วันนี้ (16 ตุลาคม 2567) KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ออกผลประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางของภาครัฐในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ไว้ว่า จากมาตรการแจกเงินสด 1 หมื่นบาทแก่ประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.2 ล้านรายของรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลบวกในระยะสั้น โดยประเมินผลคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier) ไว้อยู่ที่ 0.3 หรือแปลว่า ทุกการใช้เงิน 1 บาทจะสร้างผลต่อเศรษฐกิจที่ 0.3 บาท

KKP Research ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ว่า ประชาชนกลุ่มเปราะบางเมื่อได้รับการจัดสรรเงินแล้ว มีโอกาสนำเงินดังกล่าวไปใช้ เพื่อการชำระหนี้สินหรือซื้อสินค้าที่มีส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเกิดขึ้นแบบไม่เต็มกำลังเท่าที่ควร ส่งผลให้ผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศภายในสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ราว 0.2-0.3 ppt และส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 4 อยู่ที่ 4%

ส่วนปี 2568 ที่รัฐบาลยืนยันว่า จะเดินหน้ามาตรการดังกล่าวในเฟสที่ 2 โดยอนุมัติงบประมาณกว่า 1.5-1.8 แสนล้านบาท กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินประเมินว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถเริ่มใช้ได้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 และจะส่งผลต่อตัวเลขการเติบโตของจีดีพีทั้งปี 2568 ที่ 3%

อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การปกป้องผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) จากการแข่งขันต่างประเทศ มาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองมีความมั่นคงขึ้นในระยะสั้น จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในระยะยาวมีศักยภาพที่โตต่ำกว่า 2.5% หากยังไม่มีนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีก 4 แรงปัจจัยที่ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่

  1. โครงสร้างประชากร ที่จำนวนประชากรวัยทำงานผ่านจุดสูงสุดมาแล้วเมื่อปี 2558 
  2. ความสามารถในการแข่งขัน ที่ภาคการผลิตของประเทศกำลังเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขันหลายอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ที่มีทิศทางการผลิตหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญคือ ‘การขาดดุลการค้า’ กับประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  3. ภาคการผลิตและการลงทุนเอกชน ที่ตัวเลขการลงทุนของเอกชนหดตัวลงถึง 5.7% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตของประเทศที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  4. สถานะทางการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอ ที่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่สูงเกิน 80% ซึ่งเป็นระดับที่ฉุดรั้งศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่หดตัวลง เพราะธนาคารพาณิชย์มีหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มสูงขึ้น

จากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ KKP Research ปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2567 จาก 2.6% มาเป็น 2.8% และในปี 2568 จาก 2.8% มาเป็น 3.0% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะสั้นที่มีผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และตัวเลขของการส่งออกสินค้าบางกลุ่มที่ดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ภาคการผลิต และการบริโภคสินค้าคงทน ยังเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

Tags: , , , , , , ,