โมเมนต์แรกเมื่อรู้ว่า POLYCAT จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ความรู้สึกแรกคือ ต้องไปดูให้ได้
แม้จะไม่ใช่แฟนเพลงวงนี้อย่างจริงจัง ส่วนมากจะรู้จักเพลงในชุด 80’s Kisses ชุดที่ดังที่สุดของวงนี้ และปลุกความเป็นซิตี้ป็อป (City Pop) ให้กลายเป็นสิ่งที่ติดตัววงนี้มาโดยตลอด
ส่วนหนึ่งคือ ฝั่งของดนตรีที่ต้องยอมรับว่า POLYCAT กลายเป็นมืออันดับต้นๆ ในการเติมสีสันให้แต่ละเพลง ไม่ว่าจะเพลงของพวกเขา หรือเพลงของคนอื่น
ผมยังจำคลิปที่นะ POLYCAT Cover เพลงดีดีกันไว้ ของ สุกัญญา มิเกล เมื่อหลายปีก่อนโดยเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้น พร้อมใส่ไลน์ประสานด้วยตัวเองเมื่อทศวรรษที่แล้ว ถึงอย่างไร วงนี้ก็ ‘มีของ’ มากพอ ที่จะทำให้คอนเสิร์ตใหญ่ของพวกเขาน่าติดตาม
ในอีกขณะหนึ่ง POLYCAT คือวงที่เราโตมาด้วยกัน วงที่เริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นวัยที่คนเจน Y แทบจะโตมาด้วยกัน เป็นวงที่เกิดก่อนการเติบโตของยูทูบหรือ TikTok และอาจเป็นวงไม่กี่วงในยุคหลังๆ ที่ดังแบบ ‘ยกอัลบั้ม’
ฉะนั้นการได้หวนย้อนกลับไปถึงความทรงจำแรกๆ ที่ฟังเพลงพวกนี้ ฟังที่ไหน ฟังกับใคร หรือร้องคาราโอเกะที่ไหน ย่อมเป็นความทรงจำที่หวนรำลึกแล้วกลับไปยิ้มเสมอ
เป็นความทรงจำกับ POLYCAT สำหรับคนวัยเรา
1.
เวลาเธอยิ้ม
อันดับแรกที่ต้องชื่นชมคือ การเรียบเรียงดนตรีที่ไม่ทำให้ผิดหวัง POLYCAT ยังคง Rhythm เดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเวอร์ชันแผ่น ไม่ได้พยายามเปลี่ยนแนว หรือใส่ลูกเล่นจน ‘เสียของ’ ขณะเดียวกันทั้ง 3 คน ฟรอนต์แมนของ POLYCAT ยังบ้าพลังเหมือนเดิม พวกเขาใส่ตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้ายโดยแทบไม่ได้มีจังหวะพักหายใจ ซ้ำยังตอกย้ำภาพความอัจฉริยะในทางดนตรีมากขึ้นไปอีก พร้อมกับลูกเล่นเล็กๆ ที่ POLYCAT เปิดด้วยการเรียกแฟนเพลงอย่างน่ารักน่าเอ็นดูว่า ‘คุณหัวใจ’
เรื่องประสบการณ์ดนตรี ไม่มีใครกังขาฝีมือของพวกเขาอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดอัดแน่นให้มีพลังมากขึ้นในสเกลของคอนเสิร์ตใหญ่ ทั้งด้วยเสียงซินธ์ เครื่องเป่า เครื่องสาย หรือเสียงประสานชั้นเยี่ยม
ส่วนสำคัญคือ การจัดวางเพลงที่จัดวางคั่นระหว่างเพลงที่ไม่ดังและเพลงที่ทุกคนร้องตามได้ เพื่อทำให้คอนเสิร์ตไม่เนือยจนเกินไป ขณะเดียวกันแต่ละเพลงจะถูกร้อยเข้าด้วยกัน โดยให้มีรอยต่อน้อยที่สุด
นอกจากนี้ Virtual Memory ยังพา POLYCAT ฉีกกรอบซิตี้ป็อปไปสู่แนวดนตรีใหม่ๆ โดยเฉพาะการที่ 3 เพลงสำคัญคือ เวลาเธอยิ้ม, เป็นเพราะฝน และซิ่ง ถูกเรียบเรียงและบรรเลงร่วมกับ Thailand Philharmonic Orchestra
เรียกได้ว่า ตอนม่านเปิดออกมาเป็น POLYCAT พร้อมกับวงออร์เคสตราเต็มวงนั่งอยู่บนนั่งร้าน ด้วยเพลงเวลาเธอยิ้ม หลายคนถึงกับปรบมือดังๆ กับการจัดวางเพลงนี้ Arrange แบบนี้ จนผมที่เริ่มอัดวิดีโอแล้ว หยุดไม่ได้ที่ต้องถือมือถือจนเมื่อย อัดให้หมดจนจบทั้งเพลง
2.
