาย เพื่อปราบทุจริต รวมไปถึงดูแลสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน และควบคุมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ให้ผ่านระบบธนาคาร 

นอกจากนั้นประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจีนต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยเข้าไปส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยี

  1. แก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs โดยเกรียงไกรให้สัมภาษณ์ว่า ทางสภาอุตสาหกรรมฯ เสนอแนวทางแก้ไขกับรัฐบาลไว้ทั้งหมด 2 ประเด็น ได้แก่

ในประเด็นแรก เกรียงไกรระบุว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบัน SMEs ยังเข้าถึงไม่เต็มที่ เนื่องจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนที่การทำธุรกิจที่มีมากขึ้น รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหา

ในส่วนของประเด็นที่ 2 คือ กฎหมายและกติกาที่มีมาก ถือว่าเป็นต้นทุนแฝงของผู้ประกอบการไทย ซึ่งสัดส่วนที่มากกว่าต่างประเทศ ทางสภาอุตสาหกรรมฯ จึงออกมาตรการช่วยเหลือปฏิรูป SMEs ผ่านโครง ‘4 Go’ ที่มุ่งเน้นให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ การสร้างนวัตกรรมใหม่ การส่งออกไปต่างประเทศด้วยแพลตฟอร์มใหม่ และการลดการปล่อยคาร์บอนของ SMEs ที่หากไม่ดำเนินตามนั้น ผู้ประกอบการของไทยไม่อาจเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตได้

  1. การแก้ไขปัญหาน้ำ เกรียงไกรกล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านน้ำ ดังนั้นต้องเปลี่ยนเป็นจุดแข็งของประเทศให้ได้ เพราะปัจจุบันที่โลกอยู่ในภาวะสงคราม ส่งผลให้สินค้าการเกษตรมีความต้องการสูง นอกจากนั้นทรัพยากรดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้นการบูรณาการเรื่องน้ำเป็นเรื่องจำเป็น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 1 หมื่นบาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้คำตอบว่า จากการประเมินภายในคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ยังถือว่าใกล้เคียงกับที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 2.7-2.8% แม้ว่าจะมีปัญหาอุทกภัยภาคเหนือเข้ามากระทบ

 

ภาพ: thaigov

Tags: , , , ,