วันนี้ (22 ตุลาคม 2567) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุตอนหนึ่งถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ได้รับมาจากที่ประชุมรัฐสภา โดย ครม.มีความเห็นต่อร่างดังกล่าวว่า เนื่องจากร่างดังกล่าวมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงมีมติให้ส่งเรื่องไปประสานกับวิปรัฐบาล เพื่อเสนอต่อรัฐสภาว่า ในสัปดาห์ข้างหน้าจะมีร่างของกระทรวงกลาโหมเข้าไปประกบเพื่อพิจารณาคู่กัน

จิรายุกล่าวว่า ในรายละเอียดที่เป็นประเด็นในเรื่องของสัดส่วนคณะรัฐมนตรีในสภากลาโหม นอกจากนั้นในที่ประชุม ครม.ยังขอให้กระทรวงกลาโหมเร่งสรุปความเห็นต่างๆ ที่มาจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจากกระทรวงกลาโหมที่ระบุว่า ร่างดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน และการตัดอำนาจของสภากลาโหม ในการให้ความเห็นสำหรับการดำเนินการที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือแม้คณะที่ปรึกษาจะทำให้การตัดสินใจของรัฐมนตรีขาดความรอบคอบ รวมทั้งเป็นการผลักความรับผิดชอบให้เป็นของรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว

ขณะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ออกมาให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีว่า ยังไม่ควรรับหลักการของร่างดังกล่าว เพราะเห็นสอดคล้องกับความเห็นของกระทรวงกลาโหม

นอกจากนั้นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณยังออกมาให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกันว่า ไม่ควรรับหลักการ เพราะร่างดังกล่าว หลายมาตราให้อำนาจในการสั่งการอนุมัติ อนุญาตแก่บุคคล แต่ยังไม่มีกลไกการป้องกันอย่างชัดเจน จึงเห็นว่าต้องมีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมหลายประเด็น

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงยังไม่มีมติรับหลักการของพระราชบัญญัติฉบับนี้ และเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเร่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม พ.ศ. … พร้อมทั้งเร่งให้มีการเสนอร่างดังกล่าวนี้ที่มีการแก้ไขให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล

“สรุปคือให้กลาโหมไปยกร่างประกบ ผ่านการดำเนินการประสานกับวิปรัฐบาลต่อไป” จิรายุกล่าว

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่รัฐสภาส่งมาให้ ครม.พิจารณา เป็นร่างที่เสนอโดย ธนเดช เพ็งสุข ส.ส.พรรคประชาชน โดยมีหลักการสำคัญคือ การแก้ไขให้สภากลาโหมกลับไปมีอำนาจเป็นเพียงคณะที่ปรึกษาเท่านั้น เพราะในอดีตทหารและกองทัพมีอำนาจทางการเมือง ผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางให้กองทัพมีอำนาจในการตัดสินใจ ทั้งการกำหนดนโยบายและพิจารณางบประมาณทางการทหาร และอำนาจคณะกรรมการในการแต่งตั้งนายพล

Tags: , , , , ,