ข้อความรูปยิ้ม
พูดถึงเรื่องการอัดวิดีโอ ถ่ายสตอรี อีกสิ่งที่ต้องพูดถึงคือการกำหนด Augmented Reality (AR) เป็นกิมมิกเล็กๆ สำหรับการยกมือถือขึ้นมาอัดในแต่ละเพลง
ก่อนหน้านี้เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก คนรุ่นหนึ่งจะบอกว่า การดื่มด่ำดนตรีคือการฟังเฉยๆ มากกว่าการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย ขณะที่คนอีกรุ่นหนึ่งก็อยากเก็บความประทับใจ กระทั่งอยากแชร์ความประทับใจส่งผ่านไปยังคนอื่น
นะเล่าให้ฟังในเฟซบุ๊กของ POLYCAT ที่น่าสนใจคือ POLYCAT เตรียมไว้ตั้งแต่แรกว่า ในเซตลิสต์เพลงไหนที่จะมีคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายกันบ้าง เพราะคนดูคอนเสิร์ตต่างก็ต้องการให้ท่อนฮุก เข้าไปอยู่ในสตอรีของตัวเอง ส่งต่อถึงคนที่เราอยากให้ฟัง ด้วยเหตุนี้ POLYCAT จึงเขียนแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้กับเพลงดังของพวกเขา พร้อมกับให้โหลดแอปฯ ปล่อย Wi-Fi ให้โหลดเพื่อให้สัญญาณไม่กระตุก ใช้กับเพลงที่ทุกคนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายแน่ๆ อย่าง เพื่อนพระเอก และเพื่อนไม่จริง
ที่น่ารักที่สุดคือ ข้อความรูปยิ้ม เพลงใหม่ ที่เล่นสดในคอนเสิร์ตครั้งแรก ซึ่งนอกจากมาพร้อมวง Gospel แล้ว ยังมาพร้อมกับ AR ขึ้นเป็นข้อความแชตตามเนื้อเพลงแบบเรียลไทม์
เปิดมิติใหม่ให้กับการถ่ายสตอรีคอนเสิร์ต ไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไป
“เราแค่มองท้องฟ้าด้วยกัน แต่ไม่เคยเป็นท้องฟ้าของกันและกัน”
3.
พบกันใหม่
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องชื่นชมก็คือ คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตที่ ‘ลงทุน’ สมน้ำสมเนื้อ ไม่จำเป็นต้องมีเวทีหมุน ศิลปินไม่ต้องติดสลิงลอยไปหาคนดู หากแต่ลงทุนทั้งในแง่ Visual ที่ทุกเพลงถูกจัดวางให้ตรงโจทย์ ตรงเนื้อหา แสง สี เสียง ถูกจัดวางให้ตรงกับเนื้อหาเพลงอย่าง คอนเสิร์ต เพลงเปิดงาน หรือถ้าเธอคิดจะลืมเขา ที่ยิง Visual พากลับไปยุคที่วงอยู่ในช่วง ‘ร็อก’ เต็มตัว
หรือในส่วนคอสตูมอันแพรวพราว เปลี่ยนชุดแทบทุกเพลง (คอสตูมชุด ‘หัวใจ’ ชวนให้นึกถึงพี่เบิร์ด ธงไชย ชุดพริกขี้หนู) และเด่นที่สุดในเพลงข่าวดี ที่นะใส่ชุดเจ้าสาว โซโลกีตาร์คนเดียวบนเวทียกสูง
ขณะที่โชว์ พบกันใหม่ ก็ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี เพราะรู้ว่า คนฟังจะร้องตามกันได้มากที่สุดและนานที่สุด เลยปล่อยจังหวะยาวๆ ให้เหมือนจอขัดข้อง ก่อนจะโชว์เสียงตอนที่ ‘พิม’ พูดกับ ‘จอห์น’ ในพริกขี้หนูกับหมูแฮม
“จอห์นคะ กว่าคุณจะได้ยินเสียงฉัน…” พร้อมกับขึ้นหน้าจอ POLYCAT ถึง ‘คุณหัวใจ’ ศัพท์ที่ POLYCAT ใช้เรียกแฟนคอนเสิร์ตครั้งนี้
ทั้งหมดนี้ยืนยันความเป็นครีเอทีฟของทั้งนะ วง POLYCAT และทีมงานทุกฝ่ายได้เป็นอย่างดี
4.
เพื่อนพระเอก
ในรอบที่ผมไปดู แขกรับเชิญคือ หมู MUZU ที่ลีดกีตาร์เพลงเข้ากันไม่ได้ อย่างแสบสัน ขณะที่แขกอีกฝั่งคือ Monotone ที่ทั้งคู่อาจนับได้ว่า เป็นนักร้อง-นักดนตรี รุ่นที่เราโตมาด้วยกัน รุ่นก่อน POLYCAT
ส่วนรอบวันแรก แขกรับเชิญคือ PLAYGROUND และ Cyndi Seui ที่ POLYCAT เฉลยทีหลังว่า ทุกวงล้วนเป็นวงป็อปดีๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้พวกเขาก้าวเข้าสู่วงการนี้
เด็กรุ่นใหม่อาจงงๆ กับ Monotone อยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็อาจตรงความตั้งใจของวง ที่มาเฉลยทีหลังว่า อยากให้เด็กรุ่นใหม่กลับไปฟังเพลงเจ๋งๆ ในยุคนั้น
หากจะมีข้อแนะนำ ความรู้สึกของคอนเสิร์ตนี้คือ พูดน้อยจัง ซึ่งหากเชื่อมโยง POLYCAT กับบรรดาแขกรับเชิญ ‘เพื่อนพระเอก’ ทั้งหลาย อาจทำให้คอนเสิร์ตนี้สมบูรณ์ขึ้น
และในอีกประการหนึ่ง POLYCAT เป็นวงที่ Cover เพลงของคนอื่นได้ดีมาก (ดีจนเหมือนเป็นเพลงตัวเอง) ถ้ามีพาร์ตเพลงคนอื่น ก็น่าจะทำให้คนที่ไม่ใช่แฟนเดนตายอย่างพวกเราพอได้โยกตามอีกจังหวะ
อันที่จริง 30 เพลง 2 ชั่วโมงครึ่ง ไม่ยาวและไม่เนือยจนเกินไป สำหรับคอนเสิร์ตที่เน้นบัตรยืน มีจังหวะให้โยก มีเพลงที่ไม่รู้จัก (แต่เป็นเพลงที่วงอยากเล่น) ชวนให้ไปฟังต่อ ใส่เพลย์ลิสต์เพิ่ม
ในแง่นี้ ถือว่าทำให้เห็นว่า คอนเสิร์ตที่จัดใหญ่แล้ว ‘ทำถึง’ นั้น ควรจะมีหน้าตาอย่างไร
ขณะเดียวกัน จะไม่แปลกใจเลย หากคอนเสิร์ตครั้งหน้า พวกเขาจะจัดได้ใหญ่กว่านี้ อลังการกว่านี้ เพราะไม่ว่าอย่างไร แฟนเพลง หรือ ‘คุณหัวใจ’ ของพวกเขา ก็พร้อมจะสนับสนุนเสมอ
Tags: เวลาเธอยิ้ม, พบกันใหม่, Virtual Memory Concert, เพื่อนพระเอก, คอนเสิร์ต, โพลีแคท, Polycat